“เป็นไมเกรนค่ะ”

อาจารย์มักจะเตือนเสมอว่า “ในชีวิตจริงไม่มีคนไข้คนไหนเดินมาบอกหรอกว่าเขามาหาหมอด้วยโรคอะไร” แต่คำสอนนี้กลับมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับโรคทั่วไปที่คนรู้จักกันดี เช่น หวัดหรืออาหารเป็นพิษ

คนไข้โรคเหล่านี้บางคนจะตอบเมื่อผมถามทันทีเลยว่า “วันนี้เป็นอะไรมา” หรือส่วนใหญ่ที่เจอก็มักจะถามถึงโรคที่กังวลว่าจะเป็นอยู่หรือไม่ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มโรคร้ายแรงไปเลย

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่อาจารย์เตือนเช่นนั้นก็เพราะท่านต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของการซักประวัติและตรวจร่างกายนั่นเอง ดังนั้นเวลาที่หมอบางคนซักไซ้ไล่เรียงราวกับเป็นนักข่าว คนไข้ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดรำคาญกันไปเสียก่อน อย่างโรคไมเกรน (migraine) ก็เช่นกัน เพราะจากประสบการณ์ครึ่งต่อครึ่งของคนไข้ที่บอกว่าตนเองปวดหัวมากจนต้องมาหาหมอเพราะ “เป็นไมเกรน” ไม่ได้เป็นโรคนี้จริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลทางระบาดวิทยายังพบโรคไมเกรนเพียง 12% ในประชากรทั่วไป โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

“ทำไมถึงคนว่าตัวเองเป็นโรคไมเกรนล่ะครับ” ผมถามกลับ

  “เพื่อนบอกมา” บ้างก็บอกว่า “เคยซื้อยาไมเกรนกินเองแล้วหาย” (วันนี้มาหาหมอเรื่องอาหารเป็นพิษ แต่ยาแก้ไมเกรนหมด เลยจะขอติดไม้ติดมือกลับไปบ้างก็มี) บ้างก็ตอบว่า “คลินิกบอกว่าเป็นไมเกรน” ซึ่งผมก็รับฟัง แต่ยังไม่ปักใจเชื่อ

“งั้นเอาอย่างนี้ ช่วยเล่าอาการให้ผมฟังหน่อยได้มั้ยครับว่าไมเกรนที่ว่าปวดตรงไหน?”

“ปวดตรงขมับ 2 ข้าง”

“ปวดยังไงนะครับ?”

“แบบบีบๆ บางทีก็ปวดตึงๆ ขึ้นมาจากท้ายทอย” คนไข้บางคนอธิบายไม่ถูก ผมก็จะมีตัวเลือกให้ ได้แก่ ก.ปวดตื้อๆ ข.ปวดบีบๆ ค.ปวดแปล๊บๆ ง.ปวดตุ๊บๆ เพราะลักษณะอาการปวด (quality of pain) รวมถึงตำแหน่งที่ปวดก็ช่วยหมอในการวินิจฉัยโรคที่น่าจะเป็นไปได้ และตัดโรคเป็นไปได้น้อยออกไปได้เยอะแล้ว

ถึงตรงนี้ถ้าใครมีอาการปวดหัวแบบที่ผมยกตัวอย่างไปแล้วละก็ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะ “ไม่ใช่” โรคไมเกรนนะครับ เพราะอย่างแรกเลย

1. ไมเกรนมักจะปวดหัวเพียงข้างเดียว

อาจย้ายข้างที่ปวดได้ เช่น ครั้งก่อนปวดข้างซ้าย ในขณะที่ครั้งนี้ปวดข้างขวา หรืออาจสลับข้างปวดในรอบกำเริบเดียวกันก็ได้ มีไมเกรนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะปวดสองข้างพร้อมกัน

2. ไมเกรนจะปวดแบบตุ๊บๆ (ข้อ ง. ใครเคยตอบข้อนี้บ้าง)

ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘throbbing’ คือปวดเป็นจังหวะหรือ ‘pulsatile’ คือปวดเหมือนชีพจรเต้น อยากรู้ว่าเป็นอย่างไรลองหงายข้อมือขวาขึ้นมา แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางมือซ้ายทาบลงตรงข้อมือฝั่งนิ้วโป้งจะคลำได้ความรู้สึก “ตุ๊บๆ” ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากขณะไมเกรนกำเริบ เส้นเลือดที่ศีรษะจะมีการขยายตัว ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไมเกรน แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้นอีก

 3. ไมเกรนจะปวดมากขึ้นเวลาทำกิจกรรมทางกายที่ทำเป็นประจำ (routine physical activity)

เช่น เดินทางราบ หรือเดินขึ้นบันได จนต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นๆ ไป ส่วนปัจจัยอื่นที่สามารถกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้ เช่น ความเครียด ประจำเดือน/การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในผู้หญิง การอดอาหาร การอดนอน การนอนดึก เป็นต้น

ภาพที่ 2 ปัจจัยกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ (ที่มา: UpToDate)

4. ไมเกรนจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน กลัวแสง หรือกลัวเสียงร่วมด้วยเวลาปวดหัว

โดยผู้ป่วยไม่กล้าออกที่แจ้งเพราะกลัวแสงแดด หากเป็นควรสวมแว่นตากันแดด ไม่สู้แสงจากหลอดไฟในห้อง หรือต้องการอยู่ในห้องที่เงียบ ไม่มีเสียงดังรบกวน

 5. ไมเกรนชนิดที่มีอาการนำ (migraine with aura) จะมีอาการนำมาก่อนที่จะมีอาการปวดหัว

อาการนำส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น เริ่มต้นจากเห็นจุดสีเพียงเล็กน้อยใกล้กับจุดที่ผู้ป่วยมองอยู่ ต่อมาค่อยๆ ขยายใหญ่มากขึ้นเป็นรูปเรขาคณิตหรือเส้นซิกแซกคล้ายป้อมปราการยุคกลาง (Fortification spectrum) รูปเคียว หรือรูปตัวซี (C) แล้วแต่จินตนาการ กินพื้นที่ 1 ใน 4 หรือครึ่งหนึ่งของลานสายตา หรืออาการนำเกี่ยวกับการรับรู้ความรู้สึก เช่น ได้ยินเสียงหึ่งหรือเสียงดนตรีในหู ปวดแสบร้อนหรือชาปลายมือ เป็นต้น

หากอาการปวดหัวของเราตรงกับข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อข้างต้นนี้ ก็ควรไปพบหมอเพื่อให้ประเมินอาการและให้การวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนหรือไม่ เพราะการรักษาโรคไมเกรนมียารักษาเฉพาะนอกเหนือจากการกินยาแก้ปวดทั่วไป ซึ่งสำหรับผู้ป่วยบางคนอาจเอาไม่อยู่

แต่ถ้าหากอาการปวดหัวที่เราเป็นไม่ตรงกับข้อใดเลยก็ไม่ควรด่วนสรุปตามคำบอกของคนอื่น แล้วไปบอกกับหมอว่า “เป็นไมเกรน” หรือมีโรคประจำตัวเป็นไมเกรน เพราะจะทำให้พลาดการรักษาที่ถูกต้องไป

ยกตัวอย่างอาการปวดที่ผมเล่าให้ฟังในตอนต้นเป็นอาการปวดหัวจากความตึง/เครียด (tension-type headache) ซึ่งถ้าพบในหนุ่มสาวโรงงานก็มักจะเกิดจากท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือถ้าพบในหนุ่มสาวออฟฟิศก็มักจะเกิดจากการนั่งทำงานจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป จึงต้องแก้ไขที่รูปแบบการทำงาน ไม่ใช่การกินยาเพียงอย่างเดียวครับ

Tags: , , ,