จากรายงานการวิจัยเรื่อง ‘เพศสภาพกับการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม’ ของเจเน็ต เค. สวิม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต

ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า สาเหตุที่ผู้ชายไม่แยกขยะหรือไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นก็เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นเกย์ หรือดูไม่แมน

เนื่องด้วยพฤติกรรมในการดูแลรักษา หรือกระทำการด้วยความห่วงใยต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น มีความเป็น ‘ผู้หญิง’ มากกว่า ‘ผู้ชาย’ ผู้ชายจึงรู้สึกไม่ค่อยสะดวกใจในการสร้างพฤติกรรมที่ถูกจัดว่ามีความเป็นผู้หญิง อย่างพฤติกรรมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม ดังเช่น การแยกขยะ

“ผู้คนอาจหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง เพราะพวกเขามักสร้างความประทับใจที่พวกเขาคาดว่าจะได้รับจากคนอื่นจากพฤติกรรมหรือการกระทำที่สอดคล้องกับเพศสภาพของพวกเขา” เจเน็ต เค. สวิม เจ้าของงงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว

ในการศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสามครั้ง มีผู้เข้าร่วม 960 คน โดยนักวิจัยโฟกัสไปที่การรับรู้ของผู้ชายและผู้หญิงในพฤติกรรมที่ถูกจัดว่ามีความเป็น ‘ผู้หญิง’ และ ‘ผู้ชาย’ ในระหว่างการศึกษาสองครั้งแรกนั้น นักวิจัยจะให้ผู้เข้าร่วมอ่านบทสรุปของสิ่งที่คนคน หนึ่งทำในหนึ่งวันว่ามีอะไรบ้างโดยเป็นสิ่งที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายทำ หนึ่งในนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย จากนั้นก็จะให้ผู้เข้าร่วมวิจัยให้คะแนนความพึงพอใจในพฤติกรรมและสิ่งที่ทำแต่ละอย่าง โดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ก่อนจะให้เดาว่าพฤติกรรมหรือการกระทำจากเรื่องราวที่อ่านนั้นเป็นของเพศใด 

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนที่ทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับเพศสภาพของตัวเอง (ตามการสเตอริโอไทป์ของสังคม) จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนรักเพศตรงข้ามมากกว่าคนที่ทำกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพ

“จากการศึกษาวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่หลายคนจะมองว่าพฤติกรรมในด้านสิ่งแวดล้อมมักจะถูกจัดให้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำ หรือเรื่องของผู้หญิง เห็นได้จากการที่เกือบทุกคนเดาว่าพฤติกรรมหรือสิ่งที่กระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะกระทำโดยเพศหญิง 

“ถ้าการถูกมองว่าการเป็นบุคคลรักต่างเพศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนคนนั้น เขาก็อาจจะให้ความสำคัญกับเพศสภาพและพฤติกรรมที่สอดคล้องกันมากกว่าเพศสภาพและพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกัน เช่นเดียวกันกับในประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะเขาคาดหวังในสิ่งที่คนอื่นมองมายังเขาแบบนั้น (ว่าเขาเป็นบุคคลรักต่างเพศ)” เจเน็ต เค. สวิม อธิบาย

ในการศึกษาวิจัยครั้งที่สาม นักวิจัยโฟกัสไปยังประเด็นว่าผู้เข้าร่วมวิจัยหลีกเลี่ยงผู้อื่นในห้องหรือไม่ โดยให้น้ำหนักไปยังพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะตีตัวออกห่างจากผู้หญิงที่มีพฤติกรรมหรือการกระทำในสิ่งที่ถูกจัดว่าเป็นพฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้ชายทำ

“เรารู้สึกประหลาดใจที่มีผู้หญิงเพียงคนเดียวที่หลีกเลี่ยงผู้อื่นในกรณีที่คนนั้นมีพฤติกรรมหรือได้ทำในสิ่งที่ถูกจัดว่าไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของตน เราไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่มันเป็นผลสืบเนื่องจากสังคม ผู้หญิงหลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ความคิดเห็นเชิงลบ (ที่เหมารวมว่าพฤติกรรมนี้เป็นของผู้หญิง) แบบนี้ และอาจไม่รู้ว่าทำไม” เจเน็ต เค. สวิม กล่าว 

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ในการคิดหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

อ้างอิง

https://www.independent.co.uk/environment/recycling-environmentalism-gender-sexual-orientation-gay-a9045751.html

https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs11199-019-01061-9

https://www.out.com/news/2019/8/05/men-dont-recycle-avoid-looking-gay-new-study-says 

ภาพ: Gettyimages

Tags: , ,