หลายคนน่าจะได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Split ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของ เอ็ม. ไนต์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) กันไปแล้ว

Split เล่าเรื่องราวของชายผู้มี 23 บุคลิกที่ลักพาตัวเด็กผู้หญิง 3 คนไป

และนี่คือเนื้อเรื่องคร่าวๆ ของหนัง ซึ่งเราขอแนะนำว่าคุณก็ไม่ควรรู้อะไรไปมากกว่านี้ เพื่อที่จะเข้าไปรับความเซอร์ไพรส์จากชยามาลานแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย!

แต่ก่อนจะได้ชมภาพยนตร์ เราอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับ Multiple Personality Disorder หรือโรคหลายบุคลิกที่ตัวเอกของเรื่อง ‘เจมส์ แม็กอะวอย’ (James McAvoy) เผชิญอยู่ให้มากกว่านี้ เพื่อไขข้อสงสัยว่าโรคนี้มีอยู่จริงหรือไม่

แล้วเป็นไปได้จริงหรือที่มนุษย์เพียงคนเดียวจะมีบุคลิกอื่นซ่อนอยู่ในตัวเองมากถึง 23 บุคลิก!?

เมื่อบุคลิกหนึ่งปรากฏออกมา เขาหรือเธอจะจำความรู้สึกนึกคิดของบุคลิกอื่นไม่ได้ ไม่มีความทรงจำของกันและกัน ลืมแม้กระทั่งการกระทำของตัวตนอีกบุคลิกที่เพิ่งผ่านพ้นไป

 

โรคหลายบุคลิก เมื่อเป็นแล้ว แต่ละบุคลิกที่ปรากฏออกมาจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านสุขภาพ WebMD ระบุว่าโรคหลายบุคลิก กับชื่อภาษาอังกฤษ Dissociative Identity Disorder หรือ Multiple Personality Disorder เป็นโรคที่มีอยู่จริง โดยเป็นโรคที่เกิดจากความซับซ้อนของสภาพจิตใจ

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้มักจะได้รับความรุนแรงในวัยเด็กมาก่อน ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการทำร้ายร่างกาย จนทำให้ผู้ป่วยต้องสร้างตัวตนอีกบุคลิกขึ้นมาเพื่อลบบาดแผลในจิตใจ

ว่ากันว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีบุคลิกมากกว่า 2 บุคลิกขึ้นไป แต่ละบุคลิกก็จะถูกแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เมื่อบุคลิกหนึ่งปรากฏออกมา เขาหรือเธอจะจำความรู้สึกนึกคิดของบุคลิกอื่นไม่ได้ ไม่มีความทรงจำของกันและกัน ลืมแม้กระทั่งการกระทำของตัวตนอีกบุคลิกที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ยิ่งไปกว่านั้นบุคลิกที่วนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันออกมาก็ปรากฏอัตลักษณ์ที่ต่างกัน เช่น อายุ, เพศสภาพ, เชื้อชาติ, ลักษณะท่าทาง ตลอดจนคำพูดและน้ำเสียงที่ใช้ ทั้งนี้บุคลิกที่แสดงออกมาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ

เชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้มิลลิแกนป่วยจนมีบุคลิกในตัวเองมากถึง 24 บุคลิก
เป็นผลมาจากชีวิตในวัยเด็กของเขาที่เปรียบเสมือนฝันร้าย
หลังถูกพ่อเลี้ยงของตัวเอง ชาลเมอร์ มิลลิแกน (Chalmer Milligan) กลั่นแกล้งและทำร้ายเป็นประจำ

Photo: hollywoodreporter

 

กรณีศึกษา: บิลลี มิลลิแกน อาชญากร-ผู้ป่วย 24 บุคลิก

คุณรุจน์, พี่รุจน์, ป้ารุจน์ นี่คือตัวละคร 3 บุคลิกของรุจน์ (รับบทโดย บ็อบบี้-นิมิตร ลักษมีพงศ์) จากซีรีส์ เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร ที่จะวนเวียนกันออกมารับมือกับสถานการณ์วายป่วงที่เกิดขึ้นในเรื่อง พร้อมเรียกเสียงฮาจากคนดูได้อยู่เสมอ

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิกจะเรียกเสียงฮาเหมือนอย่างที่ ‘ไตรรุจน์’ (3 รุจน์) ทำได้จริงหรือ?

บิลลี มิลลิแกน (Billy Milligan) คือชายชาวอเมริกันที่เคยก่อคดีสะเทือนขวัญในช่วงยุค 70s

เรื่องราวของอาชญากรผู้นี้คงไม่แปลกอะไร หากเขาไม่บังเอิญมีบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในตัวเองกว่า 24 บุคลิก!

ปี 1975 มิลลิแกนถูกจับกุมและคุมขังอยู่ที่คุก ‘Lebanon Correctional Institution’ ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากความผิดฐานปล้นอาวุธ และรับโทษอยู่ในคุกจนถึงช่วงต้นปี 1977 ก่อนที่ไม่กี่เดือนถัดมา มิลลิแกนจะถูกจับกุมอีกครั้ง หลังก่อเหตุข่มขืนหญิงสาว 3 คนในมหาวิทยาลัยโอไฮโอ

แม้ช่วงเวลาดังกล่าว มิลลิแกนจะมีอายุ 22 ปี แต่หนึ่งในเหยื่อคดีสะเทือนขวัญให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่พนักงานว่า “ท่าทีที่เขาแสดงออกมากลับดูเหมือนเด็กสาวอายุ 3 ขวบด้วยซ้ำ”

ระหว่างรับโทษ มิลลิแกนได้รับการวินิจฉัยโดยคุณหมอวิลลิส ซี. ดริสคอลล์ (Willis C. Driscoll) ว่าเขาเป็นโรคจิตเภทเฉียบพลัน (acute schizophrenia) ขณะที่ โดโรธี เทอร์เนอร์ (Dorothy Turner) นักจิตวิทยาประจำศูนย์สุขภาพจิตในโอไฮโอสรุปว่า มิลลิแกนป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก นั่นจึงทำให้เขาไม่ต้องรับโทษที่ก่อ แต่ต้องเข้ารับการบำบัดโดยทันที!

มิลลิแกนเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชอยู่หลายแห่ง ซึ่งเจ้าตัวก็ได้แสดงบุคลิกที่ซ่อนไว้ในตัวเองแตกต่างกันออกไปถึง 10 บุคลิก แต่เดวิด คอล (David Caul) หนึ่งในจิตแพทย์ที่รักษามิลลิแกนกลับบอกว่า เขายังมีบุคลิก ‘ไม่พึงประสงค์’ อีกกว่า 14 บุคลิกที่ซ่อนอยู่

Photo: wikimedia commons

1. บิลลี่ มิลลิแกน (Billy Milligan) บุคลิกหลัก

2. อาเธอร์ (Arthur) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัช และโลหิตวิทยา เขามีอำนาจในการกำหนดว่าจะให้บุคลิกไหนปรากฏออกมา

3. เรเกน วาดาสโควินิช (Ragen Vadascovinich) ชาวยูโกสลาเวียผู้เต็มไปด้วยความเกลียดชัง มีสำเนียงการพูดแบบสลาฟ (Slavic) สามารถอ่าน-เขียนภาษาเซอร์เบียได้อย่างคล่องแคล่ว และในยามคับขัน เรเกนจะมีอำนาจที่เหนือที่สุดจากบรรดาบุคลิกอื่นๆ (บุคลิกนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ก่อคดีโจรกรรมอาวุธ)

4. อัลเลน (Allen) มือกลอง ศิลปิน และนักวาดรูปพอร์เทรต มีทักษะในการพูดโน้มน้าวใจคนอื่น ทั้งยังเป็นบุคลิกเดียวที่สูบบุหรี่

5. ทอมมี (Tommy) ถูกจำผิดว่าเป็นอัลเลนอยู่บ่อยๆ เนื่องจากเป็นบุคลิกที่รักศิลปะเหมือนกัน ทอมมีชอบเล่นแซ็กโซโฟน วาดรูปวิวทิวทัศน์ และเป็นกูรูด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

6. แดนนี (Danny) หวาดกลัวผู้คน โดยเฉพาะผู้ชาย (ว่ากันว่าบุคลิกนี้เกิดขึ้นจากช่วงชีวิตในวัยเด็กที่มิลลิแกนถูกพ่อเลี้ยงรังแก)

7.เดวิด (David) เด็ก 8 ขวบผู้เก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้ในตัวเอง ยามที่มิลลิแกนรู้สึกเจ็บ บุคลิกนี้จะถูกดึงให้ปรากฏออกมา

8. คริสทีน (Christene) เด็กสาววัย 3 ขวบที่มักจะปรากฏตัวออกมาเมื่อมิลลิแกนรู้สึกปลอดภัยและไร้ความกังวล

9. คริสโตเฟอร์ (Christopher) พี่ชายวัย 13 ปี ของครีสทีนที่ชอบเป่าฮาร์โมนิกา

10. อดาลานา (Adalana) เลสเบี้ยนที่ชื่นชอบการทำอาหารและการทำความสะอาด ซึ่งทนายความส่วนตัวของมิลลิแกนกล่าวว่า อดาลานาได้สารภาพกับเขาว่าเจ้าตัวเป็นผู้ก่อคดีข่มขืนดังกล่าวด้วยตัวเอง โดยที่บุคลิกอื่นๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

และอีก 13 บุคลิกดังต่อไปนี้ ถูกยกให้เป็นบุคลิกไม่พึงประสงค์ ไม่น่าไว้ใจ โดยทุกบุคลิกจะมีอาเธอร์ และเรเกนเป็นผู้รับหน้าที่ดูแล

11. ฟิล (Phil) โจรที่ก่อคดีเล็กๆ

12. เควิน (Kevin) นักวางแผนอาชญากรรม เชี่ยวชาญด้านการวางแผนปล้นร้านขายยา

13. วอลเตอร์ (Walter) นักล่าชาวออสเตรเลียที่จำทางเก่ง ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ไม่น่าไว้ใจ เนื่องจากเคยยิงและฆ่าอีกามาก่อน

14. เอพริล (April) หญิงสาวผู้เคียดแค้นและจ้องหาโอกาสที่จะฆ่าพ่อเลี้ยงของมิลลิแกนอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเอพริลเคยพูดกล่อมให้เรเกนลงมือฆ่าพ่อเลี้ยงของตัวเองซะ แต่โชคยังดีที่อาเธอร์ปรากฏตัวออกมาและช่วยเหลือเรเกนไว้ได้ทัน

15. ซามูเอล (Samuel) บุคลิกชาวยิวหนึ่งเดียวที่นับถือพระเจ้า ถูกหมายหัวให้เป็นหนึ่งในบุคคลไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากเคยแอบขโมยภาพวาดผลงานของบุคลิกใดบุคลิกหนึ่งไปขาย

16. มาร์ก (Mark) เป็นคนขยันแต่ขาดความกระตือรือร้น ถ้าใครไม่สั่งอะไรเขาก็จะไม่ทำอะไรทั้งนั้น

17. สตีฟ (Steve) บุคลิกที่ชอบล้อเลียนคนอื่นด้วยท่าทางตลกๆ

18. ลี (Lee) บุคลิกพิเรนทร์ที่ชอบทำอะไรแผลงๆ และชอบนำความหายนะมาสู่ครอบครัว

19. เจสัน (Jason) บุคลิกที่แบกรับความกดดันของทุกคนไว้

20. บ็อบบี้ (Bobby) ฝันที่จะเป็นผู้นำด้านการผจญภัย และแก้ไขวิกฤตการณ์โลก แต่กลับขาดความทะเยอทะยาน

21. ชอว์น (Shawn) บุคลิกที่ประสาทการได้ยินไม่สู้ดีนัก และไม่ค่อยได้รับโอกาสในการปรากฏตัวสักเท่าไหร่

22. มาร์ติน (Martin) คนเสแสร้งและจอมปลอมจากนิวยอร์ก

23. ทีโมธี (Timothy) เคยทำงานที่ร้านดอกไม้ แต่หลังจากที่ถูกเกย์มาจีบ เขาก็ไม่กล้าปรากฏตัวออกมาอีกเลย

เมื่อมิลลิแกนได้รับการรักษาจนเริ่มหายดี บุคลิกทั้งหมดของเขาจึงหล่อหลอมกันออกมาเป็นบุคลิกที่ 24 ‘อาจารย์’ ที่ผสมผสานทุกบุคลิกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และสามารถจดจำการกระทำของบุคลิกอื่นๆ ได้ทุกบุคลิก
หลังจากที่เข้ารับการบำบัดนานถึง 14 ปี มิลลิแกนถูกปล่อยตัวออกจากศูนย์สุขภาพจิตโอไฮโอ และศาลโอไฮโอ เมื่อปี 1991

เชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้มิลลิแกนป่วยจนมีบุคลิกในตัวเองมากถึง 24 บุคลิกเป็นผลมาจากชีวิตในวัยเด็กของเขาที่เปรียบเสมือนฝันร้าย หลังถูกพ่อเลี้ยงของตัวเอง ชาลเมอร์ มิลลิแกน (Chalmer Milligan) กลั่นแกล้งและทำร้ายเป็นประจำ

ปี 2014 มิลลิแกนในวัย 59 ปีเสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่บ้านพักคนชราที่โอไฮโอ

Photo: wikimedia Commons

โรคหลายบุคลิกมีอยู่จริง ตัวตนแต่ละตัวตนจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และจำกันไม่ได้

นายอธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่าสมัยก่อนจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหลายบุคลิกเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว และส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในตัวเองเพียง 2 บุคลิกเท่านั้น

“ถ้าใช้หลักจิตวิเคราะห์คือ เมื่อมนุษย์เราเกิดปมความขัดแย้งในใจ พอทำอะไรที่ตัวเองรับไม่ได้ เขาก็จะมีทางเลือกให้ตัวเองเพียง 2 ทาง สมมติว่ามีความต้องการทางเพศแล้วไปก่อเหตุข่มขืน พอรู้สึกรับไม่ได้ ทางเลือกที่ถูกต้องก็คือการไปสารภาพผิด หรือมอบตัว แต่ก็มีบางคนที่เลือกปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ทำ

“ในช่วงแรกๆ บุคลิกที่เกิดขึ้นมาเพื่อปฏิเสธอาจจะยังเชื่อมโยงกับบุคลิกหลักได้อยู่ แต่เมื่อวิธีการป้องกันตัวเองในวิธีนี้เริ่มมีการใช้แน่นหนาขึ้น เราก็อาจจะลืมไปเลยว่ามันเป็นบุคลิกที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง

“เราจะเคยเห็นกรณีตัวอย่างนี้ในหนังไทยหรือละครไทยที่คนคนหนึ่งมี 2 บุคลิกในตัวเอง เช่น กลางวันเป็นพยาบาลเรียบร้อย แต่พอตกกลางคืนก็กลายเป็นสาวเปรี้ยว โดยจุดเด่นของทั้ง 2 บุคลิกคือพวกเขาจะจำกันไม่ได้ บุคลิกหนึ่งจะผลักสิ่งที่ตัวเองรับไม่ได้ให้ไปอยู่ในอีกดินแดนหนึ่ง ซึ่งเขาเองก็ไม่อาจระลึกได้เช่นกัน”

นายอธิชาติกล่าวปิดท้ายกับเราว่า “ความหมายของโรคนี้ เขาจะต้องแยกตัวตนออกจากกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่สามารถรู้เลยว่ามีอีกคนหนึ่งอยู่ในตัวเอง ถูกแยกเป็นคนละคน เป็นได้แค่ครั้งละคน โดยวิธีการรักษาโรคนี้จะใช้การรักษาแบบจิตวิเคราะห์ หรือการสะกดจิตเพื่อดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ป่วยให้โผล่ขึ้นมาให้เจ้าตัวได้คิดว่าเขาเจอบาดแผลอะไรมาบ้าง”

อ้างอิง:
– http://www.webmd.com/mental-health/dissociative-identity-disorder-multiple-personality-disorder#1
– https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Milligan
– http://www.learning-mind.com/case-of-billy-milligan

Tags: , ,