หลังจาก ครม. อนุมัติ ‘ช้อปช่วยชาติ’ ที่ยกเว้นภาษีให้คนที่ซื้อสินค้าและค่าบริการภายในประเทศ ตั้งแต่วันนี้ (14 ธ.ค.) ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาภาระภาษีให้ประชาชน
ท่ามกลางเสียงเฮของประชาชนที่ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ก็มีบางเสียงสงสัยว่า ทำไมสินค้าบางประเภทถึงไม่ได้รับการลดหย่อน
เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมัน ก๊าซ ค่ามัคคุเทศก์ ค่าที่พัก โรงแรม โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นแหล่งความรู้อย่างหนังสือ!?
และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดหย่อนภาษีเช่นนี้ ตั้งแต่มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวจนถึงช้อปช่วยชาตินั้น ช่วยชาติจริงไหม?
The Momentum ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เพื่อค้นหาคำตอบข้างต้น ก่อนพบว่า มาตรการช้อปช่วยชาติอาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คิด
และการที่หนังสือไม่ได้รับการลดหย่อน ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมการซื้อหนังสือแต่ประการใด
ถามว่าช่วยชาติไหม มันอาจจะเป็นภาพลวงตาว่าการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ช้อปช่วยชาติ…จริงเหรอ?
“ถามผมในแง่ผู้บริโภค ก็แฮปปี้ ผมว่าทุกคนก็มีความสุขกับมาตรการที่ออกมา อาจมองว่าเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลก็ได้ ใช่ไหม?”
รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้ความเห็นว่ามาตรการช้อปช่วยชาติถือว่าได้ประโยชน์ในแง่ผู้บริโภค แต่ถ้ามองในภาพใหญ่ที่ไกลกว่าเรื่องส่วนตัว เรื่องนี้มีประเด็นใหญ่ที่น่าคิดใน 3 ประเด็น
1. ภาษี (รายได้ของประเทศ) ที่หายไป
รศ.ดร.ศาสตรา กล่าวว่า การออกมาตรการลดหย่อนภาษีแบบนี้มี ‘ต้นทุน’ คือรัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่ควรจัดเก็บได้ (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘Tax Expenditure’ หรือรายจ่ายภาษี) ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีค่อนข้างถี่ คือลดหย่อนการเที่ยวในประเทศ 2 ครั้ง (ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 316 และ ฉบับที่ 322) และช้อปช่วยชาติอีก 1 ครั้ง
“ปัญหาคือเงินที่ควรจะได้จากภาษีเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่จำเป็นหายไป แต่สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าคือ กระบวนการออกมาตรการนี้ เป็นการอนุมัติโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าพูดถึงกระบวนการออกงบประมาณโดยปกติ ต้องผ่านสภา และมีการตรวจสอบจากภาคประชาชน และไม่ควรออกมาเยอะเกินไป”
การออกมาตรการลดหย่อนภาษีในลักษณะ ‘ใครอยากออกก็ออก’ มีข้อที่ควรกังวล เพราะไม่มีการพิจารณาความคุ้มค่าจากการใช้มาตรการดังกล่าว ขณะที่ในต่างประเทศจะมีการควบคุมหรือมีโควต้าในการใช้มาตรการเหล่านี้
“พอไม่มีการศึกษาว่ารายได้ภาษีที่หายไปนั้น ถ้าเอามาใช้ในเรื่องอื่นจะได้ประโยชน์มากกว่าไหม ฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ผมพยายามพูดตลอดว่าไม่ถูกต้อง
“ความหมายคือว่า จะต้องมีลิมิตการใช้นโยบายแบบนี้ นี่คือจุดที่ในทางเศรษฐศาสตร์ ผมไม่แฮปปี้ การกระตุ้นระยะสั้นที่ออกมาถี่ๆ อย่างที่เห็น ท่องเที่ยว 2 รอบ และล่าสุดช้อปช่วยชาติ สุดท้ายคือภาษี (เม็ดเงินที่ควรจะได้เอาไปใช้ในการพัฒนาประเทศ) ที่หายไป”
2. ภาพลวงตาของการบริโภค
“การบริโภคที่เกิดขึ้นอาจเป็นภาพลวงตา”
รศ.ดร.ศาสตรา ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้มาตรการลดหย่อนภาษีของรัฐที่ถี่เกินไป แทนที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการบริโภค อาจให้ผลในทางกลับ กลายเป็นการชะลอการใช้จ่าย และภาพการบริโภคที่เกิดขึ้น อาจเป็นแค่ shift consumption หรือการที่คนหันมาโหมบริโภคในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากคนคาดการณ์ได้ว่า อีกไม่นานรัฐก็จะปล่อยมาตรการนี้ออกมา จึงเฝ้ารอที่จะจับจ่ายในช่วงเวลานั้น
“ถามว่าช่วยชาติไหม มันอาจจะเป็นภาพลวงตาว่าการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง
“ผมเองก็คนหนึ่งแหละที่ชะลอการบริโภค ผมว่าคุณก็เหมือนกัน ว่ากันตรงๆ พอได้ยินว่าจะมี ‘ช้อปช่วยชาติ’ ทุกคนก็ชะลอกันมาสองอาทิตย์แล้วเพื่อจะมาใช้ตอนนี้ ฉะนั้นถามว่ามันคือการบริโภคใหม่ไหม ไม่ใช่อยู่แล้ว มันก็แค่ shift consumption แล้วกลุ่มคนที่มีเงินหรือคนรวย พอถูกกระตุ้นก็อาจซื้อสินค้าประเภท luxury goods หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
“ในเดือนนี้ก็จะเห็นว่า การบริโภคอาจเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ก็จะเยอะในช่วงสั้นๆ เหมือนกับช่วงนโยบายรถยนต์คันแรก พอหลังจากนั้น การบริโภคก็จะเกิดการลดลงจากปกติ ฉะนั้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าเป็นการบริโภคใหม่”
พอพยายามกระตุ้นให้คนใช้เงินมากขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจก่อปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเท่านั้น
โดยเฉพาะคนที่ภูมิต้านทานการใช้จ่ายที่ไม่ดีพอ
3. ยิ่งให้ใช้เงิน อาจทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น
นอกจากภาพลวงการบริโภคที่ไม่เกิดขึ้นจริง ถ้ามองในภาพใหญ่ มาตรการดังกล่าวยังกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และอาจส่งผลเสียต่อการเป็นหนี้ของประชาชนหรือหนี้ครัวเรือนระยะยาว
อะไรคือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รัฐใช้มาตรการลดหย่อนภาษีบ่อยๆ?
“แม้จำนวน 15,000 บาท จะไม่เยอะมาก แต่ในด้านหนึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรม ทำให้คนขาดความรับผิดชอบในการใช้จ่าย เพราะพอพยายามกระตุ้นให้คนใช้เงินมากขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจก่อปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่ภูมิต้านทานการใช้จ่ายที่ไม่ดีพอ”
รศ.ดร.ศาสตรา มองว่า หากแบ่งกลุ่มผู้บริโภคเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ คนรวย คนชนชั้นกลาง และคนที่มีรายได้น้อย
คนชนชั้นกลางบางกลุ่มที่ไม่ได้รวยแต่อยากรวยจากการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย อาจก่อให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินความสามารถ คือกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นหนี้ (เกินตัว) สูงที่สุด
“ซึ่งตอนนี้เราก็มีปัญหาอยู่” รศ.ดร.ศาสตรา กล่าว
หนังสือ เป็นสินค้าที่ไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้น มาตรการ ‘ช้อปช่วยชาติ’ จึงไม่มีการให้สิทธิลดหย่อนภาษี
เพราะไม่เก็บภาษี ‘หนังสือ’ จึงลดหย่อนไม่ได้
จากเอกสาร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ๒๕๕๙ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมสรรพากร ได้ระบุถึงรายการสินค้าและบริการที่นำมาลดหย่อนภาษีได้และไม่ได้อย่างละเอียด
สินค้าประเภท สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่ ลดหย่อนไม่ได้ พอเข้าใจได้ เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ต้องการควบคุมและไม่ส่งเสริมให้บริโภค
แต่หนังสือ นิตยสาร ตำราเรียน กลับไม่สามารถลดหย่อนได้นั้น ในเอกสารดังกล่าวชี้แจงในช่อง *หมายเหตุว่า
‘เป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้น VAT’
ซึ่งหมายความว่า หนังสือ เป็นสินค้าที่ไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว (หมายถึง หนังสือที่นำไปขายหน้าร้านเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการทำหนังสือมีการเก็บภาษีในทุกๆ ส่วน อาทิ ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าเข้าเล่ม ค่าจ้างนักเขียน เป็นต้น) ดังนั้น มาตรการ ‘ช้อปช่วยชาติ’ จึงไม่มีการให้สิทธิลดหย่อนภาษี
ขณะที่ค่าที่พัก โรงแรม หรือค่าแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ ที่หลายคนหัวเสียเพราะลดหย่อนภาษีไม่ได้ แท้จริงแล้ว สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 316 (ยกเว้นภาษีค่าบริการหรือค่าที่พักในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 – 31 ธ.ค. 59) และฉบับที่ 322 (ยกเว้นภาษีค่าบริการหรือค่าที่พักในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 59 – 31 ธ.ค. 59) ที่รัฐบาลประกาศออกมาก่อนหน้านี้ได้นั่นเอง
จากการมองมาตรการ ‘ช้อปช่วยชาติ’ ในอีกมุม ทำให้เห็นว่านอกจากผลประโยชน์ของสิทธิลดหย่อนภาษี 15,000 บาท และการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นแล้ว มาตรการนี้ที่รัฐบาลประกาศใช้ถี่และไม่ผ่านการพิจารณาตามกระบวนการปกติ อาจไม่ส่งผลดีหรือช่วยชาติอย่างที่คิด เนื่องจากไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง อีกทั้งรัฐอาจขาดรายได้จากการเก็บภาษี และอาจก่อปัญหาหนี้ให้กับคนที่ใช้จ่ายเกินตัว
แต่ทั้งนี้ ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า ในช่วงวันนี้ถึงสิ้นปี จะมีใครไม่อยากออกไปช้อป!
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
FACT BOX:
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่ง ที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ
ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง (ที่มา: วิกิพีเดีย)
Tags: tax, Economic