จุลชีพก่อโรคที่ติดต่อแพร่กระจายทางอากาศอย่างรวดเร็วนั้น
สามารถคร่าชีวิตคนได้มากกว่า 30 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 1 ปี

Photo: Andres Stapff, Reuters/Profile

บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ เตือนสังคมโลกต้องระวังเรื่องความมั่นคงด้านสาธาณสุขและความมั่นคงระหว่างประเทศมากกว่านี้ บนเวทีการประชุมความมั่นคงมิวนิก (เอ็มเอสซี) ครั้งที่ 53 เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า บิล เกตส์ ได้พูดถึงภัยการก่อการร้ายที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือสังหาร พร้อมกับชี้ว่าพื้นที่สงครามและรัฐเปราะบางใกล้ล่มสลายเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายของการแพร่เชื้อโรคระบาด เพราะป้องกันควบคุมได้ยากที่สุด

“ต้นตอการเกิดโรคระบาดครั้งถัดไปอาจอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ก่อการร้ายที่จงใจใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมพัฒนาอาวุธชีวภาพจากเชื้อไวรัสฝีดาษหรือไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายร้ายแรง

“ไม่ว่าโรคระบาดจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย นักระบาดวิทยากล่าวว่า จุลชีพก่อโรคที่ติดต่อแพร่กระจายทางอากาศอย่างรวดเร็วนั้นสามารถคร่าชีวิตคนได้มากกว่า 30 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 1 ปี” เกตส์เสริม และชี้ว่าอาจเกิดวิกฤตนี้ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

เกตส์ยังกล่าวว่าที่ผ่านมากลุ่มก่อการร้ายไอเอสพยายามพัฒนาอาวุธชีวภาพขึ้นในซีเรียและอิรัก ทว่าไม่สามารถผลิตขึ้นได้เนื่องจากขาดห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าและบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้ ตามการรายงานจากหน่วยข่าวกรอง

แม้ว่ามนุษย์จะเอาชนะโรคภัยนานาชนิดได้สำเร็จในศตวรรษที่ 21 แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าโลกเราจะปลอดภัยจากโรคระบาดครั้งใหญ่เหมือนกับยุคกลาง

กรณีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 และไวรัสซิกาคือข้อพิสูจน์ดังกล่าว เมื่อเชื้อไวรัสเกิดแพร่ระบาดลุกลามไปหลายทวีป รัฐบาลทั่วโลกจึงกลับมาคิดทบทวนแผนเฝ้าระวังและรับมือกับโรคระบาดกันใหม่

ต้นตอการเกิดโรคระบาดครั้งถัดไปอาจอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ก่อการร้าย

Photo: Edgard Garrido, Reuters/Profile

“มันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับการเกิดหายนะในระดับวงกว้างเช่นนี้ แต่มันเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 (พ.ศ. 2461) ร่วม 50-100 ล้านคน”

อันที่จริงความกังวลต่อการก่อการร้ายทางชีวภาพในระดับสากลโลกปรากฏให้เห็นสักระยะแล้ว สังเกตได้จากการออกกฎหมายห้ามใช้อาวุธชีวภาพ เช่น การทำอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธชีวภาพตามกรอบความตกลงระหว่างประเทศด้านอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1975 ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Bioterrorism Act) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังสิ่งปนเปื้อนอันตรายทางเคมีและชีวภาพในอาหารมากเป็นพิเศษ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2003

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ มาจากประสบการณ์การทำงานในนามของมูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งเขาและภรรยาก่อตั้งขึ้น และได้บริจาคเงินทุนสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุขมาร่วม 20 ปี เช่น ให้ทุนวิจัยเพื่อคิดค้นการรักษาโรคติดต่อและโรคระบาด เช่น โรคเอดส์ มาลาเรีย ทั้งยังมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบและพัฒนางานวิจัยเพื่อต่อสู้ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาและอีโบลาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เขายังพูดถึงนวัตกรรมรับมือกับโรคระบาดบนเวทีการประชุมความมั่นคงมิวนิกครั้งนี้ เช่น ความก้าวหน้าด้านไบโอเทคโนโลยี การค้นพบวัคซีน และวิธีรักษาโรคใหม่ๆ พร้อมเน้นย้ำว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเตรียมรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว

แต่ที่น่ากังวลก็คือการก่อการร้ายทางชีวภาพถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในระดับเดียวกับสงคราม ซึ่งยังไม่มีใครพร้อมรับมือ ณ เวลานี้

“การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางโรคระบาดระดับโลกนั้นเป็นวาระสำคัญเช่นเดียวกับการรับมือกับภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ และการหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

“นวัตกรรม ความร่วมมือ และการวางแผนอย่างรอบคอบล้วนสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภัยคุกคามแต่ละรูปแบบได้มหาศาล”

อ้างอิง:​

Tags: , ,