สถานการณ์ภูมิอากาศของโลกในตอนนี้น่าเป็นกังวลมาก งานวิจัยทั้ง 3 เรื่องต่อไปนี้เป็นเครื่องยืนยัน

1. เมื่อนักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ(National Snow and Ice Data Center) ของสหรัฐอเมริกาพบว่า น้ำแข็งขั้วโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บข้อมูลมา

กราฟแสดงให้เห็นการลดลงของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนืออย่างต่อเนื่องและในตอนนี้มันลดลงมากที่สุด Photo: nsidc.org

ล่าสุดน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือมีพื้นที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น (บางบริเวณมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ย) และกระแสลมแถบขั้วโลกเกิดการเปลี่ยนทิศทางแบบกะทันหัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้ เพราะมันจะทำให้น้ำแข็งก่อตัวยากขึ้นในช่วงเวลาที่มันจะก่อตัว

กราฟแสดงให้เห็นการลดลงของน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้มากกว่าปกติในเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้ Photo: nsidc.org

ส่วนขั้วโลกใต้น้ำแข็งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พื้นที่น้ำแข็งในตอนนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร อีกทั้งยังน้อยกว่าค่าต่ำสุดเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร!

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าปริมาณน้ำแข็งที่ลดลงถึงขนาดนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับโลกเราบ้าง แต่ที่แน่ๆ มันเป็นสัญญาณบอกให้เรารับรู้ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกี่ยวกับภูมิอากาศบนโลก

2. โครงการ Operation IceBridge ขององค์การนาซาที่ศึกษาและสำรวจความเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งขั้วโลกยังพบรอยแยกขนาดใหญ่บนน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกายาวกว่า 100 กิโลเมตร กว้างเกือบ 100 เมตร ลึกกว่า 500 เมตร

รอยแยกดังกล่าวเกิดขึ้นกับก้อนน้ำแข็งที่มีชื่อว่า Larsen C ซึ่งเป็นน้ำแข็งประเภท Ice shelves

รอยแยกขนาดมหึมาที่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ Photo: nasa.gov

ภาพแสดงตำแหน่งของ Ice Shelves Photo: antarcticglaciers.org

Ice Shelves เป็นส่วนของก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ยื่นออกไปในทะเล ดังนั้นเมื่อ Ice Shelves แตกออกมาจะส่งผลให้น้ำแข็งลอยออกสู่มหาสมุทรและระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น และหาก Larsen C แตกออกตามรอยแยกนี้ น้ำแข็งที่หลุดออกมาจะมีพื้นที่ 6,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากพอๆ กับพื้นที่ของรัฐเดลาแวร์ในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว!

3. สถานการณ์น้ำทั่วโลกก็น่าเป็นกังวล เพราะล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้ นักวิจัยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง รวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำบนโลกตลอดระยะเวลา 32 ปี เพื่อศึกษาว่าแหล่งน้ำถาวรบนโลกอย่างแม่น้ำ  ทะเลสาบ และแอ่งน้ำในที่ราบสูงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ผลการวิจัยพบว่าแหล่งน้ำบนผิวโลกกว่า 90,000 ตารางกิโลเมตรเหือดแห้งไป ที่น่าวิตกคือ พื้นที่กว่า 70% ของแหล่งน้ำจืดที่แห้งไปนั้นอยู่ในตะวันออกกลางและเอเชียกลางซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยแล้งมากขึ้น แม้จะมีแหล่งน้ำใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นพื้นที่ 184,000 ตารางกิโลเมตร แต่แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นส่วนมากเป็นผลจากการสร้างแหล่งเก็บน้ำของมนุษย์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ภาพทะเลอารัล (Aral Sea) ที่อยู่บริเวณประเทศคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน ภาพซ้ายถ่ายไว้ในปี 1989 ส่วนภาพขวาถ่ายในปี 2014
Photo: wikipedia.org

ตอนนี้อาจถึงเวลาแล้วที่มนุษย์เราจะต้องทบทวนอย่างจริงจังว่า

‘เราจะรักษาบ้านหลังใหญ่ใบนี้ไว้ให้ลูกหลานได้อย่างไร’

 

ผู้เขียน : อาจวรงค์ จันทมาศ และ ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์

อ้างอิง:
– https://nsidc.org/arcticseaicenews/
– https://www.nasa.gov/feature/goddard/2016/nasa-nears-finish-line-of-annual-study-of-changing-antarctic-ice
– http://www.nature.com/articles/nature20584.epdf?referrer_access_token=uTjAW0QH4RTjaSPjpbY0g9RgN0jAjWel9jnR3ZoTv0MqBuzCNsmw_DFxRd7sX93nyzAG1KQFj3gFshppf9KBVVvwdZEad5p5krwe2CHBcRT8nbbtrQWJhtSVfc7Xwss1xplugDj7-B6efayoC0vxccIFHBG8iXFJ16O48I7d6Y0f5iZjg1bmRAK4oejzw4m0Et3SrL1q9RQXK5tnPOUXA71neRIxV-WIN9T1Vad76_V4D79Pvpytshrm0qkQKVOHsFqEz3tKUzgb75-Y6PHpLg%3D%3D&tracking_referrer=www.iflscience.com

Tags: ,