‘เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์’
นี่เป็นคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานี (คำขวัญเดิมยังไม่มีท่อนที่ว่า ‘ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์) คำว่า ‘แม่น้ำสองสี’ ในคำขวัญนี้หมายถึงการไหลรวมมาบรรจบกัน ณ บริเวณ ดอนด่านปากแม่น้ำมูล บ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียมของแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำโขงนั้นจะมีสีขุ่นโคลนเต็มไปด้วยตะกอน ในขณะที่แม่น้ำมูนนั้นจะใสกว่า โดยมีคำเรียกว่า ‘โขงสีปูน มูนสีคราม’
![](https://themomentum.co/wp-content/uploads/2019/12/mekong-e1575264616902.png)
ภาพโดย วีรยุทธ ไมตรี
แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อเพจ ‘Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง’ เปิดภาพแม่น้ำโขงที่กลายเป็นลำน้ำใสแจ๋ว เริ่มต้นจากภาพของ วีรยุทธ ไมตรี ซึ่งได้บันทึกภาพแม่น้ำโขงที่อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งใสราวกับคริสตัล ตามมาด้วย ภาพของ พิสิษฐ์ ยอดพีรกิจ ซึ่งถ่ายในวันที่ 1 ธันวาคม ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งนำภาพนี้มาจากคอมเมนต์ในเพจ อีจัน) ปรากฏแม่น้ำโขงสีครามสวยงาม ราวกับท้องทะเล พร้อมทั้งเขียนอธิบายความว่า “นี่ไม่ใช่ความสวยงามแต่คือความวิบัติ” พร้อมอธิบายต่อว่า “การที่น้ำในแม่น้ำโขงสีครามเพราะน้ำใสราวกระจกและสะท้อนแสงจากท้องฟ้า เนื่องจากตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อน และทำให้น้ำท้ายเขื่อนไม่มีตะกอน สายน้ำที่ไม่มีตะกอน คือสายน้ำที่ไม่มีชีวิต”
![](https://themomentum.co/wp-content/uploads/2019/12/ภาพของ-วีรยุทธ-ไมตรี.jpg)
ภาพโดย พิสิษฐ์ ยอดพีรกิจ
ความสวยงามของแม่น้ำโขงอันเกิดจากน้ำใสแจ๋ว ไม่มีตะกอนโคลนเหมือนดังเช่นในอดีตนั้น ในแง่ภาพถ่ายคือความตื่นตาตื่นใจ แต่ในแง่ความสมบูรณ์ทางธรรมชาตินั้น การที่แม่น้ำไม่มีตะกอนซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำ ถือเป็นสัญญาณอันตรายของแม่น้ำโขง
ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ตะกอนเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศของแม่น้ำ การสูญเสียตะกอนในแม่น้ำจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ธรณีสัณฐานริมตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ รวมไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งมีความสำคัญทางระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะตะกอนแม่น้ำจะคอยเติมผืนดินให้กับแผ่นดินเกิดใหม่ที่ปากแม่น้ำ ซึ่งหากไม่มีตะกอนแม่น้ำ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะเกิดการกัดเซาะทำให้ริมตลิ่งและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหายไปในที่สุด
นอกจากนี้รายงานของกรีนนิวส์ ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์ที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีครามใสแจ๋วนี้ เรียกว่า ‘น้ำหิว’ หรือการที่น้ำที่ปราศจากตะกอนจะกัดเซาะพาเอาตะกอนออกจากตลิ่งและท้องน้ำเพื่อคืนสมดุลตะกอน ซึ่งจะนำไปสู่การพังทลายของตลิ่งตลอดลำน้ำโขงในที่สุด อันเป็นน้ำที่เพิ่งปล่อยออกมาจากเขื่อนในประเทศจีน เพื่อยกระดับน้ำในแม่น้ำโขง ให้เรือสินค้าจีนสามารถเดินเรือค้าขายในแม่น้ำโขงได้ในช่วงฤดูแล้ง
ตรงกับรายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนแม่น้ำโขงจากการคาดการณ์ผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ระบุไว้ว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบตามที่ได้วางแผนไว้ในลุ่มน้ำโขง จะก่อให้เกิดการลดลงของการพัดพาตะกอนในแม่น้ำอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง
https://www.facebook.com/Mekong-Voice-เสียงจากลำน้ำโขง
https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/สิ่งแวดล้อม-ต่างประเทศ/จะเกิดอะไรหากแม่โขงไร้/
https://greennews.agency/?p=19806
ขอขอบคุณภาพจาก : วีรยุทธ ไมตรี, พิสิษฐ์ ยอดพีรกิจ