เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2017 คณะกรรมการเลือกตั้งเลือก แคร์รี แลม (Carrie Lam) ขึ้นมาเป็นผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ การเลือกตั้งผู้นำเกาะที่มีประชากร 7.3 ล้านคน โดยมีคณะกรรมการเพียง 1,194 คน สะท้อนว่าการเมืองที่ไม่แน่นอน ความแบ่งแยก และความไม่พอใจของชาวฮ่องกงต่อการแทรกแซงของจีนกำลังรอแคร์รี แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงผู้หญิงคนแรกคนนี้อยู่
ก่อนหน้านี้ แคร์รี แลม ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เธอเคยเป็นผู้บริหารที่ได้รับความนิยมจากชาวฮ่องกงมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ระหว่างการปฏิวัติร่มที่เธอไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา ทำให้ความนิยมในตัวเธอลดลงอย่างฮวบฮาบ
การเลือกผู้ว่าการฮ่องกงครั้งที่ 5 นี้สะท้อนว่า การเรียกร้องของชาวฮ่องกงทำให้จีนยิ่งเข้มงวดกับฮ่องกงมากไปกว่าเดิม ในขณะที่ชาวฮ่องกงบางส่วนเองก็ยิ่งไม่พอใจ จากการเรียกร้องสิทธิในการเลือกผู้นำ ก่อนหน้านี้เราจึงเริ่มเห็นนักศึกษาออกมาประกาศว่า “Hong Kong is not China” หรือ “Hong Kong Nation”
ระบอบการปกครองแบบสองระบบในหนึ่งประเทศ (One Country, Two Systems) กำลังถูกทำลาย
และอำนาจอธิปไตยของพวกเราจะเป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกบัญญัติไว้เท่านั้น
อดีตผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงที่เคยผ่านงานข้าราชการมาหลายปี
แคร์รี แลม เติบโตมาในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ที่มีพื้นที่จำกัดทำให้เธอต้องนั่งทำการบ้านบนเตียง เธอเป็นเด็กตั้งใจเรียนและมีความตั้งใจอยากทำงานเป็นข้าราชการตั้งแต่เด็ก จนเธอสามารถเข้ารับราชการได้ในปี 1980 หลังจากเธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง จากนั้นเธอได้เข้าทำงานในหลายหน่วยงานของรัฐ จนสามารถขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในปี 2007 หลังจากถูกแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการด้านการพัฒนา
แคร์รี แลม หรือ Carrie Lam Chueng Yuet-ngor เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในระหว่างปี 2012 ถึง 2017 ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดในระบบการบริหารของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong Special Administrative Region)
บทบาทของเธอในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงระหว่างการปฏิวัติร่มของฮ่องกงในปี 2014 คือการพยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญในเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง แม้ว่าเธอพยายามจะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปพูดคุยกับนักศึกษา หรือเข้าร่วมการโต้วาทีกับนักศึกษาผ่านทางโทรทัศน์ แต่เธอกล่าวว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการให้ชาวฮ่องกงสามารถเลือกผู้ชิงตำแหน่งได้เองนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ทำให้ความนิยมในตัวเธอนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบ จากที่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาโดยตลอด
การเลือกผู้ว่าการเกาะฮ่องกงโดยจีนแผ่นดินใหญ่
ในปี 2014 จีนเคยมีแผนที่จะให้ชาวฮ่องกงสามารถเลือกผู้ว่าการของเกาะได้เอง แต่รายชื่อผู้ลงสมัครจะต้องผ่านการอนุมัติจากจีน ซึ่งทำให้กลุ่มนักศึกษาในตอนนั้นไม่พอใจ เพราะมองว่าจีนยังไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของฮ่องกง
การประท้วงของชาวฮ่องกงและกระแสการปฏิปักษ์ต่อจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าการของเกาะฮ่องกงครั้งที่ 5 หรือครั้งล่าสุดนั้นจีนจึงยังใช้วิธีการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประมาณ 1,200 คน ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งถูกกล่าวหาว่า ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่
สิ่งนี้จึงสะท้อนว่า ยิ่งชาวฮ่องกงออกมาต่อต้านจีน จีนตอบโต้ด้วยการใช้อำนาจควบคุมฮ่องกงมากกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดจากจีนก็ยิ่งทำให้ชาวฮ่องกงบางส่วนที่รู้สึกต่อต้านจีนอยู่แล้วรู้สึกต่อต้านมากขึ้นไปกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่นักศึกษาที่เคยได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นสภานิติบัญญัติประกาศว่า “Hong Kong is not China” สร้างกระแสความหวั่นวิตกให้กับจีน จนจีนตัดสินใจว่ายังต้องควบคุมฮ่องกงอย่างใกล้ชิดอยู่
การเลือกตั้งผู้ว่าครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งผู้นำที่ปกครองประชากร 7.3 ล้านคน โดยคณะกรรมการเพียง 1,194 คน ที่บดบังสิทธิของชาวฮ่องกงที่จะเลือกผู้นำของตัวเอง ขัดกับลักษณะการปกครองของฮ่องกงที่เรียกว่า ‘One Country, Two Systems’ คือชาวฮ่องกงได้รับสิทธิพลเมือง และมีอำนาจในการปกครองตนเองตามเงื่อนไขเมื่ออังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997
การเลือกตั้งผู้นำที่ปกครองประชากร 7.3 ล้านคน
โดยคณะกรรมการเพียง 1,194 คน ที่บดบังสิทธิของชาวฮ่องกงที่จะเลือกผู้นำของตัวเอง
ขัดกับลักษณะการปกครองของฮ่องกงที่เรียกว่า ‘One Country, Two Systems’
ผู้ว่าการฮ่องกงผู้หญิงคนแรกที่มาพร้อมกับการเมืองที่ไม่แน่นอนของเกาะฮ่องกง
การเลือก แคร์รี แลม ขึ้นมาเป็นผู้นำฮ่องกงคนใหม่โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง 1,194 คนสะท้อนว่า การประท้วงของชาวฮ่องกงในปี 2014 หรือที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติร่ม’ นั้นไม่สามารถกดดันจีนแผ่นดินใหญ่ให้ยอมที่จะให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้นำของตัวเองได้ ซึ่งในตอนแรกนั้นจีนมีแผนจะยอมให้ฮ่องกงสามารถเลือกผู้ว่าของตัวเองได้ เพียงแต่รายชื่อของผู้สมัครจะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้กลุ่มนักศึกษาไม่พอใจและนำมาสู่การประท้วงทั่วเกาะฮ่องกง
โจชัว หว่อง นักศึกษาผู้เป็นแกนนำในการปฏิวัติร่มกล่าวไว้ว่า “เมื่อผู้นำอันดับสองขึ้นมาเป็นผู้ว่าการของเกาะ มันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ระบอบการปกครองแบบสองระบบในหนึ่งประเทศ (One Country, Two Systems) กำลังถูกทำลาย และอำนาจอธิปไตยของพวกเราจะเป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกบัญญัติไว้เท่านั้น”
ในบทสุนทรพจน์หลัง แคร์รี แลม ได้รับการเลือกให้เป็นผู้ว่าการฮ่องกง เธอกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสมานรอยร้าวของชาวฮ่องกง “ฮ่องกง บ้านของเรากำลังเผชิญกับความแบ่งแยกรุนแรง ฉันรู้ว่าชาวฮ่องกงรู้สึกอย่างไร รู้ว่าเขารู้สึกแตกต่างกันอย่างไร ฉันคิดว่าฉันต้องใช้ความพยายามมากขึ้น”
แต่ความท้าทายที่รอเธออยู่ไม่ได้มีเพียงแค่การเมืองภายในเกาะฮ่องกงเท่านั้น ฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงวัยล้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจนการเคลื่อนที่ของสังคมนั้นมีน้อยลง ที่อยู่อาศัยของฮ่องกงนั้นมีราคาแพงสูงลิ่วเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอนหรือนิวยอร์ก จนเราสามารถพบเห็นที่อยู่อาศัยลักษณะแบบแคปซูลได้ทั่วไปในเกาะฮ่องกง ราคาบ้านฮ่องกงที่สูงลิ่วส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามากวาดซื้อบ้านในฮ่องกง
การขึ้นมาของ แคร์รี แลม อาจสวนทางกับความต้องการของชาวฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศล่าสุดหลังได้รับตำแหน่งว่า “การปฏิรูปการเมืองของฮ่องกงไม่ใช่สิ่งที่เธอให้ความสำคัญอันดับแรก”
- – http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/hong-kong-protests-8-things-you-might-not-know-about-carrie-lam-hong-kongs-chief
- – http://www.chinadaily.com.cn/china/2015-04/26/content_20544175.htm