ข่าวปลอมก็เปรียบเสมือนไวรัสที่ยากจะหยุดการแพร่ระบาด และควบคุมต้นทาง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่วิจารณญาณของผู้รับสาร
จากประเด็น ‘Fake News’ บนสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ทำให้เฟซบุ๊กถูกจับตามองในเรื่องการตรวจสอบความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ถูกเผยแพร่บนหน้าฟีด เพราะในยุคนี้ข้อมูลบนสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก สื่อที่ทุกคนเสพตั้งแต่เรื่องสนุกสนาน จนถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญ มีอิทธิพลมากจนกระทั่งสามารถสร้างความแตกแยกทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องที่คนเกิดอารมณ์ร่วมได้มาก ข้อมูลบิดเบือนบนเฟซบุ๊กจึงถูกกล่าวหาว่า มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด
ปีนี้โลกจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง ซึ่ง ‘ข่าวปลอม’ ได้เริ่มปรากฏให้เห็นในหลายประเทศแล้ว อย่างเช่น เยอรมนี ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ ล่าสุดเฟซบุ๊กจึงเตรียมออกฟีเจอร์ใหม่ให้ผู้ใช้งานสามารถทำสัญลักษณ์บนข้อมูลที่ตัวเองพบว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่ผิด เพื่อให้เฟซบุ๊กตรวจสอบข้อมูลนั้นๆ ก่อนที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนในวงกว้าง
แปะข้อความ ‘Disputed’ บนข้อมูลที่ยังไม่ชัวร์
ระบบแจ้งเตือนข่าวปลอมของเฟซบุ๊กเป็นการช่วยกันตรวจสอบข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานกับเฟซบุ๊กเอง เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานพบว่าข้อมูลบนเฟซบุ๊กนั้นอาจจะเป็นข้อมูลที่ผิด ผู้ใช้งานสามารถทำเครื่องหมาย (Flag) บนข้อมูลนั้น จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งให้บริษัทตรวจสอบข้อมูลจากภายนอก ทั้ง Snopes, PolitiFact และ AP และถ้าพวกเขาพบว่าข้อมูลนั้นไม่แม่นยำจริง เฟซบุ๊กจะขึ้นข้อความ ‘Disputed’ (ยังเป็นที่ถกเถียง) ใต้โพสต์ลิงก์นั้นๆ เพื่อเตือนให้ผู้ใช้มีวิจารณญาณในการรับข้อมูล ซึ่งบริษัทตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จะดำเนินการตามหลักการตรวจสอบข้อมูลสากล
นี่คือครั้งแรกที่เฟซบุ๊กออกมาตรการรับมือกับข่าวปลอม ตั้งแต่ถูกโจมตีอย่างกระหน่ำในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์ว่า
“เดือนที่แล้วเราประกาศมาตรการเพื่อรับมือกับข่าวปลอมบนเฟซบุ๊ก และเราจะทดสอบระบบนี้ในเยอรมนีเป็นที่แรกในอีกไม่กี่สัปดาห์”
เฟซบุ๊กเตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนในเยอรมนีหลังเจอข่าวปลอมแพร่สะพัด
ระบบแจ้งเตือนนี้จะถูกทดสอบในเยอรมนีในอีกไม่กี่สัปดาห์ หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้วหน่วยข่าวกรองของเยอรมันออกมาเตือนว่า พบข้อมูลบิดเบือนที่ตั้งใจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง และพบหลักฐานแรงจูงใจที่จะจารกรรมข้อมูลของนักการเมืองเยอรมัน
เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2016 คนเยอรมันกว่า 900,000 คนไม่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ต และใช้งานโทรศัพท์ของตัวเองได้ และหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงเยอรมนีออกมากล่าวหารัสเซียว่าคือต้นเหตุ รัสเซียถูกเยอรมนีตั้งข้อสังเกตว่า พยายามแฮกอีเมลของเยอรมนี และปล่อยข้อมูลที่บ่อนทำลายความมั่นคงของยุโรป
หน่วยข่าวกรองเยอรมันระบุว่า เป้าหมายการแฮกข้อมูลของรัสเซีย คือการลบข้อมูลที่มีแนวคิดต่อต้านรัสเซีย บ่อนทำลายระบบการเมือง และกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นแนวคิดต่อต้านยุโรป
ข้อสงสัยต่อรัสเซียนี้ถูกสังเกตและตรวจสอบโดยเยอรมนีมาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2015 มีข่าวเด็กผู้หญิงลูกครึ่งเยอรมัน-รัสเซีย วัย 13 ปี ถูกผู้อพยพลักพาตัวและข่มขืน แพร่สะพัดในสื่อภาษารัสเซียในเยอรมนี ส่งผลให้ชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีออกมาเดินประท้วงด้วยความโกรธ ซึ่งต่อมาพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น แต่ทางการเยอรมันบอกว่า ข่าวปลอมเช่นนี้ได้สร้างผลเสียทางการเมืองไปแล้ว โดยเฉพาะต่อนโยบายรับผู้อพยพของ อังเกลา แมร์เคิล
ซึ่งถ้าหากข้อกล่าวหานี้เป็นจริง อังเกลา แมร์เคิล จะกลายเป็นหมากสำคัญของรัสเซีย ที่รัสเซียต้องล้มให้ได้ เพราะหากรัฐบาลของเธอล้ม สหภาพยุโรปก็อาจล้มทั้งกระดาน (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สหภาพยุโรปจะแยกหรือรวม? ขึ้นอยู่กับอนาคตของ Angela Merkel หลังลงสมัครนายกฯ เยอรมนีสมัยที่ 4)
เฟซบุ๊กยอมรับ ‘Fake News’ เป็นปัญหา แต่การรุมชี้นิ้วไปที่เฟซบุ๊กก็ไม่ใช่ทางออก
เฟซบุ๊กประชุมร่วมกับบริษัทด้านสื่อของยุโรป 7 ประเทศ เพื่อหาทางออกของการแพร่สะพัดข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฟซบุ๊กยืนยันว่า กำลังพยายามแก้ปัญหานี้ ‘อย่างจริงจัง’ แต่ความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
“คุณไม่สามารถเอายักษ์จีนี (Genie) กลับเข้าไปในตะเกียงได้ เทคโนโลยีก็เป็นแบบนั้นแหละ แต่เราสามารถจัดการปัญหาได้ ซึ่งเราได้ทำอะไรไปหลายอย่างแล้ว” แพทริก วอลเกอร์ (Patrick Walker) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือกับสื่อของเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็น “มันไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ง่ายๆ มันเหมือนเราต้องกวาดล้างบ้านไม่จบไม่สิ้น”
ด้าน ไบรอัน สเตลเตอร์ (Brian Stelter) พิธีกรของ CNN มองว่า ‘ข่าวปลอม’ กลายเป็นนิยามที่ใช้กันกลาดเกลื่อน และบางครั้งถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งเขากล่าวพาดพิงว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักพูดถึงข้อมูลโจมตีตัวเองว่าคือ ‘ข่าวปลอม’
ข่าวปลอมในยุโรปแนบเนียนกว่าข่าวปลอมในอเมริกา
หลายประเทศในยุโรปจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ แม้จำนวนข่าวปลอม และการบิดเบือนของข้อมูลในยุโรปจะยังไม่รุนแรงเท่าในสหรัฐฯ แต่ จิม วอเตอร์สตัน (Jim Waterston) บรรณาธิการของ BuzzFeed ให้ความเห็นว่าข่าวปลอมในยุโรปนั้น ‘แนบเนียน’ กว่า จึงเป็นอันตรายได้มากกว่าข่าวปลอมในสหรัฐฯ
เขาได้จำแนกประเภทข่าวปลอมออกเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง ข่าวที่ข้อมูลผิดทั้งหมด สอง ข่าวปลอมที่มีข้อมูลถูกบางส่วน และสาม ข่าวปลอมที่กลุ่มหัวรุนแรงตั้งใจบิดเบือนเนื้อหาจากความจริง ซึ่งประเภทสุดท้ายนั้นจะเป็นข่าวปลอมที่ถูกเชื่อและแชร์ได้ง่ายมากในอังกฤษ และจะเป็นอันตรายมากกว่า เพราะข่าวพวกนี้จะจำแนกยากกว่าว่าเป็นข่าวปลอมหรือจริง เพราะข่าวพวกนี้มีความคิดเห็นทางการเมืองแทรกอยู่ ซึ่งอาจไปถูกใจคนบางพวกบางกลุ่ม
การที่เฟซบุ๊กออกฟีเจอร์ใหม่เพื่อช่วยกรองข้อมูลให้กับผู้ใช้งานคือตัวช่วยที่ดี แต่ข่าวปลอมก็เปรียบเสมือนไวรัสที่ยากจะหยุดการแพร่ระบาด และควบคุมต้นทาง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่วิจารณญาณของผู้รับสารทั้งหลาย ที่ต้องแยกแยะ และใช้เหตุผลในการไตร่ตรองข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวัน
เพราะต่อให้เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ออกฟีเจอร์แจ้งเตือนออกมาสักกี่รูปแบบ แต่ถ้าเรายังพร้อมจะรับฟังแค่ข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อและความคิดของตัวเอง ปี 2017 ก็จะไม่แตกต่างจาก ปี 2016 ที่การเมืองเป็นยุค ‘post-truth’ หรือยุคที่คนปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล และเพิกเฉยกับข้อเท็จจริงนั่นเอง
อ้างอิง:
- www.bbc.co.uk/news/business-38631847
- http://money.cnn.com/2017/01/15/media/facebook-fake-news-warning-labels-germany/index.html
- www.nytimes.com/2016/12/08/world/europe/germany-russia-hacking.html?_r=0
- digiday.com/publishers/facebooks-european-media-chief-addresses-fake-news-game-whack-mole