ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสถกเถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันระหว่างอุ๊ หฤทัยและไผ่ ดาวดินในรายการพูดตรงๆของพิธีกรสาว จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งกองเชียร์ของผู้เข้าร่วมรายการแต่ละฝ่ายมองผลการดีเบตครั้งนี้ แตกต่างกันออกไปราวกับอยู่คนละโลกคู่ขนาน

คำถามที่สร้างความสงสัยให้ใครหลายคนคือ เรายังเรียกการเถียงด้วยคารมและข้อกล่าวหาหลักลอย จนลุกลามไปถึงการโจมตีตัวบุคคล (Ad Hominem) ในลักษณะนี้ว่าดีเบต’ (Debate) ได้หรือไม่ และนิยามที่แท้จริงของดีเบตหรือการโต้วาทีเปลี่ยนไปตามยุคสมัยมากแค่ไหน

หากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่า การดีเบตมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน ตะวันออกกลางโบราณ และอินเดียโบราณ ซึ่งหัวข้อที่มักยกมาถกเถียงกันก็หนีไม่พ้นปรัชญา ความเชื่อ ศาสนา หรือการเมือง อันเป็นเรื่องใกล้ตัวพัวพันกับมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม

สมัยสาธารณรัฐโรมันก็มีการโต้วาทีกันในวุฒิสภา ดาวเด่นของยุคนั้นคือ ซิเซโร (Cicero) นักการเมืองฝีปากกล้าจากศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ผู้มีคารมคมคายและวิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลได้อย่างเฉียบแหลม ซึ่งการใช้หลักวาทศิลป์ (Rhetoric) เพื่อโน้มน้าว ถือเป็นทักษะจำเป็นในการโต้วาทีและเป็นสิ่งที่ผู้มีการศึกษาชาวกรีก โรมัน และผู้คนในยุคต่อๆ มาต้องเรียนรู้  

การดีเบตในยุคต่อๆ มาเริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนามากขึ้น เช่น การดีเบตหลายครั้งในต้นศตวรรษที่ 5 ระหว่างบิชอปชาวโรมัน ออกุสตินแห่งฮิปโป (Augustine of Hippo) กับนักคิดสายมาณีกี’ (Manichaeism – ศาสนาจากเปอร์เซียที่ผสมผสานความเชื่อของโซโรอัสเตอร์ พุทธ และคริสต์เข้าด้วยกัน) และเพลาจิอุส (Pelagius) บาทหลวงผู้ยึดถือหลักความเชื่ออันถูกตราหน้าว่าเป็นพวกนอกรีตในสมัยนั้น ออกุสตินสามารถเอาชนะคู่กรณีทั้งสองได้ นั่นเป็นเหตุผลที่งานเขียนหลายชิ้นและหลักคิดของออกุสตินยังถูกตีพิมพ์จนถึงทุกวันนี้ในแวดวงคริสตศาสนา  

ข้ามมาถึงช่วงศตวรรษที่ 18 หรือช่วงเรืองปัญญา’ (Age of Enlightenment) เราจะเริ่มเห็นการดีเบตอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของขนบการดีเบตในปัจจุบัน เนื่องจากมีกฎกติกามารยาทที่ทั้งสองฝ่ายต้องรักษาไว้ เพื่อให้การโต้วาทีนั้นบรรลุผลสำเร็จ จนอาจชักจูงผู้ฟังให้คล้อยตามได้เพราะความสุภาพถือเป็นคุณสมบัติที่ผู้ดีในยุคนั้นต้องมี แม้จะอยู่ในการถกเถียงอันดุเดือดก็ตาม

กรุงลอนดอนในศตวรรษที่ 18 เป็นแหล่งรวมตัวของปัญญาชนมากหน้าหลายตา การถกเถียงประเด็นต่างๆ ในที่สาธารณะเริ่มเป็นที่นิยมพร้อมๆ กับวัฒนธรรมร้านกาแฟ’ (Coffee House) ซึ่งแขกอาจได้ฟังนักคิดคนสำคัญไปถกประเด็นต่างๆ ในร้านกาแฟ เมื่อการถกเถียงในลักษณะนี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น จึงเกิดการขยายตัวของสมาคมดีเบต’ (Debating Societies) ไปทั่วทุกหนแห่ง หัวข้อของการดีเบตมีตั้งแต่การเมือง ปรัชญา วิทยาศาสตร์ และศาสนา

ในฝรั่งเศสก็มีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดที่เทียบกันได้คือซาลง’ (Salon) หรือคลับสำหรับเหล่าชนชั้นกลางนัดพบปะพูดคุยและดื่มอะไรเบาๆ ไปด้วย การพบปะกันของกลุ่มปัญญาชนเหล่านี้จะนำไปสู่การแพร่หลายของแนวคิดปฏิวัติในภายหลัง

ช่วงนี้เองปรากฏหลักฐานของกฎกติกาการโต้วาทีในหลายสมาคม โดยรวมแล้วจะมีหลักการในทำนองเดียวกัน คือ

1 มีประเด็นที่ถูกเลือกโดยกรรมการ 

2 มีการแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายโต้แย้ง 

3 ผู้พูดแต่ละฝ่ายจะได้รับเวลาสำหรับหาข้อสนับสนุนหรือโต้แย้งในประเด็นดังกล่าว และไม่อาจโจมตีผู้พูดอีกฝ่าย หรือเบี่ยงเบนประเด็นได้ 

4 ผู้ที่สามารถหาเหตุผลหรือหลักฐานมาสนับสนุนคำพูดได้ดีที่สุดจะกลายเป็นผู้ชนะ

หนึ่งในสมาคมโต้วาทีฝั่งอังกฤษที่มีชื่อเสียงของยุคคือสมาคมโรบินฮูด’ (Robin Hood Society) ซึ่งมีการบันทึกกฎการโต้วาทีของตนไว้ชัดเจน คือทุกวันจันทร์จะมีการเลือกประเด็นหนึ่งหัวข้อมาถกเถียง ผู้เข้าร่วมการดีเบตจะถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย แต่ละคนจากสองฝ่ายจะมีเวลาปราศัย 7 นาที มีคนทำหน้าที่กรรมการคอยรับฟังและสรุปใจความสำคัญของแต่ละฝ่ายในแต่ละรอบ

สมาคมเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า อังกฤษในยุคนั้นถือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางความคิดพอสมควร บรรยากาศทางการเมืองยุคนั้นดุเดือดถึงขั้นที่หัวข้อการโต้วาทีในเดือนมกราคม ปี 1776 คือเปรียบเทียบข้อดีของรัฐบาลแบบราชาธิปไตยและสาธารณรัฐและมีการโต้ในหัวข้อนี้ถึงสามครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อาณานิคมอเมริกากำลังจะประกาศอิสรภาพ ผลของการดีเบตครั้งนี้คือฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์ได้รับชัยชนะไป  

ในเดือนเดียวกัน สมาคมดีเบตอีกแห่งหนึ่งนามว่าสมาคมดีเบตเสรีควีนส์อาร์มส์’ (Society for Free Debate, Queen’s Arms) ยังปรากฏบันทึกว่า มีการจัดโต้วาทีในหัวข้อคล้ายคลึงกันราวกับบังเอิญรัฐบาลไหนจะรักษาเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่ากันระหว่างแบบอังกฤษ (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) หรือแบบสาธารณรัฐซึ่งสะท้อนบรรยากาศของการเมืองร่วมสมัยได้ดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในยุคที่ระบอบประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน การดีเบตก็ยิ่งงอกเงยตามไปด้วย ในศตวรรษที่ 19 การศึกษาในโลกตะวันตกเริ่มมีการจัดโต้วาทีให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญ ความสำคัญของการดีเบตยิ่งแพร่หลายไปทั่ว แม้แต่แวดวงการเมืองก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสาธารณชน  

จากเดิมที่นักการเมืองต้องไปถกเถียงกันในสภาเพื่อหาข้อตกลง โดยไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชนว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้นบ้าง การดีเบตในที่สาธารณะจึงเป็นเครื่องมือเพื่อดึงประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประชาธิปไตยเช่นกัน ในด้านหนึ่งเป็นการดึงมวลชนให้สนับสนุนนโยบายต่างๆ แต่ใจความสำคัญอีกข้อหนึ่งของการดีเบตทางการเมืองในที่สาธารณะ คือการแสดงวิสัยทัศน์ ความพร้อม ความเป็นผู้นำ และความจริงใจของนักการเมือง ต่อให้วาทศิลป์ดีแค่ไหน หากไร้ข้อมูลหรือหลักฐานมาประกอบข้อถกเถียงของตัวเอง ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ 

ผู้ที่มีข้อมูลเพียบพร้อมกว่าและนำเสนอแนวคิดของตนได้ดี ย่อมซื้อใจประชาชนได้ดีกว่าผู้ที่เน้นแต่การใช้วาทกรรมและชุดความคิดเดิมๆ ที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน ว่ามันยังเหมาะสมกับบริบทปัจจุบันหรือไม่ 

และการดีเบตแต่ละครั้งมักมีการหยิบประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น การหยิบชุดความคิดที่มีอยู่มาถกเถียงยังทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดขึ้นไปอีก ทำให้สังคมได้ทบทวนตนเอง ขบคิดถึงปัญหา และหาทางออกที่เหมาะสม

สิ่งที่น่าสนใจคือกฎและกติกาการดีเบตจากศตวรรษที่ 18 ได้กลายเป็นมาตรฐานสากล ภาพรวมของดีเบตที่ดียังต้องมีการรักษากติกา ไม่แทรกแซงอีกฝ่าย ไม่หลุดประเด็นหรือโจมตีเรื่องส่วนบุคคล

แต่บางครั้งผู้ควบคุมหรือกรรมการก็ไม่อาจหยุดความโกลาหลได้ จนการโต้วาทีอาจเปลี่ยนทิศทางไปเป็นการโจมตีกันด้วยวาทกรรมเร่าร้อนแทนที่จะหาเหตุผลและข้อมูลมาถกเถียงกัน และกลายเป็นการโต้คารมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคงเป็นการดีเบตครั้งแรกระหว่างสองผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2020 ที่ผ่านมา แม้จะมีการเริ่มต้นวิพากษ์กันในประเด็นต่างๆ แต่สุดท้ายกรรมการก็เริ่มคุมเกมไม่อยู่ เมื่อทรัมป์พยายามพูดแทรกหลายครั้ง จนโจ ไบเดน ฉุนขาดถึงขั้นตอบกลับไปว่า ‘‘Will you shut up, man?’’ (นายช่วยหุบปากได้รึยัง?) จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างสาดคำวิจารณ์โจมตีไปที่ตัวบุคคลกันไม่ยั้ง

แน่นอนว่าการดีเบตถึงอนาคตของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ว่า เหมือนเด็กทะเลาะกันมากกว่า และแทบไม่มีการขับเคลื่อนประเด็นที่ควรจะพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับโรคโควิด-19 ปัญหากระบวนการยุติธรรมกับคนผิวดำ และปัญหาเศรษฐกิจ  

กลับมาที่ไทย  ในสังคมที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการถกเถียงในประเด็นต่างๆ อย่างเปิดเผย การดีเบตหลายครั้งที่ถ่ายทอดสดออกอากาศในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอันร้อนระอุ จึงลงเอยด้วยการพูดแทรกแซง วาทกรรมอมตะจากสิบกว่าปีก่อน การเบี่ยงประเด็น และโจมตีตัวบุคคล 

พานให้สงสัยว่า ทำไมเรายังต้องมาเถียงในเรื่องเดิมๆ กับชุดความคิดเดิมๆ ในขณะที่หลายประเทศได้จบวิวาทะเช่นนั้นไปเป็นศตวรรษแล้ว  

ที่มา :

https://sites.google.com/a/westlakeacademy.org/wa-debate-club/home/debating-overview/history-of-debating

https://www.british-history.ac.uk/london-record-soc/vol30/pp1-14

https://www.british-history.ac.uk/london-record-soc/vol30/vii-xiii

https://www.cambridge.org/core/journals/historical-journal/article/london-debating-societies-in-the-1790s/352D109F939A107A7A354D3F3DB44678

https://www.anselm.edu/news/presidential-primary-debate/about-debate/history-debates

https://www.nytimes.com/2020/09/29/us/politics/trump-biden-debate.html

Tags: ,