ยินดีด้วยกับผู้อ่านทุกคนเพราะวันนี้คือศุกร์สิ้นเดือน!
แต่…ขอถามทุกคนว่าวันนี้ใช้เวลาเดินทางจากบ้านมาออฟฟิศเป็นเวลาเท่าไหร่?
หนึ่งชั่วโมง? สองชั่วโมง? กว่าจะเดินทางมาถึงที่ทำงาน
และเย็นนี้กว่าจะได้ไปฉลองกับเพื่อน หรือถึงบ้านก็คงจะต้องเจอสถานการณ์เดียวกันกับตอนเช้า
ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ล่าสุดผู้ผลิตระบบนำทางจีพีเอส (GPS) จะจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดของโลก ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนก่อนและหลังทำงาน
จากเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่พอบวกเวลาเดินทางแล้ว เผลอๆ คุณใช้เวลาไปกับการทำงาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน เหลือเวลานอนกันอีกสักเท่าไหร่?
แต่วันนี้ฝั่งยุโรปกำลังจะพิจารณากฎหมายให้ชั่วโมงที่คุณเดินทางไป-กลับ จากบ้านถึงออฟฟิศเป็นชั่วโมงทำงานด้วย
นั่นหมายถึงคุณจะได้ค่าโอทีจากชั่วโมงเดินทาง!
ค่าตอบแทนที่ลูกจ้างต้องเสียสุขภาพและเสี่ยงจากการเดินทาง
ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาให้ชั่วโมงเดินทางของพนักงานที่ต้องเดินทางไปมาหลายที่ระหว่างวัน และไม่ได้มีออฟฟิศเป็นหลักเป็นแหล่ง เป็นชั่วโมงทำงานที่พวกเขาควรจะได้รับค่าจ้างด้วย เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่พวกเขาอาจต้องเสียสุขภาพและเจอกับความเสี่ยงจากการเดินทาง ตามกฎหมายแรงงานของสหภาพยุโรปที่พนักงานทุกคนควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ
ดังนั้นกฎหมายนี้จะถูกนำไปใช้กับบริษัทที่มีลูกจ้างเป็นช่างไฟฟ้า คนส่งแก๊ส หรือพนักงานเซลล์ ที่บางบริษัทใหญ่ๆ ในยุโรป ไม่มีสาขาออฟฟิศให้พวกเขา แต่ให้พนักงานเดินทางจากบ้านไปจุดหมายปลายทางของการทำงานเลย ซึ่งต่อไปอาจจะผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชั่วโมงทำงานของสหภาพยุโรปด้วย
ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรปเห็นว่า “การที่ลูกจ้างต้องมาแบกรับภาระของนายจ้างที่ลดต้นทุนด้วยการไม่มีสาขาออฟฟิศนั้น ขัดต่อหลักการรักษาความปลอดภัยและสุขภาพของลูกจ้าง ที่จำเป็นต้องให้ลูกจ้างมีชั่วโมงพักผ่อนที่เพียงพอด้วย”
กรุงเทพฯ ครองอันดับรถติดมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ยุโรปกำลังจะพิจารณากฎหมายให้นับชั่วโมงเดินทางเป็นชั่วโมงทำงานด้วย คนกรุงเทพฯ อาจใช้เวลาเดินทางไปทำงานมากกว่าคนยุโรปหลายเท่าตัวนัก ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ไม่หนีอันดับหนึ่งหรือสองจากทุกโพลสำรวจเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลก
TomTom ผู้ผลิตระบบจีพีเอสของโลก จัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดของโลก โดยระบุว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มจะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขนาดของชนชั้นกลางกำลังขยาย และทุกคนต่างอยากมีรถยนต์เป็นของตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับคนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป ที่คนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน หรือรถบัสเป็นหลัก
จากเมื่อก่อนที่เราพอจะคาดเดาได้ว่า รถมักจะติดตอนเช้าวันจันทร์ หรือเย็นวันศุกร์เสมอนั้น หากสังเกตตอนนี้จะพบว่าสภาพรถติดในกรุงเทพฯ ไม่เลือกเวลาและสถานที่อีกต่อไปแล้ว เพราะรถติดตลอดเวลา
เราจึงเห็นสภาพของคนกรุงเทพฯ เหนื่อยล้าจากการเดินทางไป-กลับที่ทำงานกันจนเคยชิน
จนความกระปรี้กระเปร่าในการทำงานลดลงตามไปด้วย
อาจถึงเวลาที่บรรดานายจ้างต้องเริ่มทบทวนสุขภาพของลูกน้องที่แย่ลงจากการเดินทาง เพราะสุดท้ายแล้วก็จะกระทบกับบริษัทเอง หากประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างลดลง
บางทีการจ่ายค่าโอทีชั่วโมงการเดินทางให้กับพนักงาน อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของคนกรุงเทพฯ
เพราะปัจจัยหลักคือ ต้องการให้พวกเขามีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ดังนั้นการ ‘ยืดหยุ่น’ เรื่องเวลาเข้า-ออกออฟฟิศน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะการตอกบัตรก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว และยังทำให้พนักงานรู้สึกกดดันเรื่องเวลาโดยไม่จำเป็น
การปล่อยให้ลูกจ้างได้ ‘บริหารเวลา’ ของตัวเอง เพื่อทำงานให้เสร็จตามเป้าหมายน่าจะตอบโจทย์คนกรุงที่สุด
อีกทั้งยังลดปัญหารถติดที่คนประเดประดังออกจากบ้านในเวลาพร้อมกันอีกด้วย
ภาพปก: Bangkok Traffic Love Story รถไฟฟ้า มาหานะเธอ, movie
อ้างอิง:
– http://www.independent.co.uk/news/world/europe/time-taken-to-travel-to-work-should-count-as-work-according-to-european-court-10494961.html