จันทรายาน 2 (Chandrayaan-2) คือชื่อยานอวกาศลำใหม่ของอินเดีย ซึ่งได้ออกเดินทางไปดวงจันทร์แล้ว เมื่อเวลา 14.43 น. ของวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยถูกปล่อยออกจากสถานีอวกาศศตีศธวัน บนเกาะศรีหริโกฏา รัฐอานธรประเทศ โดยภารกิจของจันทรายาน-2 ก็คือ ค้นหาน้ำและแร่ธาตุ วัดค่าแผ่นดินไหวของดวงจันทร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งเป็นกำหนดเดิมในการปล่อยยานอวกาศจันทรายาน 2 ได้ เกิดปัญหาทางเทคนิค มีก๊าซฮีเลียมในเครื่องยนต์ไครโอเจน (cryogenic engine) รั่วออกมาเพียง 56 นาทีก่อนถึงกำหนดปล่อยยานทำให้ไม่สามารถปล่อยยานอวกาศได้ แต่เพียง 1 สัปดาห์ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็สามารถซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหาได้

ภารกิจนี้อินเดียใช้จรวด Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark III (GSLV Mk-III) ที่มีน้ำหนัก 640 ตัน ความสูง 44 เมตร ส่วนกระสวยอวกาศมีน้ำหนัก 2.379 กิโลกรัม ประกอบด้วย ยานโคจร (orbiter) ยานลงจอด (lander) ที่มีชื่อว่าวิกรม ซึ่งตั้งตามผู้ก่อตั้งโครงการวิจัยอวกาศอินเดีย และยานสำรวจพื้นผิว (rover) ที่ชื่อปรัชญาณ ซึ่งแปลว่าปัญญาในภาษาสันสกฤต ยานปรัชญาณที่เป็นหุ่นยนต์ติดล้อจะเป็นยานที่ลงไปเก็บข้อมูลบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงจอดบนผิวดวงจันทร์ได้ในวันที่ 7 กันยายนนี้

การปล่อยยานอวกาศครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์และในโซเชียลมีเดียของสำนักงานวิจัยอวกาศอินเดีย รวมไปถึงสำนักข่าวทั่วโลกที่ต่างก็ติดตามรายงานข่าวในแบบเรียลไทม์ และเมื่อยานอวกาศสามารถพุ่งออกนอกชั้นบรรยากาศได้ ก็มีเสียงปรบมือด้วยความดีใจในห้องควบคุมที่สำนักงานวิจัยอวกาศเกรียวกราว

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ทวีตข้อความแสดงความยินดีและบอกว่าเป็นประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดีย ชาวอินเดียทุกคนภูมิใจมาก โดยรัฐบาลทุ่มงบประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของอินเดีย ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ทางขั้วใต้ของดวงจันทร์

ก่อนการปล่อยยานอวกาศครั้งแรก เค ศีวาน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศอินเดีย (ISRO) เคยกล่าวว่า “อินเดียหวังว่าจะได้ภาพเซลฟี่จากภาพพื้นผิวดวงจันทร์” นอกจากนี้เขายังเคยให้สัมภาษณ์ว่าอินเดียจะส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ ซึ่งกำหนดไว้ในปี 2022 และหลังจากนั้นภายในปี 2030 อินเดียจะสร้างสถานีอวกาศเล็กๆ ของตัวเอง น้ำหนักราว 20 ตัน ลอยอยู่เหนือพื้นโลก 400 กม.

สำหรับภารกิจการเดินทางสู่ดวงจันทร์นั้น อินเดียเคยพยายามส่งยานอวกาศจันทรายาน 1 ไปดวงจันทร์มาแล้วเมื่อปี 2008 แม้ไม่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ แต่ในครั้งนั้นก็สามารถค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ได้ด้วยเรดาร์ 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เทคโนโลยีด้านอวกาศของอินเดียก้าวหน้าไปอย่างมาก อีกทั้งยังใช้ต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยเมื่อปี 2014 อินเดียเคยส่งยานอวกาศขึ้นไปปฏิบัติการบนดาวอังคารด้วยงบประมาณเพียง 74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภารกิจเดียวกันขององค์การนาซ่าของสหรัฐใช้เงินถึง 671 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-49032603

https://www.moneycontrol.com/news/india/chandrayaan-2-taking-billion-dreams-to-moon-indias-2nd-lunar-mission-to-launch-today-4228781.html

https://timesofindia.indiatimes.com/india/isro-chandrayaan-2-launch-live-updates-rocket-scheduled-to-lift-off-at-2-43-pm/liveblog/70323231.cms

ภาพ: P. Ravikumar/REUTERS

Tags: , , ,