การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกบฏในเมืองอเลปโปของซีเรีย ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 59 โรงพยาบาลแห่งสุดท้ายทางฝั่งตะวันออกของเมืองอเลปโป พื้นที่ที่กลุ่มกบฏยึดครองอยู่ ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ทำให้ประชาชนมากกว่า 250,000 คน ที่ยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงการรักษาของแพทย์ได้ นอกจากนี้โรงเรียนหลายแห่งถูกทำลายในช่วงการโจมตีที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลซีเรียและรัสเซียต้องการทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏในเมืองอเลปโปให้ได้

หมอและประชาชนในพื้นที่ให้ความเห็นกับ The Guardian ว่า การโจมตีในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามในซีเรียที่ดำเนินมากว่า 6 ปี เนื่องจากตอนนี้พวกเขาเหลืออาหารและยาที่สามารถใช้เพียงพออีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์

การช่วงชิงพื้นที่ฝั่งตะวันออกคืนจากกลุ่มกบฏเป็นไปอย่างหนักหน่วงในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลซีเรียและรัสเซียได้เสนอให้ประชาชนออกมาจากพื้นที่ที่ยึดครองโดยกลุ่มกบฏผ่านเส้นทางที่รัฐบาลเตรียมไว้ นอกจากนี้ยังเสนออีกเส้นทางไว้สำหรับกลุ่มกบฏให้ออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยให้ข้อเสนอว่า หากใครออกมาจะมีการนิรโทษกรรมให้ เพราะถนนเส้นอื่นๆ รัฐบาลซีเรียและรัสเซียได้โจมตีทำลายหมดเพื่อต้องการล้อมกลุ่มกบฏไว้ ส่งผลให้ประชาชนกว่า 250,000-300,000 คนติดอยู่ในพื้นที่ไปด้วย ซึ่ง The Telegraph รายงานว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการออกจากพื้นที่ เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจรัฐบาล

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย. 59 รัฐบาลซีเรียได้ส่งใบปลิวและข้อความไปทั่วเมืองอเลปโป เพื่อชวนให้ประชาชนทุกคนในเมืองเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความปรองดองให้คนในชาติ

แต่คำเชิญนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงระเบิดที่ยังดังอย่างต่อเนื่อง…

ถ้าให้มองก็คือพวกเขาได้รับคำเชิญให้เล่นฟุตบอลจากคนที่ฆ่าพวกเขา
ความบาดเจ็บและการล้มตายก็ยังคงดำเนินอยู่

Photo: POOL New, Reuters/profile

เกมฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างประชาชนกับกลุ่มกบฏ กลลวงของรัฐบาลซีเรีย?

ท่ามกลางระเบิดที่ยังปะทุอย่างต่อเนื่อง และการโจมตีทางอากาศที่ยังโจมตีลงใส่เมืองอเลปโปในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลซีเรียกลับมาเปิดฉากโจมตีกลุ่มกบฏอีกครั้ง ในตอนเช้าของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ชาวซีเรียในเมืองอเลปโปได้รับข้อความจากรัฐบาลที่ถูกส่งอย่างกว้างขวาง ทั้งใบปลิว และข้อความทางโทรศัพท์ เชิญชวนให้พลเมืองซีเรียและกลุ่มกบฏเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล ที่สนามกีฬาฮัมดานียา (Hamdaniya) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอเลปโป พื้นที่ที่รัฐบาลยังสามารถยึดครองได้อยู่ (กลุ่มกบฏยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองอเลปโป) แต่ก็นับว่าใกล้กับพื้นที่ที่มีการสู้รบ

“เมืองอเลปโปเชิญชวนให้คุณเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร เพื่อให้ชาติได้เดินสู่ความปรองดองสมานฉันท์ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลนี้ได้”

นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความเชิญชวนจากรัฐบาลซีเรีย

ในประกาศระบุว่าการแข่งขันฟุตบอลจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ย. 59 แต่มาถึงตอนนี้ที่เลยกำหนดการมาแล้ว ก็ยังไม่มีการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวเกิดขึ้น

เกมฟุตบอลนี้ถูกชาวซีเรียบางส่วนมองว่าเป็นกลลวงของรัฐบาลซีเรีย ที่ต้องการให้คนซีเรียที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองอเลปโปถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏออกมาจากพื้นที่ด้วยการผ่านเส้นทางที่รัฐบาลเตรียมไว้ เพื่อให้พวกเขาเข้าสู่พื้นที่ที่รัฐบาลควบคุมอยู่ และรัฐบาลจะได้ทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ หลังจาก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลซีเรียล้มเหลวในการพยายามให้กลุ่มกบฏกับพลเมืองออกมาจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองอเลปโปผ่านเส้นทางที่รัฐบาลเตรียมไว้

“มันเป็นเพียงแค่โฆษณาชวนเชื่อ ที่รัฐบาลต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเองในสังคมนานาชาติ” The Telegraph รายงานถึงคำสัมภาษณ์ของชาวซีเรียคนหนึ่ง “แล้วพวกเขาก็จะกล่าวหากลุ่มกบฏว่าไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าให้มองก็คือพวกเขาได้รับคำเชิญให้เล่นฟุตบอลจากคนที่ฆ่าพวกเขา ความบาดเจ็บและการล้มตายก็ยังคงดำเนินอยู่”

ด้าน ฟาเรส ชีฮาบี (Fares Shehabi) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยความโกรธ หลังจากกลุ่มกบฏไม่ตอบรับคำเชิญจากรัฐบาล “ก่อนหน้านี้เราก็พยายามให้พวกเขาออกจากพื้นที่ด้วยท่าทีที่ดี และวันนี้เราก็ชวนพวกเขามาเล่นฟุตบอล แต่พวกเขาก็ยังปฏิเสธ ซึ่งจะโทษใครไม่ได้หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต”

The Telegraph รายงานว่า แม้กระทั่งชาวซีเรียที่ไม่ใช่กลุ่มกบฏเองก็ยังเคลือบแคลงต่อคำเชื้อเชิญของรัฐบาลซีเรีย เพราะในขณะที่รัฐบาลซีเรียตัดสินใจจัดการแข่งขันฟุตบอลด้วยท่าทีเป็นมิตร แต่รัฐบาลก็ยังคงโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้พวกเขายังเห็นว่ามันน่าสงสัยที่รัฐบาลจะมาจัดเกมการแข่งขันฟุตบอล ทั้งๆ ที่ตอนนี้โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บ และเมืองอเลปโปกำลังขาดแคลนสิ่งจำเป็น

เป้าหมายหลักของการโจมตีของรัฐบาลซีเรียที่ร่วมกับชาติตะวันตก คือการทำลายกลุ่มกบฏในเมืองอเลปโปหลังจากถูกยึดไปได้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่ายทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ฝ่ายรัฐบาลซีเรียกล่าวหากลุ่มกบฏว่า พวกเขาไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนออกมาจากพื้นที่ เพื่อต้องการใช้ประชาชนเป็น ‘ตัวประกัน’ ไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลโจมตีพื้นที่ทางตะวันออกที่พวกเขายึดครองอยู่ ด้านกลุ่มกบฏยืนยันว่า พวกเขาไม่เคยห้ามประชาชนออกจากพื้นที่ แต่ประชาชนสมัครใจที่จะไม่ออกไปจากพื้นที่เอง เพราะไม่ไว้ใจรัฐบาล

แม้ตอนนี้จะยังระบุไม่ได้ว่า เกมฟุตบอลที่รัฐบาลซีเรียริเริ่มขึ้นตอนแรกนั้นเป็นกลลวงหรือเปล่า แต่ ‘กีฬา’ เป็นอีกเครื่องมือทรงพลังที่แก้ปัญหาความขัดแย้งมาได้แล้วในอดีต

กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้
มันมีพลังที่จะรวมคนเป็นหนึ่งเดียวกันในแบบที่กิจกรรมอื่นทำไม่ได้
กีฬาสามารถสร้างความหวังในยามที่เราสิ้นหวัง
มันมีพลังยิ่งกว่ารัฐบาลไหนๆ ในการทลายกำแพงความแตกต่างทางเชื้อชาติ

กีฬาคือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะสร้างความสมานฉันท์

“กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ มันมีพลังที่จะรวมคนเป็นหนึ่งเดียวกันในแบบที่กิจกรรมอื่นทำไม่ได้ กีฬาสามารถสร้างความหวังในยามที่เราสิ้นหวัง มันมีพลังยิ่งกว่ารัฐบาลไหนๆ ในการทลายกำแพงความแตกต่างทางเชื้อชาติ”

นี่คือคำพูดของ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ที่ใช้กีฬารักบี้เป็นเครื่องมือสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีได้ประสบความสำเร็จ หลังจากประเทศเผชิญกับความขัดแย้งด้านสีผิวและชาติพันธุ์มานาน

หลังจากแมนเดลาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกของแอฟริกาใต้ได้เพียง 1 ปี แอฟริกาใต้ก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 1995 ซึ่งในตอนนั้นกีฬารักบี้เป็นกิจกรรมแค่ในหมู่คนผิวขาวในแอฟริกาใต้ อย่างทีมชาติรักบี้ของแอฟริกา หรือทีม Springboks ที่ถูกคนผิวสีมองว่าเป็นเกมกีฬาของคนกลุ่มน้อยของประเทศ ซึ่งกีฬารักบี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความภาคภูมิใจของคนผิวขาวในช่วงที่แอฟริกาใช้นโยบายแบ่งแยกสีผิว (apartheid)

เนลสัน แมนเดลา จึงตัดสินใจใช้โอกาสที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดรักบี้ชิงแชมป์โลกสร้างความปรองดองให้คนในชาติ ด้วยการให้ทีม Springboks ที่เคยเป็นตัวแทนของการเหยียดผิว ไปเชิญชวนให้คนผิวสีและเด็กๆ ร่วมเชียร์ทีมในวันที่แอฟริกาใต้กำลังจะแข่งขันรักบี้กับออสเตรเลีย จนกระทั่งในรอบชิงชนะเลิศกับนิวซีแลนด์ ที่ทั้งคนผิวขาวและผิวสีออกมาร่วมเชียร์ชาติตัวเองจนได้รับชัยชนะ กระทั่งความเกลียดชังระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ทุเลาลงไป

แต่ในบริบทความขัดแย้งของซีเรียและแอฟริกาใต้นั้นแตกต่างกันมาก

เพราะความรุนแรงในซีเรียยังคงดำเนินอยู่ ทำให้ยังไม่เกิดบรรยากาศ ‘ไว้ใจ’ ที่รัฐบาลซีเรียจะโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามมาเริ่มเล่นเกมกีฬาร่วมกันได้

อีกทั้งการแข่งกีฬารักบี้ในแอฟริกาใต้ขณะนั้นเป็นลักษณะที่คนผิวขาวและผิวสีออกมาเชียร์ชาติตัวเองแข่งกับชาติอื่น ไม่ใช่ในลักษณะฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างคนในชาติที่รัฐบาลซีเรียจะจัดในครั้งนี้ และยังมีเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่ในซีเรีย ที่การจัดการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลในการช่วงชิงพื้นที่คืนจากกลุ่มกบฏ

แนวคิดของเนลสัน แมนเดลาที่ว่ากีฬาจะช่วยสมานรอยร้าวนั้น
เป็นความคิดที่เก่าคร่ำครึในสมัยนี้
เพราะเราควรตระหนักด้วยว่าในทางกลับกันกีฬาก็สามารถสร้างความแตกแยกได้

Photo: Hosam Katan, Reuters/profile

การสร้างสันติภาพผ่านเงื่อนไข Fair Play ในเกมกีฬา

ปัจจุบันกีฬาได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่เกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งมีงานวิจัยด้านการสร้างสันติภาพชี้ให้เห็นว่า ‘กีฬาแบบทีม’ นั้นสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดขั้นตอนของการสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Process) ที่ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) เสนอไว้เมื่อปี 1998 ได้ ซึ่งขั้นตอนการสร้างสันติภาพของกัลตุงประกอบไปด้วย Resolution, Reconciliation และ Reconstruction (3Rs)

โดย Resolution หมายถึง การแก้ปัญหาหลังเกิดความขัดแย้งทันที ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นก่อน อย่างเช่น การปลดอาวุธ หรือการกระจายอำนาจ

อย่างที่สองคือ Reconciliation หมายถึง ขั้นตอนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มขัดแย้งต่างๆ ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาว

และสุดท้ายคือ Reconstruction หมายถึง การฟื้นฟูการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

เพราะกีฬาจะฝึกให้ทุกคนมาอยู่ภายใต้เกมการแข่งขันที่เสมอภาคกัน (Fair Play) และปัจจุบัน ‘ฟุตบอล’ เป็นกีฬาที่ถูกนำไปใช้ลดความขัดแย้งในหลายประเทศ อย่างหน่วยงาน Coaches Across Continents (CAC) ได้ใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หรือเกิดการแบ่งแยกทางศาสนาหรือเชื้อชาติทั่วโลก ทั้งเซียร์ราลีโอน และลิเบอเรีย โดยเฉพาะกับเยาวชนเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกการอยู่ร่วมกัน และการแก้ปัญหาแบบทีม

ทอม วูดเฮาส์ (Tom Woodhouse) อาจารย์ด้านสันติภาพ ประจำมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ดของอังกฤษ เห็นว่า “ที่ผ่านมามีความเห็นด้านลบเกี่ยวกับกีฬาเยอะ ว่าจะยิ่งไปเพิ่มความขัดแย้ง แต่แท้จริงแล้วกีฬาสามารถสร้างความสามัคคี เพราะการเล่นกีฬาจะฝึกให้รับฟังความเห็นของผู้อื่น การเคารพผู้อื่น และการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ของกีฬาจะเอื้อต่อการลดความขัดแย้ง และส่งเสริมสันติภาพ”

แต่ฟาก แอชวิน ดีซาย (Ashwin Desai) อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เชื้อชาติของแอฟริกา ประจำมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก เห็นแย้งว่า ความรู้สึกสามัคคีจากเกมกีฬาอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว และความขัดแย้งอาจกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังการแข่งขันจบลง 2-3 เดือน

“แนวคิดของเนลสัน แมนเดลาที่ว่ากีฬาจะช่วยสมานรอยร้าวนั้นเป็นความคิดที่เก่าคร่ำครึในสมัยนี้ เพราะเราควรตระหนักด้วยว่าในทางกลับกันกีฬาก็สามารถสร้างความแตกแยกได้”

ตอนนี้เราคงจะเปรียบเทียบสถานการณ์ซีเรียกับสถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ไม่ได้ เพราะขณะนี้การโจมตีอย่างรุนแรงในซีเรียยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และการสร้างสันติภาพผ่านกีฬานั้นอาจจะเหมาะกับการสร้างสันติภาพในระยะยาวมากกว่า มิใช่ในสถานการณ์คับขันอย่างในซีเรีย

เพราะกว่าจะไปถึงขั้นตอนใช้กีฬาเป็นเครื่องมือที่สมานรอยร้าวให้คนในประเทศซีเรีย แต่ขณะนี้บรรยากาศแห่งความ ‘ไว้ใจ’ ของทั้งสองฝ่ายที่จะนำไปสู่การเล่นกีฬาด้วยกันนั้นก็ยังดูจะเกิดขึ้นได้ยาก

 

อ้างอิง:
     – Galtung, J., 1998. After Violence: 3R, Reconstruction, Reconciliation, Resolution: Coping with Visible and Invisible Effects of War and Violence. <http://www.transcend.org/TRRECBAS.HTM(16/5/06).
– http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-38082647
– http://www.bbc.com/sport/23851559
– http://www.telegraph.co.uk/news/2016/11/23/syrian-regime-suggests-friendly-football-game-people-besieged
– https://www.theguardian.com/world/2016/jul/30/aleppo-fear-safe-passage-trap
– https://www.sportanddev.org/en/article/news/exploring-role-sport-conflict-resolution-and-peacebuilding