มันคือดอกไม้ที่ปลดปล่อยเราทุกคนบนโลกใบนี้
มันเรียกรอยยิ้ม และไม่แม้แต่จะยั่วยุด้วยซ้ำ
เราอาจเรียกสิ่งที่นักร้องสาวชาวอเมริกัน ‘ไมลีย์ ไซรัส’ (Miley Cyrus) ทำอยู่บ่อยครั้งว่าศิลปะหรือวีรกรรมก็คงจะได้ โดยเฉพาะชุดที่เธอเลือกใส่ขึ้นเวที และนั่นทำให้เราหลายคนด่วนตัดสินเธอ โดยไม่แม้แต่จะฟังเพลงของเธอก่อนด้วยซ้ำ
แต่ชุดยีนส์แปะดอกไม้เต็มตัวที่เธอใส่มาออกรายการ เดอะวอยซ์ อเมริกา ซีซัน 11 ทำให้เราต้องมองไมลีย์ใหม่ และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เธออยากจะบอก
ก่อนจะกลับไปฟังเพลงของเธอดู
ดอกกุหลาบ ‘เทียม’ หน้าตาราคา ‘ถูก’ ขนาดใหญ่ที่แปะอยู่เต็มตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า บอกกับเราว่าจะกี่ แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) ก็ทำอะไรไมลีย์ไม่ได้
มันคือคอมโพสิชันที่ไร้หลักคอมโพสิชัน เป็นความมั่วแบบจงใจให้ผิดอย่างไม่ต้องสงสัย
ผลลัพธ์ไม่ใช่สมการแบบเอาทุกอย่างที่ผิดมารวมกันแล้วกลายเป็นถูก แต่น่าจะไปไกลถึง ‘สุญตา’ ภาวะที่หลุดพ้นจากการตัดสินทั้งปวง
มันอาจจะเป็นคอสตูมที่ดู ‘โง่’ ที่สุดเท่าที่ใครจะประดิษฐ์มันขึ้นมาได้ แต่น่าแปลกที่เราไม่รู้สึกรำคาญนัยแห่งการเสียดสีของมันด้วยซ้ำ นั่นอาจเป็นเพราะบุคลิกสดใสของไมลีย์ที่ทำให้ดอกไม้ทุกดอกดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาตามผู้ที่สวมใส่มัน
แม้จะเป็นความตั้งใจที่จะเล่นสนุก แต่ก็ดูจริงใจ และเมื่อเห็นชุดนี้ คงไม่มีใครอยากตัดสินการแต่งกายของใครอีกแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น มันอาจทำให้เราอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าโลกของแอนนา วินทัวร์ ซึ่งไมลีย์ทำให้มันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปแล้วนั้น สร้างขึ้นมาจากอะไร
เป็นเวลาไม่น้อยทีเดียวที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น นักชีววิทยา หรือนักสังคมวิทยา ให้ความสนใจกับการศึกษาระบบการทำงานของฝูงแมลงโดยเฉพาะมด เราอยากรู้ว่าทำไมมดซึ่งมีเพียงความสามารถในการรับและจำแนกกลิ่น กับการสื่อสารกับมดตัวใกล้ๆ ด้วยฟีโรโมน เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจึงกลายเป็นระบบชีวิตขนาดใหญ่ (Superorganism) อันชาญฉลาด สะท้อนผ่านการเลือกทำเลในการสร้างรัง หรือการต่อตัวกันเป็นสะพานเพื่อข้ามระหว่างใบไม้
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สนใจมากก็คือ พวกมันรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรต้องทำอะไร ในเมื่อระบบการอยู่ร่วมกันของมดนั้นไม่มีผู้นำคอยสั่งการ
ผลการทดลองครั้งหนึ่ง ซึ่งทำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สตีเฟน แพรตต์ (Stephen Pratt) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา บอกกับเราว่า เมื่อต้องเลือกทำเลใหม่ มดหนึ่งตัวอาจตัดสินได้ดีพอๆ กับมดทั้งฝูง ในกรณีที่มีทางเลือกแค่ 2 ทาง แต่หากต้องดีลกับทางเลือกมากกว่านั้น ฝูงมดจะตัดสินใจได้ดีกว่ามดปัจเจก โดยที่มดแต่ละตัวไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลมากมายแต่อย่างใด
สังคมมนุษย์ก็ไม่น่าจะต่างกัน ในวันที่มีเครื่องมือรวบรวมข้อมูลจากทุกคนได้อย่างง่ายดาย เราจะวางการตัดสินใจไว้บนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน หรือเราจะเชื่อวิจารณญาณของเรา ซึ่งเป็นคนธรรมดาทุกคนรวมกัน
ต้องขอบคุณดอกไม้ของไมลีย์ที่บอกให้รู้ว่า เรามีสิทธิที่จะดูโง่ในแบบที่เราเป็น เพราะเมื่อรวมเข้าด้วยกันกับกลุ่ม ใครจะไปรู้ว่าความที่เราเป็นเรานั่นแหละ อาจเติมเต็มบางมุมของระบบที่ซับซ้อนอย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึง
และไม่แน่ว่ามันอาจเป็นหนทางนำไปสู่สังคมที่ฉลาดมากกว่า ทั้งยังน่าอยู่มากกว่าโลกที่ทุกคนทำได้ แค่หันซ้ายหรือขวาตามบัญญัติแห่งแอนนา วินทัวร์
ภาพประกอบ: seph_s
FACT BOX:
ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus): นักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดงสาวสุดมั่นชาวอเมริกัน ที่มักตกเป็นข่าวฉาวจากเรื่องราวชีวิตส่วนตัว รวมถึงเสื้อผ้าและท่าโพสต์อันวาบหวิว
แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour): บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue ฉบับ US Edition เป็นผู้ทรงอิทธิพลของวงการแฟชั่นของอเมริกา มักได้รับคำวิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยเฉพาะเรื่องที่นิตยสารของเธอมักสนับสนุนการใช้เสื้อผ้าขนสัตว์ ว่ากันว่า มิแรนดา พริสลีย์ (Miranda Priestly) ตัวเอกที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นชื่อดังในนวนิยายขายดีแห่งปี 2003 ชื่อ The Devil Wears Prada ที่เขียนโดย ลอเรน ไวส์เบอร์เกอร์ (Lauren Weisberger) อดีตผู้ช่วยส่วนตัวของเธอนั้นถอดแบบมาจากบุคลิกของแอนนา วินทัวร์
สุญตา: ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงความไม่มีตัวตน ถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้ (บ้างก็เขียนว่า สุญญตา)