‘ราชินีน้ำแข็ง’ ‘ดาร์ธ เวเดอร์’ ‘นิวเคลียร์ วินทัวร์’ นี้เป็นเพียงชื่อเล่นบางส่วนของ แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Vogue อเมริกา หนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกที่เป็นคนกำหนดทิศทางของวงการแฟชั่นที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้าน (ไม่ได้พิมพ์ซ้ำ) เหรียญสหรัฐ
ทุกวันนี้ แอนนา วินทัวร์ ได้กลายเป็นมากกว่าบรรณาธิการทั่วไป แต่เป็นเซเลบริตี้และไอคอน ถึงแม้เปลือกนอกที่ดูมีความน่ากลัวระดับสิบริกเตอร์ และดูเหมือนถอดแบบจาก Cruella de Vil จากการ์ตูนเรื่อง 101 Dalmatians แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นแบบนั้นไหม? หรือเธอแค่กำลังเล่นบทบาทในสมรภูมิสงครามวงการแฟชั่นที่นับวันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และใครจะเด้งออกเวลาไหนก็ได้?
แอนนา วินทัวร์ เกิดเมื่อปี 1949 ที่กรุงลอนดอน กับคุณพ่อชาวอังกฤษและคุณแม่ชาวอเมริกัน คุณพ่อของเธอ ชาร์ลส์ วินทัวร์ (Charles Wintour) ทำงานเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ทั้ง London Evening Standardและ Sunday Express และได้รับฉายา ‘Chilly Charlie’ ที่แปลว่าความเย็นชา (ซึ่งถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น และคล้ายกับลูกสาวในอนาคต) วินทัวร์มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยน้องชาย แพทริก วินทัวร์ (Patrick Wintour) ก็เป็นบรรณาธิการเช่นกัน แต่ในส่วนการเมืองเหมือนคุณพ่อ
ในช่วงวัยเรียนที่ลอนดอน แอนนาได้เติบโตในสังคมแฟชั่นยุค 60s ที่เรียกว่า Youthquake (ศัพท์ที่แต่งโดย Diana Vreeland สุดยอดบรรณาธิการบริหาร Vogue อเมริกาในสมัยนั้น) ซึ่งเห็นเด็กรุ่นใหม่อยากหลุดออกจากกรอบเดิมๆ และมีอิสระเสรีในทุกสัดส่วนของชีวิต ซึ่งก็รวมถึงการแต่งตัว แอนนาเองเริ่มนอกคอกและแต่งตัวไปโรงเรียนแบบผิดกฎระเบียบ เช่น การใส่กระโปรงให้สั้นขึ้น และตอนอายุ 14-15 เธอได้ตัดสินใจตัดทรงผมบ็อบสุดไอคอนิคและไว้จนถึงทุกวันนี้
หลังจากแอนนาเรียนจบตอนอายุ 16 ปี เธอก็ได้ตัดสินใจว่าอยากทำงานในวงการแฟชั่นและได้เริ่มทำงานที่ร้านเสื้อผ้า Biba ในลอนดอน ต่อมาในปี 1970 แอนนาก็ได้ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์แฟชั่นเป็นครั้งแรกกับการเป็นเลขากองของนิตยสาร Harper’s & Queen ก่อนที่เธอจะย้ายไปทำงานที่นิวยอร์กที่ Harper’s Bazaar ที่อยู่ได้แค่ 9 เดือน งานต่อไปที่เธอได้ทำคือการเป็นบรรณาธิการแฟชั่นให้กับนิตยสาร Viva ที่เป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงแนวอีโรติกแบบ Penthouse
หลังจากวีว่าปิดตัวลง Viva แอนนาก็ได้ทำงานหลากหลายรูปแบบและมีความทะเยอทะยานสูงเพื่อที่จะก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายซึ่งก็คือ Vogue ในยุค 70s ถือว่าเป็นช่วงที่แอนนาพยายามค้นหาตัวเองว่าอยากทำงานในนิตยสารแฟชั่นประเภทไหน ซึ่งต้องเข้าใจว่านิตยสารแฟชั่นมีทั้งแบบเด็กรุ่นใหม่ เด็กอาร์ต คนสังคมชั้นสูง กลุ่มเพศต่างๆ และวัยทำงาน ซึ่งในแต่ละหมวดก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง แอนนาเองสนใจผู้หญิงทำงานสมัยใหม่ที่หลงรักแฟชั่นและสามารถหาเงินเองได้ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าเธอนั้นก็มีความเป็นเฟมินิสต์มานาน และไม่น่าแปลกใจที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาครั้งล่าสุดเธอได้เป็นแกนนำสำคัญของวงการแฟชั่นในการสนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน ตั้งแต่ต้น
ก้าวแรกสู่รั้วนิตยสาร Vogue ของแอนนา ภายใต้บริษัท Condé Nast เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ตอนที่เธอได้รับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ที่ Vogue อเมริกา หลังจากเป็นบรรณาธิการแฟชั่นที่ New York Magazine แต่สองปีต่อมาแอนนาได้ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปเป็นบรรณาธิการบริหารที่ Vogue อังกฤษ ซึ่งเธอก็ได้ปรับโฉมของนิตยสารอย่างสิ้นเชิงโดยไม่แคร์สื่อ เปลี่ยนพนักงานหลายคนและมีความเคร่งครัดเสียจนฉายา ‘นิวเคลียร์ วินทัวร์’ เริ่มปรากฏในสื่อ แต่ในขณะเดียวกันที่ Vogue อังกฤษ แอนนาก็ได้เจอกับ เกรซ คอดดิงตัน (Grace Coddington) นางแบบชื่อดังกับผมสีส้มจินเจอร์สุดคลาสสิกที่ได้แปรผันตัวเองมาเป็นสไตลิสต์หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งเธอได้มารับตำแหน่งเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับ Vogue อังกฤษ และกลายเป็นโซลเมตในการทำงานคู่กับแอนนาก็ว่าได้ (แม้ทั้งคู่จะไม่ค่อยแสดงอารมณ์ต่อกันมากนัก) ในปี 1987 แอนนาก็ได้กลับไปนิวยอร์กเพื่อไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร House & Gardens ที่เธอทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ แต่อีกสิบเดือนต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาเป็นบรรณาธิการบริหาร Vogue อเมริกาอย่างสมใจจนถึงทุกวันนี้
ความกล้าเสี่ยงและรู้ว่าทิศทางของสังคมกำลังไปทางไหนคือความไหวพริบของแอนนา ซึ่งก็เห็นได้ตั้งแต่ปกVogue อเมริกาเล่มแรกที่เธอดูแลในปี 1988 ที่เธอเลือกรูปนางแบบ มิเคลา เบอร์กู (Michaela Bercu) สวมใส่กางเกงยีนส์ Guess และสเวตเตอร์ปักรูปไม้กางเขนของ Christian Lacroix ขึ้นปก รูปนี้ถือได้ว่ามีความเป็นสตรีทสไตล์ที่ได้กลายเป็นเสน่ห์ของแฟชั่นวีกในทุกวันนี้ ต่อมาแอนนาก็เป็นคนแรกที่เลือกเอาดาราฮอลลีวูดมาขึ้นปก Vogue ถึงแม้จะโดนกระแสโจมตีหนักในช่วงนั้น เพราะเล่มอื่นจะมีแต่นางแบบอย่างเดียว แต่พอยอดขาย Vogueเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เล่มอื่นก็ทำตาม
วินทัวร์ในยุค 90
Photo: pinterest.com
ในยุค 90s ถึงต้น 2000s Vogue อเมริกาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และแอนนาก็ได้กลายเป็นเหมือนราชินีที่คุมวงการแฟชั่นในทุกแง่มุม เหตุการณ์ที่ชี้ชัดคือการที่เธอสามารถไปพูดคุยกับเจ้าของเครือแฟชั่นอันดับหนึ่ง LVMH อย่าง เบอร์นาร์ด อาร์นอลต์ (Bernard Arnault) ให้เลือก จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano) ดีไซเนอร์หน้าใหม่ชาวอังกฤษในสมัยนั้นให้มาทำงานที่ Givenchy และต่อมาที่ Christian Dior ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่าแอนนาได้สัญญาว่าจะถ่ายแบบเสื้อผ้าที่กัลลิอาโนดีไซน์ให้บ่อยครั้งใน Vogue ซึ่งก็เป็นจริง เพราะกัลลิอาโนได้กลายเป็นเหมือนลูกรักของแอนนาเสมอมา และช่วยเหลือระหว่างที่ดีไซเนอร์ประสบปัญหาการติดยาเสพติดและถูกให้ออกจาก Christian Dior ก่อนจะกลับเข้ามาในวงการอีกครั้งในฐานะดีไซเนอร์ให้ Maison Margiela ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เห็นถึงมิตรภาพของแอนนาอย่างแท้จริง และไม่แปลกที่เพื่อนฝูงของเธอหลายคนชมเธอในจุดนี้มาตลอด
พอปี 2006 แอนนา วินทัวร์ ก็เจอศึกหนักหลังจากหนังสือ The Devil Wears Prada ได้กลายมาเป็นเวอร์ชันหนังใหญ่ และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องถึงสาวคนหนึ่งที่ได้ไต่เต้ามาเป็นเลขาของบรรณาธิการบริหารนิตยสารแฟชั่นเล่มหนึ่งที่โหดเหี้ยมและมีความเยอะในทุกสิ่ง ซึ่งหลายคนก็สันนิษฐานว่าตัวละครนี้อิงจากชีวิตจริงของแอนนา เพราะผู้ประพันธ์หนังสือเคยเป็นเลขาของวินทัวร์ที่ Vogue มาก่อน ในช่วงนั้นแอนนาถือได้ว่าโดนกระแสหนักมาก เช่น โดนกลุ่มคนต่อต้านเรื่องการใส่ขนสัตว์ปาพายเต้าหู้ใส่หน้าเธอที่ปารีส และเธอยังต้องไปออกรายการของ บาร์บารา วอลเตอร์ส (Barbara Walters) และให้สัมภาษณ์ แต่หากมองในแง่บวก สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยเพิ่มความสนใจต่อเธอและ Vogue ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ต่อมาในปี 2009 Vogue ก็มีสารคดี The September Issue ที่เล่าเรื่องการทำงานที่นิตยสารออกมา ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาดและตอกย้ำว่า Vogue ยังคงเป็นผู้นำในวงการนิตยสารแฟชั่น (ถึงแม้จริงๆ แล้วมีเล่มอื่นที่ยอดขายสูงกว่าแต่แบรนด์อาจเทียบเท่าไม่ได้ เช่น นิตยสาร Instyle) จากสารคดีเรื่องนี้ไม่เพียงแต่แอนนาจะกลายเป็นที่รู้จัก แต่บรรณาธิการคนอื่นๆ ในเล่มก็ได้สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง เช่น ทอนน์ กูดแมน (Tonne Goodman) แฟชั่นไดเรกเตอร์ เวอร์จิเนีย สมิท (Virginia Smith) บรรณาธิการด้านตลาดแฟชั่น อันเดร ลีออน ทอลลี (André Leon Talley) มือขวาแอนนา และแน่นอน เกรซ คอดดิงตัน ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ซึ่งพอทุกวันนี้ Vogue อเมริกาจะไปขายโปรเจกต์อะไร หรือทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอะไรก็ตามแต่ ก็จะใช้บุคคลพวกนี้ให้เป็น value และสามารถสร้างเม็ดเงินได้
สตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกาบนปก Vogue US ภายใต้การดูแลของวินทัวร์
Photo: people.com, nytimes.com
พอเอ่ยถึงการทำโปรเจกต์ต่างๆ ก็ต้องเล่าว่ายอดขาย Vogue อเมริกาก็ได้ตกลงมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ Vogueอังกฤษกลับขายดีกว่า วงการนิตยสารที่อเมริกาเหมือนหลายประเทศที่โดนเอฟเฟกต์ของสื่อออนไลน์ที่คนเริ่มหันไปสนใจมากกว่าและบัดเจ็ตของการลงโฆษณาก็ได้ย้ายมาสู่สื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สำหรับแอนนา เธอกลับไม่ท้อถอยและกำลังฝ่าวิกฤตได้อย่างเยี่ยมยอดด้วยวัยเกือบ 70 ปีของเธอ โดยกลยุทธ์ของเธอคือ การขยายกลุ่มดิจิทัลของ Vogue อเมริกาตั้งแต่ราวปี 2006 ก่อนเล่มอื่นๆ ถึงแม้ช่วงแรกเว็บไซต์ Vogue.com จะดูไม่เวิร์กและสะเปะสะปะ แต่ Condé Nast ก็ยอมลงทุนด้านออนไลน์ให้กับ Vogue เป็นเล่มแรกในเครือ
แต่แอนนาก็ไม่จบแค่นั้นและทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นสาวสองพันปีเพราะในปี 2013 เธอได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น Artistic Director ของทั้งบริษัท Condé Nast ทั่วโลก ซึ่งดูแลทางด้านศิลป์และภาพลักษณ์ของทุกเล่ม หลายคนได้พูดว่าก้าวนี้เป็นก้าวสำคัญมากในการเพิ่มอำนาจให้กับแอนนาและช่วยเซฟแบรนด์ Vogue ให้ไม่โดนแตะต้อง ซึ่งก็จริงเพราะปีนี้เครือ Condé Nast มีการปรับผังองค์กรใหม่หลังจากปิดตัวนิตยสารหลายเล่มในเครือ …แต่แน่นอน Vogue เป็นเล่มหนึ่งที่ห้ามใครไปยุ่ง แถมแอนนาเองก็ตัดสินใจเปลี่ยนเว็บไซต์ Style.com ให้เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ และย้ายส่วนของข่าวรันเวย์ไปยังเว็บไซต์ Vogue.com ให้หมด
แล้ววินทัวร์มีทีท่าว่าจะลาออกจากตำแหน่ง (เกษียณ) ไหม? นั่นดูเหมือนเป็นประเด็นที่จะถูกพูดขึ้นมาทุกครั้งที่ Vogue อยู่ในกระแส โดยเฉพาะล่าสุดที่บรรณาธิการบริหารของ Vogue อังกฤษอย่าง อเล็กซานดรา ชูลแมน (Alexandra Schulmanป ได้ประกาศลาออกหลังจากทำงานมา 25 ปี สำหรับแอนนาเองคงจะอีกสักพัก เพราะเธอยังดูเอ็นจอยกับการตื่นเช้ามาเล่นเทนนิสตอนตีห้า มีคนมาทำหน้าผมให้ที่บ้าน ได้เงินเดือนราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และเป็น ‘แอนนา วินทัวร์’ แต่ถ้าต้องเดา เธออาจวางมือในการทำนิตยสารและหันไปโฟกัสงานที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitian Museum of Art ที่นิวยอร์ก ที่เธอได้เป็นหัวหน้าจัดงาน MET Gala ทุกปี และสามารถระดมเงินได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ฝั่งคอสตูม จนต้องมีการเปลี่ยนชื่อให้เป็น Anna Wintour Costume Center
ทุกวันนี้วงการแฟชั่นเดายากจริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใครจะมา ใครจะไป ใครจะรอด ใครจะรุ่ง มันเกิดขึ้นได้หมด แต่สำหรับแอนนาแล้ว เธอได้ทำให้เห็นว่าถึงแม้คนจะกล่าวหาว่าเธอร้ายกาจขนาดไหน แต่เพราะความใส่ใจในงาน พลัง และความรักที่เธอมีต่อวงการแฟชั่น ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษของเธอในวงการ ก็ได้ช่วยให้วงการแฟชั่นสามารถขึ้นมาถึงจุดที่มีความสำคัญเพียงพอเทียบเท่ากับธุรกิจอื่นๆ และยังเป็นธุรกิจที่ยังคงสร้างความฝันให้เด็กรุ่นใหม่อยากเข้ามาเสมอ
เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เรายังคงอยากเห็นฟรอนต์โรว์แถวหน้าของทุกโชว์ที่ยังมีผู้หญิงผมบ็อบคนหนึ่ง ใส่แว่นตาดำ และนั่งนิ่งๆ เหมือนราชินีน้ำแข็งตราบนานเท่านาน
Tags: design, Fashion, Magazine, Vogue