GoBankingRates เว็บไซต์เกี่ยวกับการเงิน การลงทุนได้ทำการสอบถามผู้คน 1,003 คน ว่าพวกเขาเคยกรอกข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงในจดหมายสมัครงานหรือไม่และทำไม พบว่าส่วนใหญ่ 85% กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยทำเช่นนั้น ในขณะที่ 9% กล่าวว่าเกือบจะทำ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำ มีเพียง 5% ของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามนี้ที่ยอมรับว่าเคยทำ และครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ยังบอกต่อว่า ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว
และเมื่อพิจารณาในส่วนของอายุของผู้ที่บอกว่ากรอกข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงในจดหมายสมัครงานนั้น พบว่าคนยุคมิลเลนเนียลมีแนวโน้มปลอมประวัติในเรซูเม่มากกว่าเจเนอเรชั่นอื่นๆ ถึงสองเท่า และ 11% ยอมรับว่ามีการตกแต่งประวัติการทำงานให้ดูสวยหรูมากขึ้น
อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะกรอกข้อมูลไม่เป็นไปตามความเป็นจริงในใบสมัครงาน 38% พบว่าเป็นเรื่องประสบการณ์การทำงาน 31% เป็นเรื่องระยะเวลาในการทำงาน และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือผู้ชายมักจะโกหกเรื่องประวัติการทำงานมากกว่าผู้หญิง คิดเป็น 46% ต่อ 31% ในขณะที่ผู้หญิงมักจะโกหกเรื่องระยะเวลาการทำงานมากกว่าผู้ชาย คิดเป็น 41% ต่อ 19%
สาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมักจะกรอกข้อมูลไม่เป็นไปตามความเป็นจริงในใบสมัครงาน ก็คือ ความพยายามในการปกปิดรอยต่อของช่วงระยะเวลาในการทำงาน เช่น การหยุดงานด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลทางด้านสุขภาพ เพราะคิดว่าการมีระยะว่างงานในใบสมัครงานจะไม่เป็นผลดีต่อการตัดสินใจของผู้จ้างงาน ส่วนสาเหตุอันดับสองก็คือ การกรอกประวัติการทำงานไม่ครบ เลือกที่จะกรอกหรือไม่กรอกในบางสิ่ง ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้จ้างงานได้เห็นว่าประวัติการทำงานที่กรอกมานั้นตรงหรืออยู่ในขอบข่ายกับสิ่งที่ผู้จ้างงานต้องการ มากกว่าการกรอกประวัติการทำงานที่อยู่นอกขอบข่ายงานใหม่ที่กำลังสมัคร ซึ่งอาจจะมีผลให้ไม่ได้งาน เพราะผู้จ้างงานอาจจะคิดว่าประวัติการทำงานที่มีนั้นไม่ตรงสาย
แต่ความกังวลนั้นไม่เป็นความจริงเลย เพราะบริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล Robert Half กล่าวว่า 84% ของผู้จ้างงานจะพิจารณาผู้สมัครที่แม้จะไม่มีประสบการณ์ตามที่ต้องการ ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการสำรวจก่อนหน้านี้ที่พบว่า 62% ของผู้สมัครงานได้รับการเสนอให้ทำงานในตำแหน่งที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์มาเลย
อ้างอิง
https://www.gobankingrates.com/making-money/jobs/why-americans-lie-on-resumes/
ภาพ : gettyimages
Tags: มิลเลนเนียล, สมัครงาน, เรซูเม่