Photo: Pascal Rossignol, Reuters/profile

เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสปฏิบัติการรื้อถอนค่ายผู้ลี้ภัยจังเกิล ในเมืองกาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส ที่มีผู้ลี้ภัยกว่า 7,000 คนอาศัยอยู่เสร็จสิ้นแล้ว โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (27 ตุลาคม 2559) ผู้ลี้ภัยได้จุดไฟเผาที่พัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาดับไฟกว่า 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามปฏิบัติการรื้อถอนค่ายจังเกิลสำเร็จก่อนกำหนด เนื่องจากตามแผนแล้วทางการฝรั่งเศสตั้งใจรื้อถอนให้เสร็จภายในวันศุกร์นี้ พร้อมทั้งเปิดเผยว่าขณะนี้ไม่มีผู้อพยพหลงเหลืออยู่แล้ว และได้เคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยด้วยรถบัสไปยังเมืองอื่นๆ

แต่สำนักข่าวบีบีซีก็ยังรายงานว่า ยังพบผู้อพยพหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ และเชื่อว่ามีกลุ่มผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะยังอยู่บริเวณรอบๆ เมืองกาเลส์

การปฏิบัติการรื้อถอนค่ายผู้ลี้ภัยครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม 2559) เพื่อให้เมืองกาเลส์กลับมามีสภาพดังเดิม โดยฝรั่งเศสต้องการกระจายผู้ลี้ภัยออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเตรียมการล่วงหน้าไว้หลายสัปดาห์ ทั้งเตรียมรถบัสมากกว่า 150 คัน และเตรียมศูนย์รองรับผู้ลี้ภัยกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันผู้ลี้ภัยตั้งค่ายใหม่บริเวณใกล้เคียงค่ายจังเกิล การเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยจำนวนมากครั้งนี้ได้สร้างความกังวลให้กับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ของฝรั่งเศส ที่จะต้องเตรียมรับมือกับผู้ลี้ภัยที่จะถูกกระจายออกไป ซึ่งวิกฤตผู้ลี้ภัยยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของยุโรป

Photo: Stringer France, Reuters/profile

สัญลักษณ์ที่สะท้อนวิกฤตปัญหาผู้ลี้ภัยในยุโรป

ค่ายผู้ลี้ภัย ‘จังเกิล’ ในเมืองกาเลส์ของฝรั่งเศสที่มีผู้อพยพอาศัยอยู่กว่า  7,000 คน เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนวิกฤตปัญหาผู้ลี้ภัยในยุโรปได้ดี

ค่ายจังเกิลที่ผู้ลี้ภัยรวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ดึงดูดให้ผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามายังฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ามีเหตุการณ์รุนแรงภายในค่ายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งการปะทะกันระหว่างวัยรุ่น การขโมย และการข่มขืน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องการรื้อถอนค่ายจังเกิลและกระจายผู้ลี้ภัยไปยังพื้นที่อื่นๆ ในฝรั่งเศส โดยทางการฝรั่งเศสตระหนักถึงอารมณ์อ่อนไหวของผู้ลี้ภัยที่อาจปะทุรุนแรงจากการสั่งรื้อถอนค่ายจังเกิล จึงเลือกปฏิบัติการรื้อถอนด้วยมือหรืออุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1,200 คน เพราะเกรงว่าหากใช้รถแทรกเตอร์จะสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อผู้ลี้ภัยได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุก่อนหน้านี้ว่า หากเกิดความไม่สงบระหว่างการรื้อถอน พวกเขาก็จำเป็นต้องแทรกแซงการปฏิบัติการครั้งนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองกาเลส์เปิดเผยว่า ค่ายจังเกิลจะต้องถูกรื้อถอนให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ชาวเมืองกาเลส์สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยจะคงเหลือจำนวนผู้ลี้ภัยไว้ในเมืองกาเลส์เพียงประมาณ 200 คนเท่านั้น

Photo: Dimitris Michalakis, Reuters/profile

การแบกรับหน้าที่ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของยุโรป

ความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองในซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน รวมถึงหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ทำให้ทวีปยุโรปเป็นจุดมุ่งหมายของชาวตะวันออกกลางในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สภาพบ้านเมืองที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มหัวรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขายอมตายเอาดาบหน้าด้วยการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยเรือประมงเข้าชายฝั่งของกรีซและอิตาลี

แต่ทว่ามีผู้ลี้ภัยกว่า 3,770 คนแล้วที่เสียชีวิตจากการเดินทางเข้ายุโรป เพื่อเดินทางไปประเทศจุดมุ่งหมายอย่างเยอรมนี อังกฤษ และสวีเดน

สหภาพยุโรปที่วางตัวเป็นผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของโลกมาโดยตลอด จึงไม่สามารถปฏิเสธที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้

การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยอย่างมหึมาครั้งนี้ท้าทายทวีปยุโรปมากกว่าที่คิดเนื่องจากปัจจุบันยุโรปเผชิญกับการเข้ามาของผู้ลี้ภัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์  โดยในปี 2015 มีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ายุโรปมากกว่า 1,000,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งนโยบายการรับผู้ลี้ภัยของแต่ละประเทศที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเนื่องจากปัญหาที่ตามมาหลังการรับผู้อพยพนั้นกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จนบางประเทศยอมถูกประณามด้วยการไม่รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งส่งผลให้การจัดการกับวิกฤตผู้ลี้ภัยในครั้งนี้ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้นไปอีก

ฮังการีเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจติดตั้งรั้วลวดหนามกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่สื่อต่างประเทศต่างเผยแพร่ภาพผู้ลี้ภัยที่เดินทางโดยเรืออย่างยากลำบาก หรือเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ ภาพสะเทือนใจเหล่านี้ทำให้ทั่วโลกรู้สึกว่ายุโรปควรจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือมากกว่านี้

ออสเตรียเป็นอีกประเทศที่ตัดสินใจจำกัดจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้าประเทศตนเอง จากมาตรการควบคุมพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นของบางประเทศในยุโรป ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายพันคนติดค้างอยู่ที่ค่ายพักพิงชั่วคราวของกรีซที่เป็นประเทศด่านแรก แต่กรีซไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอจะรับการหลั่งไหลของผู้อพยพในจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม จนกรีซต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปเป็นเงินกว่า 500 ล้านยูโร

นอกจากนี้อิตาลี กรีซ และโครเอเชีย ยังยอมให้ผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านประเทศตนเองไปยังประเทศยุโรปทางตอนเหนือด้วยวีซ่าเชงเก้น ทั้งๆ ที่ตาม Dublin Regulation นั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากประเทศที่ตัวเองเดินทางไปถึงประเทศแรก ซึ่งพอผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านประเทศเหล่านี้เพื่อไปยังประเทศยุโรปทางตอนเหนือแล้ว ประเทศเหล่านั้นจึงเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยที่ใช้วีซ่าเชงเก้นเข้าประเทศกลับประเทศต้นทางได้

Photo: Edgar Su, Reuters/profile

ในทางกลับกัน ประเทศใจดีอย่างเยอรมนีที่รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศไปแล้วมากกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุด ก็ถูกประเทศอื่นโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกตัวรับปากว่าจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจนประเทศอื่นๆ ไม่สามารถรับมือไหว โดยยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายแสนคนที่อยู่ระหว่างทางอีก

จนล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหภาพยุโรปตัดสินใจอนุมัตินโยบายกระจายผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 120,000 คนไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะกำหนดโควต้าของแต่ละประเทศ แต่ไม่ทันไรนโยบายนี้ก็ถูกต่อต้านจากฮังการี เช็ก และสโลวาเกีย

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศไม่สามารถปรองดองกันได้ในการจัดการวิกฤตผู้อพยพ ยิ่งโดยเฉพาะในเวลานี้ที่เศรษฐกิจยุโรปก็ไม่ได้ดีนัก จนทำให้การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนแทนบรรดาผู้ลี้ภัยดูจะกร่อยลงไปในเวทีต่างๆ ของสหภาพยุโรป

Photo: Edgar Su, Reuters/profile

ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองคือภัยใหม่ต่อความมั่นคงของยุโรป?

การเคลื่อนย้ายประชากรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ โดยประชากรโลกมีแรงจูงใจในการย้ายที่อยู่อาศัยด้วย ‘โอกาสทางเศรษฐกิจ’ และยุโรปก็เป็นดินแดนที่คนทั่วโลกเลือกเดินทางมาแสวงหาโอกาสให้ตัวเองแต่ไหนแต่ไร ซึ่งก็ส่งผลดีทางเศรษฐกิจต่อประเทศเจ้าบ้านด้วย

แต่ตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544 และการก่อการร้ายหลังจากนั้นอีกหลายเหตุการณ์ ทำให้การอพยพของประชากรเริ่มกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากยุโรปต้องคัดกรองคนเข้าประเทศมากขึ้น

ขณะที่วิกฤตผู้ลี้ภัยคราวนี้มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในประเทศเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็น การแก่งแย่งทรัพยากร ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา โดยเยอรมนีพยายามป้องกันปัญหานี้ด้วยการออกนโยบายไม่ให้ผู้ลี้ภัยทำงาน เพราะกลัวว่าจะไปแย่งงานคนเยอรมัน แต่สุดท้ายสิ่งที่เยอรมนีเจอคือภาระทางเศรษฐกิจที่ต้องดูแลผู้ลี้ภัย รวมถึงปัญหาทางวัฒนธรรมที่พอผู้ลี้ภัยไม่ต้องทำงาน โอกาสที่พวกเขาจะได้ปรับตัวกับวัฒนธรรมและภาษาของประเทศเจ้าบ้านจึงน้อยลงไป กลายเป็นความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมในสังคมอย่างชัดเจน

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ใหม่ๆ แต่ละประเทศปกป้องพรมแดนของตัวเองน้อยลง จนเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง แต่วันนี้ในศตวรรษที่ 21 ที่การเปิดพรมแดนนั้นกลับกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของประเทศเจ้าบ้านโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

หรือพรมแดนจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง?

Tags: , , , , ,