หากใครที่สนใจข่าวของแวดวงบันเทิงเมื่อวานนี้ (23 พฤศจิกายน 2559) คงไม่มีข่าวอะไรจะน่าสนใจเท่ากับข่าวการประกาศปิดตัวลงของคลื่นวิทยุ SEED 97.5 FM หลังจากที่เป็นคลื่นวิทยุยอดนิยมคลื่นหนึ่งมาถึง 12 ปี พร้อมกับทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า
‘วิทยุคือสื่อต่อไปที่จะจบลงจริงหรือ?’
คำถามข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลังจากช่วงที่ผ่านมาสื่ออย่าง ‘นิตยสาร’ เองก็ประสบปัญหากันอย่างหนักมาแล้ว เพราะความสะดวกของการเสพสื่อออนไลน์ ที่ทำให้สื่อต่างๆ ที่ล้าสมัยได้รับความนิยมน้อยลง และมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น ไม่รวดเร็ว หรือไม่ทันใจ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้
แล้วการปิดตัวลงของคลื่น SEED จะส่งผลกระทบหรือบ่งบอกอะไรในวงการวิทยุบ้านเราวันนี้บ้าง คงต้องย้อนรำลึกถึงอดีต เพื่อประเมินพฤติกรรมของคนฟังวิทยุในปัจจุบัน และวิเคราะห์ถึงอนาคตอันใกล้ เพื่อหาคำตอบว่า จริงไหมที่สื่อวิทยุจะหมดสมัย และถ้าจริงสื่อนี้ควรปรับตัวอย่างไร
คลื่น SEED ในยุคก่อตัวที่สั่นสะเทือนวงการวิทยุ
ในอดีต คลื่น SEED 97.5 FM เป็นคลื่นวิทยุภายในเครือของ วิทยุ อสมท หรือ Modern Radio ที่คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ บมจ. อสมท ในขณะนั้น ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีคอนเซปต์คือเป็นคลื่นที่มีดีเจชายล้วน เปิดเพลงไม่แบ่งค่าย และมีช่วงเวลาที่ออกอากาศทั่วประเทศที่ชื่อว่า SEED NATIONWIDE ที่ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุของ อสมท ทุกจังหวัดในช่วงเวลา 20:00-24:00 น. ทำให้ได้รับกระแสนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นที่โด่งดังอย่างรวดเร็ว
การที่ SEED ใช้ดีเจหนุ่มหล่อมาจัดรายการ ทำให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพของดีเจ ที่เคยเน้นความสำคัญเพียงแค่เสียงและสไตล์การเล่าเรื่องมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ การทำให้ ‘หน้าตา’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญของนักจัดรายการวิทยุ ทำให้คนที่หน้าตาไม่หล่อไม่สวยได้รับอุปสรรคหากจะมาเป็นดีเจในคลื่นวิทยุมากขึ้น โดยเฉพาะคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ว่า SEED เองจะไม่ใช่คลื่นแรกที่นำค่านิยมนี้มาใช้ (EFM และวิทยุเครือ A-Time เป็นคลื่นแรกๆ ที่ใช้ดาราและนักร้องมาจัดรายการ) แต่ก็สร้างผลกระทบถึงขนาดทำให้คลื่น Hot Wave ที่เป็นคลื่นวัยรุ่นอันดับ 1 ในขณะนั้น ถึงกับต้อง ‘โละ’ ดีเจในคลื่นออก แล้วเปลี่ยนเป็นดีเจผู้ชายเพื่อแข่งกับคลื่น SEED
ซึ่งข้อได้เปรียบของคลื่น SEED ในตอนนั้น คือการเปิดเพลงโดยไม่แบ่งค่าย เนื่องจากเป็นคลื่นวิทยุที่เป็นอิสระต่อค่ายเพลง ทำให้สามารถเปิดเพลงได้หลากหลาย บวกกับการมีช่วงออกอากาศทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะการอัพเดตอันดับเพลงฮิตจาก SEED Chart Top 20 ทุกคืนวันอาทิตย์ และติดตามชมรายการ SEED TV ผ่านทางช่อง Modern Nine TV
ซึ่งดีเจทั้งหมดนี้ได้ถูกหมุนเวียนเพื่อพาไปพบเจอกับคนฟังตามจังหวัดต่างๆ ทุกเดือน ด้วยการจัดคอนเสิร์ต SEED Show ที่จัดขึ้นเดือนละครั้งในแต่ละจังหวัด พร้อมกับยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น SEED Campus และ SEED Market ที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
และทำให้ดีเจกลายเป็นไอดอล อีกทั้งยังเน้นการเปิดเพลงเกาหลีเป็นคลื่นแรกๆ ทำให้คลื่น SEED สร้างรายได้มากมาย และทำให้คลื่นมีอำนาจการต่อรองการมาขอซื้อโฆษณาจากสินค้าต่างๆ
แต่คลื่น SEED ก็ไม่หยุดแค่นั้น
วิกฤตบ้านเมือง เคเบิลทีวี สัญญาณการล่มสลาย
หลังจากที่คลื่น SEED 97.5 FM สามารถสร้างรายได้ให้กับทาง อสมท อย่างมหาศาล ด้วยวิสัยทัศน์ของ ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล ผู้บริหารคลื่น SEED และหนึ่งในไอคอนหลักที่เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์คลื่น SEED มาโดยตลอด ได้ขอทาง อสมท แยกตัวมาเป็นบริษัทลูก โดยใช้ชื่อว่า SEEDMCOT ซึ่งยังอยู่ภายใต้ บมจ. อสมท จำกัด แต่จะสามารถมีอิสระในการขยายกิจการและกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้ช่วงนั้นคลื่น SEED ได้ลงทุนกับการสร้างและขยายกิจการในส่วนต่างๆ เป็นอย่างมาก
โดยมีการสร้างระบบโซเชียลมีเดียในช่วงรอยต่อของ Hi5 กับ Facebook โดยใช้ชื่อว่า SEED CAVE ที่มุ่งหวังให้ศิลปินกับแฟนเพลงสามารถเชื่อมต่อกันได้ และให้คนสามารถเข้ามาดูการแสดงสดของศิลปินได้ผ่านหน้าจอของคอมพิวเตอร์ แต่แล้ว SEED CAVE ก็ได้ปิดตัวลง หลังจากแถลงข่าวเปิดตัวและทดลองใช้ได้ไม่นาน
นอกจากนี้ SEED ยังมีทั้งละครซิตคอม หรือแม้แต่เกมบนโลกโซเชียลที่ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จ และทำให้กำไรส่วนใหญ่ของ SEED ละลายหายไปกับการลองผิดลองถูกเหล่านี้ ก่อนที่จะพบกับการเติบโตของช่องเคเบิลทีวีที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเพลงได้มากขึ้น
ขณะที่เพลงเกาหลีที่เป็นจุดเด่นของคลื่น ก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์จากแกรมมี่ ทำให้ SEED ไม่ใช่ที่แรกที่ศิลปินเกาหลีต้องเข้ามาหาอีกต่อไป
รวมไปถึงวิกฤตต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์เผาเมือง น้ำท่วมใหญ่ หรือจะเป็นการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการปฏิวัติรัฐบาลหลายครั้ง ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของภาคธุรกิจ
ท้ายที่สุด พฤติกรรมของคนฟังที่เปลี่ยนไปหลังการมาถึงของ mp3 และยูทูบ ก็ทำให้ความนิยมของคลื่น SEED ค่อยๆ ลดลง
คลื่น SEED การปรับตัว เปลี่ยนผ่าน และล่มสลาย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังการมาถึงของ MP3 ส่งผลให้ค่ายเพลงต่างๆ ลดต้นทุนในการทำเพลงมากขึ้น ด้วยการผลิตและรักษาขอบเขตของแนวเพลงที่ขายได้ชัวร์ๆ อีกทั้งยังเกิดค่านิยมว่าเพลงไทยนั้นคือของฟรี ทำให้ศิลปินไม่สามารถอยู่ได้ด้วยยอดดาวน์โหลด หรือยอดการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตซึ่งวิกฤตของการให้คุณค่าของศิลปินและเพลงบางประเภท ได้ส่งผลขยายมากขึ้นเรื่อยๆ จนคลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมเปิดเพลงวนอยู่กับเพลงดัง (แต่เป็นเพลงเดิมๆ) จนเกิดวิกฤตระลอกที่สอง ของการตีกรอบขอบเขตการฟังเพลงของคนไทย
เมื่อพฤติกรรมของคนฟังเปลี่ยน รูปแบบการดำเนินรายการของ SEED ก็เปลี่ยนตาม จากสโลแกน ‘เมล็ดพันธุ์ใหม่ของคนวัยมันส์’ มาเป็น ‘Radio Interactive’ SEED หันมาบริหารโซเชียลคอนเทนต์ และใช้แอปพลิเคชันกับเฟซบุ๊กให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนฟังมากที่สุด การโต้ตอบกับคนฟังที่เปลี่ยนมาเป็น 2 Way Communication การเล่นเกมโชว์ผ่าน Live Facebook ที่ใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ล่าสุด เพื่อช่วยในการบรอดแคสต์ คือการขยับไปข้างหน้าเพื่อให้มีความเร็วของฝีก้าวที่เท่าเทียมกับกลุ่มคนฟัง ‘รุ่นใหม่’ ในปัจจุบัน
แต่ทั้งหมดนั้น สุดท้ายคือความล้มเหลว เมื่อ อสมท ต้นสังกัดขาดทุนหลักพันล้าน จนถึงขั้นไม่มีงบจ่ายเงินชดเชยพนักงาน จนเป็นเหตุให้คลื่น SEED ต้องปิดตัวในที่สุด
การปิดตัวของคลื่น SEED จะเป็นสัญญาณของคลื่นวิทยุที่หมดโอกาสในการก้าวไปข้างหน้าหรือไม่ หรือว่าแท้จริงแล้ว คำตอบของวงการเพลงไทยวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของผลงาน การนำเสนอตนเอง และการเข้าถึงคนฟัง คือการพึ่งสื่อโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันมิวสิกสตรีมมิงต่างๆ มากขึ้น
คำถามคือ ในวันที่ศิลปินหันไปใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองในการเผยแพร่ผลงาน ตัวกลางอย่างสถานีวิทยุที่เปิดเพลงโปรโมตผลงานเหล่านั้นยังจำเป็นหรือไม่
และถ้าจำเป็น คำถามต่อมาคือ คลื่นวิทยุเหล่านั้น (ที่ต้องการอยู่รอด) ควรจะปรับตัวอย่างไร?
ภาพประกอบ: Karin Foxx