“นักเรียนเอาน้ำหนักหารด้วยความสูงกำลังสอง จากนั้น จะได้ค่าดัชนีมวลกายออกมา แล้วเทียบกับตารางในหนังสือนะคะ” นี่อาจจะเป็นประโยคที่หลายต่อหลายคนได้ยินในวิชาสุขศึกษาตอนที่อาจารย์ให้เราคำนวณค่าดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดเพื่อประเมินสัดส่วนและความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วนหรือโรคหัวใจ เป็นตัวเลขที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
แต่ที่จริงแล้ว BMI อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะคนที่กำลังประสบกับโรคภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนหรือแม้กระทั่งโรคหัวใจนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่มี BMI อยู่ใน ‘ภาวะเสี่ยง’ เสมอไป ในทำนองเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า บุคคลที่มีค่า BMI ในระดับปกติจะปลอดภัยจากโรคร้ายเหล่านี้
จึงเป็นที่มาของการใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่เข้ามาประเมินสุขภาวะของบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยแทน อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง ด้วยการสแกนโครงสร้างและอวัยวะภายในร่างกายแทน เพื่อวินิจฉัยบุคคลประเภท TOFI หรือ Thin on the Outside, Fat around the Inside หรือบุคคลที่มีลักษณะผอมหรือสมส่วนภายนอก แต่ร่างกายมีปริมาณไขมันมากอยู่รอบๆ อวัยวะภายใน ซึ่งบุคคลประเภทนี้ไม่สามารถวิเคราะห์จากค่าดัชนีมวลกายได้อย่างแม่นยำเท่าไรนัก
งานวิจัยฉบับล่าสุดจาก Cell Metabolism ค้นพบว่า สสารที่เรียกว่า เมตาบอไลต์ (Metabolites) ซึ่งเป็นสารที่ได้มาจากกระบวนการเผาผลาญของร่ายกายมนุษย์ (Metabolism) สามารถนำไปใช้คาดเดาความเสี่ยงต่อโรคภัย เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ ปัญหาทำงานของระบบไต และให้ความแม่นยำสูงถึง 80-90%
ในขณะที่งานวิจัยหลายๆ แห่งพบว่า ลักษณะของลำดับยีนกว่าร้อยแบบก็สามารถเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีการตั้งสมมติฐานการคำนวณใหม่ที่ชื่อว่า ‘Metabolic BMI (mBMI)’ ซึ่งเป็นการประเมินที่นำเอาปริมาณการเผาผลาญของร่ายกายเข้ามาร่วมวิเคราะห์ความเสี่ยง และสามารถทำนายได้แม่นยำขึ้น
แต่แน่นอนว่า การจำแนกสุขภาวะแบบ mBMI นี้ยังไม่สามารถทำนายได้อย่างถูกต้องเสียทีเดียว เพราะยังมีกลุ่มตัวอย่างที่ประสบโรคอ้วน แต่มีอัตราการเผาผลาญที่ดี หรือในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่ดูสมส่วนก็อาจมีอัตราการเผาผลาญที่ไม่สู้ดีนัก และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะอ้วนมากถึง 50% และโรคหัวใจ 200-400% ในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความดันในเลือดสูง ระดับไขมันที่ผิดปกติ ระดับอินซูลิน อีกทั้งการสะสมของไขมันบริเวณหน้าท้อง
นอกจากนี้ การตรวจวัด ‘เมตาบอโลม’ หรือเมตาบอไลต์ที่พบในตัวอย่างทางชีวภาพ เช่น หยดเลือด ซึ่งมีส่วนประกอบอย่างกรดไขมัน กรดอะมิโน น้ำตาล วิตามิน ฯลฯ พบว่า เมตาบอโลมนี้ปรับเปลี่ยนไปตามปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีโนมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการนำไปรักษาบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง
ที่มา:
- https://www.weforum.org/agenda/2018/10/stop-measuring-obesity-with-a-ruler-we-ve-discovered-a-far-better-predictor-of-health
- https://www.sciencedaily.com/releases/2018/10/181011143117.htm
- https://www.upi.com/Molecular-signature-more-precise-than-BMI-for-obesity-related-disease-risk/3531539274604/