เทคโนโลยีอวกาศถ่ายโอนไปมาระหว่างกิจการพลเรือนกับทหารตลอดเวลา รัฐมหาอำนาจต่างแข่งกันเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้วยการพัฒนาจรวด ดาวเทียม และระบบปล่อยพลังงาน อย่างไม่หยุดยั้ง

อวกาศกลายเป็นสนามคุมเชิง พี่เบิ้มน้อยใหญ่ไม่มีใครอยากเป็นเบี้ยล่าง ท่ามกลางสภาพการณ์ที่แต่ละรัฐยึดถือเจตนาที่จะรักษาอำนาจ ขยายอำนาจ หรือกระทั่งครองอำนาจเหนือรัฐทั้งปวง ตามแต่กำลังของแต่ละฝ่าย

“คุณอาจทำสงครามเฉพาะในอวกาศอย่างเดียว ใครควบคุมอวกาศได้ คนนั้นควบคุมสถานการณ์บนบก ในทะเล และบนท้องฟ้าได้”  เจมี เชีย อดีตเจ้าหน้าที่นาโต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ที่สถาบันคลังสมอง Friends of Europe ในกรุงบรัสเซลส์ พูดถึงความสำคัญของอวกาศในทางยุทธศาสตร์

“ถ้าคุณควบคุมอวกาศไม่ได้ คุณจะควบคุมปริมณฑลอื่นๆ ไม่ได้ด้วย”

ขีดความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของรัฐ เพื่อไม่ให้รุกล้ำก้ำเกินกันและกัน มีหลายหนทาง เช่น ใช้การทูต ใช้ข้อตกลง ใช้พลังทางเศรษฐกิจ แต่หนทางหนึ่งที่อาจชี้ขาดผลลัพธ์ของการประชันขันแข่งก็คือ ใช้อาวุธ

ในเมื่ออวกาศมีความสำคัญอย่างที่ว่า เราจึงได้เห็นสหรัฐฯ และพันธมิตร รัสเซีย จีน อินเดีย เร่งสร้างสมเทคโนโลยีตอบโต้ในอวกาศ (counter-space technology)

รูปธรรมของเทคนิควิทยาระดับสูงเหล่านี้ มีตั้งแต่จรวดทำลายดาวเทียม ดาวเทียมทำลายดาวเทียม จนถึงเลเซอร์ทำลายดาวเทียม ยังไม่นับจรวดสกัดกั้นที่ใช้ยิงขีปนาวุธของข้าศึกนอกชั้นบรรยากาศ

ขุมกำลังอวกาศ

ชาติมหาอำนาจที่ลงทุนลงแรงพัฒนาขุมกำลังอวกาศ (space assets) อย่างขมีขมัน คือ สหรัฐฯ กับจีน ขุมกำลังอย่างหนึ่งซึ่งทุ่มเทกันมากทั้งสองฝ่ายก็คือ อาวุธทำลายดาวเทียม (anti-satellite weapons)

ตัวอย่างอาวุธในกลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น จรวดที่ใช้สอยดาวเทียมของศัตรู พลังงานที่ปล่อยออกไปรบกวนเซ็นเซอร์ ทำให้ดาวเทียม ‘หูหนวก ตาบอด’ หรือรบกวนระบบสื่อสาร ทำให้ดาวเทียม ‘เป็นใบ้’

จรวดทำลายดาวเทียมดูจะเป็นอาวุธเพื่อการถ่วงดุลอำนาจในหมู่รัฐใหญ่ เมื่อเดือนมีนาคม 2019 อินเดียสอยดาวเทียมวงโคจรต่ำของตัวเองร่วงดวงหนึ่ง โดยใช้จรวดชนิดยิงจากภาคพื้นสู่อวกาศ นับเป็นการทดสอบอาวุธไฮ-เทคควบคู่กับการก้าวรุดในกิจการอวกาศ เช่น ส่งยานสำรวจต้นทุนต่ำไปดาวอังคารเมื่อปี 2014 และเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (22 ก.ค.) อินเดียเพิ่งส่ง ‘จันทรายาน 2’ มุ่งหน้าไปลงจอดบนดวงจันทร์ และมีแผนส่งมนุษย์ออกสู่อวกาศในปี 2022

อเมริกาทดสอบทำลายดาวเทียมครั้งแรกเมื่อปี 1959 สมัยนั้น ดาวเทียมยังเป็นของใหม่ เพิ่งมีสร้างกันไม่กี่ดวง โซเวียตทดสอบตามมาในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970  และจีนเริ่มทดสอบในปี 2007

เวลานี้ สหรัฐฯ สามารถทำลายดาวเทียมโดยยิงจรวดจากเครื่องบินรบ เอฟ-15 หรือยิงจากเรือรบก็ได้ ว่ากันว่าการทดสอบของจีนเมื่อปี 2007 กระตุ้นให้อินเดียเร่งยกระดับขีดความสามารถนี้จนสามารถทำแบบเดียวกันได้ในปีนี้

ปัจจุบัน จีนมีดาวเทียมของตัวเองที่ใช้ในภารกิจข่าวกรอง ภารกิจเฝ้าตรวจ และภารกิจลาดตระเวน กว่า 120 ดวง นับว่าเป็นรองเฉพาะอเมริกา แต่ที่ดูจะพัฒนาเหนือกว่าสหรัฐฯ ก็คือ จรวดจีนยิงทำลายดาวเทียมในวงโคจรสถิตย์ได้ไกลกว่า โดยมีระยะหวังผล 35,400 กม. เหนือพื้นผิวโลก

ผลของการทำลายดาวเทียมที่มีคาบการโคจรพ้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ก็คือ เกิดกองขยะในอวกาศ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ตำแหน่งนั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ในภารกิจสำคัญได้อีก เช่น การเตือนภัยขีปนาวุธล่วงหน้า หรือการสังเกตลมฟ้าอากาศ

ดาวเทียมยังแปรเป็นอาวุธได้ด้วย รายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) เมื่อเดือนเมษายน 2019 บอกว่า จีนกำลังพัฒนาดาวเทียมที่สามารถส่งไปสัมผัสกระทบกับดาวเทียมในวงโคจร เพื่อทำให้ดาวเทียมดวงนั้นใช้งานไม่ได้ หรือส่งไปพังแผงเซลล์สุริยะเพื่อทำลายแหล่งพลังงานของดาวเทียมเป้าหมาย

อาวุธพลังงานเป็นอีกหนึ่งในขุมกำลังอวกาศ รายงานของเพนตากอน เรื่อง “China Military Power” บอกว่า จีนกำลังพัฒนาอาวุธที่สามารถปล่อยพลังงานออกไปทำให้ “ดวงตา” ของดาวเทียมมีสภาพพิการ เช่น เลเซอร์ที่ยิงจากภาคพื้น ซึ่งจะรบกวนเซ็นเซอร์รับแสงของดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ

สรรพาวุธเหล่านี้อาจไม่ได้มีไว้ใช้โดยตรงมากเท่ากับมีไว้ใช้ป้องปราม ถ้าจีนควบคุมอวกาศได้ เช่น มีขีดความสามารถที่จะคุกคามระบบจีพีเอสทางทหาร หรือดาวเทียมสื่อสาร ขุมกำลังเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดการดำเนินความสัมพันธ์บนโลก เช่น สหรัฐฯ อาจคิดหลายตลบหากจะเข้ายุ่งเกี่ยวในกรณีพิพาททะเลจีนใต้

กองทัพนอกพิภพ

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่จีนนำหน้าสหรัฐฯ คือ การจัดตั้งกองทัพอวกาศ เมื่อปี 2015 จีนจัดปรับโครงสร้างของกองทัพปลดแอกประชาชนเสียใหม่ โดยแยกเอาหน่วยที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์ และไซเบอร์ ออกมาตั้งเป็นเอกเทศ ในชื่อเรียกว่า กองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Support Force)

กองกำลังที่ว่านี้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีภารกิจด้านการปล่อยดาวเทียม และปฏิบัติการด้านข่าวกรอง การนำร่อง และการสื่อสาร รวมทั้งวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถต่างๆในการตอบโต้ในอวกาศ

นี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอของบประมาณจากสภาคองเกรส เพื่อจัดตั้งกองกำลังอวกาศ (U.S. Space Force) ภายในปี 2020 โดยอยู่ในสังกัดของกองทัพอากาศ และคงเป็นแรงขับที่ทำให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ตัดสินใจอย่างเดียวกัน

ขณะเดียวกัน องค์การนาโต้เตรียมที่จะประกาศให้อวกาศเป็นอีกสมรภูมินอกเหนือจากการรบทางบก ทางเรือ และทางอากาศ คำประกาศนี้จะส่งผลให้ชาติสมาชิกมีพันธะต้องเข้าช่วยประเทศอื่นเมื่อถูกโจมตีในอวกาศ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงป้องกันประเทศร่วมกัน (collective defense)

ท่ามกลางการขับเคี่ยวของมหาอำนาจ ผู้เชี่ยวชาญแสดงความวิตกว่า การติดอาวุธในอวกาศ (weaponization of space) อาจนำไปสู่สงคราม ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะว่า นานาชาติควรปรับปรุงกลไกที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ คณะกรรมการว่าด้วยการใช้ประโยชน์อวกาศในทางสันติ ภายใต้สหประชาชาติ และข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ สนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty 1967) ให้สอดคล้องกับพัฒนาการใหม่ๆ เพื่อป้องกันสงครามอวกาศ.

อ้างอิง:

Reuters, 20 February 2019

Reuters, 27 March 2019

Politico, 16 June 2019

Reuters, 21 June 2019

Reuters, 14 July 2019

Chellaney, 18 July 2019

ภาพ: Getty Images

Tags: , , , , , ,