ไข้ออกผื่น ร่วมกับอาการไอ (cough) น้ำมูก (coryza) ตาแดง (conjunctivitis) หรืออาการ 3C เป็นคำสำคัญที่นักเรียนแพทย์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ เพราะถ้าเจอในข้อสอบจะตอบโรคอื่นไม่ได้นอกเสียจาก ‘โรคหัด (measles)’ เท่านั้น ต่างจากโรคหัดเยอรมัน (rubella) ตรงที่อย่างหลังจะไม่มีอาการตาแดง และผื่นจะขึ้นกระจายมากกว่า

ผมไม่ได้เจอโรคหัดบ่อยนัก สมัยเรียนผมน่าจะไม่เคยเจอคนไข้จริงๆ เลยก็ว่าได้ (เลยต้องท่องจำเอาอย่างที่บอก) จบออกมาก็เจอ 2-3 ราย แต่พบในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเป็นในเด็กเล็ก สำหรับข้อมูลระดับประเทศ ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลการระบาดมาตั้งแต่ปี 2514 พบผู้ป่วยโรคหัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2527 ที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มวัคซีนป้องกันโรคหัดเข้ามาอยู่ในวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยควรได้รับ จำนวนผู้ป่วยโรคหัดจึงลดลง แต่ยังเกิดการระบาดเป็นระยะๆ

อุบัติการณ์โรคหัดทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2523-2559 มีแนวโน้มลดลงชัดเจนเมื่อการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 (MCV1) ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ที่มา: who.int

ล่าสุด เพิ่งมีข่าวการระบาดของโรคหัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยข้อมูลจากระบบรายงานโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 นี้มีอัตราป่วยโรคหัดทั้งประเทศ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน (4:100,000) แต่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดคือจังหวัดยะลา อยู่ที่ 51:100,000 และพบมากในกลุ่มอายุน้อยกว่าหนึ่งปีลงไป

รองลงมาคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (21:100,000) และจังหวัดสมุทรสาคร (14:100,000) ตามลำดับ

น่าสังเกตว่าจังหวัดอันดับที่ 1 มีอัตราป่วยทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 มากกว่าสองเท่าตัว

ในขณะที่โรคหัดรุนแรง คือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือจังหวัดยะลา (4:100,000) จังหวัดปัตตานี (3:100,000) และจังหวัดอุบลราชธานี (2:100,000)

แผนที่อัตราป่วยโรคหัดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 4 ต.ค. 2561

ปัญหาการฉีดวัคซีนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แน่นอนว่าแต่ละจังหวัดจะต้องมีสาเหตุของการระบาดที่แตกต่างกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบและร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่สำหรับพื้นที่ใต้สุดของประเทศ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กล่าวถึงปัญหาโรคหัดระบาดในจังหวัดยะลา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตสี่ราย โดยทั้งหมดไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2561 ว่า มีบางพื้นที่ที่มีปัญหาการต่อต้านการฉีดวัคซีนในเด็กมุสลิม”

ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการระบาดของโรคหัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแพทย์ที่ทำงานประจำโรงพยาบาลศูนย์ยะลาเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2559 แต่ไม่เคยเป็นข่าวใหญ่โต และสำหรับผมที่เรียนและทำงานในโรงพยาบาลภาคกลางตลอด ก็เพิ่งทราบว่ามีพ่อแม่ ‘บางคน’ เชื่อว่าการฉีดวัคซีนผิดหลักศาสนาอิสลาม

แผนภูมิอัตราป่วยโรคหัดในประเทศไทย ระหว่างปี 2555-2559 แยกตามภูมิภาค ที่มา:  สำนักระบาดวิทยา

เมื่ออ่านบทความในวารสารสาธารณสุขและโรคติดเชื้อ (Journal of Infection and Public Health) ตีพิมพ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็พบว่า ปัญหาการฉีดวัคซีนกับหลักศาสนาอิสลามนี้ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดกับประเทศอื่นที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ด้วย เช่น

ประเทศปากีสถาน มีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอเพิ่มขึ้นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ จาก 51 รายในปี 2556 เป็น 91 รายในปีถัดมา

ประเทศอียิปต์ มีรายงานเด็กป่วยเป็นโรคหัดมากถึง 5,000 คนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558

ประเทศมาเลเซีย มีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเป็น 873 รายในเดือนมิถุนายน 2559 จาก 197 รายในปีก่อนหน้า ส่วนจำนวนพ่อแม่ที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนให้ลูกเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 637 รายในปี 2556 เป็น 1,054 รายในปี 2559 โดยคาดว่าเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ปกครองจากการรับรู้ข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์ว่า การฉีดวัคซีนเป็นแผนทำให้มุสลิมอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้ใจต่อวัคซีนตามมา

บางคนเชื่อถึงขั้นว่าการฉีดวัคซีนจะแพร่เชื้อโรคให้กับชุมชนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก และความเชื่อนี้ยังได้รับการตอกย้ำผ่านนักร้องคนหนึ่งที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งโพสต์ข้อความต่อต้านการฉีดวัคซีนลงในโซเชียลมีเดีย

สำหรับประเทศไทย ผมไม่สามารถค้นหาสถิติการปฏิเสธการฉีดวัคซีนของผู้ปกครองได้ แต่ในทางทฤษฎีแล้วโรคหัดมีอำนาจการกระจายโรคสูง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจนกระทั่งสามารถป้องกันการระบาดของโรคหรือเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม (herd immunity) ได้ จะต้องครอบคลุมเกือบ 92-94 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการระบาดที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเกิดจากการได้รับวัคซีนในระดับต่ำกว่านี้

การฉีดวัคซีนขัดหลักศาสนาอิสลามหรือไม่?

กรณีนี้จุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนาอิสลามของประเทศไทยเคยมีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ในปี 2556 ต่อประเด็นคำถามที่ว่า “การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ สามารถกระทำได้หรือไม่?” ซึ่งใจความสรุปว่า “ได้” เพราะ “…เป็นการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของร่างกายที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้… และอัลลอฮ์ทรงใช้มนุษย์ให้ดูแลตนเองให้มีสุขภาพลานามัยที่สมบูรณ์และให้หลีกห่างภยันตรายอย่างสุดความสามารถ…”

เป็นคำตอบในแง่ที่ว่าการฉีดวัคซีนก็ถือเป็นการป้องกันและรักษาโรคอย่างหนึ่ง โดยสภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติในองค์การที่ประชุมอิสลาม (OIC) ก็ได้รณรงค์และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ ให้หมดไปด้วยเช่นกัน

แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่ชาวมุสลิมกังวลคือ ‘ส่วนประกอบของวัคซีน’ เพราะตามหลักศาสนาแล้วห้ามชาวมุสลิมใช้ยาหรือส่วนประกอบที่ผิดบทบัญญัติ ซึ่งอย่างที่คนทั่วไปทราบกันดีว่ามุสลิมไม่รับประทานเนื้อหมู ในขณะที่ผู้ปกครองเชื่อว่าวัคซีนปนเปื้อนสารพันธุกรรมของหมู จึงทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ และผลการศึกษาในมาเลเซียก็พบว่าความเป็นฮาลาล (halal status) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจพาลูกไปรับวัคซีนหรือไม่

โดยส่วนประกอบที่ว่าก็คือ เจลาติน (gelatin) เป็นสารที่ทำให้วัคซีนคงตัว (stabilizer) คือมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยคงเดิมในระหว่างการจัดเก็บ สกัดจากคอลลาเจนที่พบในเอ็น กระดูก และกระดูกอ่อนของสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู และปลา ซึ่งวัคซีนที่ใช้เจลาตินที่สกัดจากหมู (porcine gelatin) ได้แก่ MMR VaxPro (วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม), Fluenz Tetra (วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก) และ Zostavax (วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่)

จะเห็นว่ามีเจลาตินที่สกัดจากหมูในวัคซีนเฉพาะบางโรคและบางยี่ห้อเท่านั้น

ที่สำคัญการสกัดเจลาตินมาผลิตเป็นวัคซีนจะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรการด้านความสะอาด จึงสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนได้ และตามหลักศาสนาอิสลามก็มีข้อยกเว้นเรื่อง ‘ความจำเป็น’ ที่อยู่เหนือ ‘ข้อห้าม’ อยู่ ซึ่งในเมื่อปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนแบบฮาลาล ก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างที่จุฬาราชมนตรีวินิจฉัยไว้

อนึ่ง เหตุผลในข้อหลังสุดนี้ เป็นเหตุผลหลักขององค์กรด้านบทบัญญัติของศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Ulema Council) ที่ประกาศฟัตวาว่าวัคซีน MR (measles-rubella) ได้รับอนุญาตให้ใช้โดยคนมุสลิม (mubah) ได้แม้ว่าจะมีสารที่สกัดจากหมูเป็นองค์ประกอบ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากมีการระบาดของโรคหัดภายในประเทศ

สรุป

โรคหัดมักเกิดขึ้นกับเด็ก พบมากสุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี หายได้เอง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

สำหรับชาวมุสลิมได้มีคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีและองค์กรระดับนานาชาติยืนยันตรงกันว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพาลูกไปรับการฉีดวัคซีนตามนัด และอนุญาตให้ลูกรับวัคซีนตามรอบที่โรงเรียน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในขณะนี้ และป้องกันการระบาดอีกในอนาคต

Fact Box

  • สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีน MMR ทั้งหมดสองเข็ม คือเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 ตอนอายุสองขวบครึ่ง
  • แต่ในกรณีที่มีการระบาดหรือสัมผัสโรค อาจฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุหกเดือนเป็นต้นไป และฉีดซ้ำที่อายุ 12 เดือน และที่อายุสองขวบครึ่ง-สี่ปี รวมเป็นสามเข็ม
  • ส่วนในอดีตที่เคยมีความกังวลเกี่ยวกับวัคซีน MMR ว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคออทิสติก แต่จากหลักฐานการวิจัยในปัจจุบันไม่พบความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันตั้งแต่กำเนิดสามารถป้องกันการเกิดโรคออทิสติกได้
Tags: , , , , ,