ในแง่หนึ่ง Miss Americana ไม่ได้ทำอะไรเหนือความคาดหมายในแง่สารคดีชีวิตคนดังทั่วไป

ที่บอกว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายเป็นเพราะอะไร? สารคดีเรื่องนี้มีทุกอย่างที่สารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนดังควรจะมี ทั้งฟุตเตจวิดิโอเก่าๆ พัฒนาการของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ฉายแววพรสวรรค์ด้านดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก บรรยากาศการขึ้นเวทีครั้งแรก มาจนถึงตอนที่เธอประสบความสำเร็จ มีฉากหลังเรื่องชีวิตครอบครัวและเรื่องส่วนตัว อพาร์ทเมนต์ที่เธออยู่ สัตว์ที่เธอเลี้ยง กิจกรรมยามว่างกับเพื่อนสนิทไม่กี่คนของเธอ การถูกโจมตีที่อาจพาเธอไปสู่จุดตกต่ำ และการกอบกู้ชื่อเสียงของตัวเองขึ้นมาจากบาดแผลอันโชกโชน

แต่ในอีกแง่หนึ่ง Miss Americana พาผู้ชมไปแตะขอบเขตที่ไกลกว่าสารคดีชีวิตคนดังที่เรามักได้ดูกันด้วยความเป็นการเมืองจ๋าของมัน 

ลองนึกย้อนกลับไป แฟนๆ หลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทบาทสาวข้างบ้านที่สวิฟต์ใส่ลงไปในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็น Love Story ที่เปรียบเทียบความรักวัยใสของเธอเข้ากับเรื่องโรมีโอกับจูเลียต หรือ You Belong With Me ซิงเกิลติดหูที่มี MV ชนะรางวัล MTV Video Music Award for Best Female Video เล่าเรื่องการแอบรักเพื่อนตัวเอง

เป็นอย่างที่นิวยอร์กไทมส์กล่าว งานของเธอในช่วงแรกเริ่มออกจะเป็นแนวหลีกหนี (Escapism) นิดๆ ด้วยซ้ำ เพราะในเรื่องเล่าของเธอ เด็กสาวจะได้ครอบครองชายในฝัน หรือไม่ก็พรรณนาถึงความรู้สึกโรแมนติกจากมุมมองของคนที่มีความรักเป็นศูนย์กลางของชีวิต 

แฟนๆ จำนวนมากที่โตมากับสวิฟต์ต่างก็ผ่านหลายเรื่องราวในชีวิตโดยมีเพลงของเทย์เลอร์เป็นธีม ดูเหมือนว่า ในจุดหนึ่ง การกังวลว่าจะมีชายหนุ่มมาขว้างก้อนหินเล็กๆ ที่หน้าต่างห้องยามดึกหรือไม่ ดูจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น ความท้าทายใหม่ๆ ก็เปิดประตูรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าเรียน ทำงาน มีวงสังคมใหม่ๆ และประเด็นที่ใหญ่กว่าตัวเองให้ครุ่นคิด ดูเหมือนว่าชีวิตวัยรุ่นจบลงพร้อมการสร้างตัวตนใหม่ที่ต้องคิด และเข้าไปพัวพันกับประเด็นทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

เช่นเดียวกับเทเลอร์ สวิฟต์เองที่เคยรั้งตำแหน่งสาวน้อยผู้เป็นที่รักของทั้งอเมริกา เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็ยิ่งชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองที่นับได้ว่าจำต้องหักกับคนอเมริกันอีกค่อนประเทศ

และนี่เองที่ทำให้ Miss Americana ไม่อาจละทิ้งประเด็นทางการเมืองได้เลย สารคดีเรื่องไม่ได้พูดถึงสวิฟต์เพียงในฐานะบุคคลสาธารณะธรรมดา แต่ยังเป็นบุคคลสาธารณะที่แสดงความเห็นทางการเมืองเพื่อยกระดับสังคม – เธอยังออกซิงเกิ้ลที่พูดเรื่องการเมืองโดยเฉพาะ นั่นคือ Only The Young ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลที่เปิดตัวพร้อมกับการฉายสารคดีเรื่องนี้

เรื่องมันเริ่มจากการที่เธอฟ้องร้องดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศกับดีเจสถานีวิทยุหนึ่ง ข้อห้าจับต้องตัวเธออย่างไม่เหมาะสม เธอชนะคดีนั้นมา แต่เธอกลับบอกว่า “ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ชนะ” เพราะกระบวนการในการดำเนินคดีนั้นมัน “ลดทอนความเป็นมนุษย์” เธอถูกถามคำถามหลายอย่างที่ดูคุกคาม เช่น ทำไมไม่ร้องออกมา หรือทำไมไม่แจ้งความให้เร็วกว่านี้ 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผลักดันเธอ ก็คือการที่รัฐเทนเนสซี บ้านของเธอนั้นมีผู้สมัครหญิงจากพรรครีพับลีกันที่ต่อต้านกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงจากการถูกแอบตาม และเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ —มาร์ชา แบล็คเบิร์น(ซึ่งสวิฟต์เรียกว่า ‘ทรัมป์ที่ใส่วิก’)  คือชื่อของผู้สมัครคนนั้น— ฉากหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องคือฉากที่เธอโต้เถียงกับพ่อและโปรดิวเซอร์ชายเกี่ยวกับการโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียเพื่อต่อต้านผู้สมัครคนนี้ สุดท้ายเธอก็โพสต์มันลงไปจริงๆ และเป็นการก้าวออกจากเซฟโซนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ เพราะศิลปินคันทรีรุ่นพี่อย่าง Dixie Chicks เคยทำลายเส้นทางอาชีพของตัวเองมาแล้วจากการแสดงความเห็นทางการเมืองเพียงสั้นๆ ในคอนเสิร์ต

ในการเลือกพูดเรื่องการเมืองนั้น สวิฟต์ได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตัวเองจาก Good Girl ในแง่ที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่ยัดเยียดอุดมการณ์ของตัวเองให้ใคร ไปสู่ Good Girl อีกแบบหนึ่งนั่นคือคนที่เลือกข้างที่ตนเชื่อมั่น สาส์นของสารคดีเรื่องนี้นั้นจึงมีทั้งความเป็นเฟมินิสต์และนักรณรงค์ไปในตัว นี่เป็นการตอกย้ำประเด็นทางสังคมในงานก่อนหน้านี้ของเธอ เช่น MV เพลง You Need To Calm Down ที่เชิญคนดังจากกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) มาร่วมแสดงมากมาย

หรือแม้กระทั่งเพลง Only The Young ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ ก็มีเนื้อความที่สื่อถึงความไม่พอใจกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ ดังที่นักวิจัยเคมบริดจ์ได้สำรวจคนรุ่นใหม่จากประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าคนเหล่านี้รู้สึกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ดั่งใจมากสุดในรอบ 25 ปี  ดูเหมือนความสนใจทางการเมืองจะแพร่กระจายเข้าไปสู่กลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และทำให้เขาเหล่านั้นต้องการลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสังคมที่คนรุ่นก่อนทิ้งเอาไว้

ในท่อนหนึ่งของเพลง Only The Young ที่บอกว่า

“ในตอนที่คุณได้ยินข่าว
คุณตะโกนก้องภายในใจและรู้สึกว่าเวลาหยุด
คุณทำทุกอย่างที่คุณทำได้แล้ว
เกมมันถูกโกง และกติกาถูกทำให้บิดเบี้ยว
และคนที่ผิดคิดว่าตัวเองถูก”

(The moment you heard the news
You’re screaming inside and frozen in time
You did all that you could do
The game was rigged, the ref got tricked
The wrong ones think they’re right)

ฟังแล้วก็ทำให้รู้สึกตะหงิดๆ คิดถึงประเทศแถวๆ นี้อย่างบอกไม่ถูก

สวิฟต์กำลังใช้กลไกของประเทศที่มีความแข็งแกร่งในการแสดงออก (Free Speech) มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทำให้ผลงานและข้อความของเธอมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก หากป็อปสตาร์ที่มีชื่อเสียงค้ำคออยู่เลิกแคร์ หันมาพูดเรื่องการเมืองแล้วเสียงดังเท่านี้ คนตัวเล็กๆ หลายคนก็คงมีกำลังใจที่จะใช้เสียงเล็กๆ ของตัวเองขับเคลื่อนสังคมต่อไป และคิดว่าเสียงของพวกเขาคงดังขึ้นเทียบเท่าผู้มีอิทธิพลคนอื่นๆ ในสักวัน

Tags: ,