Photo: Soe Zeya Tun, Reuters/profile

ท่าทีของ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ‘Son of the Bitch’ ‘Go to Hell’ หรือ ‘Monkeys’ จนกลายเป็นข่าวเด่นของสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักในช่วง 2  เดือนที่ผ่านมา

และท่าทีล่าสุดของ นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่ประกาศว่า ชาติตะวันตกควรหยุด ‘สั่งสอน’ ประเทศอดีตเมืองขึ้นของตัวเองได้แล้ว

โดยสองประเทศนี้หันไปกระชับมิตรกับจีนในเวลาที่ใกล้เคียงกัน จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมจู่ๆ สองประเทศนี้ถึงออกมาแสดงท่าทีต่อต้านสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ คือพันธมิตรที่ยาวนานของทั้งสองประเทศ และปฏิกิริยาของบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนเช่นนี้ จะทำให้สหรัฐฯ เสียดุลอำนาจในภูมิภาคนี้หรือไม่

และทำไมทั้งสองประเทศจึงหันไปพึ่งจีนมากกว่า ทั้งที่ฟิลิปปินส์เองก็มีปัญหาเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้กับจีน

ต้องบอกว่า ทั้งสองประเทศมีเหตุผลทางการเมืองที่ต่างกัน และช่วงนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่พันธมิตรสหรัฐฯ จะหันไปกอบโกยผลประโยชน์จากจีน โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ระคายเคืองมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ยังไม่ชัดเจน

เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจและการได้ผู้นำคนใหม่

Photo: Olivia Harris, Reuters/profile

ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย ไม่พอใจสหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ

เริ่มกันที่พันธมิตรยาวนานของสหรัฐฯ อย่างฟิลิปปินส์ หลังจาก โรดริโก ดูเตอร์เต ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นโยบายสงครามต้านยาเสพติดของเขาส่งผลให้บรรดาพ่อค้ายา ผู้ขนยา และผู้เสพยาเสพติด ถูกวิสามัญไปแล้วกว่า 2,600 คน

ดูเตอร์เตได้บอกว่า พร้อมให้อภัยโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจหากถูกตั้งข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ที่มีนโยบายต่างประเทศปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด จึงออกมาต่อต้านนโยบายนี้ของฟิลิปปินส์ทันที โดยบอกว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจยับยั้งแผนขายอาวุธปืนไรเฟิล 26,000 กระบอกให้กับฟิลิปปินส์ เนื่องจากเกรงว่าฟิลิปปินส์จะใช้อาวุธจนเหตุการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้

ท่าทีไม่สนับสนุนนโยบายปราบยาเสพติดของฟิลิปปินส์ทำให้ดูเตอร์เตเริ่มกล่าวหาสหรัฐฯ ด้วยถ้อยคำรุนแรง ทั้ง ‘Son of the bitch’ หรือ ‘Monkeys’ ตามเวทีต่างๆ จนสร้างกระแสฮือฮาให้กับสื่อต่างประเทศ อีกทั้งยั่วยุสหรัฐฯ ด้วยการกล่าวว่าจะหันไปซื้ออาวุธกับจีนและรัสเซียแทน

เช่นเดียวกับบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย ที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ยื่นฟ้องอายัดทรัพย์สินนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซะก์ มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก และเบเวอร์ลีฮิลส์ เนื่องจากพบว่าเป็นเงินที่ถูกยักยอกออกมาจากกองทุน 1MDB กองทุนเพื่อการลงทุนของประเทศ โดยสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ราซะก์ใช้ระบบการเงินของอเมริกาเป็นช่องทางที่จะฟอกเงิน

ซึ่งราซะก์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และบอกว่าเป็นหน้าที่ของมาเลเซียที่จะดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้เอง อีกทั้งหันไปมีท่าทีเป็นมิตรกับจีนมากขึ้นและได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนระหว่างการเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (31 ต.ค. 2559) ว่า

“มันไม่ใช่หน้าที่ของประเทศตะวันตกที่จะมาสั่งสอนประเทศอื่นว่าควรปฏิบัติอย่างไร ประเทศตะวันตกนี่ผมหมายถึงบรรดาประเทศที่เคยล่าประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้นด้วยนะ”

Photo: Kim Kyung Hoon, Reuters/profile

เกมการทูตของฟิลิปปินส์และมาเลเซียระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังจะได้ผู้นำคนใหม่

ท่าทีของฟิลิปปินส์กับมาเลเซียที่ออกมาต่อต้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตกทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ จะเสียดุลอำนาจในภูมิภาคนี้หรือไม่

นโยบายด้านการทูตของสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี บารัก โอบามา นั้นให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะคานอำนาจกับจีน

The Momentum ได้สัมภาษณ์ ศ. ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นนี้ ซึ่ง ศ. ดร.จุลชีพ ได้อธิบายว่า ช่วงที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างรอยต่อรอเลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่นั้นเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียจะหันไปผูกมิตรกับจีน

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่สองประเทศจะมีอิสระในการสานสัมพันธ์กับจีน และแสดงท่าทีต่อต้านสหรัฐฯ เพื่อเอาใจคนในประเทศบางกลุ่มที่ไม่ได้ชื่นชอบสหรัฐฯ มากนัก

“นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ผู้นำจะได้แสดงผลงานว่าตัวเองมีผลงานด้านความร่วมมือด้านการค้ากับจีนมากขึ้น ถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว และท่าทีนี้ก็จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากนัก เพราะนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็จะขึ้นกับผู้นำคนใหม่”

ทั้งนี้ ทางด้านฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต จะมีโอกาสได้หาพันธมิตรใหม่ที่จะดำเนินการซื้อขายอาวุธเพื่อตอบสนองนโยบายสงครามต้านยาเสพติดของตัวเอง

ขณะที่ อีกมาล อะห์มัด (Eekmal Ahmad) ทีมงานของ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) อดีตผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย ได้บอกกับ The Momentum ว่า

“ผมมองว่า นาจิบ ราซะก์ หันไปพึ่งจีนไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ของประเทศ แต่ต้องการลบล้างคำวิพากษ์วิจารณ์ของสหรัฐฯ ต่อคดีอื้อฉาวของตัวเอง และต้องการยืมเงินจีน เพราะขณะนี้มาเลเซียมีหนี้สินล้นพ้นจากกองทุน 1MDB”

สหรัฐฯ จะยังเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจจะนำการเมือง?

การประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ของ โรดริโก ดูเตอร์เต ไม่ได้สร้างความตกใจให้กับคนต่างชาติเท่านั้น แต่ยังทำให้ ราโมน โลเปซ (Ramon Lopez) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของฟิลิปปินส์ต้องมาแก้ต่างแทนเขาเช่นกัน

“ในส่วนของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนั้น เราไม่สามารถหยุดการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ ได้แน่นอน”

ซึ่งหลังจากนั้นท่าทีของดูเตอร์เตก็อ่อนลงและยอมรับว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ฟิลิปปินส์ต้องรักษาไว้ เพียงแต่ต้องการมีอิสระในด้านนโยบายต่างประเทศมากขึ้น อย่างการสานสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้บ้าง

เช่นเดียวกับที่ ศ. ดร.จุลชีพ อธิบายว่า ท่าทีเหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อนักลงทุน

“เราต้องแยกความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐให้ออก ท่าทีเหล่านั้นเป็นท่าทีของผู้นำ ซึ่งนักลงทุนไม่ได้สนใจ ไม่ว่าเป็นจะนักลงทุนจากสหรัฐฯ หรือจีนเองก็ตาม ไม่มีการตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างแน่นอน”

ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจนำการเมืองก็อาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจผูกขาดในภูมิภาคนี้เช่นในอดีต ดังเช่น ฮวาชุนอิง (Hua Chunying) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของจีนบอกว่า

“เราควรเลิกมีแนวคิดแบบสมัยสงครามเย็นได้แล้ว ที่จะต้องมีใครแพ้หรือชนะ หรือใครจะต้องมาเลือกฝั่งชัดเจน” สอดคล้องกับ จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่แสดงความเห็นต่อพฤติกรรมของฟิลิปปินส์ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่าทีของคนคนเดียว”

ข้อความเหล่านี้จากมหาอำนาจโลกสะท้อนว่า สุดท้ายแล้วพวกเขาไม่ได้สนใจว่าอาเซียนจะต้องเลือกใคร ตราบใดที่อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่พวกเขาจะมากอบโกยผลประโยชน์ได้มากที่สุด และถึงแม้อาเซียนจะไม่ต้องเลือกข้างชัดเจนเช่นในอดีต หรือจะพยายามรวมตัวกันเพื่อให้มีตัวตนมากขึ้นในเวทีโลก

แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงหนีไม่พ้นอิทธิพลจากสองขั้วมหาอำนาจโลกนี้อยู่ดี?

อ้างอิง: Washington Post, Reuters