สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นกระแสขึ้นมาในแวดวงความบันเทิงในหน้าอินเทอร์เน็ตช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการได้เห็นผลงานศิลปะชื่อก้องโลกหรือมาสเตอร์พีซระดับตำนานทั้งหลายถูกนำมาแต่งตัว-ตัดต่อใหม่ให้กลายเป็นมีมชวนแชร์ ด้วยเหล่าแอคเคานท์อินสตาแกรมเมอร์ที่เลือกผลงานภาพวาดจากศิลปินระดับโลกนำมาเล่าเรื่องใหม่ โดยที่เห็นบ่อยครั้งก็คือภาพ Girl with a Pearl Earring ของโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) หรือภาพ Mona Lisa ของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo Da Vinci)

ภาพจากเพจ Meseum of Selfies

มีมอาร์ทเหล่านี้กลายเป็นรูปภาพชวนยิ้มมุมปาก เพราะคือการเล่าเรื่องใหม่ให้เข้ากับบริบทสังคมร่วมสมัยที่คนรุ่นใหม่ต่างก็เก็ทมุกกันได้ไม่ยาก โดยบางมีมก็ไปไกลกว่าด้วยการแสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์หรือประเด็นต่างๆ ในสังคม และได้กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบงานศิลปะที่ถูกใช้อยู่บ่อยครั้ง พื้นที่อย่างอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก ก็เป็นแกลเลอรี่ให้กับเหล่าศิลปินจัดแสดงผลงานสวนตัวและสร้างฐานกลุ่มผู้ติดตามได้ทันที

ย้อนกลับไปดูผู้มาก่อนกาล ในการหยิบงานจากยุคเก่ามาผสมใหม่ นั่นคือ เทอร์รี่ จิลเลียม (Terry Gilliam) นักวาดการ์ตูนแอนิเมชั่น Monty Python ที่เลือกนำรายละเอียดของศิลปะยุคเรอเนสซองค์มาใช้ในการ์ตูนของเขาเมื่อช่วงปลายปี 60s ลองดูได้จากเครดิตเปิดเรื่อง Monty Python’s Flying Circus ที่นำเอาสไตล์และองค์ประกอบต่างๆ มาจากภาพ Venus, Cupid, Folly and Time ของศิลปินบรอนซีโน (Bronzino) ภาพเคลื่อนไหวที่เป็นการเลือกคอลลาจภาพวาดศิลปะมีชื่อเสียงจากตัวอย่างนี้ถือเป็นความน่าสนใจและเป็นเหมือนต้นทางของวิธีคิดในมีมอาร์ทที่เกิดตามมาในอีกราว 40 ปีให้หลัง

มีมอาร์ทอย่างเป็นทางการนั้นสามารถย้อนประวัติกลับไปถึงในช่วงปี 2004 มีการทำภาพล้อเลียนพรมผนังบาเยอ หรือภาพพรมที่ปักเป็นภาพการนำไปสู่ชัยชนะของชาวนอร์มัน (Norman) ต่ออังกฤษนำโดยดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี โดยในสมัยนั้นถูกเรียกว่า macro image หรือซีรีส์ภาพที่ถูกนำมาใส่แคปชั่นใหม่ ซึ่งภาพล้อเลียนพรมผนังบาเยอนี้ได้ถูกโพสต์ขึ้นในเว็บไซต์ 4chan และ  YTMND ที่เป็นเว็บฟอรั่มในสมัยนั้น จนมาถึงการเกิดเว็บไซต์จัดประกวดโฟโต้ชอป Worth1000 ที่ให้ผู้ใช้ได้โชว์เทคนิคฝีมือการตัดต่อภาพ ในการประกวดหัวข้อ ‘Renaissance Celebrity’ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการตัดต่อภาพวัฒนธรรมป๊อปเข้ากับภาพวาดคลาสสิค และกลายเป็นที่นิยมมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2000 เป็นต้นมา

ภาพจากการประกวด Renaissance Celebrity

เก่าในใหม่ – ใหม่ในเก่า

มีมศิลปะในวันนี้นี้สามารถแบ่งได้เป็นสองรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจนคือ เก่าในใหม่ หมายถึงการนำภาพคลาสสิคต่างๆ ให้ปรากฏอยู่ในบริบทที่ร่วมสมัยในปัจจุบัน ทั้งภาพวาดหรืองานประติมากรรมต่างก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกนำมาหยิบจับเข้ามาอยู่ในซีนสุดทันสมัย อย่างเช่นโมนาลิซาที่ได้เดินแคทวอล์คร่วมกับวีนัสของบอตติเชลลี (Sandro Botticelli) หรือนักบวชหญิงที่วาดโดยจอห์น วิลเลียม ก็อดวาร์ด (John William Godward)ก็เบื่อที่จะนั่งบนม้าหินอ่อนแต่เปลี่ยนมาเป็นเก้าอี้ในซับเวย์แทน

ภาพจาก Dan Cretu’s Instagram

หรือจะใหม่ในเก่าแบบโมเดิร์นคลาสสิค ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมป๊อปในปัจจุบันไปจับวางในพื้นหลังที่เป็นภาพวาดคลาสสิคแทน ลองดูตัวอย่างจากอินสตาแกรม cmbynmonet ที่ตัดต่อภาพฉากจากภาพยนตร์รางวัลออสการ์ Call Me By Your Name ไปไว้ในภาพวาดของโมเนต์ หรืออีเวนท์ล่าสุดที่สั่นสะเทือนทั้งวงการแฟชั่น สถาบันศาสนา และโลกศิลปะ อย่าง Met Gala 2018 ชุดของเหล่าเซเลบริตี้ภายใต้ธีม Heavenly Bodies: Fashion and the Catholic Imagination นั้นก็ถูกนำมาเล่าเรื่องใหม่ผ่านภาพพื้นหลังที่เหมาะเจาะกับแรงบันดาลใจและต้นทางชุดของแต่ละคน

มีมอาร์ทในอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือมีม “เติมคำตามใจ” ให้กับภาพวาดศิลปะในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสแลงหรือโควตคำตามสถานการณ์ต่างๆ ที่โดยส่วนมากนั้นสะท้อนกับภาษาร่วมสมัยและความฮิตกับวัยรุ่นในปัจจุบัน ผลลัพธ์ในตอนท้ายจึงกลายเป็นมีมที่รวมเอาเก่าผสมใหม่ โดยเพจที่ฮิตมากๆ และชวนขำได้ทุกทีก็คือเพจ Classical Art Memes ที่คงคุ้นตาใครหลายคน

ผลงานศิลปะในปัจจุบันเองก็ทำหน้าที่เป็นมีมเช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนจากแคนวาสผ้าใบเป็นร่างกายมนุษย์ เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นผลงานของศิลปินชาวไต้หวัน จอห์น ยูยี (John Yuyi) ผ่านตากันมาบ้าง กับการใช้สติ๊กเกอร์รอยสักชั่วคราวติดลงบนร่างกายเพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อวิพากษ์สังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ และผลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย งานของยูยีนั้นเรียกได้ว่าเป็นมีมงานศิลปะในชั่วข้ามคืน ว่าด้วยความสัมพันธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างเธอและแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย ผลงานของยูยีนั้นเข้าตากรรมการอย่างอเล็กซานโดร มิเชลี (Alessandro Michele) ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ของกุชชี่ จึงได้ทำงานร่วมกันในแคมเปญ #TFW หรือ What Feeling When Gucci

มีมอาร์ทในวันนี้จึงมีค่าเท่ากับความเคลื่อนไหวของศิลปะสมัยใหม่ในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะเรื่องเล่านั้นสำคัญและภาพอย่างเดียวอาจไม่พอต่อการสื่อสาร นี่อาจเป็นเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมการเล่าเรื่องใหม่ผ่านมีมจึงประสบความสำเร็จและไม่ได้เป็นแค่เรื่องตลกไม่กี่วินาที มีมอาร์ทในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องชวนขัน หากปอกเปลือกออกอีกชั้นจึงมองเห็นถึงคำวิพากษ์ ข้อคิดเห็นสะท้อนประเด็นทางสังคมหรือความคับข้องใจกับเหตุการณ์ต่างๆ การคืนอำนาจในการแสดงความคิดเห็นมาสู่คำความที่เขียนขึ้นได้เอง ซึ่งเราจะหัวเราะ ได้แรงบันดาลใจ ชวนคิด จะพอใจหรือมองข้ามไปก็ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในมือของแต่ละคน

ที่มา:

https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-memes-owe-art-history

https://whatdoyoumeme.maisieflorencepost.com/Essays

https://slate.com/technology/2018/01/googles-art-app-is-a-hit-because-art-history-memes-are-awesome.html

Fact Box

  • มีม เป็นคำนาม แปลว่า แนวคิดทางวัฒนธรรมที่มีการส่งต่อโดยวิธีการทำซ้ำ คล้ายคลึงกับการคัดลอกตัวเองทางพันธุกรรมของยีนส์ [เป็นคำศัพท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้ในหนังสือ The Selfish Gene โดยนักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษที่ชื่อริชาร์ด ดอว์สกิน (Richard Dawkins) ในปี 1976 โดยอิงจากคำภาษากรีก mīmeîsthai ที่แปลว่าการลอกเลียนแบบ, การทำซ้ำ]
Tags: , , , , ,