ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ประเทศทั่วโลกต่างพากันเดินเข้าสู่กระแสประชาธิปไตย อย่างที่เราเห็นหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และหลังจากยุคสงครามเย็น  ประเทศในยุโรปตะวันออกได้เดินตามรอยประชาธิปไตยเช่นกัน

ข้อมูลจาก Freedom House ที่ทำการตรวจสอบประชาธิปไตยและอิสรภาพทั่วโลกชี้ว่า จำนวนประเทศที่ถูกนับว่าเป็นประเทศที่มีอิสรภาพนั้นพุ่งสู่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1970 จนถึงช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ทำให้บรรดาประเทศที่ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และออสเตรเลีย กลายเป็นผู้ชนะทางอุดมการณ์อย่างไม่มีวี่แววว่าจะมีอุดมการณ์ใดมาโค่นล้มได้

แต่แล้วเมื่อปี 2005 ตัวเลขจาก Freedom House สะท้อนให้เห็นว่า ในแต่ละปีอิสรภาพทั่วโลกเริ่มลดลง หลายประเทศเริ่มเดินออกห่างจากประชาธิปไตย จนเกิดคำถามว่า

นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนนัยยะสำคัญ?

ยาสชา มอนก์ (Yascha Mounk) อาจารย์วิชาการเมืองการปกครอง ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ โรเบอร์โต สเตฟาน (Roberto Stefan) นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น ได้พยายามศึกษาปรากฏการณ์นี้ โดยอิงจากทฤษฎี Democratic Consolidation ที่เชื่อว่า เมื่อประเทศนั้นๆ พัฒนาสถาบันทางประชาธิปไตยให้ประชาสังคม (Civil Society) มีความเข้มแข็ง และความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นสิ่งที่แน่นอนและมั่นคง เมื่อนั้นระบอบประชาธิปไตยจะยั่งยืน

แต่ถ้าหากระบอบประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ ขาดรากฐานเหล่านี้ อาจทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศนั้นเหมือนคนป่วยที่รอวันสิ้นใจ

ประชาชนเริ่มมองเห็นปัญหาของการคัดเลือกคนเข้าไปบริหารประเทศ
พวกเขาเริ่มมีทัศนคติว่า
นักการเมืองคือ ‘คนข้างใน’ (insider) ที่ไม่จริงใจ ไม่เคยทำให้ฝันเป็นจริง

เมื่อประชาธิปไตยกำลังเข้าขั้นโคม่า

ยาสชา มอนก์ อาจารย์วิชาการเมืองการปกครอง ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ โรเบอร์โต สเตฟาน นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น ได้ทำการศึกษา ‘อาการป่วย’ ของระบอบประชาธิปไตย ที่เริ่มแสดงให้เห็นอาการชัดขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะเข้าขั้นโคม่า ด้วยการตั้งคำถาม 3 ข้อ

  1. ประชาชนคิดว่ายังมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนที่ประเทศจะยังถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
  2. การเปิดรับของประชาชนต่อระบอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างเช่น ระบอบทหาร
  3. ฝ่ายที่มองว่า ‘คน’ ในระบอบประชาธิปไตยนั้นไร้ความชอบธรรมได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

ซึ่งเขาทั้งสองคนพบว่า ประชาชนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยน้อยลง สอดคล้องกับการเปิดรับของประชาชนต่อระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และความคิดของประชาชนที่มองว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองนั้นไร้ความชอบธรรมพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มมองเห็นปัญหาของการคัดเลือกคนเข้าไปบริหารประเทศ พวกเขาเริ่มมีทัศนคติว่า นักการเมืองคือ ‘คนข้างใน’ (insider) ที่ไม่จริงใจ ไม่เคยทำให้ฝันเป็นจริง และคือสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง

หากประเทศใดกำลังเกิดปรากฏการณ์นี้ ทั้งสองคนตั้งข้อโต้แย้งว่า ในช่วงของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ประเทศเหล่านี้ขาดการพัฒนารากของระบอบการปกครองให้แข็งแรง จึงทำให้ประชาธิปไตยของประเทศนั้นกำลังป่วยในระยะเริ่มต้น ที่อีกต่อไปจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย และส่งผลให้คนที่เกิดในยุค 50s เป็นต้นมาจนถึงยุค 80s ไม่คิดว่าประชาธิปไตยคือคำตอบเสมอไป

คนอเมริกันรุ่นก่อน 43% มองว่า
การโค่นล้มรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและแทนที่ด้วยระบอบทหารนั้น
ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและชอบธรรม
แต่คนยุคใหม่เพียง 19% ที่เห็นด้วยกับความคิดนี้

คนรุ่นหลังกำลังโหยหาทางออกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

โปแลนด์ คืออีกประเทศที่เปลี่ยนจากระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ แต่แล้วตั้งแต่ปี 2005 ชาวโปแลนด์กว่า 16% คิดว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ ‘แย่’ และในปี 2012 ชาวโปแลนด์กว่า 22% สนับสนุน ‘ระบอบทหาร’ รวมถึงพรรคและสถาบันต่างๆ ที่มีความคิดว่าระบอบที่เป็นอยู่นั้นไร้ความชอบธรรมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับเวเนซุเอลา ที่ทหารฝ่ายสนับสนุน ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ซึ่งตอนนั้นเป็นทหาร ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1992 แต่ล้มเหลว ฮูโก ชาเวซ ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะออกมาเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ในสังคมประชาธิปไตย ที่เชื่อในสภาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การโอนอุตสาหกรรมหลักจากเอกชนให้กลายเป็นของรัฐ และการลดความยากจน เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมหาศาล จนได้รับการเลือกตั้งในปี 1998 แต่ต่อมาเขาได้เปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นฉบับที่ต่ออำนาจของเขา หลังจากนั้นรัฐบาลของชาเวซเริ่มส่อเค้าไม่แข็งแรง เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาล จนนำไปสู่การจับกุมฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ ยังทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาแตกเป็นเสี่ยงๆ

อาการอ่อนแอของประชาธิปไตยไม่ได้ปรากฏให้เห็นแค่ในประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ยังปรากฏให้เห็นในประเทศที่เป็นผู้นำด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทั้งสวีเดน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ที่มองว่า การอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญกำลังได้รับการสนับสนุนน้อยลงเรื่อยๆ และเริ่มไม่ใช่ความคิดกระแสหลักอีกต่อไป

จากการสอบถามคนที่เกิดตั้งแต่ในช่วงปี 1930 จนถึงปี 1980 พบว่า คนรุ่นหลังตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมาเห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยลดลง

สอดคล้องกับข้อมูลของ The European and World Values Survey ที่พบว่า คนสนับสนุนระบอบเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแม้กระทั่งในหมู่คนอเมริกันเอง ที่จำนวนประชาชน 1 ใน 6 มองว่า ระบอบทหารน่าจะ ‘ดี’ จนถึง ‘ดีมาก’ ซึ่งเพิ่มจากปี 1995 ที่ประชาชนเพียง 1 ใน 16 เท่านั้นที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ

และข้อมูลจาก Journal of Democracy ที่พบว่า คนอเมริกันรุ่นก่อน 43% มองว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและแทนที่ด้วยระบอบทหารนั้น ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและชอบธรรม แต่คนยุคใหม่เพียง 19% ที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เช่นเดียวกับวัยรุ่นในยุโรปที่เห็นด้วยความคิดนี้น้อยลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาชิ้นนี้ของมอนก์และสเตฟานถูกโต้แย้งว่า ข้อมูลของเขาทั้งสองคนอาจไม่ได้น่ากังวลมากขนาดนั้น ซึ่งมอนก์เองก็ยอมรับว่างานวิจัยของเขามีข้อจำกัด และเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดหนึ่งเท่านั้น แต่เขาก็ยังยืนยันว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะกังวล”

และอย่างน้อยที่สุดผลการศึกษานี้ทำให้เราเกิดคำถามว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ไม่แข็งแรง เต็มไปด้วยนักการเมืองที่โกงกิน จนนำไปสู่การรัฐประหารนั้นคือทางออกที่แท้จริงหรือไม่

โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นฉบับที่ต่ออายุอำนาจของทหาร แต่ลดอำนาจของนักการเมือง และป้องกันการคอร์รัปชัน

เป็นวิธีการรักษาอาการป่วยของ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ตรงจุดหรือเปล่า?

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

 

Tags: , , ,