จากเหตุการณ์ #แอร์กราบ เมื่อสองเดือนก่อน ตอนนี้การ ‘กราบ’ ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) มีคลิปนักแสดงหนุ่มคนหนึ่งเข้าทำร้ายร่างกาย และสั่งให้หนุ่มเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ที่เฉี่ยวชนรถมินิฯ ของตนจนไฟท้ายแตก ให้มา #กราบรถกู

เหมือนเช่นทุกครั้ง กระแสดราม่าเกิดขึ้นทันที ก่อนจะถูกโหมด้วยความคิดเห็นและการทำมีมล้อเลียนของชาวเน็ต ขณะที่คู่กรณีก็อยู่ระหว่างการฟ้องร้องว่าใครผิดใครถูก พร้อมๆ กับข่าวการยกเลิกสัญญานักแสดงหนุ่มจากต้นสังกัด ฯลฯ

ซึ่งดูเหมือนว่า นักแสดงหนุ่มที่แสดงท่าที ‘เตะตา’ หลังเกิดเหตุการณ์นี้ จะเป็นฝ่ายที่โดนชาวเน็ตรุมสวดจน ‘เละเป็นโจ๊ก​’

แน่นอนว่าพฤติกรรมการทำร้ายคนอื่นไม่ดีแน่ แต่ถ้ามองในอีกแง่ เรื่องราวดราม่าต่างๆ ในโลกโซเชียลฯ ก็เหมือนละคร ที่บางครั้งผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องย้อนกลับมาดูตัว

การ ‘กราบ’ และอาการ ‘น็อต-หลุด’ ที่เกิดขึ้นในคลิป กำลังสะท้อนอะไรบางอย่างที่อยู่ลึกมากกว่าความดราม่า การก่นด่า หรือล่าแม่มด

แต่กำลังสะท้อนบางสิ่งที่อยู่ ‘ลึก’ ลงไปในประวัติศาสตร์ของเรา สังคมของเรา หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา

 ประวัติศาสตร์: ‘กราบ’ เครื่องมือและอำนาจที่ถูกสร้าง เลือนหาย และสร้างใหม่

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงการกราบในบทความ ‘ไหว้เป็นของแขกอินเดีย ไทยรับมาเหมือนคนอื่นๆ’ ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ว่า แต่ดั้งเดิมการไหว้ (หรือ ‘อัญชลี’ ในคำบาลี-สันสกฤต) เป็นวัฒนธรรมฮินดูชมพูทวีป (อินเดีย) ในศาสนาพราหมณ์-พุทธ ก่อนแพร่หลายสู่ตระกูลคนชั้นนำพื้นเมืองในอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในปัจจุบัน รวมถึงประเทศไทย) ผ่านทางพ่อค้าจากชมพูทวีปที่เดินเรือมาสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ หลัง พ.ศ. 1000

ต่อมาตระกูลคนชั้นนำพื้นเมืองได้ยกย่องศาสนาพราหมณ์-พุทธ เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการไหว้ที่ถูกใช้ในกรณีดังกล่าวเช่นกัน เพื่อควบคุมอย่างเคร่งครัดต่อผู้อยู่ใต้อำนาจ โดยกำหนดให้มีแบบแผนการไหว้กราบและหมอบกราบคนที่มีอำนาจเหนือกว่า

ขณะที่การกำหนดประเพณีและประดิษฐ์ให้การไหว้มีช่วงชั้นต่างๆ ด้วยระดับการก้มหัว-ประนมมือว่าควรสูงแค่ไหน เพื่อทำความเคารพผู้มีอำนาจเหนือกว่านั้น เพิ่งถูกกำหนดโดยชนชั้นนำไทยไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา

จากนั้นจุลศักราช 1235 (พ.ศ. 2416) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการยกเลิกประเพณีการหมอบคลานกราบไหว้ให้หมดไปจากประเทศสยามด้วยเหตุผลว่า เมืองใดที่ไม่มีการกดขี่ บ้านเมืองนั้นจะมีความเจริญ

…ธรรมเนียมอันนี้แลเห็นว่าเป็นต้นแห่งการที่เป็นการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเป็นการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย…

…บางทีท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียม ที่หมอบคลานกราบไหว้ตามเดิมเห็นว่าดีนั้น จะมีความสงสัยสนเท่ห์ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืน ให้เดิน จะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็พึงรู้ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เลิกหมอบคลานให้ยืนให้เดินนั้น เพราะจะเห็นเป็นแน่ว่าจะไม่มีการกดขี่แก่กันในการที่ไม่เป็นยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใดผู้ที่เป็นใหญ่มิได้ทำการกดขี่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเป็นแน่…

ข้างต้นเป็นข้อความบางส่วนจาก ประกาศยกเลิกธรรมเนียมทาสและศักดินา จุลศักราช 1235

ประเพณีการหมอบกราบในสังคมไทยน่าจะถึงกาลอวสานตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2500 ไม่ได้รื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในการปกครองประเทศ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนถึงประเด็นข้างต้นในบทความ ‘อีกเมื่อไร (2)’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559 ว่า

ระบอบของเขา (สฤษดิ์ ธนะรัชต์–ผู้เขียน) นิยามความเป็นไทยให้กลับไปใกล้เคียงกับนิยามของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือยืนยันอำนาจทางวัฒนธรรมตามประเพณี นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ – “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายซึ่งมีผู้ปกครองอยู่สูงสุด ไล่ลงมาจนถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์และผู้สูงวัย

และด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นจึงเป็นความสัมพันธ์ในอุดมคติของความเป็นไทย (ที่เรียกว่ามารยาทไทย คือกิริยาวาจาที่เคารพสถานภาพของช่วงชั้นอย่างเคร่งครัด) โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่จุดสุดยอดของพีระมิด เรียงลำดับลงมาจนถึงฐานล่าง ประเพณีการหมอบคลานถูกฟื้นฟูกลับมาใหม่ ไม่ใช่กิริยามารยาทต่อพระมหากษัตริย์แต่อย่างเดียว หากรวม “ผู้ใหญ่” ทั้งหมดด้วย

จากวันนั้นถึงวันนี้ ประเพณีที่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปัดฝุ่นนำกลับมาใช้ ยังคงอยู่และเป็นหนึ่งในนิยาม ‘ความเป็นไทย’ ที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความสำเร็จของสฤษดิ์

เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหน ที่จะกล้าท้าทายนิยาม ‘ความเป็นไทย’ ที่สฤษดิ์ปลุกขึ้นมาใช้อีกเลย

Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/profile

สังคม: บ้านป่าเมืองเถื่อน กฎหมายที่อ่อนแอ และความไม่เสมอภาคของพลเมือง

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? หลายคนตั้งคำถามนี้หลังชมคลิป #กราบรถกู ท่ามกลางความรุนแรงและกระแสดราม่าที่ไหลท่วมนิวส์ฟีด

The Momentum มองว่า กรณีดังกล่าวคือตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากหลายกรณีก่อนหน้า และอีกหลายกรณีที่อาจไม่ตกเป็นข่าว ซึ่ง คำ ผกา นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง บอกว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการสะท้อนภาพความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ความไม่เสมอภาคของผู้คน และความไร้อำนาจของกฎหมายในสังคมไทย

“การเฉี่ยวชนที่เกิดขึ้น คืออุบัติเหตุ แต่กฎหมายการจราจรที่ไม่ได้ถูกบังคับใช้จริง ทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคม เอ๊ะ! เขาจะอยู่รับผิดชอบหรือเปล่า จะอยู่รอเจรจากับประกันหรือเปล่า

“มันไม่มีความไว้ใจกันและกันโดยสิ้นเชิง มันมีความหวาดระแวงกันตลอดเวลา ซึ่งปกติสังคมที่มีความเป็น Civil Society สูงมากๆ จะเป็นสังคมที่อยู่กันด้วยหลักนิติธรรม เรื่องแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไรก็ตามที่มีความขัดแย้งกัน เรามั่นใจว่าจะมีกลไกทางกฎหมายบางอย่าง และต่างฝ่ายต่างก็รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ จะมีความมั่นใจ มีความเชื่อใจกันประมาณหนึ่ง แต่สังคมที่ไม่มี rule of law (กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย) ไม่มีกลไกของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นได้ระหว่างพลเมืองด้วยกัน มันก็มีแนวโน้มที่คนจะใช้วิธีการของตัวเองในการจัดการทุกปัญหาที่เกิดขึ้น”

คำ ผกา บอกว่า ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงพวกเราทุกคนในสังคม

“ถ้าหากเราย้อนกลับมาดูพฤติกรรมของตัวเราเอง เราก็จะเห็นว่าหลายๆ ครั้ง เราก็จะใช้วิธีนี้เหมือนกัน เช่น ถ้าเราโดนตำรวจเรียก สิ่งแรกที่เราจะทำคือ เฮ้ย! เรารู้จักใครบ้าง แทนที่จะทำตามกฎหมายก่อน หรือไม่เราก็จะทำตามกฎหมายนะ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็จะพยายามหาคอนเน็กชัน เพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้จบลงได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และฝ่ายเราได้ประโยชน์มากที่สุด

“ทีนี้ถ้าเราเป็นคนที่มีกำลังมากกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า มีสถานะทางสังคมสูงกว่า มันก็จะมีแนวโน้มว่าเราจะเอาอำนาจ กำลัง ศักดิ์ศรี และสถานะตรงนั้นไปละเมิดคนอื่น

“สังคมไทยเดินมาในจุดที่ ‘เรา’ ในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกับกลไกทางกฎหมายและเพื่อนร่วมชาติของเราต่ำมาก”

หลังจากดูคลิป #กราบรถกู คุณรู้สึกอย่างไร?–The Momentum ถาม

“รู้สึกถึงความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เรื่องนี้มันไม่มีใครดีไม่มีใครชั่วนะ แต่มันสะท้อนถึงวิกฤตศรัทธาในกฎหมาย แล้วก็เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นระหว่างพลเมืองของรัฐด้วยกัน การที่พลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในกันและกันเลย มันแสดงให้เห็นว่า ไม่เกิดภาวะพลเมืองขึ้นในรัฐนั้น

“แปลว่า เราไม่เห็นว่าคนคนนั้นมีศักดิ์ศรีหรือมีสถานะเท่าเทียมเท่ากับเรา ในฐานะคนที่สังกัดอยู่ในรัฐเดียวกัน ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

“เรามักจะมีความรู้สึกว่า คนจนก็จะคิดว่าคนรวยจ้องจะเอาเปรียบเราตลอดเวลา คนรวยก็จะคิดว่าคนจนจ้องจะโกงหรือมีแท็กติกกับตนตลอดเวลา นี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่มีใครไว้ใจใคร แล้วมันก็มีความโกรธแค้นทางชนชั้นเกิดขึ้นในสังคมแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากประชาธิปไตยที่อ่อนแอ ไม่มีการพัฒนาสภาวะที่มีความเสมอภาคกันของพลเมือง ภายใต้รัฐและกฎหมายที่ปฏิบัติโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน

“ดังนั้น หลายๆ สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็มีแนวโน้มที่พลเมืองแต่ละคน จะต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง”

Photo: Toru Hanai, Reuters/profile

ตัวตน: ในวันที่สิ่งของมีอำนาจเหนือกว่าจนต้องบูชา

หากการกราบคือการแสดงความเคารพต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่า การกราบหรือสั่งให้กราบ ‘วัตถุ’ ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง อาจตีความได้ว่า วัตถุชิ้นนั้นมีอำนาจเหนือกว่าผู้กราบหรือผู้ที่สั่งให้กราบ

…ใช่หรือไม่?

ภาพประกอบ: Karin Fox