รากของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากการมองประวัติศาสตร์กันคนละชุดของคนในพื้นที่และภาครัฐ
รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวในบทความ ‘เปิดปมร้อน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครคือผู้ก่อเหตุ? อะไรคือรากของปัญหาความรุนแรง? และการเจรจาเพื่อสันติภาพจะยุติเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่?’
คำถามคือ ความแตกต่างของประวัติศาสตร์ระหว่างคนในพื้นที่และภาครัฐคืออะไร?
และทำไมประวัติศาสตร์ที่ต่างกันถึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุและ ‘ราก’ ของปัญหาความรุนแรง?
ในวันที่รัฐบาล คสช. ตั้งทีม ‘ครม. ส่วนหน้า’ เพื่อหวังเข้าแก้ปัญหา ขณะที่หลายฝ่ายหวังให้สันติภาพเกิดขึ้นด้วยการหันมาเปิดหน้าเจรจา
แต่ดูเหมือนว่าวันนี้และไม่กี่วันก่อนหน้า ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับบาดแผลของผู้คนในพื้นที่ ที่หลายกรณีไม่ได้รับการชำระสะสาง หรือถูกจัดเป็นคดีประเภท ‘ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด’
หากปัจจุบันคือผลพวงจากอดีต และอนาคตคือดอกผลของปัจจุบัน
การกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ เพื่อเป็นกุญแจไขสู่ ‘อนาคต’ ที่สันติ
‘ความหลากหลายในความไม่หลากหลายของประวัติศาสตร์’ ในแบบเรียนไทย จาก พ.ศ. 2520 ถึงยุค คสช.
งานวิจัย ‘เนื้อหาความเป็นพหุวัฒนธรรมในแบบเรียนไทย’ โดย ฐิติมดี อาพัทธนานนท์ ที่ได้ศึกษาแบบเรียนระดับประถมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1-6 ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2544 จำนวน 30 เล่ม จากหลายสำนักพิมพ์ รวมถึงแบบเรียนที่ผลิตใน พ.ศ. 2520-2521 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แบบเรียนไทยยุคใหม่นำเสนอเนื้อหาที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่าแบบเรียนในอดีต
เนื้อหาในแบบเรียนฯ พ.ศ. 2551 มีการกล่าวถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ที่ปรากฏในแบบเรียนส่วนใหญ่แล้วเป็นวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ เช่น อาหาร ภาษา การแต่งกาย สถาปัตยกรรม นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังมองวัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว
ฐิติมดี ขยายความ ‘วัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว’ ว่าเกิดจากการมองวัฒนธรรมแบบเหมารวม เช่น การพูดถึงชาวมุสลิมก็จะนึกถึงเพียงอาหารและการแต่งกาย ซึ่งเป็นการจัดประเภทวัฒนธรรม ทำให้เป็น ‘มาตรฐาน’ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการจัดการกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในรูปแบบหนึ่ง
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ได้รับการอ้างถึงมักจะเป็นวัฒนธรรมที่ ‘ขายได้’ ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว
ขณะที่วัฒนธรรมที่มีความสลับซับซ้อน เป็นความสัมพันธ์ของคน หรือเป็นผลของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งนอกจากจะ ‘ขายไม่ได้’ แล้ว ยังเป็นสิ่งที่บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐ เนื้อหาวัฒนธรรมเช่นนี้จะไม่ถูกบรรจุในแบบเรียน
แบบเรียนไม่มีการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางอำนาจของคนต่างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งของคนต่างวัฒนธรรม เช่น แบบเรียนไม่มีการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมหรือการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ชาวเขา ชาวเล ชาวมุสลิม
บทสรุปของงานวิจัยดังกล่าว มีเนื้อหาบางตอนระบุถึงท่าทีของรัฐในแบบเรียนต่อวัฒนธรรมของชาวมุสลิมว่า
‘ในกรณีของชาวมุสลิม อาจมีการยอมรับเรื่องของอาหาร เช่น ชาชัก โรตี ข้าวหมกไก่ แต่ไม่ยอมรับการเรียกร้องเรื่องวันหยุดตามหลักศาสนา’
เมื่อกลับมามองที่ปัจจุบัน หลังกระทรวงศึกษาฯ ปรับวิธีการสอนวิชาประประวัติศาสตร์ใหม่ (เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558) เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ ปลูกฝังจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ภายใต้ค่านิยม 12 ประการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นโยบายไว้ แม้วิธีการสอนจะเปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนในแง่เนื้อหา ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ จะไม่ต่างจากเดิม
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในงานวิจัย และความจริงที่เกิดขึ้นจากการปรับวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้เรานึกย้อนกลับมาทบทวนและสำรวจตัวเองเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับคิดถึงบทสรุปตอนท้ายของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า
ถ้าการบังคับให้ทุกคนต้องเหมือนกันเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในอดีตเพื่อความเป็นเอกภาพ การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็เป็นเครื่องมือของรัฐเช่นเดียวกัน
และเป็นเครื่องมือที่ถือว่าเหมาะกับยุคสมัยนี้ ที่ความมั่นคงของรัฐขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชน
ประวัติศาสตร์ที่ถูก ‘ปิด’ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประวัติศาสตร์ในแบบเรียนอาจทำให้คนเข้าใจว่า ‘ความเป็นชาติ’ ของไทยมีที่มาเริ่มจากอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หากละเลยที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเก่าแก่มากกว่าอาณาจักรสุโขทัย
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงประเด็นข้างต้นในบทความ ประวัติศาสตร์ “ปกปิด” 3 จังหวัดชายแดนใต้ รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่า “รัฐสุโขทัย” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ matichonweekly.com ว่า
ยะลา-ปัตตานี คือบริเวณที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของคาบสมุทรแหลมทอง ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีอายุหลายพันปีมาแล้ว
…และเป็น “รัฐ” เอกเทศในเครือข่ายของ “ศรีวิชัย” ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัย
…แต่ประวัติศาสตร์ “ชาติ” ไม่ยอมรับรู้หลักฐานที่เป็นพยานความมีตัวตนแท้จริงของรัฐปัตตานี ซึ่งมีความเป็นมาอย่างเอกเทศและยาวนานดังกล่าว มิหนำซ้ำยังดูถูกดูแคลนแสนสาหัสว่าเป็นพวก “แขก” แปลกหน้าเป็นผู้อาศัย แล้วปลุกปั่นกลั่นแกล้งก่อให้เกิดวิวาทบาดหมางอย่างรุนแรงสืบเนื่องยาวนานมากนับร้อยๆ ปีมาแล้ว
จากความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยว ได้กลายเป็นที่มาของการดูถูกผู้คนในพื้นที่นี้ จนเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า
ผลของการดูหมิ่นถิ่นแคลน ก็เกิดปฏิกิริยาตอบโต้เป็นระยะๆ ล่าสุดมีปัญหาขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 ต่อเนื่องถึงต้นปี พ.ศ. 2547 (ซึ่งเกิดกรณี ‘ตากใบ’–ผู้เขียน) จนปัจจุบัน มีผู้พยายามเรียกร้องให้ลดความรุนแรงลงหลายกลุ่มหลายเหล่า แต่ความรุนแรงถึงชีวิตยังไม่ลดละ มีแต่จะร้าวฉานบานปลายขยายวงกว้างขึ้น เพราะความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งบอกความเป็นมาอย่างมีหลักฐานไม่ใช่สร้างจินตนาการของลักษณะ “ล้าหลัง-คลั่งชาติ”
ความเป็นไทย ไฟใต้ ทางออก ในสายตาอานันท์ ปันยารชุน ช่วงหลังเหตุการณ์ตากใบ
จากเหตุการณ์ระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม หน้าตลาดโต้รุ่ง เขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการก่อเหตุในวันครบรอบ ‘เหตุการณ์ตากใบ พ.ศ. 2547’ ที่เป็นโศกนาฏกรรมและความเจ็บปวดที่ยากจะลืมของคนในพื้นที่ หลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้ากวาดจับและสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 70 คน
ข้อสังเกตของ รอมฎอน ปันจอร์ ชวนให้นึกถึงคำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในงานดินเนอร์ทอล์กเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 หรือหลังจากเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้น 274 วัน
แม้คำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน จะผ่านมากว่า 12 ปี แต่หลายประเด็นที่เขาพูด ได้ฉายให้เห็นภาพปัญหาในวันนี้ และอาจถึงทางออกในอนาคต
ความเป็นไทย
“อาณาจักรประเทศไทยขณะนี้เริ่มต้นจากอาณาจักรสุโขทัยดั้งเดิมจะมีคนไทยอยู่ในพื้นที่นี้หรือเปล่าผมก็ไม่รู้ …ตอนนั้นผืนแผ่นดินที่เรียกว่าสุวรรณภูมิก็มีแต่คนพม่า คนมอญ คนเวียดนาม คนเขมร แต่เราลืมไปครับว่าติ่งด้านล่างนั้นเป็นคนมลายู รัฐมลายูนี่เขามีมาช้านาน เขาพูดภาษามลายู เขามีเชื้อชาติมาเลย์ เขาพูดภาษามลายูก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย และตอนนั้นเขาอาจจะเป็นอาณาจักรศาสนาพุทธ ต่อมาเป็นอาณาจักรศาสนาฮินดู และเปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรศาสนาอิสลาม เขาไม่ได้เป็นคนพลัดถิ่น
“…ในประวัติศาสตร์ของไทย 500-600 ปีนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายมาก ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ผมถามว่ามีใครกี่คนที่ไม่มีเลือดเนื้อต่างชาติหรือต่างชนชาติเลย แต่เราเป็นไทยไหม เป็นครับ เพราะเรารู้สึกเป็นไทย เรารักแผ่นดินไทย เรารักสถาบันไทย เรามีความสุขอยู่ในแผ่นดินไทย…
“…คนไทยมีทั้ง ไทย-จีน ไทย-เขมร ไทย-อาหรับ ไทย-พม่า ไทย-มอญ ไทย-ไทใหญ่ ไทย-ลาว ไทย-โปรตุเกส ไทย-มลายู ไทย-ญี่ปุ่น และเดี๋ยวนี้ไทย-ฝรั่งก็เต็มไปหมด เราลืมประวัติศาสตร์”
ไฟใต้และทางออก
“…หลักของความสมานฉันท์ต้องเริ่มต้นจากการพูดความจริง ถึงแม้บางครั้งบางคราวความจริงจะเป็นสิ่งที่กระเทือนจิตใจคน แต่เราต้องใจกว้างครับ มาแบ่งว่าพวกเขาพวกเรา มาถือว่าเขาเป็นศัตรูไม่ได้ หลักการความสมานฉันท์คือ มันมีความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน จนมันบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่ม หน้าที่ของรัฐต้องไม่ไปเสริมสร้างให้มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น รัฐต้องไม่ถือว่าใครเป็นศัตรู ทั้งสองกลุ่มเป็นพสกนิกรทั้งคู่ หน้าที่ของรัฐต้องเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี บนพื้นฐานของความจริง บนพื้นฐานของความยุติธรรม และบนพื้นฐานของความกล้ารับผิด…
“…กระบวนการก่อการร้าย กระบวนการที่เราเรียกว่าแบ่งแยกดินแดนของเมืองไทย หัวโจกมีอยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นในเรื่องของการต่อรองว่า ขอให้เขามีส่วนในการปกครองตัวเอง ขอให้เขามีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของเขาเองบ้าง แต่เมืองไทยแปลกครับ คนไทย-พุทธที่อยู่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่เป็นคนมุสลิม แต่ถ้าเผื่อดูทั้งประเทศแล้ว คนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่คนมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย มันต้องหาความสมดุล มันเป็นเรื่องของการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ยอมรับในสิ่งที่เป็นจริง ยอมรับความผิดพลาดที่มีมาในอดีต…
“…ผมใช้เวลาส่วนใหญ่เล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟัง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก พูดออกไปแล้วคนก็จะบอกว่า คนๆ นี้นิยมมุสลิม แบ่งแยกดินแดน ผมเป็นมาหมดแล้วในชีวิตนี้ เป็นอีกสองอย่างก็ไม่ต้องสะท้านอะไร แต่มันถึงเวลาครับ สังคมไทยต้องแสวงหาความจริง”
รากของปัญหา การศึกษา และการกล้าเผชิญหน้าความจริง
จากตำราเรียนประวัติศาสตร์อันบิดเบี้ยว ความจริงที่ถูกปกปิดของรัฐปัตตานี และคำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อ พ.ศ. 2548 ซึ่งฉายให้เห็นรากของปัญหาไฟใต้
คำถามคือ เราจะถอน ‘ราก’ ปัญหาได้อย่างไร?
บางส่วนของคำบรรยายในโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘รัฐ ความรุนแรง ทางออก และพลังการเปลี่ยนแปลง’ โดย ศ. ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2548 น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี
“การแก้ปัญหาระยะยาวที่สุดเลยคือ คนในสังคมไทยอยู่กับมรดกของประวัติศาสตร์และของรัฐที่ไม่เข้าใจว่ารัฐหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐเดี่ยวที่เหมือนๆ กันหมด ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่อนข้างแคบ หรือ ‘แคบ’ เลย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีทางแก้อย่างอื่น นอกจาก education หรือการศึกษา…”
หากปัญหาภาคใต้ในวันนี้เกิดจากสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีต ศ. ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ชี้ว่า วิธีที่จะจัดการอดีตได้คือการเผชิญหน้าความจริง
“วิธีที่จะจัดการกับอดีต โดยพื้นฐานและหลักการคือ เผชิญกับอดีต ให้ความหมายและอธิบายว่าอะไรจะรับ อะไรจะไม่ต้องสนใจ เถียงกัน …เช่น เราเข้าใจแล้วว่าเกิดการ discrimination มีการดูถูกดูหมิ่นคนภาคใต้อย่างมหาศาล เราต้องแก้ตรงนี้
“…เมื่ออดีตหมดสถานะเป็นระเบิดเวลา อดีตนั้นก็จะ irrelevant แต่ถ้าอดีตยังเป็นระเบิดเวลาตลอดเวลา ถึงท่านให้หยุด ถึงท่านพยายามจะหยุด มันก็ไม่มีทางที่คนจะหยุดคิดถึง
“…ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่สักแต่พูดว่าอดีตสำคัญ ทุกกรณีสำคัญเท่ากันหมด แต่อดีตจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญก็ต่อเมื่ออดีตหมดความหมายในปัจจุบัน
“แต่ถ้าอดีตนั้นยังมีความหมายต่อปัจจุบันในทางใดทางหนึ่ง อดีตนั้นจะยังคง relevant ตลอดเวลา”
จากแบบเรียนที่ถูกสร้างเพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคมมากกว่าจะให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ จากบาดแผลเก่าและความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตที่ทิ้งไว้ ตั้งแต่กรณีการหายตัวอย่างลึกลับของหะยีสุหลง ทนายสมชาย นีละไพจิตร จนถึงกรณีตากใบ พ.ศ. 2547 ซึ่งยังไม่เคยมีการชำระสะสางจนจบสิ้นกระบวนความ
อดีตที่ผิดพลาดและค้างคา ล่วงมาถึงปัจจุบันอันรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลต่อคนทุกฝ่ายอย่างน่าเห็นใจ ไม่ว่าจะเป็น คนไทย-มุสลิม คนไทย-พุทธ หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเอง
แม้การแก้ปัญหาด้วยการเดินหน้าเจรจาของรัฐกับคนในพื้นที่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่หากดูอาการตามที่ว่ามา การรักษาโรคนี้อาจต้องกลับไปแก้ที่ ‘เหตุ’
นั่นคือการเริ่มต้นสะสางแผลเก่าในอดีตที่ทิ้งไว้ และสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ซึ่งว่ากันว่าเป็น ‘ราก’ ของปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้