Photo: Jorge Silva, Reuters/profile

ไม่กี่วันที่ผ่านมา พระหนึ่งรูป กับพระอีกรูปหนึ่ง กลายเป็นประเด็นหน้าหนึ่งของเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก

พระรูปแรก พระเทพญาณมหามุนี หรือ ‘ธัมมชโย’ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่มีคดีฉาวเกี่ยวกับการยักยอกเงินสหกรณ์ แม้คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่พฤติกรรมการไม่ยอมมอบตัวแก่พนักงานสอบสวน โดยอ้างเหตุว่าอาพาธ รวมถึงท่าทีของผู้เกี่ยวข้อง อาทิ รองเจ้าอาวาส (พระราชภาวนาจารย์ หรือทัตตชีโว) โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย (องอาจ ธรรมนิทา) ดูท่าว่าจะไม่ใช่งานง่ายที่ดีเอสไอจะเข้าจับกุม

ขณะที่พระอีกรูป พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ ‘ประยุทธ์ ปยุตฺโต’ ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ราชทินนามสำหรับยกย่องพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณสูงสุดในด้านคันถธุระหรือด้านวิชาการ) รูปสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

นอกจากความเป็น ‘ข่าว’ ที่จุดกระแสให้พระสองรูปนี้กลายเป็นที่สนใจของสังคมในเวลาไล่เลี่ยกันแล้ว การตกเป็นข่าวของท่านยังเป็นเหตุให้ The Momentum นึกถึงความเกี่ยวข้องกันบางประการของท่านทั้งสอง

ไม่ใช่ประเด็นส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องข่าวฉาวแต่ประการใด แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของ ‘พุทธศาสนา’ ในสังคมไทย

ท่านหนึ่ง คำสอนในวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ตกเป็นประเด็นว่า บิดเบือนคำสอนและพระธรรมวินัย

ส่วนอีกท่าน นำข้อสงสัยและประเด็นดังกล่าว มารจนาเพื่อชี้ไขข้อเท็จจริง ผ่านหนังสือชื่อ กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย

แม้ผู้เขียน (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จะเขียนในคำปรารถว่า หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าช่วงปลาย พ.ศ. 2541 หลังมีเอกสารของวัดพระธรรมกายที่พยายามสร้างคำสอนและกิจกรรมของสำนักเผยแพร่ออกไปจำนวนมากมาย ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่จะก่อความเข้าใจผิดพลาดสับสนแก่ประชาชน ถึงขั้นทำให้ศาสนาสั่นคลอนได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ระบุว่า ไม่ว่าจะเกิดกรณีปัญหาเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม การสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็มีความสำคัญในตัวมันเอง

ในวันที่ ‘พุทธศาสนา’ ตกเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ประเด็นเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2541 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยมีบางส่วนเกี่ยวเนื่องกันกับความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนาและวัดพระธรรมกาย

นอกจากนี้ เนื้อหาบางส่วนใน กรณีธรรมกายฯ ยังมีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีความร่วมสมัยอย่างน่าคิด

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

การนิ่งเฉยของธัมมชโยไม่ใช่ครั้งแรก

ท่าทีการนิ่งเฉยโดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของพระธัมมชโยนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายเกี่ยวกับการบิดเบือนคำสอนเมื่อ พ.ศ. 2541 ได้มีผู้เรียกร้องให้พระธัมมชโย (เจ้าอาวาสในขณะนั้น) ออกมาชี้แจง แต่เจ้าอาวาสกลับเลือกที่จะเงียบเฉย ก่อนที่ต่อมาพระที่วัดจะออกมาชี้แจงทำนองว่า

“เรายึดแนวพระพุทธเจ้าจะชนะด้วยความสงบนิ่ง …พระพุทธเจ้ามีผู้หญิงมากล่าวหาว่ามีท้องกับพระพุทธเจ้า บางทีมีคนจ้างคนมารุมด่าสองข้างทาง พระองค์แก้อย่างไร พระพุทธเจ้านิ่งตลอด บอกไว้เลยว่าชนะได้ด้วยความสงบนิ่ง แล้วความจริงก็ปรากฏในที่สุด พระพุทธเจ้าไม่เคยแก้ข่าว อยู่ด้วยความนิ่งสงบ และสุดท้ายก็ชนะ ความจริงจะปรากฏ เราเองก็เลยใช้วิธีการเดียวกัน”

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2542

ประยุทธ์ ปยุตฺโต (หรือปัจจุบันที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ได้เขียนชี้แจงถึงการกล่าวอ้างเช่นนี้ใน กรณีธรรมกายฯ ว่า

‘…ต้องระวังให้มาก เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดต่อพระพุทธเจ้า ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้วิธีสงบนิ่งอย่างเดียว ทรงใช้วิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่จะให้เรื่องจบสิ้นลงด้วยดี ด้วยความถูกต้องและชัดเจน…

‘…ในเหตุการณ์และปัญหาเหล่านี้ บางเรื่องพระพุทธเจ้าทรงแก้ด้วยวิธีเมตตา บางเรื่องทรงแก้ด้วยขันติ บางเรื่องทรงแก้ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ บางเรื่องทรงแก้ด้วยวิธีแห่งอาการสงบ บางเรื่องทรงแก้ด้วยการชี้แจงแสดงความจริง หรือแสดงธรรม…

‘…สำหรับผู้ที่รู้เรื่องพุทธประวัติดี เมื่อได้ยินได้ฟังอย่างนี้ นอกจากจะตำหนิได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแล้ว ก็ยังจะรู้สึกได้ว่า ท่านผู้กล่าวนั้นมุ่งแต่จะรักษาตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำของตน จะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระพุทธเจ้าและเสื่อมเสียต่อศรัทธาในพระพุทธคุณ ที่ถูกนั้น ควรยอมสละตัวเราเพื่อรักษาพระศาสนา ไม่ใช่ยอมให้เสียแก่พระศาสนาเพื่อรักษาตัวเรา’

กรณีธรรมกายฯ, ไม่ควรยอมเสียพระศาสนา เพื่อรักษาตัวของตน (หน้า 7 และ 8)

 

ขณะที่ พระพยอม กัลยาโณ เขียนถึงกรณีการหลบเลี่ยงไม่ยอมมอบตัวของพระธัมมชโย ในบทความ ‘ขอให้จบด้วยดี’ คอลัมน์สำนักข่าวพระพยอม เว็บไซต์โลกวันนี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 59 โดยมีเนื้อความบางส่วนระบุในทำนองไม่เห็นด้วยว่า

‘…ผิดก็ต้องยอมรับผิด ไม่ผิดก็ต้องไปสู้กันในศาล ไม่ใช่ใช้วิธีเตะถ่วงยื้อเวลากันไป ข่มขู่กันไปมา ทำให้ตกอกตกใจอะไรกัน หนังสือพิมพ์ก็เขียนการ์ตูนล้อได้แทบทุกวันว่าจะจับเป็นหรือจับตาย จับเป็นคือเอาตัวเป็นๆ มา จับตายก็คือรอให้ตายก่อนแล้วค่อยไปจับ

‘…ถ้าอาตมาโดนเข้าอย่างนี้คงต้องเอาปี๊บคลุมหัวหรือขุดหลุมฝังตัวเองดีกว่า…’

Photo: Jorge Silva, Reuters/profile

ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย

ในช่วง พ.ศ. 2541 หลังเกิดกรณีธรรมกายโดยเฉพาะเรื่องการบิดเบือนคำสอน (ส่วนที่กระทบพระธรรมวินัย อาทิ สอนว่านิพพานเป็นอัตตา เป็นต้น) สื่อมวลชนได้ติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ บ้างก็ถึงไปวัดเกี่ยวกับประเด็นร้อนในเวลานั้น เพื่อหวังให้ ประยุทธ์ ปยุตฺโต (ขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปิฎก) พระนักคิดนักเขียนที่มีหนังสือ พุทธธรรม ซึ่งประมวลหลักพุทธธรรมโดยดึงเอาคำอธิบายจากพระไตรปิฎก ฯลฯ ไว้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดเล่มหนึ่งเป็นผลงานชิ้นเอก ตอบข้อสงสัย

แต่เนื่องจากอาการอาพาธ ร่างกายไม่อำนวยให้ออกมาต้อนรับและตอบคำถาม ท่านจึงได้ฝากคำตอบมาให้สื่อมวลชนผ่านข้อเขียนชื่อ ‘ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย’ ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ซึ่งตอบข้อสงสัยใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์, การทำบุญ, สิ่งก่อสร้างใหญ่โต, การระดมทุน

แม้จะจั่วหัวว่า ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย แต่เนื้อความในข้อเขียนเป็นการให้ความรู้และหลักการเพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณามากกว่าจะมุ่งหมายวิพากษ์ปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง ทว่าเนื้อความทั้งหมดนั้นค่อนข้างยาว เพื่อกระชับความ จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนในข้อ ‘การทำบุญ’ ที่คนทั่วไปสงสัยและถกเถียงกันมากมาเผยแพร่เพื่อลองร่วมคิด ทบทวน หรือถกเถียง ดังนี้

การทำบุญ

เรื่องการทำบุญต้องเข้าใจกันให้ชัด ‘บุญ’ คือ สิ่งที่ชำระล้างบาป ทุจริต ทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส และเฟื่องฟูเจริญงอกงามขึ้นในความดีงามที่สูงขึ้นไป

ทาน คือ การให้ การบริจาค ที่ว่าเป็น บุญ นั้น ก็เพราะมันกำจัดความเห็นแก่ตัวของเรา…

บุญไม่ใช่แค่ทานเท่านั้น ยังมีบุญอย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ความเชื่อหรือศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่หลงงมงาย ความมีใจเมตตา อยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การเอาใจใส่คิดจะปัดเป่าทุกข์ภัยแก่ผู้เดือดร้อนหรือยากไร้ ความมุ่งมั่นเพียรพยายามทำความดี ความมีสติที่จะดำเนินชีวิตโดยไม่ฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงมัวเมา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท การมีปัญญาและแสวงหาความรู้ที่จะทำชีวิตให้ดีงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริงในสังคม เป็นต้น

บุญอย่างนี้ สูงยิ่งกว่าทานขึ้นไปอีก…

ทาน การบริจาค จะมีความหมายเป็นบุญแท้จริง ก็เพราะเป็นตัวหนุนให้คนก้าวไปในบุญที่สูงขึ้นไปนี้…

กรณีธรรมกายฯ, ผนวก ๑ ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย (หน้า 394 และ 395)

 

ส่วนประเด็นเรื่อง สิ่งก่อสร้างใหญ่โต ประยุทธ์ ปยุตฺโต ได้ตอบความข้อนี้ไว้อย่างน่าคิดใน ‘ผนวก ๒ ถาม-ตอบเบ็ดเตล็ด เรื่องขนาดและจำนวน’ ในคำถาม ได้เห็นทางวัดพระธรรมกายโฆษณาว่า สร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เมืองไทยจะได้สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อันดับที่ 8? ว่า

“เจดีย์มีไว้เป็นอนุสรณ์ คือเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อเตือนใจให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณและคำสอนของพระองค์แล้วตั้งใจนำมาประพฤติปฏิบัติ

“เราเรียนรู้ธรรมหรือจำมาได้บ้าง แต่บางทีชินชาไป พอเห็นพระพุทธรูปหรือพระเจดีย์ก็นึกขึ้นได้ หรือสำทับกับตัวเองให้มั่น ให้มีกำลังตั้งใจปฏิบัติ อย่างน้อยเข้าไปใกล้ได้เห็นพระเจดีย์แล้ว ใจโน้มไปในความสงบเบิกบานผ่องใส ก็เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ใช่จะเอาความใหญ่โต หรือไปแข่งขนาดกับใคร

“การคิดไปในทางที่ว่าจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอะไรนั้น คงเป็นความคิดของญาติโยมชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องพระธรรมวินัย ไม่ใช่เรื่องบุญกุศล

“ท่านคงพูดประกอบให้ตื่นเต้นสนใจกันไปเท่านั้นเอง คงเป็นอย่างนั้นไม่ได้”

กรณีธรรมกายฯ, ผนวก ๒ ถาม-ตอบเบ็ดเตล็ด เรื่องขนาดและจำนวน (หน้า 403)

 

Photo: Jorge Silva, Reuters/profile

ไม่สำคัญว่าเป็นอะไร แต่สำคัญว่าจะทำอะไร

ค่ำวันที่ 5 ธันวาคม 2559 เวลา 21:00 น. ที่ผ่านมา หลังพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ในค่ำวันนั้น พระพรหมคุณาภรณ์ ได้มีสัมโมทนียกถา* แก่คณะศิษย์ที่มาร่วมแสดงความยินดีบางตอนถึงการได้เลื่อนสมณศักดิ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ว่า

“จะตั้งสมณศักดิ์อะไร ก็เป็นพระนั่นแหละ ก็เป็นพระองค์หนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นโยมไม่ต้องเป็นห่วง จะตั้งชั้นไหน ชั้นไหน ก็เป็นพระ เคยเรียกหลวงอา หลวงลุง หลวงตา หลวงพ่อ หลวงปู่ ก็เรียกไปตามนั้นดีที่สุด ถ้าเขาจะเรียกว่าเจ้าประคุณอะไรก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ให้เป็นเรื่องทางการของเขา เราก็อยู่แบบสบายๆ”

จากนั้นท่านก็ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวถึงธรรมะว่าด้วยการ ‘เป็น’ กับการ ‘ทำ’ ว่า

“ทีนี้เอาล่ะ เรื่องที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจกัน นั่นคือเรื่อง ‘เป็น’ กับเรื่อง ‘ทำ’ เป็นนั่นเป็นนี่ ทางธรรมะท่านไม่นิยมถามว่าจะเป็นอะไร ท่านนิยมถามว่าจะทำอะไร อันนี้ล่ะสำคัญ…”

จากคำกล่าวสั้นๆ ในสัมโมทนียกถาดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การกระทำนั้นเสียงดังกว่าคำพูด ตำแหน่ง และยศถาบรรดาศักดิ์

หรืออาจกล่าวได้ว่า การจะเป็นอะไรนั้นแท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับว่าทำอะไรมากกว่าว่าเป็นอะไร

 

จากกรณีธรรมกาย จนถึงกรณีการหลบเลี่ยงการจับกุมของดีเอสไอของพระธัมมชโย และการได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ของ ประยุทธ์ ปยุตฺโต

มากกว่าข่าวและคำกล่าวของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใด สิ่งที่เห็นได้ชัด แม้ข้อเท็จจริงของคดีจะยังไม่ปรากฏ คือการกระทำของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ได้แสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นพระ’ และ ‘พุทธศาสนา’ ในสังคมไทย ที่เราชาวพุทธน่าจะถือโอกาสนี้ในการสำรวจตรวจสอบความเป็น ‘พุทธ’ ในตัวเราทุกคน

ว่า ‘พระ’ กับ ‘พุทธศาสนา’ แท้จริงแล้วคืออะไร?

 

FACT BOX:

สัมโมทนียกถา ใช้เรียกภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดีหรือบุญกุศลที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง ซึ่งสัมโมทนียกถานั้นเป็นเหตุให้ผู้ทำบุญเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน เกิดความอิ่มใจในผลบุญที่ตนทำและปรารถนาจะทำบุญเพิ่มพูนอีก ทั้งนี้ การกล่าวสัมโมทนียกถาเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์มาแต่โบราณ โดยกล่าวเป็นภาษาไทย ใช้เวลามากน้อยแล้วแต่ผู้กล่าว

กรณีธรรมกายฯ หนังสือที่เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ที่ปัจจุบันได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) หลังจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าช่วงปลาย พ.ศ. 2541 ที่มีเอกสารของวัดพระธรรมกายที่พยายามสร้างคำสอนและกิจกรรมของสำนักเผยแพร่ออกไปจำนวนมากมาย โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่จะก่อความเข้าใจผิดพลาดสับสนแก่ประชาชนถึงขั้นทำให้พระศาสนาสั่นคลอน เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาที่ถูกต้อง สนใจอ่านหนังสือฉบับเต็ม หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป หรือดาวน์โหลดฟรีได้ที่ กรณีธรรมกาย

 

 

Tags: , ,