ช่วงที่ผ่านมาหน้านิวส์ฟีดของทุกคนคงมีแต่เรื่องการประกวดนางงามจักรวาล (ว่าแต่กดโหวตให้น้องน้ำตาลกันแล้วหรือยัง) และวันที่ 30 มกราคมนี้เราก็จะได้รู้แล้วว่า ‘มง’ จะลงที่ใคร (และปีนี้พิธีกรคงไม่อ่านผิดแล้วเนอะ)
ดูเผินๆ การประกวดนางงามอาจเป็นแค่เรื่องการแข่งกันสวย ใครสวยก็ ‘มง’ ลงคนนั้น บางคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ลึกลงไป การประกวดนางงามสะท้อนอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่การศึกษา ชาตินิยม ภาพลักษณ์สตรี นิยามความงาม ไปจนถึงกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์
และคุณจะมอง ‘มง’ ไม่เหมือนเดิม
นางงามกับการออกสู่โลกกว้าง
ฉันได้ดูการประกวดนางงามจักรวาลครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่พาฉันออกสู่โลกกว้างครั้งใหญ่ผ่านการดูโทรทัศน์และการอ่านนิตยสาร ขวัญเรือน (ของแม่) ฉบับตามติดการประกวดนางงามจักรวาลที่ไทยซึ่งมี มิเชล แม็กลีน นางงามจักรวาลจากประเทศนามิเบียขึ้นปกในชุดราตรีสีขาว สวมมงกุฎนางงามจักรวาลอยู่ จำได้ขนาดที่ว่าจัดการประกวดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รอบชุดว่ายน้ำมีฉากหลังเป็นดอกกล้วยไม้ควีนสิริกิติ์ รอบชุดราตรีมีฉากหลังเป็นศาลาไทย รอบสุดท้าย อินเดียได้รองอันดับ 2 โคลอมเบียได้รองอันดับ 1 และนามิเบียได้ตำแหน่งนางงามจักรวาล ทั้งสามคนใส่ชุดราตรีสีแดง ส่วนพี่ไทยได้รางวัลรองอันดับ 1 ชุดประจำชาติ จำได้แม้กระทั่งเพลงประจำการประกวดที่ร้องว่า “Sawasdee…and Sawasdee!” จำได้ขนาดนั้น!
นางงามกับชาตินิยม และภาพสะท้อนของผู้หญิงในชาติ
มุมหนึ่ง การประกวดนางงามจักรวาลคือ ‘เกม’ และ ‘โชว์’ ที่ใช้แนวคิด ‘ชาตินิยม’ มาตีฟูว่านี่คือการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายของแต่ละประเทศ (ซึ่งไม่รู้แข่งอีท่าไหน ยังไง้…ยังไง นางงามสหรัฐอเมริกาก็ต้องเข้ารอบ (เป็นชาติเจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขันจะยอมให้ตัวเองตกรอบก็ไม่รู้จะจัดให้เสื่อมเกียรติเพื่อ?!)
ตีฟูว่านี่เป็นวาระแห่งชาติที่เราต้องเฟ้นหา ‘ตัวแทนผู้หญิง’ ของประเทศไปเป็นหน้าตาของประเทศนั้น ซึ่งนางงามตัวแทนประเทศนั้นๆ จะสะท้อน ‘ภาพ’ ของผู้หญิงในประเทศนั้นๆ ได้จริง หรือเป็นเพียง ‘ภาพ’ ที่ประเทศนั้นๆ อยากให้คนเห็นว่าผู้หญิงประเทศตัวเองเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศนั้นๆ อาจจะไม่น่าชวนฝันเหมือนภาพนางงามเท่าไหร่
อารมณ์เดียวกับการสร้างภาพโอปป้าเกาหลีให้โคตรหล่อ อ่อนโยน อบอุ่น เป็นผู้ชายในฝัน ผ่านชุดวัฒนธรรมละครซีรีส์เกาหลี จนพานเผลอเพ้อว่าผู้ชายเกาหลีทั้งประเทศคงเป็นแบบโอปป้าในซีรีส์กันหมด แต่ถ้าได้ไปประเทศเกาหลีก็จะพบความจริงอีกชุดหนึ่งว่าผู้ชายเกาหลีทำไมหน้าจืดเป็นเต้าหู้ชะมัด
เช่นเดียวกันกับตอนนี้ เวลานึกถึงประเทศไหนที่มีผู้หญิงสวย เราก็นึกถึงเวเนซุเอลาก่อนเลย เพราะชุดวัฒนธรรมการประกวดนางงามของประเทศเขาสร้างภาพลักษณ์แบบนั้นไว้แข็งแกร่งมาก
เอาจริงๆ ก็คล้ายกับเวทีออสการ์ นางงามที่ชนะอาจไม่ใช่คนที่สวยที่สุด แต่เป็นคนที่เหมาะที่สุดกับสถานการณ์ ณ เวลานั้น มันมีบริบททางสังคมเข้ามาประกอบด้วย
ตัวอย่างเช่น ดราม่าปี พ.ศ. 2535 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาล ปีนั้น อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ สาวเชียงใหม่ที่โชว์การรำฟ้อนสาวไหมได้งดงามได้เป็นนางสาวไทย ชนะจิดาภา ณ ลำเลียง สาวลูกครึ่งอิมพอร์ตพูดไทยไม่ชัดซึ่งเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่ง กวาดรางวัลมาหมดตั้งแต่ขวัญใจช่างภาพ นางงามชุดว่ายน้ำงาม นางงามใบหน้างาม แต่ไปได้ไกลสุดที่รองอันดับ 1 แต่ก็นั่นแหละ บริบททางสังคม ณ ตอนนั้น (และบริบทของกรรมการด้วย) สมการความเป็นผู้หญิงไทยยังเท่ากับแม่พลอยอยู่ เพราะฉะนั้นการเลือกนางงามหน้าไทยแท้ๆ (ซึ่งเอาเข้าจริงไอ้ ‘ความเป็นไทยแท้ๆ’ มันคืออะไร คงต้องเถียงกันอีกยาว) น่าจะเหมาะกว่านางงามอิมพอร์ตลูกครึ่ง “พูดทายด้ายนิดโหน่ย”
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในประเทศไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2558 นางงามญี่ปุ่นซึ่งเป็นนางงามญี่ปุ่นคนแรกที่เป็นคนผิวสีก็เคยโดนโจมตีว่าความเป็นผิวสีของเธอไม่ใช่ความเป็นญี่ปุ่นที่แท้จริง (เอ๊า?!)
จากเรื่องนางงาม มันชวนให้เราตั้งคำถามถึงความเป็น ‘ชาติ’ ว่าเราได้เปิดพื้นที่ไว้มากพอสำหรับความหลากหลายหรือเปล่า ชุดความคิดเรื่อง ‘ชาติ’ ที่มีๆ กันอยู่นี้มันรวมเอาใครไว้ในนั้นบ้าง ทำใครตกหายไปหรือเปล่า หรือชุดความคิดเรื่อง ‘ชาติ’ และ ‘ตัวแทนประเทศ’ ของเรากำลังกีดกันแบ่งแยก ‘เขา’ กับ ‘เรา’ ไว้อยู่
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งเราอาจจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของนางงามในประเทศไทยว่าเรามีนางงามที่มีการศึกษาดี เราอาจมีนางงามที่ประกอบอาชีพที่ไม่ค่อยเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงเท่าไหร่ อย่างเช่น หมอ นักบิน (มันน่าคิดดีนะที่เราไม่เรียกผู้ชายที่เป็นหมอ หรือผู้ชายที่เป็นนักบินว่าแพทย์ชาย นักบินชาย แต่เราเรียกผู้หญิงที่มีอาชีพดังกล่าวว่าแพทย์หญิง นักบินหญิง) แต่สถานะทางสังคมของผู้หญิงไทยโดยรวมดีขึ้นไหม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศยังมีอยู่หรือเปล่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นอย่างไร อันนี้คือคำถามที่เราต้องกลับมาทบทวนและร่วมกันผลักดันให้สังคมดีขึ้น
เพราะเมื่อสถานะของผู้หญิงในประเทศดีขึ้น ผู้หญิงคนไหนก็สามารถเป็นตัวแทนของประเทศได้
ไม่ควรยกหน้าที่นี้แบกไว้ใส่ไหล่ของนางงามแต่เพียงอย่างเดียว
นางงามกับนิยามความงาม
เมื่อมีตราประทับว่านางงามจักรวาลหรือผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลแล้ว คำถามคือ ‘งามที่สุดในจักรวาล’ นี่คืองามแบบไหน
นางงามจักรวาลมี ‘แบบ’ ของความงามอยู่ ซึ่งมันคือความงามในบริบทหนึ่งเท่านั้น
นางงามจักรวาลสมัยใหม่จะดูมีลุคนางแบบมากขึ้น ด้วยทักษะส่วนใหญ่ที่ใช้ในการประกวดคือการเดิน การโพสต์ การสู้กล้อง สู้สายตาคน การพรีเซนต์เสื้อผ้า จนบางประเทศเลือกนางงามมาจากสายนางแบบโดยเฉพาะเพื่อเอามาสู้รบบนเวที โดยเฉพาะ นาตาลี เกลโบวา นางงามจักรวาลที่คนไทยน่าจะรู้จักมากที่สุด รองจากพี่ปุ๋ยกับคุณอาภัสราก็มาจากการเป็นนางแบบมาก่อน
ตอนหลังๆ ประเทศไทยเองก็เริ่มปรับกลยุทธ์เฟ้นหานางงามที่ดูมีลุคเป็นนางแบบมากขึ้น (หากเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะเอาโปรไฟล์นำว่าจบนอก การศึกษาดี เรียนมหาวิทยาลัยดังมาก่อน เดินไม่รอดก็ไม่เป็นไร) ทั้งแนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปีที่แล้ว และน้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปีนี้ก็มีความเป็นนางแบบสูง เมื่อเทียบกับนางงามสมัยก่อนที่ดูเป็นนางงามแต่ไม่เป็นนางแบบ หากลองเอานางงามยุคนี้ที่เดินฉับๆ เป็นนางแบบไปเดินประกวดในยุคก่อนก็อาจจะดูงงว่าจะเดินแรงเดินสะบัดไปไหน(ยะ)ได้ เพราะเขาเดินนวยนาดกันหมด
สัดส่วนและรูปร่างก็เช่นกัน แต่ละนางคือจะผอมไปไหน?! เอาไส้ไปไว้ที่ไหนกัน แต่นี่แหละคือนิยามความงามบนเวทีนี้ อย่าได้เอามาเป็นไม้บรรทัดไปวัดตัวเองหรือคนอื่น
คิดดูง่ายๆ ว่าถ้าเอานางงามที่มีรูปร่างเว้าโค้งแบบนี้ไปอยู่ในสังคมจีนยุคโบราณที่วัดความงามกันที่ขนาดข้อเท้าหาใช่หน้าอกหรือเอวเอส ชนเผ่าในเคนยาใส่จานที่ปากตั้งแต่อายุ 12-13 เพื่อถ่างให้ปากกว้าง เพราะจานเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งอิสตรีก็เป็นนิยามความงามอีกแบบ การมีผิวพรรณเกลี้ยงเกลาอาจเป็นที่ปรารถนาของนางงาม แต่ในเอธิโอเปีย การกรีดร่างกายให้มีรอยแผลเป็นเป็นทั้งศิลปะและสร้างแรงดึงดูดทางเพศ
แต่นางงามเคนยามาประกวดนางงามจักรวาลก็ไม่ได้เป็นคนที่ถ่างปากมา นางงามเอธิโอเปียก็ไม่ได้มีรอยกรีด เพราะนิยามความงามมันคนละแบบกัน บริบทเปลี่ยน ความเชื่อต่อความงามก็เปลี่ยน
หรือประเทศมอริเตเนียและชนเผ่าตูเรคในประเทศแอลจีเรียที่เชื่อว่าผู้หญิงที่อ้วนคือผู้หญิงที่สวย เพราะแสดงว่าเธอมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์
เพราะฉะนั้นสาวๆ ทั้งหลายที่คิดว่าตัวเองอ้วน พวกเธอไม่ได้อ้วน แต่แค่อยู่ผิดประเทศเท่านั้นเอง!
ประเด็นก็คือ ถ้าเรารู้ว่าความงามแบบนี้ไม่ใช่ความจริงแท้หนึ่งเดียวในโลก
เราจะมองกลับมาเห็นความงามที่ตัวเราเองเป็นผู้นิยามได้ไหม?
นางงามกับการสร้างสปอตไลต์
ยิ่งมาทำงานสายพีอาร์ จึงยิ่งรู้ว่านางงามไม่ใช่แค่การแข่งขันว่าใครสวยที่สุด แต่มันคือการแข่งขันบนเกมของการสร้างสปอตไลต์
ทุกคนสวยหมด แต่ทำยังไงให้เราโดดเด่นเด้งขึ้นมาจากคนสวยเป็นร้อยๆ มันเลยต้องใช้ศาสตร์ของการประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วย
ส่วนแรก ผลิตภัณฑ์ของเราต้องดีก่อน แปลว่าก่อนประกวดนางงามจักรวาล นางงามต้องมีการเตรียมตัวอย่างดี ตั้งแต่การปรับบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์ การเดิน การโพสต์ การพรีเซนต์ตัวเอง ต้องมีโค้ชเอาไป groom เคี่ยวให้เข้ม รวมไปถึงความสวยที่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าแต่งหน้าแบบไหนจึงสวย บางรายอาจจะกลายเป็น ‘นางงามหน้าใหม่’ (คือทำหน้ามาใหม่) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อปรับลุคตัวเองให้สวยที่สุด เปี่ยมด้วยความมั่นใจมากที่สุด ไปจนถึงการฝึกสมาธิ การคุมสติ เพราะศึกของเธอคือการอยู่ท่ามกลางสายตาผู้คนตลอดเวลา
ส่วนต่อมาคือมีของดีแล้วจะตียังไงให้ดัง ทำอย่างไรให้เราเป็นกระแส เป็นข่าวตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ข่าวการประกวดที่ดัง แต่ต้องให้ตัวเราเด่นอยู่ในข่าวนั้นด้วย บางทีอาจจะต้องตีให้ดังตั้งแต่ยังไม่ทันประกวด