“ประจำเดือนครั้งล่าสุดมาเมื่อไหร่ครับ” ผมถามคนไข้

“เอ่อ วันที่…” ถ้าคนไข้อ้ำๆ อึ้งๆ ไม่แน่ใจว่ากำลังนึกย้อนกลับไปอยู่หรือไม่แน่ใจคำถาม ผมชิงถามใหม่ให้ชัดเจนเลยว่า “วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่เท่าไหร่”

แต่ถ้าคนไข้ตอบมาแล้ว ผมก็จะถามเพื่อยืนยันว่าอีกครั้ง เพราะมีคนไข้อยู่จำนวนไม่น้อยที่ตอบ “วันสุดท้าย” ของประจำเดือนครั้งล่าสุดมาแทน

และที่พบบ่อยไม่แพ้กันคือ จำวันที่ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ!

ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง หมอก็อาจถามเพิ่มเพื่อช่วยในการนึกย้อนกลับไปว่าปกติประจำเดือนมาช่วงไหนของเดือน เช่น ต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือน แม้ปกติประจำเดือนจะเลื่อนเข้าหรือเลื่อนออก แต่ก็จะได้ข้อมูลคร่าวๆ อยู่ดี

ความจริงแล้วเรื่องของรอบเดือนจะไม่มีปัญหาอะไรเลย และหมอก็จะไม่ถามให้ยุ่งยากมากความอย่างนี้ด้วย ถ้าประจำเดือนของคนไข้มาปกติ อย่างมากก่อนจะฉีดหรือจ่ายยาที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ หมอก็จะถามเบื้องต้นว่า “ เดือนนี้ประจำเดือนขาดรึเปล่า” เท่านั้น

แต่ถ้าวันใดคนไข้มาโรงพยาบาลด้วยอาการประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาเยอะ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ปวดท้องด้านขวาล่างและปวดท้องน้อย หรืออาการอื่นๆ ที่ทำให้หมอสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับ “อวัยวะภายใน” ของผู้หญิง เมื่อนั้นก็จะต้องซักประวัติกันอย่างละเอียด

เริ่มจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด (last menstrual period: LMP) เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของรอบเดือนใหม่ เนื่องจากเมื่อไม่มีการปฏิสนธิ ร่างกายจึงไม่จำเป็นต้องเก็บเยื่อบุโพรงมดลูกไว้ให้ตัวอ่อนฝังตัวอีกต่อไป เนื้อเยื่อที่คอยสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) จะฝ่อไป พอเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ได้รับฮอร์โมนก็จะสลายตามไปด้วยกลายเป็นประจำเดือน

ทุกอย่างถูกรีเซ็ต เริ่มกระบวนการเจริญของไข่ใบใหม่ ตกไข่ และมีประจำเดือนอีกครั้ง

แต่ถ้าหากมีการปฏิสนธิขึ้น เนื้อเยื่อที่คอยสร้างฮอร์โมนยังคงอยู่ทำหน้าที่ต่อ ตัวอ่อนฝังอยู่กับเยื่อบุโพรงมดลูก ประจำเดือนเดือนถัดมาก็จะขาด เมื่อตรวจปัสสาวะพบการตั้งครรภ์ หมอก็ใช้วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดนี่เองนับอายุเด็กในท้องและกำหนดวันครบกำหนดคลอด ซึ่งถ้าจำวันไม่ได้ก็ต้องรอการตรวจอัลตราซาวน์ยืนยันอายุครรภ์อีกที แต่มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

ไม่แม่นยำเท่าคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดโดยตรง

นอกจากนี้หมอก็จะถามถึงระยะเวลาที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุดว่ามาทั้งหมดกี่วัน ซึ่งค่าปกติอยู่ระหว่าง 2-6 วัน หรือ 4 วันโดยเฉลี่ย และจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ต่อวัน เพื่อประเมินความมากน้อยของประจำเดือนเทียบกับครั้งก่อนๆ รวมถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งก่อนหน้า (previous menstrual period: PMP) เพื่อประเมินความสม่ำเสมอของรอบเดือนอีกด้วย เมื่อถามเสร็จแล้วก็จะได้คำตอบว่าระยะเวลาของรอบเดือนเท่ากับ 28 บวกลบ 7 วัน = 21-35 วันหรือไม่ ถ้าถี่หรือห่างกว่านี้ก็จะถือว่าผิดปกติ

การจำหรือจดวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดจึงมีความสำคัญอย่างที่กล่าวไป ยิ่งในปัจจุบันเรามีปฏิทินในสมาร์ตโฟนก็ยิ่งสะดวกในการบันทึกอีเวนต์-เหตุการณ์นี้ลงไป เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ารอบเดือนหน้าๆ จะมาตรงกันทุกรอบหรือไม่

“ประจำเดือนครั้งล่าสุดมาเมื่อไหร่ครับ” ผมถามคนไข้

“เริ่มมีตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม มาทั้งหมด 3 วัน ใช้ผ้าอนามัยวันละ 3 ผืนค่ะ” คนไข้เตรียมตัวมาก่อนโรงพยาบาลเป็นอย่างดี

“แล้วครั้งก่อนหน้า 2 มีนาล่ะครับ” ผมถามเพิ่ม

“แป๊บนะคะ” คนไข้ขอเวลานอก “ขอเปิดดูปฏิทินที่จดไว้ก่อน”

Fact Box

โรคที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนผิดปกติ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยในกลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • การตั้งครรภ์ตามปกติ ซึ่งในระยะที่มีการฝังตัวของตัวอ่อนอาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด จนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนได้ แต่ปริมาณเลือดที่ออกมักจะน้อยกว่าปกติ
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก จะมีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด หลังจากที่ประจำเดือนขาดไปแล้ว ทำให้มีโอกาสเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนได้เช่นกัน
  • ภาวะแท้ง ทำให้มีชิ้นส่วนการตั้งครรภ์ออกมาพร้อมกับเลือดออกทางช่องคลอด

ส่วนกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น

  • ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก และเนื้องอกมดลูก ส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนตรงรอบ แต่มีเลือดออกมากและนานกว่าปกติ เนื่องจากก้อนเนื้อขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และก้อนเพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ภาวะไข่ตกผิดปกติ (ovulatory dysfunction) พบในวัยรุ่น ช่วงแรกของการเริ่มมีประจำเดือน และวัยใกล้หมดประจำเดือน โดยประจำเดือนมักมาไม่สม่ำเสมอ กะปริดกะปรอย ปริมาณแต่ละครั้งอาจน้อยหรือมากก็ได้ มักจะมีภาวะแวดล้อม อาทิ ภาวะอ้วน ความเครียด และการเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นปัจจัยกระตุ้น
Tags: , , , ,