ในขณะที่กระแสต่อต้านผู้อพยพกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่าผู้อพยพเริ่มเป็น ‘ภัยคุกคามรูปแบบใหม่’ ต่อตัวเองทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างภัยก่อการร้าย
แต่การประท้วงของชาวสเปนในเมืองบาร์เซโลนากว่า 160,000 คน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ออกมาเรียกร้องให้สเปนรับผู้อพยพจากประเทศสงครามเพิ่มนั้นถือว่าสวนกระแสประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยพวกเขาเรียกกลุ่มตัวเองว่า ‘Casa Nostra, Casa Vostra’ ที่แปลว่า บ้านของเราคือบ้านของคุณ
สเปนและโปรตุเกสคือสองประเทศที่นโยบายกระแสขวาไม่ได้รับความนิยมดังเช่นหลายประเทศในยุโรป และประชาชนส่วนใหญ่ยังอยากให้รัฐบาลรับผู้อพยพจากประเทศสงครามเพิ่ม
โพลสำรวจของ BBC World Service พบว่า
สเปนคือประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพมากที่สุด
ชาวสเปนถึง 84% เห็นด้วยกับการรับชาวซีเรียเข้าประเทศ
รัฐบาลสเปนไม่ได้รับผู้อพยพตามสัญญา
เมื่อปี 2015 รัฐบาลของสเปนเคยประกาศไว้ว่า สเปนจะรับผู้อพยพเพิ่มอีก 17,000 คน แต่ที่ผ่านมาสเปนรับผู้อพยพเข้าประเทศเพียง 1,100 คนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับเยอรมนีที่รับผู้อพยพเข้าประเทศถึง 890,000 คนในปี 2015 และอีกกว่า 280,000 คนในปี 2016 อย่างไรก็ตาม สเปนไม่ใช่ประเทศจุดหมายปลายทางที่ผู้อพยพต้องการย้ายไปเท่ากับเยอรมนี ฝรั่งเศส ฮังการี หรือสวีเดน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาชาวสเปนในเมืองบาร์เซโลนาอย่างน้อย 160,000 คนจึงออกมาประท้วงว่ารัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญาที่กล่าวไว้ กลุ่มผู้ประท้วงชูป้ายเป็นภาษาคาตาลันซึ่งมีข้อความว่า “เบื่อแล้วข้ออ้าง! รับพวกเขาเข้ามาเดี๋ยวนี้!” หรือ “จะไม่มีใครตายอีกแล้ว เปิดประเทศซะ!” อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประท้วงบอกว่ามีคนออกมาร่วมประท้วงกว่า 300,000 คน
อดา โคเลา (Ada Colau) นายกเทศมนตรีของบาร์เซโลนาออกมาสนับสนุนให้สเปนรับผู้อพยพ และแบ่งผู้อพยพบางส่วนจากกรีซและอิตาลี โดยได้ออกมาร่วมขบวนประท้วงเช่นกัน อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสเปนในเรื่องการรับผู้อพยพ ซึ่งเธอได้รับการสนับสนุนจากชาวสเปน และคาตาลันจำนวนมาก
3 ปัจจัยที่ทำให้ชาวสเปนต้อนรับผู้อพยพคือ
1. ความคิดว่าผู้อพยพจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
2. คิดว่าการรับผู้อพยพนั้นเป็นหลักการประชาธิปไตย
3. สเปนเป็นประเทศที่รับผู้อพยพน้อยกว่าเยอรมนีหรือฝรั่งเศส
กระแสขวาในสเปนและโปรตุเกสไม่ได้รับความนิยมเพราะยังไม่เจอปัญหาผู้อพยพ?
ในขณะที่เราเห็นกระแสขวาประชานิยมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในการเมืองยุโรป ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา กระแสการเมืองฝั่งขวาในสเปนและโปรตุเกสยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ สองประเทศนี้อาจจะยังไม่เจอกับปัญหาผู้อพยพมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป
โพลสำรวจของ BBC World Service พบว่า สเปนคือประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพมากที่สุด ชาวสเปนถึง 84% เห็นด้วยกับการรับชาวซีเรียเข้าประเทศ และขณะที่ตอนนี้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปคิดว่าปัญหาเรื่องผู้อพยพนั้นสำคัญที่สุด ชาวโปรตุเกสกลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยที่สุด
พรรค Popular Party ของสเปนคือพรรคฝ่ายขวาที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่พบนโยบายลักษณะที่เป็นการเหยียดเชื้อชาติในสเปน ขณะที่พรรค National Renovator ของโปรตุเกส คือพรรคเดียวที่ออกมาต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพอย่างชัดเจน แต่พวกเขาได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเพียง 0.5% เท่านั้น
สเปนเคยเจอกับเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปี 2004 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บ
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าประวัติศาสตร์การเมืองของสเปนที่เคยผ่านการใช้ความรุนแรง เพื่อตอบโต้ชนชั้นนำอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวสเปนไม่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวา Miguel Ángel Simón ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เปิดเผยกับ Christian Monitor ว่า “พรรคการเมืองต่างๆ ของสเปนเคยทำข้อตกลงเกี่ยวกับการปราบก่อการร้ายในปี 2000 ว่า พวกเขาจะไม่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือทางการเมือง”
อย่างไรก็ตามสเปนกับโปรตุเกสไม่ใช่ประเทศที่เผชิญกับการทะลักของผู้อพยพเช่นเดียวกับเยอรมนีและประเทศอื่นๆ พวกเขาจึงยังไม่เคยเจอประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ตามมา อันโตนิโอ คอสตา พินโต (António Costa Pinto) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งลิสบอนสะท้อนให้เห็นว่า “เรายังไม่สามารถพูดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโปรตุเกส ถ้ามีกลุ่มผู้ลี้ภัยมาตั้งค่ายกลางจัตุรัสในลิสบอนบ้าง”
สอดคล้องกับ Migration Policy Institute หน่วยงานวิจัยด้านนโยบายผู้อพยพในวอชิงตัน ที่ได้ทำการศึกษาทัศนคติของชาวสเปนต่อเรื่องผู้อพยพ และพบว่า มี 3 ปัจจัยที่ทำให้ชาวสเปนต้อนรับผู้อพยพคือ 1. ความคิดว่าผู้อพยพจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2. คิดว่าการรับผู้อพยพนั้นเป็นหลักการประชาธิปไตย 3. สเปนเป็นประเทศที่รับผู้อพยพน้อยกว่าเยอรมนีหรือฝรั่งเศส จำนวนผู้อพยพตามชุมชนที่ไม่ได้มีให้เห็นชัด จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าผู้อพยพเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อประเทศน้อยกว่าประเทศอื่น
แม้ว่าสเปนและโปรตุเกสจะรณรงค์ไม่ให้นักการเมืองใช้ภัยก่อการร้ายมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง หรือสร้างความเกลียดชัง แต่ในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะต้องยอมรับว่า สเปนและโปรตุเกสยังไม่เจอกับการทะลักของผู้อพยพอย่างมหาศาลอย่างเช่น เยอรมนี หรือฝรั่งเศส จึงทำให้ยังไม่เกิดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คนหันไปสนับสนุนนโยบายของฝ่ายขวาดังเช่นที่เราเห็นทั่วยุโรป
Photo:
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/world-europe-34131911
- www.theguardian.com/world/2015/sep/15/spain-refugees-indignados-safe-cities
- www.csmonitor.com/World/Europe/2017/0217/Far-right-populism-marches-across-Europe-but-not-in-Iberia.-Why-not
- www.migrationpolicy.org/research/exceptional-europe-spains-experience-immigration-and-integration