Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/Profile

หลังปฏิบัติการค้นวัดธรรมกายที่ใช้เวลากว่า 14 ชั่วโมง ตรวจค้นไปแล้ว 20% ของพื้นที่วัดทั้งหมด โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นาย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พระธัมมชโยยังคงเป็นบุคคลที่รัฐบาลกำลังต้องการตัวมากที่สุดในเวลานี้

แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามจะบุกเข้าพื้นที่วัดธรรมกายมาแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งหัวหน้า คสช. ประกาศใช้มาตรา 44 ให้วัดธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2560 แต่ดูเหมือนว่าความพยายามทั้งหมดกำลังกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า ท่ามกลางการจับตามองอย่างใกล้ชิดจากทั้งสื่อมวลชน และประชาชนจำนวนมากที่รอติดตามผลสรุปของกรณีดังกล่าว

การปฏิบัติการครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อตั้งแต่ช่วงเวลา 2.00 น. ของวันที่ 16 มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ การปิดล้อมพื้นที่ไม่ให้ใครเข้าออก จนนำไปสู่การบุกค้นในที่สุด

หลายฝ่ายเชียร์ให้ปฏิบัติการนี้สำเร็จ แต่อีกหลายฝ่ายก็ตั้งคำถามถึงท่าทีของรัฐบาลในการใช้กำลังคนกว่า 3,000 คน เพื่อจับกุมคนคนเดียวว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุหรือไม่?

Photo: Jorge Silva, Reuters/Profile

ล้อมป่าเพื่อจับหนู หรือพยายามทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย?

ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ชูวิทย์ I’m Back’ ว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกวัดธรรมกายเป็นการ ‘ล้อมป่าจับหนู’

“วันนี้ DSI ร่วมกับทหารและตำรวจ นำกำลังเข้าปิดล้อมวัดธรรมกายกว่า 3 พันนาย และใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 เข้าควบคุม คนในให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า ด้วยเหตุผลเพื่อจะจับพระธัมมชโยตามหมายจับเพียงรูปเดียว

“ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ถือว่าเป็นครั้งที่สามที่ส่งกำลังมากมาย และยังเป็นมาตรการพิเศษที่ใช้ ม.44 อีกทั้งมีคดีที่เกี่ยวข้องกับวัดธรรมกายเพิ่มมากขึ้นถึง 300 คดีไปแล้ว

“ผู้คนในสังคมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า การนำกำลังมามากมายและใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจับคนเพียงคนเดียวแบบนี้เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่? เป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่? และเรื่องนี้มีเบื้องหลังหรือไม่ อย่างไร?

“วัดธรรมกายนั้นมีผู้สนับสนุนอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โตมโหฬาร อาคารจุคนได้เป็นแสน มีสาขาทั่วโลกทั้งยุโรปและอเมริกา แม้ว่าจะมีคนโจมตี แต่ความเชื่อความศรัทธานั้นยังไม่ได้ลดน้อยถอยลงไป

“การใช้กำลังมากมายมาจับคนเพียงคนเดียว สะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย ‘ล้อมป่าเพื่อจับหนู’ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และทำให้ง่ายต่อการกระทบกระทั่งต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน ทั้งๆ ที่เพิ่งสถาปนาพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่ให้ปฐมโอวาททรงขอให้คนไทย ‘สามัคคี มีศีล สมาธิ ปัญญา’”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่กำหนดพื้นที่วัดธรรมกายให้เป็นพื้นที่ควบคุมว่า เรื่องการดำเนินคดีเกี่ยวกับวัดธรรมกายได้มีการดำเนินการมานานแล้ว แม้ศาลจะอนุมัติหมายจับหมายค้นไปหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจค้นภายในวัดได้ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ และย้ำด้วยว่า “รัฐบาลพยายามทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย”

ด้านพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคำสั่งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในการเข้าตรวจค้น จับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในพื้นที่จากผู้ไม่หวังดีที่อาจก่อความรุนแรงได้

Photo: Chaiwat Subprasom, Reuters/Profile

ความพยายามนี้เป็นเรื่องการเมือง

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการ และคอลัมนิสต์ด้านปรัชญาและพุทธศาสนา เปิดเผยกับ The Momentum ว่า เรื่องนี้เป็นมากกว่าการดำเนินการตามกฎหมายปกติ แต่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

“ผมคิดว่ามันเป็นการเมืองมากกว่าที่จะมองว่าเป็นข้อกล่าวหาเรื่องผิดกฎหมายตามปกติ เพราะก่อนหน้านี้สังเกตได้ว่ามักจะมีวาทกรรมที่มีการกล่าวหาว่าธรรมกายสนับสนุนเพื่อไทย หรือทักษิณ แล้วก็มีการกล่าวหาว่าธรรมกายเป็นลัทธิที่เป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา และเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งรัฐบาลอาจจะรับข้อมูลจากส่วนนี้มาก และบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนปฏิรูปของรัฐบาลที่จะต้องกำจัดฝ่ายการเมืองเก่า อำนาจเก่า ซึ่งในทางศาสนาก็คือธรรมกาย เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้”

โดยสุรพศตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติการที่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าการปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองว่าถือเป็นเรื่อง ‘ผิดปกติ’ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องการเมือง ก็เพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ของรัฐกับศาสนาที่ไม่ได้แยกออกจากกัน ถ้าเราเป็น Secular State หรือรัฐโลกวิสัย องค์กรศาสนาจะถือเป็นเอกชนที่ต่างคนต่างอยู่ พุทธะอิสระสอนแบบนี้ ธรรมกายสอนแบบนี้ สวนโมกข์สอนแบบนี้ ก็จะไม่มีใครยุ่งกับใคร แต่ทีนี้พอรัฐให้คณะสงฆ์มีอำนาจทางกฎหมาย แล้วรัฐก็มีอำนาจไปควบคุมคณะสงฆ์อีกที พอมีความความเห็นต่างในเรื่องการตีความคำสอน หรือเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนา มันก็ทำให้กลุ่มที่ไม่พอใจไปใช้อำนาจรัฐ หรืออำนาจสงฆ์เข้าไปจัดการกับกลุ่มอื่นๆ ได้

“ถ้าเรามองธรรมกายในจุดยืนของรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย จะเห็นว่าปัญหาของธรรมกายไม่ใช่ปัญหาของรัฐ แต่อาจจะเป็นปัญหาของชาวพุทธบางกลุ่มที่มองว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการตักเตือน หรือวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะความเชื่อทางศาสนาไม่สามารถใช้กฎหมายเข้าไปควบคุมได้

“ส่วนกรณีถ้าเจ้าอาวาสธรรมกายโกงเงิน หรือมีที่ดินผิดฎหมาย รัฐจะเข้าไปยุ่งหรือจัดการก็ไม่เป็นปัญหา แต่กรณีนี้มันมีทั้งเรื่องการเมือง ทั้งเรื่องข้อกล่าวหาทางกฎหมาย การเมืองทางสงฆ์ก็คือข้อกล่าวหาว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก การเมืองทางโลกก็บอกว่าธรรมกายเป็นฝ่ายทักษิณ

“ในทางหลักการผมเห็นว่าพระธัมมชโยควรจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่เนื่องจากมันมีหลายๆ เรื่องปะปนกันอยู่ คือฝ่ายหนึ่งในสังคมที่ไม่เอาธรรมกายได้พิพากษาไปแล้วว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก พิพากษาไปแล้วว่าเป็นกลุ่มก้อนทางการเมือง พิพากษาไปแล้วว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทีนี้ฝ่ายธรรมกายก็คงประเมินว่าถ้าเป็นแบบนี้แล้วยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็อาจจะไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของพระพิมลธรรมในสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ถูกจับติดคุกด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เขาก็เลยต้องเดินเกมยืดเยื้อ เพราะไม่ไว้ใจว่าตัวเองจะได้รับความยุติธรรม นี่คือมุมมองการวิเคราะห์ส่วนตัวของผม”

Photo: Damir Sagolj, Reuters/Profile

แม้จับธัมมชโยได้ แต่ธรรมกายจะไม่ล่มสลาย

ไม่ว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย หรือเป็นเรื่องการเมือง คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่จุดโฟกัสสำคัญในเวลานี้อยู่ที่การจับกุมพระธัมมชโย ที่ขณะนี้ยังไม่มีใครพบเห็น แม้แต่พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ก็ยังยืนยันว่าส่วนตัวไม่พบพระธัมมชโยมานานแล้ว

ด้านพระมหานพพร ปุญญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ออกมาระบุว่าตนเองไม่เคยยืนยันว่าพระธัมมชโยอยู่ในวัด ส่วนที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและศิษย์หลายคนเคยระบุเหตุผลที่พระธัมมชโยไม่ไปมอบตัวเป็นเพราะอาพาธหนัก และแพทย์ห้ามเคลื่อนย้ายเด็ดขาด “อาจเป็นการตีความของสังคมที่วิเคราะห์กันไปเอง”

แม้สุดท้ายไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถจับกุมพระธัมมชโยได้หรือไม่ แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือวัดพระธรรมกายจะเป็นอย่างไรหากพระธัมมชโยถูกดำเนินคดี สุรพศให้ความเห็นว่า

“ธรรมกายคงไม่ล่มสลาย เพราะธรรมกายเขามีองค์กรที่เข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ แม้จะมีลักษณะที่ยึดติดกับตัวบุคคลก็จริง แต่ความสำเร็จของธรรมกายไม่ได้เกิดมาจากเจ้าอาวาสเพียงคนเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม และเขามีจุดแข็งอยู่หลายอย่าง ไม่ใช่ว่าจะล่มสลายได้ง่ายๆ”

นอกจากนี้สุรพศยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหากมีการจับกุมพระธัมมชโยคือ รอยร้าวความขัดแย้งในสังคมจะชัดเจน และทวีความรุนแรงมากขึ้น

“ผมคิดว่ามันจะทำให้ความปรองดองในสังคมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลกำลังจะปรองดอง แต่ใช้วิธีปรองดองด้วยการขจัดฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม จับกุมคนเห็นต่างทางการเมือง ส่วนทางศาสนาก็ขจัดฝ่ายตรงกันข้าม มันก็เลยขัดกับสิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวังคือความปรองดอง

“มันจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ความแตกแยกทางศาสนาให้เกิดขึ้นอีก กลายเป็นว่าประเทศเราในจุดนี้จะไม่ได้มีแค่ความขัดแย้งทางการเมืองอีกต่อไป ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในทางศาสนาต่างนิกาย ต่างลัทธิมันอยู่ในใจคนอยู่แล้วเป็นปกติ แต่การที่รัฐบาลเข้ามาปฏิบัติการแบบนี้ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ไม่เอาธรรมกาย ก็กำลังจะทำให้เกิดรอยร้าวความแตกแยกทางกลุ่มศาสนามากขึ้นอีก ผมคิดว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่ากลัว”

สุรพศยังทิ้งท้ายด้วยว่าหากมีการดำเนินดคีกับพระธัมมชโยจริง และคณะสงฆ์ไม่สามารถปกป้องวัดพระธรรมกายได้ อาจเป็นไปได้ที่ธรรมกายจะประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม เช่นเดียวกับกลุ่มสันติอโศก และอาจนำไปสู่การร้องเรียนในระดับนานาชาติที่ธรรมกายมีเครือข่ายอยู่ในทั่วโลก

Photo: Jorge Silva, Reuters/Profile

อ้างอิง:

Tags: ,