ผู้นำไทย พร้อมกับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง มีกำหนดประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีจีนในวันนี้ (วันที่ 24 สิงหาคม) ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ถูกมองเป็นช่องทางของปักกิ่งที่จะเบียดขับกลไกเดิมที่สหรัฐฯ เคยดำเนินบทบาทในย่านนี้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
ความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังกลายเป็นอีกเวทีที่จีนกับสหรัฐฯ แข่งอิทธิพลกัน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาจะจัดวางสถานะบทบาทของตัวเองอย่างไรภายใต้การประชันขันแข่งระหว่างมหาอำนาจภายในกับมหาอำนาจภายนอกเช่นนี้ นับเป็นพัฒนาการที่น่าจับตา
จีนรุกเป็นโต้โผใหญ่จัดสร้างกรอบความร่วมมือล้านช้าง–แม่โขง (แอลเอ็มซี: LMC—Lancang-Mekong Cooperation) เมื่อปี 2014 โดยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2016 ครั้งที่สองในกัมพูชาเมื่อปี 2018 การประชุมผู้นำ 5 ประเทศที่มีขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2020 นับเป็นครั้งที่สาม
ตามกำหนดเดิม นายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง จะประชุมร่วมกับผู้นำชาติลุ่มน้ำโขง ณ กรุงเวียงจันทน์ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่พิษโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาหลายเดือน ท้ายที่สุดต้องพบกันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
กลไกแม่น้ำโขงที่ริเริ่มโดยจีนนี้ครอบคลุมความร่วมมือในมิติที่กว้างกว่ากลไกที่มีมาแต่เดิมในชื่อ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี: MRC—Mekong River Commission) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเน้นการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำเป็นหลัก
แอลเอ็มซีเน้นความร่วมมือ 5 ด้าน นอกจากเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ยังครอบคลุมถึงเรื่องการเชื่อมโยง ความสามารถด้านการผลิต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และการเกษตรกับการลดความยากจนด้วย แถมยังดึงเมียนมาเข้ามาร่วมในกรอบนี้อีกต่างหาก
เมื่อดูท่าว่าจีนกำลังรุกอย่างต่อเนื่อง และอัดฉีดเงินอุดหนุนก้อนโต สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคในกลไกเอ็มอาร์ซีที่อเมริกาเคยสนับสนุนตั้งแต่ปี 1957 ก่อนจะแปลงร่างเป็นเอ็มอาร์ซีเมื่อปี 1995 จึงเริ่มขยับเขยื้อน ท่ามกลางความสัมพันธ์กับจีนที่เสื่อมถอยลงทุกวัน
ใครทำแม่น้ำโขงขาดแคลนน้ำ
บทบาทที่เด่นชัดของสหรัฐฯ ในระยะหลัง คือ วิจารณ์เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างปิดกั้นแม่น้ำโขงในเขตแดนจีน ซึ่งลำน้ำในส่วนนี้มีชื่อเรียกว่า แม่น้ำล้างช้าง
เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ออกมาพูดว่า การโหมสร้างเขื่อนนับสิบแห่งของจีนเป็นต้นเหตุทำให้ประเทศทางท้ายน้ำประสบภาวะขาดแคลนน้ำ เพราะเขื่อนของจีนควบคุมปริมาณน้ำท่าที่เคยไหลอย่างเป็นธรรมชาติตามฤดูกาล
แม่น้ำโขงขาดน้ำเพราะอะไร ยังคงเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการ แน่นอนว่า จีนไม่ยอมรับคำวิจารณ์นี้ เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ บอกว่า จีนได้ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นแล้วตามคำร้องขอของไทย ซึ่งเจอปัญหาน้ำโขงลดต่ำลงอย่างมาก
ประเด็นที่ว่า จีนทำน้ำโขงแห้งนี้ สหรัฐฯ อ้างจากรายงานของหน่วยงานเฝ้าติดตามด้านทรัพยากรน้ำในสหรัฐฯที่ชื่อว่า Eyes on Earth ซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับข้อมูลของเอ็มอาร์ซี รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน
รายงานบอกว่า ในปีที่ผ่านมา ถ้าไม่มีเขื่อนในจีน ซึ่งเปิดใช้งานแล้ว 11 เขื่อน ประเทศทางท้ายน้ำจะไม่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนักอย่างที่ได้เกิดขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำท่าที่ไหลผ่านเขตแดนจีนมีระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย สถานีวัดน้ำที่อำเภอเชียงแสนพบว่า น้ำที่ไหลผ่านสถานีมีปริมาณน้อยกว่ากันมาก ระดับน้ำที่ควรอยู่ที่ 7.5 เมตรกลับวัดได้แค่ 2.5 เมตร
อย่างไรก็ดี เขื่อนจีนเป็นสาเหตุในเรื่องนี้แค่ไหน ยังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย เอ็มอาร์ซีแย้งว่า ตัวการไม่ใช่เขื่อนจีน แต่เป็นเพราะฝนตกน้อยในฤดูฝน บวกกับสภาพอากาศร้อนจัดเพราะเอลนินโญ เรื่องนี้จึงยังต้องการหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
คณะผู้วิจัยของอายส์ออนเอิร์ธ ยอมรับว่า สภาพอากาศเป็นต้นเหตุหลักจริง แม้กระนั้น ทางทีมงานยังคงยืนยันว่า เขื่อนจีนเป็นตัวซ้ำเติมสถานการณ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เอ็มอาร์ซีเรียกร้องให้จีนกับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างเปิดเผยข้อมูลการกักเก็บและการปล่อยน้ำของเขื่อนในแต่ละประเทศอย่างโปร่งใสและทันการณ์ และขอให้ทุกประเทศปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมากขึ้น ใช้น้ำให้น้อยลง
การเมืองมหาอำนาจในศึกชิงน้ำ
ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา จีนกับสหรัฐฯ โต้คารมกันหลายครั้งในเรื่องที่ว่า ทำไมประเทศลุ่มน้ำโขงจึงขาดแคลนน้ำ
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา แพทริค เมอร์ฟี พูดกับสำนักข่าวรอยเตอร์โดยอ้างถึงรายงานของอายส์ออนเอิร์ธว่า แม่น้ำโขงขาดน้ำเพราะจีนกักตุน
สถานทูตจีนในไทยตอบโต้อย่างร้อนแรง ประณามรายงานชิ้นนี้ว่า มีเจตนาแฝงทางการเมือง มุ่งโจมตีจีนด้วยเจตนาร้าย ต่อมาในช่วงกลางเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโปรยข่าวโดยอ้างรายงานของมหาวิทยาลัยชิงหัวซึ่งทำร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำจีน มีข้อความว่า “เขื่อนจีนช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำในแม่น้ำล้านช้าง–แม่โขง”
อย่างไรก็ดี รอยเตอร์รายงานว่า อันที่จริง รายงานวิจัยดังกล่าวเขียนว่า เขื่อนของจีนจะช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ในอนาคตต่างหาก ไม่ได้เขียนว่าเขื่อนจีนช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในปี 2019
กระทรวงต่างประเทศจีนยังบอกกับรอยเตอร์ด้วยว่า ที่สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าพยายามเข้าครอบงำลุ่มน้ำโขงนั้น ไม่เป็นความจริง ประเทศนอกภูมิภาคไม่ควรกวนน้ำให้ขุ่น
ในระยะหลัง สหรัฐฯ ได้ลดบทบาทในดินแดนแถบนี้ลงไปมากหากเทียบกับยุคสงครามเย็น ขณะที่จีนทวีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้อเมริกาได้จัดตั้งความริเริ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (แอลเอ็มไอ: LMI—Lower Mekong Initiative) เมื่อปี 2009 สมาชิกประกอบด้วยสหรัฐฯ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่ไม่ได้เล่นบทท่อน้ำเลี้ยงสักเท่าไร
ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สนับสนุนแอลเอ็มไอเป็นเงิน 120 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนให้ทุนวิจัยแก่แอลเอ็มซีเป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์ฯเมื่อปี 2016
เวลานี้ สองมหาอำนาจกำลังช่วงชิงการนำอย่างเข้มข้น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ไมเคิล เดอซอมเบรอ บอกว่า แอลเอ็มซีที่จีนเป็นหัวเรือใหญ่ทำตัวเป็นองค์กรคู่ขนานกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สหรัฐฯ อยากให้จีนทำงานร่วมกับเอ็มอาร์ซี แทนที่จะพยายามเบียดขับด้วยการสร้างกลไกที่ตัวเองควบคุมได้ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง
เมื่อช้างสารสองเชือกประสานงากันแบบนี้ ประเทศลุ่มน้ำโขงควรวางตัวอย่างไรดี นักเขียนชาวออสเตรเลีย Sebastian Strangio ผู้เขียนหนังสือ ‘In the Dragon’s Shadow’ บอกว่า อำนาจของจีนในภูมิภาคไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาจีน ไหนเลยจะกล้าท้าทายโครงการเขื่อนของจีน
ควรเชียร์จีน หรือควรถือหางอเมริกา ประเทศแถวนี้รู้ดีว่า ไม่จำเป็นทั้งสองทาง จนกว่าสถานการณ์จวนตัว
อ้างอิง :
AFP via Asean Post, 17 June 2020
Tags: แม่น้ำโขง