หลังทินกรลับเหลี่ยมเมฆา เวลากว่า 2 เดือนได้ล่วงผ่าน ก็ใกล้ถึงยามที่แสงทองจะส่องขึ้นอีกครั้ง

วันที่ 29 พ.ย. 59 เวลา 11.19 น. ระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 76/2559 เป็นพิเศษ ณ รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานการประชุมแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 มีเนื้อความโดยสรุปว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ และอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป

จากนั้นนายพรเพชรในฐานะประธานการประชุม ได้นำสมาชิกทุกคนในรัฐสภาลุกขึ้น แล้วชวนเปล่งเสียง

“ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

นี่คือสัญญาณว่า รัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เจ้าชายผู้ไม่มีชื่อเล่น

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เวลา 17:45 น.

บรรยากาศในพระราชวังวันนั้นเป็นอย่างไร คงยากที่ประชาชนจะรู้ ถ้าศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พระอาจารย์ถวายการสอนภาษาไทยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้บรรยายถึงนาที

อันเป็นมงคลฤกษ์ว่า

‘…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้…

‘…นายแพทย์ ที่ถวายการประสูติ …กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว

‘สมใจประชาชนแล้ว… ดวงใจทุกดวงมีความสุข…’

ในหนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ เล่าว่า สยามมกุฎราชกุมาร เป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มี ‘ชื่อเล่น’ เหมือนสมเด็จพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาอีก 3 พระองค์ อาจเพราะเป็น ‘ทูลกระหม่อมชาย’ เพียงพระองค์เดียว

คำว่า ‘ชาย’ จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์

พระนามที่มาจากรัชกาลที่ 4 และ 5

หลังเจ้าชายประสูติได้ 4 วัน (1 ส.ค. 2495) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถวายไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อขอให้ทรงขนานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติใหม่

ทูล สมเด็จพระสังฆราช

ในฐานที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ที่เคารพยิ่ง หม่อมฉันจึ่งใคร่ขอประทานพระกรุณาให้ทรงจัดผูกดวงชาตาลูกชายของหม่อมฉัน ซึ่งเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ศกนี้ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที กับขอประทานหารือในอันจะขนานนามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกนั้นด้วย

หม่อมฉันได้ให้กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มาเฝ้าเพื่อกราบทูลข้อความละเอียด หากมีพระประสงค์จะทรงทราบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มีจดหมายตอบกลับ มีเนื้อความบางส่วนว่า

…อาตมภาพได้รับทราบพระราชประสงค์แล้ว

ดวงพระชาตานั้น ได้หารือตกลงกัน และอาตมภาพได้เขียนถวาย ส่วนพระนาม อาตมภาพได้คิดและเขียนถวายตามพระราชประสงค์ แลได้ถวายพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว…

ดวงพระชะตาที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เขียนถวายนั้นเป็นเช่นไรยังคงเป็นความลับ มีเพียงพระนามที่ตั้งถวายตามดวงพระชะตาเท่านั้นที่เปิดเผย

‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร’

ซึ่งเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า ‘วชิรญาณะ’Ž ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’Ž จากพระนาม จุฬาลงกรณ์Ž ของรัชกาลที่ 5

เจ้าชายผู้ชื่นชอบเครื่องยนต์กลไก

พอพระชนมายุ 4 พรรษา เจ้าชายน้อยได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 พ.ศ. 2499 ณ โรงเรียนจิตรลดา ชั้นอนุบาล และทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

หนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ ได้เล่าถึงเจ้าชายในช่วงวัยเยาว์ที่ศึกษาอยู่ในเมืองไทยว่า พระองค์เสด็จไปโรงเรียนตรงเวลาเสมอ เพราะจะตื่นบรรทมแต่เช้า ประมาณ 7 นาฬิกา เช้าวันใดไม่ต้องทำการบ้าน เพราะทำเสร็จแล้วตั้งแต่ตอนเย็น ก็จะทรงมีเวลาเล่นได้นาน อาจจะทรงจักรยานรอบสระกลมใหญ่ หรือบางครั้งก็เสด็จไปแวะเยี่ยมกรมราชองครักษ์ และกองทหารรักษาการณ์ เพื่อทรงตรวจเรื่องการกินอยู่ แล้วก็เลยทรงเล่นหมากฮอสด้วย

จนเวลาประมาณ 8 นาฬิกา จึงเสด็จขึ้นเพื่อสรงน้ำ เสวย และเตรียมพระองค์เสด็จไปโรงเรียนจิตรลดา ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ 9 นาฬิกา หยุดพักกลางวัน และเริ่มเรียนในภาคบ่ายอีกครั้งจนถึงเวลา 15.55 นาฬิกา

จากบันทึกในหนังสือระบุว่า ทูลกระหม่อมฟ้าชาย มักจะทำวิชาคำนวณได้ดีกว่าวิชาอื่น ซึ่งมักได้คะแนนเต็มเสมอ ด้านภาษาดีพอสมควร และวิชาที่โปรดมากอีกอย่างคือวาดเขียนและปั้นรูป

เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น ก็ยิ่งมีพระอุปนิสัยสมกับเป็นผู้ชาย โปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ อย่างเด็กผู้ชายทั้งหลาย เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ และโปรดทอดพระเนตรหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง และมีพระนิสัยใฝ่รู้ เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดก็จะทรงตั้งปัญหาถาม

ด้วยความชื่นชอบเครื่องบินและรถถังในวัยเยาว์ จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อเติบใหญ่เข้าสู่วัยหนุ่ม ทูลกระหม่อมฟ้าชายจะทรงเลือกศึกษาต่อด้านการทหาร

นักการทหารผู้ตั้งปณิธานเพื่อชาติและประชาชน

ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 4 ปี จนถึงชั้นระดับมัธยมศึกษา ก่อนจะบินไปเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึง พ.ศ. 2514 แล้วเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ที่หลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาควิชาการทหาร และการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี

ซึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ในปี พ.ศ. 2515 ทูลกระหม่อมฟ้าชาย เจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารŽ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

หลังจบการศึกษาใน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521

ดูเหมือนเจ้าชายจะโปรดด้านการทหารเป็นพิเศษ หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาต่อเพิ่มเติมในหลักสูตรด้านการบินหลายหลักสูตร ตั้งแต่การฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปและแบบที่ติดอาวุธโจมตี และเครื่องบินปีกติดลำตัว เป็นต้น

แม้บทบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในช่วงนั้นจะเด่นชัดด้านการทหารที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัย แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงงานเพื่อประชาชน

ดั่งเช่นที่พระองค์มีพระราชดำรัสให้คำมั่นไว้ในงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ที่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2515 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า

“ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล

“ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษาและปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีก อย่างมาก เพื่อให้สามารถเหมาะสม กับหน้าที่ ตามที่ทุกคนมุ่งหวัง…

“ในโอกาสอันพิเศษนี้ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังใจสนับสนุนข้าพเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้าที่จะมุ่งมั่นประกอบกรณียกิจ ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง และด้วยความสุจริตยุติธรรม เพื่อยังความเจริญมั่นคงและความร่มเย็นเป็นผาสุกให้บังเกิดแก่ชาติ ประเทศ และประชาชนยั่งยืน สืบไป…”

ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก

“ให้เขาคุยกับท่านทั้งหลายบ้างนะคะ”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสกับชาวไทยที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ โรงแรมวิลลาร์ด (Willard) ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ในหลวงทรงฝากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตามเสด็จดูแลพระองค์ ก่อนจะลุกสลับที่ให้พระบรมฯ มานั่งฝั่งที่มีไมโครโฟน เพื่อตรัสกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้า

เสียงปรบมือจากประชาชนที่เข้าเฝ้าดังกึกก้องต้อนรับ หลังนั่งลงและจัดแจงพระวรกายเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตรัสประโยคแรกว่า

“ก่อนอื่นก็ขอออกตัวว่า เป็นคนที่คุยไม่ค่อยจะเก่ง”

หลังจากนั้น พระองค์มีพระราชดำรัสที่มีเนื้อความโดยสรุปว่า รู้สึกปลื้มปีติ และยินดีอย่างมากที่ได้ใกล้ชิดคนไทยในที่นี้

เมื่อมีพระราชดำรัสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทรงลุกให้พระบรมราชินีนาถตรัสต่อ พระองค์ได้ตรัสประโยคสุดท้ายว่า

“ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก แต่ขอขอบใจที่ทุกคนมีไมตรีจิตในครั้งนี้ ขอบคุณ”

นี่คือภาพเหตุการณ์สั้นๆ ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 3:42 นาที แต่ก็เป็นสามนาทีสั้นๆ ที่สะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของเจ้าชายที่คนไทยหลายคนอาจไม่เคยเห็น โดยเฉพาะท่าทีที่แสดงออกถึงความถ่อมตนและไมตรีจิตอันหาที่สุดมิได้

กษัตริย์ผู้ปฏิญาณตนเพื่อชาติจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในสารคดี Soul of a Nation – the Royal Family of Thailand ที่ออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งปัจจุบันมีเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก บีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีแรงกดดันอย่างไรบ้างครับ?” เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีถาม

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในชุดเครื่องแบบทหารทรงนิ่งคิดชั่วครู่แล้วตรัสตอบว่า

“ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาในวินาทีแรกของชีวิต เราก็อยู่ในฐานะเจ้าชายแล้ว”

“มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่า การเป็นปลาตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณเป็นปลาอยู่แล้ว หรือการเป็นนกตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณเป็นนกอยู่แล้ว ถ้าคุณลองถามมัน คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลย พวกมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่ปลาหรือนกนั้นเป็นอย่างไร”

“เราเชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คน ย่อมมีแรงกดดัน ความเครียด และปัญหา และนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องเผชิญ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ หลายสิ่งหลายอย่าง”

“เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ”

พระราชดำรัสในประโยคสุดท้าย ชวนให้คิดถึงพระราชภาระและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงปฏิญาณเมื่อครั้งทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยจาก ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’ ให้ดำรงพระอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’Ž ว่า

“…ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตและร่างกายจะหาไม่”

แม้ทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา พร้อมกับความมืดที่เข้าปกคลุม แต่สัจธรรมในโลกก็ได้แสดงให้เห็นว่า อีกไม่นานทินกรก็จะกลับมา พร้อมกับแสงทองของเช้าวันใหม่

“ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

Tags: