ไม่ใช่แค่ตัดตัว ‘ว’ แหวนออกจากโรค ‘หวัด’ ก็จะกลายเป็นโรค ‘หัด’ แล้ว แต่อาการเริ่มแรกของโรคหัดยังคล้ายคลึงกับโรคหวัดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดงก่ำ (ถ้าอ่านไม่คล้องจองกัน รบกวนอ่านอีกรอบครับ) ร่วมกับมีไข้สูง หลังจากนั้น 3-4 วันถึงจะเริ่มออกผื่นที่ใบหน้า แล้วลามไปทั่วตัว
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่ในอากาศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีผู้ป่วยไอจามเอาเชื้อติดออกมากับละอองน้ำมูกน้ำลายในบริเวณนั้นมาก่อน และเชื้อก็สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 2 ชั่วโมง พอเราสูดหายใจเข้าไปเชื้อจะเจริญเติบโตที่คอ ก่อนจะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและแพร่กระจายทั่วร่างกาย
ความคล้ายกันของโรคหัดกับโรคหวัดอีกอย่างคือมักพบผู้ป่วยมากขึ้นในฤดูหนาว
อ่อนหัด (1) เพราะเชื้อติดต่อกันง่าย
หลายคนน่าจะเคยได้ยินการระบาดของโรคหัดปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งอเมริกา ซึ่งเคยประกาศว่าสามารถกำจัดไวรัสนี้ในประเทศได้สำเร็จมาแล้วในปี 2000 แต่ก็กลับมาระบาดหนักเป็นประวัติการณ์
ไวรัสหัดขึ้นชื่อว่าเป็นเชื้อโรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายที่สุด เทียบจากค่าของตัวเลขที่เรียกว่า ‘R0’ หรือ Basic reproduction number ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยที่สามารถติดเชื้อจากผู้ป่วยรายแรกได้ โดยโรคหัดมีค่านี้เท่ากับ 18 (แปลอีกทีคือ ผู้ป่วย 1 ราย สามารถแพร่เชื้อต่อได้อีก 18 คน)
ส่วนโรคอื่นที่เรารู้จักกันดี เช่น อีสุกอีใส 10, คางทูม 7, ไข้หวัดใหญ่ 4, แม้กระทั่งอีโบลาที่ยังระบาดในประเทศดีอาร์คองโกยังมีค่าเท่ากับ 3
จึงไม่น่าแปลกใจถ้ามีผู้ป่วยโรคหัดรายแรกเกิดขึ้น ก็จะมีรายที่สอง สาม สี่… ตามมาอย่างแน่นอน แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และผู้ป่วยควรจะได้รับการหยุดเรียนหรือหยุดงาน เพื่อแยกตัวไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่นเป็นเวลา 4 วันหลังผื่นขึ้น ทว่าจะยากตรงที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนจะมีอาการแล้ว
อ่อนหัด (2) เพราะความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ
“สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูงจะคอยระแวดระวังภัยให้กันและกัน ถ้ามีนักล่าเข้ามาก็จะมีโอกาสรอดมากกว่าอยู่แยกตัวเดียว” เหมือนผมกำลังออกนอกเรื่องจากโรคหัด แต่เป็นคำอธิบายของคำว่า ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ หรือ herd immunity (herd แปลว่า ฝูงสัตว์) ซึ่งในทางการแพทย์หมายถึงระดับภูมิคุ้มกันของคนในกลุ่มหนึ่งๆ ที่สามารถป้องกันไม่ให้โรคนั้นแพร่กระจายไปยังคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันได้
(ตอนแรกเห็นภาพ พออ่านไปอ่านมามืดแปดด้าน ลองอ่านตัวอย่างต่อครับ) ยกตัวอย่างโรคหัด คนแต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้ก็ต่อเมื่อเคยป่วยเป็นหัดมาก่อน หรือตอนเด็กเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค 2 เข็ม
สมมติในชุมชน ก. และ ข. มีคน 100 คนเท่ากัน แต่ชาว ก. ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วมี 50 คน ในขณะที่ชาว ข. มี 80 คน ดังนั้นถ้ามีคนป่วยเป็นโรคหัดขึ้นมาในชุมชน โอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อไปยังคนที่ยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันในชุมชน ข. จะน้อยกว่า ก. เพราะคนที่มีภูมิคุ้มกัน (ยิ่งฝูงใหญ่ยิ่งดี) จะช่วยป้องกันพวกเขาไว้
แต่สำหรับโรคหัดแล้ว 80 คนยังน้อยไป เนื่องจากอย่างที่พูดถึงตอนแรกว่าเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายมากจึงต้องการระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากถึง 95% ซึ่งตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในประเทศไทยราวปี 2520-2530 เป็นต้นมา อัตราป่วยด้วยโรคหัดจึงลดลงมาก ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาจากวัคซีนเป็นหลัก (คนที่ติดโรคหัดจากคนอื่นลดลง) ซึ่งในปีที่ผ่านมาความครอบคลุมของวัคซีนโรคหัดในประเทศไทยเฉลี่ยเพียง 89% สำหรับเข็มแรก (ฉีดตอนอายุ 9 เดือน) และ 85% สำหรับเข็มที่ 2 (ฉีดตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง)
อ่อนหัด (3) คนนอกนำเชื้อเข้ามาข้างใน
นอกจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเรือนจำแล้ว (อ่านเพิ่มเติมที่ เรือนจำ: จำต้องเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่?) ก็ยังพบว่ามีการระบาดของโรคหัดนี้ด้วยเช่นกัน เพราะทั้ง 2 โรคนี้ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ คนป่วยไอจามในพื้นที่ที่อยู่กันหนาแน่น เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปตรงไหนได้ นอกเสียจากคนที่อยู่รอบข้างนั่นเอง
เมื่อไม่นานมานี้มีการระบาดของโรคหัดในเรือนจำ 5 แห่งทางภาคใต้ของไทย จุดเริ่มต้นมาจากเรือนจำ ก. (ไม่ใช่ชื่อย่อนะครับ) ผู้ป่วยรายแรกติดมาจากคณะดูงานที่เข้ามาในเรือนจำ จากนั้นก็มีการย้ายนักโทษจากเรือนจำ ก. ไปยังเรือนจำ ข. ทำให้เกิดการระบาดขึ้นที่นั่น ต่อมามีการจัดกิจกรรมให้ผู้ต้องขังจากเรือนจำแต่ละแห่งในเขตนั้นมารวมตัวกันที่เรือนจำ ค. ซึ่งผู้ต้องขังจากเรือนจำ ก. ก็มาด้วย ทำให้เกิดการระบาดที่เรือนจำ ค. อีกแห่งหนึ่ง
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการระบาดของโรคหัดขึ้นมาในเรือนจำ ง. และ จ. ไล่เลี่ยกัน ซึ่งจากรายงานการสอบสวนโรคยังไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้ต้องขังที่ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่เรือนจำ ค. หรือไม่ แต่ก็ชวนสงสัยอยู่ไม่น้อย เพราะตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน หรืออาจมีการเคลื่อนย้ายของนักโทษรายอื่นแบบเรือนจำ ข. ก็ได้
นอกจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว จึงยังมีวัคซีนโรคหัด-หัดเยอรมันอีกรายการหนึ่งที่กรมควบคุมโรคกำลังจะเสนอโครงการจัดหาเข้าไปฉีดให้กับผู้ต้องขัง แต่ทั้งนี้อยากจะชวนสังเกตว่าที่เล่ามาทั้งหมดคล้ายกับโดมิโน กล่าวคือ
เริ่มต้นจากธรรมชาติของเชื้อที่ติดต่อกันได้ง่าย —> ภูมิคุ้มกันหมู่ใน ‘ชุมชน’ ต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดคนป่วยในชุมชนและเข้ามาใน ‘เรือนจำ’ โดยขาดการคัดกรองโรค —> สุขอนามัยและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแพร่กระจายโรค —> ภูมิคุ้มกันหมู่ในเรือนจำต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดการระบาดในเรือนจำ —> ขาดการคัดกรองและเฝ้าระวังโรค ทำให้แพร่กระจายระหว่างเรือนจำ ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังจึงเป็นมาตรการสำหรับโดมิโนตัวหลังๆ (รองสุดท้าย) เท่านั้น
เพราะฉะนั้นการป้องกันการระบาดของโรคหัดในชุมชนและเรือนจำเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ