หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้สัญจรผ่านเส้นทางย่านสยาม เจริญกรุง จตุจักร และเกาะรัตนโกสินทร์ คงเริ่มได้ผ่านตาเห็นป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ที่บอกข้อมูลการเดินทางให้เข้าใจง่าย ช่วยให้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกการเดินทางได้มากกว่าเดิม
ป้ายที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ คือป้ายบอกข้อมูลเส้นทาง 2 แบบ ติดตั้งบริเวณป้ายรถเมล์โดยสาร ผู้ออกแบบคือกลุ่ม ‘เมล์เดย์’ หรือตามที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Mayday’ ซึ่งอธิบายให้เราฟังว่า ป้ายทั้งสองนี้มีชื่อเรียกว่าป้าย Type A และป้าย Type C สองป้ายนี้ทำหน้าที่ส่งเสริมกันเพื่อความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสารรถเมล์ประจำทาง โดยป้าย Type A ได้รับการออกแบบใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ของข้อมูลได้มากขึ้นทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง โดยที่ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะใกล้หรือไกลตามลำดับข้อมูลที่สำคัญต่อการรับรู้ อาทิ บอกเลขสาย ตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบัน ข้อมูลแสดงจุดหมายปลายทางว่าสามารถเดินทางด้วยรถเมล์สายใดได้บ้าง แผนผังเส้นทางการเดินรถ
ส่วนป้าย Type C คือป้ายซึ่งบอกข้อมูลระดับย่าน เพื่อตอบโจทย์การเดินทางในย่านนั้นๆ โดยระบุการค้นหาปลายทาง และระยะการเดินเท้าที่สามารถกระจายออกจากพื้นที่ได้ในระยะไม่เกิน 450 เมตรโดยไม่ต้องขึ้นรถเมล์ ควบคู่กับแผนที่แสดงบริเวณใกล้เคียงเพื่อส่งเสริมการสัญจรโดยไม่ต้องใช้รถ
กว่าจะเป็นป้ายข้อมูลที่ออกแบบมาให้เข้าใจง่ายดังที่เห็นนี้ ทีมเมล์เดย์ใช้เวลาถึงสามปีนับจากวันที่เริ่มคิดการณ์ ต้นไอเดียเกิดจาก แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย ชายหนุ่มซึ่งใช้บริการรถสาธารณะเป็นประจำจนได้ชื่อว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้รถเมล์ไทยคนหนึ่ง ที่อยากจะพัฒนาระบบรถเมล์ให้ดีขึ้น เพราะในช่วงปี 2559 ซึ่งมีประชาชนเดินทางมายังเกาะรัตนโกสินทร์จำนวนมาก เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องประสบกับความยากลำบากในเรื่องข้อมูลการเดินทาง เขาจึงชักชวนเพื่อนร่วมงานมาร่วมกันออกแบบป้ายข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงนั้น
จากป้ายฟิวเจอร์บอร์ดธรรมดาที่วางคู่กับป้ายรถเมล์แบบเดิมในปี 2560 ไอเดียของเมล์เดย์ได้รับการสนับสนุนและร่วมลงขันทางความคิดจากภาคประชาสังคม ป้ายรถเมล์แบบใหม่ถูกพัฒนาขึ้นทุกปีผ่านการนำเสนอในงาน Bangkok Design Week ตั้งแต่ปี 2560-2562 จนถึงวันนี้ป้ายรถเมล์ลำดับที่ 4 ของพวกเขา ก็ได้โอกาสใช้งานและติดตั้งจริง แต่จะมีสักกี่มากน้อยคนที่รู้ว่าเบื้องหน้าของป้ายที่ดูสะอาดตาเข้าใจง่ายนั้น มีเบื้องหลังที่ต้องฝ่าด่านของความยากลำบากที่มีอยู่ในแทบจะทุกขั้นทุกตอน ทฤษฎีการออกแบบถูกนำมาพลิกแพลงจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจที่สุด ขณะที่ข้อมูลต่างๆ ถูกระดมขึ้นใหม่จากมดงานอาสาที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
เรานัดพบกับทีมเมล์เดย์ที่ชั้นบนสุดของโฮสเทล Once Again ใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากจะเป็นห้องระดมความคิดของชาวเมล์เดย์แล้ว ยังเป็นสำนักงานของ Trawell บริษัทด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นอีกงานหลักของชาวเมล์เดย์เช่นกัน โดยมี อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร, ศา-ศานนท์ หวังสร้างบุญ และวิชญ์-กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ เป็นตัวแทนในการเล่าถึงเบื้องหลังที่มา และ ‘นัย’ บางประการที่ซ่อนอยู่ของการทำงานที่มีประชาสังคมเป็นต้นความคิด
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าหลังจากที่คุณแวนปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมาแล้ว คุณสานไอเดียนี้กันอย่างไร
วิภาวี : เขามาเล่าให้พวกเราที่ออฟฟิศฟังกันถึงความคิดที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นออปชันสำหรับทุกคน แวนมีไอเดียว่าพื้นที่ด้านล่างป้ายรถเมล์ยังมีเหลืออยู่ เลยลองทำดราฟต์ป้ายรถเมล์เวอร์ชั่นแรก ให้บอกข้อมูลเส้นทางของแต่ละสายว่าในจุดถัดไปรถเมล์จะไปที่ไหนต่อบ้าง และมีการตั้งชื่อป้ายเพราะเรารู้สึกว่าชื่อจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้เราไม่หลงทางแน่นอน อย่างน้อยเราก็รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน แล้วนำไปเสนอกับ สจส. (สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร) เพื่อขออนุญาตติดตั้งที่ป้ายรถเมล์ตรงแยกคอกวัวสองป้ายเพื่อทดลองดู เป็นป้ายง่ายๆ ที่ทำด้วยฟิวเจอร์บอร์ดแล้วเอาไปแปะ ตอนนั้นได้รับการตอบรับค่อนข้างดีว่ามันเป็นการใช้พื้นที่ได้เป็นประโยชน์ ดีกว่าให้มีเลขสายอย่างเดียว แล้วเสียงตอบรับที่ดีก็ทำให้ในเดือนเดียวกันนั้นแวนได้ขึ้นไปพูดเรื่องรถเมล์ในงาน TED Talks (เวทีสร้างแรงบันดาลใจโดยเหล่า speaker ในด้านต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์) ในปี 2560 จนได้ฐานแฟนคลับมาประมาณหนึ่งสำหรับการทำงานนี้ แล้วทาง TCDC (Thailand Creative and Design Center-ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) ก็ได้ให้โอกาสเราไปเปิดเวิร์กชอป นั่นเป็นจุดแรกที่เมล์เดย์ได้เริ่มกระบวนการการมีส่วนร่วม
มีประเด็นไหนบ้างที่คุณโยนลงไปในเวิร์กชอปคราวนั้น
วิภาวี : เราเปิดกว้างเลย ให้เขาร่วมกันคิดว่าปัญหาการเดินทางของคุณมีอะไรบ้าง ปรากฏว่าผลลัพธ์ไม่หลุดออกจากป้ายรถเมล์เลย ทุกคนรู้สึกว่าข้อมูลในการเดินทางขาดหายมากๆ เขาไม่รู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ไหน ต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร ต้องไปอย่างไร ต้องลงตรงไหน เขาก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเรียก Grab ทีเดียวจบ
แล้วจากตรงนั้นก็เป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาโปรเจกต์ป้ายทั้งหมด จากป้ายแรกที่ทำเป็นตัวทดลอง เราขอทาง สจส.ว่าตอนนี้มีอาสาสมัครสนใจ อยากช่วยเราพัฒนาเยอะมาก เราขอทำมากกว่าสองป้ายได้มั้ย แล้วเราก็ได้ทำป้ายขึ้นมาเป็น 120 ป้าย รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็ตอบสนองกับงานพระราชพิธีพระบรมศพด้วย เพราะมีเวลาต่อเนื่องยาวนาน เรียกว่าเราใช้สิทธิพิเศษของช่วงเวลาพิเศษในพื้นที่นี้เหมือนกัน อยากทำให้มันรีบเกิดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แล้วเราก็ได้รับอนุญาตแต่โดยดี เราส่งแบบไป แล้ว สจส.ก็ทำการติดตั้งให้
ข้อมูลที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไปบนป้ายชุดแรกนั้นผ่านกระบวนการและที่มาอย่างไรบ้าง
วิภาวี : จากหัวแวนล้วนๆ เลยค่ะ พอมาทำเป็น 120 ป้าย โอ้โห ข้อมูลเยอะมากเลย การจัดสรรข้อมูลตอนนั้นเราต้องทำกันเอง แต่เราก็มีอาสาสมัครที่ได้มาจากงาน TED Talks มาร่วมเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วย วันนั้นพวกเรา 60-70 คนเดินเข้าไปในเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อสำรวจว่ามีป้ายรถเมล์ที่จุดไหนบ้าง โชคดีที่ได้ทางบุญมีแล็บ (บริษัทที่ทำงานด้านพัฒนาโปรแกรมและแพลตฟอร์ม) พัฒนาแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลให้ เราไปถึงก็ถ่ายรูปแล้วพิมพ์มาแจ้งว่าคนแถบนั้นเรียกชื่อป้ายว่าอะไร แล้วทำกันเสร็จภายในหนึ่งวัน รวดเร็วมาก
งานนี้ทำให้เรารู้ว่าแฟนคลับรถเมล์ไม่ได้มีแวนแค่คนเดียว แต่เขามีกันเป็นชมรม Bangkokbusclub กับรถเมล์ไทยแฟนคลับ เป็นกลุ่มคนซึ่งรักและสนใจเรื่องรถเมล์อยู่จำนวนหนึ่ง เขามาช่วยเรากรองสายรถเมล์ทั้งหมด มานั่งตรวจสอบว่าป้ายนี้มีรถเมล์สายไหนผ่านบ้าง ควรตั้งชื่อป้ายว่าอะไร จุดผ่านที่ควรจะบอกมีอะไรบ้าง ส่วนเราซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ก็มีความยากตรงที่ต้องเอาข้อมูลของทุกคนมาซิงค์กันให้ได้ ซึ่งพอเอาข้อมูลมาจัดเรียงปรากฏว่าเราได้มา 20,000-30,000 ชุดข้อมูล เยอะมาก แต่ก็ฝ่าฟันทำกันไปได้
ในส่วนของการออกแบบ เรื่องการทำสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย ทำอย่างไรถึงจะให้คนเข้าใจได้ตรงกันทั้งหมด
วิภาวี : ส่วนนี้เราได้ ThaiGA (สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย) มาช่วยในการออกแบบว่าแพทเทิร์นในการเล่าที่ดีควรเป็นอย่างไร สัญลักษณ์ที่ใช้ สีที่ใช้ต้องเป็นสีที่คนตาบอดสีแยกได้ เราใช้คนเยอะมาก
กรวิชญ์ : ตอนทำป้ายทดลอง เราใช้ตัวอักษรแบบที่ดูทันสมัย ไม่มีหัว แต่พอได้ผ่านเวิร์กชอปกับผู้เชี่ยวชาญ ก็มีการคุยกันว่าเราควรออกแบบตัวอักษรให้ทุกเพศทุกวัยอ่านได้ง่ายขึ้น ตัวอักษรก็กลับมามีหัว มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล ในยุค 120 ป้ายเราเน้นสีสำหรับคนตาบอดสี แต่ป้ายที่พัฒนาต่อมาเราใช้สีที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงแทนรถร้อน สีน้ำเงินแทนรถเย็น สีเหลืองแทนรถทางด่วนเพราะปกติป้ายทางด่วนหน้ารถจะเป็นสีเหลืองเหมือนกัน โดยเป็นสีที่คนปกติเห็นกันทั่วไป
วิภาวี : คือตอนทำ 120 ป้ายนั้นเป็นป้ายที่เรายังไม่เคยทำรีเสิร์ชกันมาก่อน เพราะเราพัฒนามาแล้วให้ ThaiGa ทำต่อ แต่เราก็พยายามเก็บข้อมูลหลังจากที่ติดตั้งไปแล้วว่ามันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไร พอทำไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าการออกแบบที่มีสัญลักษณ์เยอะขนาดนี้ มันไม่ต่างจากการที่เราออกแบบ user interface ของแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเลยนะ วิธีคิดใกล้กันมาก ว่าจะทำยังไงให้คนอ่านไล่สายตาไปยังตรงนี้ก่อน ก็ศึกษาข้อมูลเป็นลำดับ
แล้วมีวิธีการประเมินผลการใช้งานหลังจากนั้นกันอย่างไร
วิภาวี : เราทำแบบสอบถาม ซึ่งในตัวแบบสอบถามเราไม่ได้สอบถามแค่ว่าคุณพึงพอใจแค่ไหนกับป้ายนี้ ให้คะแนนหนึ่งถึงห้า แต่เราทำแบบสอบถามคล้ายควิซ ถามคำถามเลยว่า ป้ายถัดไปของสาย 36 คือป้ายอะไร เพื่อวัดความเข้าใจว่าที่คุณบอกว่าคุณเข้าใจว่าป้ายนี้สื่อสารได้ดีมาก คุณตอบถูกหรือยังตอบผิด ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่าทั้งที่คนชมเยอะมากเลยว่าเข้าใจง่ายขึ้น แต่จริงๆ แล้วเขายังมีความเข้าใจผิดอยู่ในนั้น เราจึงคิดว่าเรายังตีโจทย์ไม่แตก เรายังต้องพัฒนาต่อ เช่น ตัวบอกเส้นทางที่ทำเป็นเส้นทางยาวลงมา บางคนเขาคิดว่าป้ายที่ไปข้างหน้าต้องอ่านจากล่างขึ้นบน บางคนคิดว่าต้องอ่านจากบนลงล่าง มีผลแบบสอบถามที่คนไทยไม่รู้ว่าทิศเหนืออยู่ตรงไหน เพราะเราไม่เคยระบุทิศเหนือในชีวิตประจำวันเรา ดังนั้นแล้วการใช้แผนที่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ
เรามีการพัฒนาป้ายรถเมล์ไปเรื่อยๆ โดยศึกษาจากพฤติกรรมโดยไม่ให้คนใช้งานรู้ตัว เป็นการออกแบบโดยให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ทุกครั้งที่มีการพัฒนาป้ายไปสู่รุ่นต่อๆ ไป เราจัดเวิร์กชอปทุกครั้งและทำรีเสิร์ชในเชิงลึกทุกครั้งว่าแบบนี้โอเคมั้ย เห็นด้วยหรือเปล่า
เสียงสะท้อนที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างเป็นอย่างไรบ้าง
วิภาวี : ข้อเสนอแนะมีหลายประเภท มีประเภทที่อยากให้คำแนะนำสุดโต่งเลยเพราะเคยไปต่างประเทศมา ถ่ายรูปป้ายรถเมล์ในมาเก๊ามาให้ดู หรือกระทั่งในเพจ Mayday ของเราเองก็จะมีคอมเมนต์ที่ยาวมาก ทุกคนมีข้อเสนอแนะเต็มไปหมด เรารู้สึกว่าผู้ใช้งานจริงๆ แล้วเขาไม่ได้แค่ใช้งาน ไม่ได้แค่ระบุปัญหาให้เราได้อย่างเดียว แต่เขาสามารถให้ทางออกได้ด้วย
เวลาที่เรามีเวิร์กชอปในช่วงงาน Bangkok Design Week เราได้เห็นการเข้าร่วมที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก เป็นภาพของเด็กมัธยมอายุ 14-15 ถกเถียงกับคุณลุงอายุ 60 คุณลุงอายุ 60 แย้งกับอาจารย์มหาวิทยาลัย เมื่อทุกคนกล้าพูด ก็เห็นความคิดเห็นในการแก้ปัญหา มันยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าทุกคนพูดเรื่องปัญหานี้กันได้หมด และมีแนวทางแก้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจหรือคนที่หาทางแก้อยู่เท่านั้น แต่เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ
มีอะไรที่เป็นปัญหาร่วมกันของคนทุกกลุ่มทุกวัย
กรวิชญ์ : หนึ่งคือข้อมูลไม่เพียงพอ เป็นสิ่งที่เหมือนกันหมดเลย กลุ่มที่ใช้รถเมล์ประจำในเส้นทางเดิมเขาก็อยากรู้ข้อมูลระดับหนึ่ง กลุ่มที่ใช้บ้างไม่ใช้บ้างอาจจะอยากได้ข้อมูลมากกว่า หรือว่ากลุ่มไม่เคยใช้เลยก็จะเป็นกลุ่มที่อยากรู้ข้อมูลมากที่สุด ข้อสองเป็นเรื่องขนาดตัวอักษร เพราะมีคนหลายวัย บางคนอยากได้ตัวใหญ่มาก บางคนอยากได้เป็นออฟไลน์ แต่บางคนรู้สึกว่ายุคนี้แล้ว มันก็น่าจะเป็นแบบออนไลน์ สมาร์ต สามารถทัชหน้าจอเพื่อเปลี่ยนสาย ดูตารางเวลาได้ เราก็ต้องมาจูนกันเพื่อให้รองรับกับคนทุกกลุ่มได้เพื่อให้ป้ายนี้ตอบโจทย์คนได้มากที่สุด
ซึ่งก็มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อีก
วิภาวี : ใช่ค่ะ จริงๆ แล้วโครงป้ายสีน้ำเงินของป้ายรถเมล์ มันเป็นกฎหมาย ว่าทุกป้ายรถเมล์ต้องมีลักษณะแบบนี้ ซึ่งก็อยู่กับเรามาเนิ่นนานมากแล้ว แต่พอได้มานำเสนอในงาน Bangkok Design Week ซึ่งเขาอยากให้เป็นช่วงเวลาพิเศษ ให้นักออกแบบนำเสนอได้เต็มที่ว่าอยากพัฒนาอะไรกับป้ายนี้ ป้ายรุ่นต่อมาเราก็ทำเป็นป้ายที่มีพื้นที่ในการให้ข้อมูลเยอะขึ้น มีพื้นที่สี่เหลี่ยมสี่ด้าน มีลูกเล่นในการวางเทมเพลต มีแผนที่เพิ่ม มีดัชนีง่ายๆ จากที่หาเลขสายว่าสายอะไรผ่าน เราใช้วิธีหาที่ที่จะไปแล้วไปดูว่ามีสายอะไรผ่านแทน มันก็ช่วยย่นเวลาได้เยอะ
พอเราได้พื้นที่เพิ่มเราเลยทำได้หลายรูปแบบมากขึ้น แล้วกลายเป็นว่าทุกรูปแบบเวิร์กหมดเลย แต่ละด้านของป้ายสี่เหลี่ยมมันส่งเสริมซึ่งกันและกัน ให้ข้อมูลที่เข้าใจได้มากขึ้น เพราะเรามีพื้นที่ให้ข้อมูลทั้งสี่ด้านเลย กระทั่งถึงป้ายล่าสุดคือป้ายตัวที่สี่ เราเอาชุดข้อมูลทุกอย่างที่เราเคยนำเสนอจับมาลงในป้ายนี้ ทุกป้ายที่พัฒนามาได้รับการต่อยอดกันมาเรื่อยๆ จากการวิจัย จากการสร้างกระบวนการ มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันเยอะ ทั้งวิศวกร นักออกแบบสถาปัตย์ไอดี (Industrial Design) มาช่วยกันคิดว่าทำยังไงให้โครงสร้างมันสามารถให้ข้อมูลทั้งหมดได้ และคนสะดวกในการใช้งาน
สรุปแล้วเราปรับกันกี่ครั้งจนมาถึงป้ายล่าสุดที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้
กรวิชญ์ : แบบล่าสุดคือครั้งที่สี่ ด้วยความที่เราติดกฎหมายว่าไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะป้ายได้ มันก็เลยเกิดแนวคิดง่ายๆ ว่าถ้าอย่างนั้นเราประกบแผ่นเข้าไปในโครงสร้างเดิม จนพัฒนามาสู่การครอบลงไป แล้วมีผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าเราปรับให้สเปซมันเอียงขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการอ่านมั้ย คือปกติถ้าอยู่ในแนวตรงเราต้องมองเฉียง ดังนั้นอะไรที่อยู่ด้านล่างเราจะมองไม่ถนัดเพราะต้องก้ม พอเราทำป้ายให้เอียงรับสายตาเรา เราจะมองได้มากขึ้นโดยไม่ต้องก้ม ทำให้เราสามารถเพิ่มพื้นที่ในการใส่ข้อมูลได้มากขึ้นด้วย
นอกจากป้ายรถเมล์ ยังมีป้ายข้อมูลของย่านที่อยู่คู่กันด้วย
วิภาวี : สองสิ่งนี้ไม่ได้เกิดมาควบคู่กัน เราอยากทำป้ายรถเมล์นี้ก่อน แต่ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วกรุงเทพมหานครอยากทำป้ายข้อมูลรถโดยสารประจำทาง คือป้ายที่อยู่ใกล้ตำแหน่งจุดจอด แต่จะบอกข้อมูลของรถประจำทางทั้งหมดในบริเวณย่านนั้นซึ่งมีเยอะมาก พอเราจะต้องปรับปรุงก็ตกใจในข้อมูลมาก เพราะโจทย์จาก กทม.คือ หนึ่งป้ายบอกข้อมูลหลายสิบสายหลายร้อยป้าย หมายถึงตัวป้ายเดิมเขานะคะ แล้วแต่ละสายจอดเป็นร้อยป้าย เขาก็พยายามจะบอกข้อมูลของทุกป้ายของทุกสายในนั้น ดังนั้นข้อมูลก็จะเหลือตัวนิดเดียวซึ่งเล็กมาก ดังนั้นในวันที่เราออกแบบป้ายนี้เสร็จแล้วนำไปโชว์ที่ TCDC ก็มีเพจ Drama-Addict มาถ่ายรูปป้ายเราไปเปรียบเทียบกับป้ายของกรุงเทพมหานครซึ่งมีตัวหนังสือเล็กๆ จนเป็นดรามาใหญ่โต
กรวิชญ์ : กทม.ก็เลยคุยกับเราว่าอยากพัฒนาป้ายนี้ โดยที่ กทม.อยากให้ข้อมูลเท่าเดิม เราก็คุยกับในทีมว่าเราจะทำยังไงให้การย่อยข้อมูลของ กทม.ลงมาไว้ในนี้ได้ นั่นคือปี 2561 นะครับ
วิภาวี : ทุกคนปวดหัวมึนงงว่าทำไม่ได้จริงๆ เพราะข้อมูลเยอะมาก จะจัดเป็นแผนที่ เป็นเส้นทาง ก็ไม่เข้าใจไปหมด เรามีแผนที่ทดลองอันแรกที่รู้สึกว่าอยากปล่อยออกไปเพราะทาง กทม.ก็อยากจะรีบพัฒนา เราจึงรีบทำไปก่อน โดยเลือกเทมเพลตที่เข้าใจง่ายแบบเดิมๆ ที่เราเคยทำ แต่ปรากฏว่าพอเราไปเก็บข้อมูล คนตอบผิดเยอะมาก นั่นหมายความว่าคนไม่เข้าใจเลยว่าอันนี้ต้องการสื่อสารถึงอะไร คนสับสนว่าป้ายรถเมล์ก็บอกข้อมูลแค่ป้ายนี้สิ จะไปบอกทั้งหมดทั้งย่านทำไม ต้องการอะไร
กลายเป็นว่าข้อมูลเยอะเกินไปก็ไม่ดีสำหรับคนใช้งาน
วิภาวี : ใช่ค่ะ มันสร้างความสับสน พอทำแบบสอบถามก็ได้ผลตอบรับเยอะมากว่าควรแก้ยังไง ทำให้เราได้ข้อคิดเห็นในการนำมาใช้งานจริงเพื่อแก้ไขเยอะมากจากความผิดพลาด จนได้มาเป็นป้าย TypeC ซึ่งพัฒนามาแล้วให้สอดคล้องกับป้าย TypeA ให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน เพื่อจะได้สร้างระบบการสื่อสารใหม่ของป้าย
อย่างนั้นแล้วป้าย TypeC ที่ติดตั้งอยู่นี้ถือได้ว่าสมบูรณ์หรือยัง
กรวิชญ์ : จากปริมาณข้อมูลตอนแรกของกรุงเทพมหานครที่ให้มาทั้งย่านเกาะรัตนโกสินทร์ มีรถเมล์เข้าออกมากกว่า 40 จุด ซึ่งพื้นที่มันใหญ่มาก เช่น เราอยู่ตรงราชดำเนิน แต่ป้ายนี้บอกรถที่เข้าตรงปากคลองตลาดหรือเข้าแถววัดพระแก้ว ซึ่งคนไม่ได้ใช้อยู่แล้ว เราเลยพัฒนาต่อด้วยการขอกรุงเทพมหานครว่าขอลดคำว่าย่านได้มั้ย โดยให้พื้นที่เล็กลงแล้วครอบคลุมการใช้งานบริเวณนั้นไปเลย เช่น ย่านราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ในวงกลมของป้าย TypeC จะมีป้ายข้อมูลของป้าย TypeA อยู่ด้วย โดยเราทำ 30 ป้ายเพื่อเชื่อมโยงกันก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมของคนใช้งานเหมือนกัน เพราะระบบการลิงก์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือประเทศเรามาก่อน
วิภาวี : สำหรับอุ้มคิดว่าตอนนี้มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา แต่พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้นความเข้าใจของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเดี๋ยวก็มีโครงการปฏิรูปรถเมล์ จะเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ทั้งหมด จะมีการระบุตำแหน่งใหม่ ซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ดังนั้นก็น่าจะยังต้องมีการปรับปรุงเพื่อรองรับระบบรางที่เข้ามาด้วยเพิ่มเติม เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่ทำแล้วสมบูรณ์แล้วจบแค่นี้หรอก เพราะมนุษย์ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา
มีคำถามตามมาไหมว่าเมื่อก่อนป้ายรถเมล์เป็นพื้นที่โฆษณาเพื่อสร้างรายได้ได้ แต่เมื่อปรับรูปแบบมาเป็นแบบนี้ มันไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่โฆษณาได้แล้ว
วิภาวี : มีการพูดถึงเยอะมาก อย่างป้ายก่อนหน้านี้ที่พื้นที่ข้างล่างให้ข้อมูลไม่ได้เพราะต้องก้มลงไปอ่าน ก็มีบางคนเสนอมาว่าก็ทำพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่โฆษณาสิ โอเค เราก็เห็นด้วย เราดูแล้วก็ว่าเหมาะสม มองจากระยะไกลๆ ก็เห็น แต่ก็มีคนที่เข้าร่วมเวิร์กชอปเสนอว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ามั้ยถ้าเราจะเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นเป็นการบอกเส้นทาง ซ้ายเป็นข้าวสาร ขวาเป็นพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเรามองว่าพอมันเปลี่ยนเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มันดีกว่าที่จะให้ป้ายขายสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง เราให้การขายสินค้าอยู่ในพื้นที่อื่นมั้ยล่ะ อย่างตรงศาลาถ้ามีพื้นที่ในการโฆษณาเราไม่ติดเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันก็เป็นการสร้างรายได้ในการบำรุงศาลานั้นได้ด้วยในอนาคต แต่ก็ต้องให้น้ำหนักนิดหนึ่ง ความสำคัญของข้อมูลจะต้องสูงกว่าความสำคัญของพื้นที่โฆษณา เพราะเป็นหน้าที่หลักของมัน
การเป็นกลุ่มคนทำงานแบบเมล์เดย์ทำให้เข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้พัฒนารูปแบบของป้ายง่ายขึ้นไหม
วิภาวี : เข้าถึงได้ยากมากเลยค่ะ ป้ายรถเมล์ป้ายหนึ่งมีผู้รับผิดชอบสามหน่วยงาน คือกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของสตรีทเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด หมายถึงทุกอย่างที่อยู่ในพื้นที่ทางเท้าสาธารณะ เช่น เก้าอี้สาธารณะ ถังขยะ ต้นไม้ ยกเว้นเสาไฟฟ้า ดังนั้นแล้วป้ายรถเมล์ซึ่งอยู่บนทางเท้าก็มีกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งตัวโครงสร้าง ความสะอาด การผลิต การติดตั้ง การดูแลรักษา ส่วน ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ได้รับสัมปทานจากกรมการขนส่งทางบกในการเดินรถ เป็นผู้กำหนดว่ารถแต่ละสายจะจอดที่ป้ายไหนบ้าง โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ระบุตำแหน่งป้าย แล้วตำแหน่งป้ายที่ระบุที่ผ่านมาเป็นการระบุลงกระดาษ ไม่มีการจัดการข้อมูลลงระบบดิจิทัลเลย เป็นอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนเราเกิด เรามีสามหน่วยงานที่เราต้องการข้อมูล แต่ข้อมูลของทั้งสามหน่วยก็ไม่ตรงกันเลย
แล้วเมล์เดย์ซึ่งจะต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงที่สุด
วิภาวี : เราใช้ประโยชน์จากกลุ่มแฟนคลับรถเมล์ล้วนๆ เลย พวกเขาเป็นคนกรองข้อมูลทุกอย่าง บางสายสัมปทานที่เขาต้องเดินรถ เส้นทางเขาต้องเลี้ยวซ้ายแยกนี้ แต่เขาไปเลี้ยวซ้ายในแยกก่อนหน้านี้ ไม่ได้เดินตามสัมปทานมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากผ่านนะ แต่เขาทำกันมาเนิ่นนานแล้วและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเส้นทางที่ผิด คนที่นั่งรถเมล์ในเส้นทางนั้นประจำจะรู้เส้นทางว่าจะไปทางไหน หรือบางป้ายที่ใกล้แยกมากๆ มีรถคันนี้ต้องเลี้ยวขวา แต่ป้ายที่ต้องจอดก่อนแยกนั้นอยู่ใกล้แยกมาก เขาก็เลยไม่จอดป้ายนั้น ทั้งที่ตามสัมปทานระบุไว้ว่าต้องจอด ซึ่งข้อมูลพวกนี้เราจะไม่มีทางเจอได้เลยในเอกสารทางราชการ
แล้วความยากจากนั้นคือพื้นที่ของป้ายในการให้ข้อมูลมีจำกัดมาก เราไม่สามารถบอกป้ายรถเมล์ทุกป้ายของแต่ละสายได้ เราก็ต้องเลือกป้ายที่สำคัญ ป้ายที่คนรู้ เช่น ป้ายสยามต้องมีแน่นอน แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเพราะพอมันมีร้อยป้ายปุ๊บ เราจะเลือกยังไงว่าป้ายไหนสำคัญ พอเราไปฝั่งรัตนาธิเบศร์ซึ่งเราไม่คุ้นเคยเราก็งงแล้ว จะเลือกจากสถานที่ราชการมั้ย แต่สถานที่ราชการบางที่คนไม่ได้เรียกแบบนั้นอีก เขาเรียกชื่อต่างกัน หรือบางเคสหน้าปากซอยซอยหนึ่ง อ่านชื่อคร่าวๆ คิดว่าไม่สำคัญหรอก แต่ความจริงเมื่อไปเห็นคือเป็นป้ายที่มีคนขึ้นลงเยอะมากเพราะมีแต่หมู่บ้านที่ทุกคนมารอรถ ถ้าเราไม่ได้ผ่านเส้นทางนั้นประจำเราจะไม่รู้
ที่จริงสิ่งนี้เราแก้ปัญหาได้ด้วยข้อมูลที่ ขสมก.มีอยู่ในรถแต่ละคัน เขาจะรู้ว่าป้ายนี้มีคนขึ้นลงเท่าไร เพราะเขามีจีพีเอสอยู่บนรถและเซ็นเซอร์นับคนขึ้นลง ตรงนี้จะช่วยให้งานเราที่ต้องจัดการหายไปเกินครึ่ง แต่ปัญหานี้คือกรุงเทพมหานครไม่สามารถประสานขอข้อมูล ขสมก.ให้เราได้ และกรุงเทพมหานครไม่สามารถประสานขอข้อมูลกรมการขนส่งทางบกให้เราได้ ไม่ใช่แค่มีข้อมูลคนละชุดนะคะ แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ด้วย (หัวเราะ) เหมือนเขามีเงื่อนไขของข้อมูลตัวเองเยอะ เราเลยงงกันมากว่า อ้าว แล้วจะทำยังไงต่อ ดังนั้นทุกอย่างจึงมีความเป็นงานคราฟต์มากๆ เลย กทม.ส่งจดหมายขออนุญาตเข้าอู่ ขสมก.ให้เรา แล้วเราเข้าไปในอู่เพื่อสัมภาษณ์กระเป๋ารถเมล์ทีละคน
กรวิชญ์ : ซึ่งข้อมูลว่าป้ายไหนคนขึ้นลงเยอะก็ขึ้นกับช่วงเวลาด้วย เพราะมีกะเช้ากะบ่าย แต่ละกะก็ข้อมูลไม่เหมือนกันอีก ช่วงเช้าคนลงป้ายนี้เยอะ เราก็เก็บข้อมูลจากหลายๆ คน แล้วค่อยมาดูว่าป้ายไหนควรมีการปรับปรุงมากที่สุด
วิภาวี : มันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราขอข้อมูลตรงนั้นไม่ได้ ซึ่งถ้าได้ข้อมูลนั้นมามันจะย่นเวลาการทำงานได้เยอะมากเลย และป้ายที่เราทำจะเพอร์เฟ็กต์กว่านี้แน่นอนเพราะเป็นข้อมูลที่แท้จริงมากกว่า ทั้งในเชิงตัวเลข ปริมาณ เราแทบไม่ต้องพิสูจน์แล้ว เพราะระบบนับให้แล้ว ความถูกต้องของข้อมูลก็จะดีขึ้น หรือสุดท้ายแล้วเราอาจจะเจอรูปแบบการนำเสนออื่นๆ จากข้อมูลชุดนี้ก็ได้ที่จะทำให้การออกแบบมันดีขึ้น
จะมีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อรองรับระบบรถเมล์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไหม
กรวิชญ์ : จริงๆ ผมก็สนับสนุนให้เกิดระบบดิจิทัลนะ แต่สิ่งที่จะตามมาหากเป็นระบบดิจิทัลคือ หนึ่ง-ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน จริงอยู่ว่าเวลาข้อมูลเปลี่ยน การปรินต์สำหรับออฟไลน์มันเปลือง แต่ว่าระบบดิจิทัลก็มีค่าดูแลบำรุงรักษาตลอดเวลา ค่าอัปเดตข้อมูล ค่าพลังงานที่ใช้ ถามว่าดีมั้ย ดี แต่จะทำตรงนั้นได้ออฟไลน์ต้องดีก่อน เพราะในกรณีที่เกิดไฟดับหรือระบบล่ม ออฟไลน์ก็ยังช่วยได้
ผมได้มีโอกาสไปในหลายๆ ประเทศ ก็ยังเห็นว่าหลายประเทศมีระบบออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ เช่น มีป้ายข้อมูลธรรมดา และมีระบบจอที่บอกว่ารถกำลังมาเมื่อไร พอมาใช้งานร่วมกันก็สมบูรณ์ขึ้น แต่ที่ต่างประเทศเขาค่อนข้างทำงานเป็นระบบที่ซิงค์กันภายใต้การดูแลของหน่วยงานเดียว พอเขาจะเปลี่ยนสายเขาก็รู้อยู่แล้วว่าต้องแก้ข้อมูล รู้ว่ามีป้ายทั้งหมดกี่ป้ายในพื้นที่ที่เขาดูแล ฉะนั้นจึงง่ายมากในการปรับเปลี่ยน ก็แค่สั่งการไปยังคนที่เกี่ยวข้องก็จบ แต่ของเราสมมติกรมการขนส่งทางบกจะเปลี่ยนสาย ประสานงาน ขสมก. แล้วก็ต้องประสานงาน กทม.ให้แก้ป้าย ขนส่งทางบกอาจไม่รู้ว่ามีป้ายอะไรบ้าง กทม.รู้ว่ามีป้ายอะไรบ้างแต่ไม่รู้ว่าข้อมูลต้องแก้อะไร การที่จะอัปเดตข้อมูลมันใช้เวลานาน
ภายใต้เครื่องมือในการทำงานที่เมล์เดย์มีอยู่ ถือว่าพอใจไหมกับผลลัพธ์ในตอนนี้
ศานนท์ : ก็ยังอยากให้ดีขึ้นไปเรื่อย แต่การเกิดขึ้นของสิ่งที่เราทำมันก็เป็นปรากฏการณ์นะผมว่า เราไม่เคยคิดหรอกว่าสิ่งต่างๆ ในเมืองนี้ประชาชนจะทำได้ อันนี้เป็นข้อดี แน่นอนว่าระบบต่างๆ ที่เล่าไปแล้วมันก็เป็นอุปสรรค ซึ่งจริงๆ เราก็ควรมาทบทวนกันดูว่า เวลาเราโทษระบบ เรากำลังโทษอะไร การที่เราบอกว่าระบบมันเทอะทะ แปลว่าเรายินยอมกับระบบนั้นด้วยหรือเปล่า ถ้าอยากจะแก้เราก็ต้องอยากทำให้ระบบมันดีมากกว่าจะไปโทษที่ระบบ เพราะระบบมันไม่มีตัวตน เราเลยรู้สึกว่าอันนี้เป็นโอกาสมากกว่า
จริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำมันเล็กน้อยมาก แทบเป็นจุดเล็กๆ ของระบบขนส่งมวลชน ต่อให้เราเปลี่ยนป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ มันก็ไม่ได้ทำให้คนใช้รถส่วนตัวลดน้อยลง ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่านั้นในเรื่องนื้คือการผลักดันให้ประชาสังคมหรือประชาชนมีส่วนร่วมให้ได้ในทุกเรื่อง และการจะผลักดันตรงนั้นไปได้จริงๆ ก็ควรจะสร้างเงี่อนไขให้ลดลง ควรจะทำให้ต้นทุนของประชาชนน้อยลง ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะทำแบบนี้ได้อีกสักเท่าไรถ้ารัฐยังไม่เปิดช่องให้เรา สุดท้ายวันหนึ่งเราแก่กว่านี้เราอาจมีข้อจำกัดทางสังคม ทางต้นทุน สุดท้ายก็ไม่มีใครอยากทำให้เมืองมันดีขึ้น ก็ล้มเหลวกันไปหมด
เมล์เดย์มองว่าการที่เข้ามาทำเรื่องป้ายรถเมล์นี้ จะช่วยยกระดับชีวิตคนเมืองอย่างไร
ศานนท์ : อย่างน้อยๆ คนที่อยากขึ้นรถเมล์ เขาก็แค่อยากรู้ข้อมูลตามนี้แหละ ทุกครั้งที่เราเห็นป้ายรถเมล์ มันมีคนมุงตลอด มีคนดูตลอด ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนขึ้นรถเมล์ คนจะชอบบอกว่าคนขึ้นรถเมล์เป็นคนเดิมอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าจะไปไหน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ยิ่งในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ มันก็เป็นที่ที่สัญลักษณ์เหล่านี้สำคัญ แต่ก็ยอมรับกันโดยตรงว่ามันไม่ได้มีเรื่องนี้เรื่องเดียว ผมว่าแค่เราเดินบนถนนเราก็เจอปัญหาเต็มไปหมดแล้ว เดี๋ยวเหยียบฝาท่อ เดี๋ยวเจอน้ำขังฟุตปาธ เราเห็นหมด ถ้าประชาชนรู้สึกว่าเขาช่วยได้ ประชาชนจะไม่ได้เป็นแค่ ‘user’ อีกต่อไป แต่ประชาชนจะเป็นคนให้ไอเดียในการเปลี่ยนเมืองด้วย
เหมือนกับที่การทำงานที่ผ่านมาของเราก็ได้ไอเดียจากประชาชน ได้พัฒนาไปด้วยกัน
ศานนท์ : ผมว่าทัศนคติหนึ่งที่น่าจะดีขึ้นคือ เวลาคนส่วนใหญ่มองปัญหาเขาจะโจมตีไปยังชนชั้นปกครอง แต่วิธีการที่เราพยายามนำเสนอคือเปลี่ยนจากคนถูกปกครองมาเป็นคนร่วมกันคิดว่าทำอะไรได้บ้าง เรื่องฝุ่นคุณคิดว่าคุณทำอะไรได้ คุณมาทำดูสิ เรื่องรถติดคุณคิดว่าคุณทำอะไรได้ คุณก็ทำดูสิ คุณอย่าแค่พูดว่ามันไม่ดี จริงๆ มันไม่ได้ผิดอะไรถ้าเราจะพูด เพียงแต่ว่าสิ่งที่เมล์เดย์กับทีมหรือเพื่อนๆ เรา และประชาชนที่มาช่วยเรากำลังพูดกลับไปคือว่า ฉันคิดว่าแบบนี้ดีกว่า ฉันคิดว่าฉันต้องการแบบนี้
หลังจากนี้กรุงเทพมหานครรับลูกต่อจากเราไปอย่างไร
ศานนท์ : เท่าที่คุยกันเขาอยากก็ขยายเรื่องราวนี้ออกไปสู่สังคม ที่ผ่านมา กทม.ก็สนับสนุนเรา พูดง่ายๆ ว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นถ้า กทม.ไม่ซัพพอร์ตเรา เพราะเราจะไปติดตั้งเองไม่ได้ มันผิดกฎหมาย และตอนนี้รัฐเองก็รับทราบแล้วว่ามันเป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ ที่อยากจะทำให้มันขยายไปได้
ที่ผ่านมาเมล์เดย์ใช้งบประมาณจากไหนในการทำงานนี้
ศานนท์ : เรามีองค์กรสนับสนุนครับ กองทุนคนไทยใจดี ธนาคารกรุงเทพ มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นคือ JICA (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น) พอพูดถึงเรื่องนี้แล้วเราก็อยากจะพูดต่ออีกว่า เราอยากจะผลักดันให้การทำงานลักษณะนี้เติบโตได้ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากบริษัทจำกัด ด้วยวิธีคิด ด้วยเป้าหมายของธุรกิจ และด้วยกลไกในการปันผลต่างๆ เพราะวิสาหกิจเพื่อสังคมจะถูกล็อกในเชิงผลประโยชน์ทั้งหมดเพื่อการเจริญเติบโตทางสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเราคิดว่าตรงกับเจตนารมณ์ของทีม
ตอนนี้วิสาหกิจชุมชนเพิ่งจะผ่านพระราชบัญญัติไป ยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย จึงยังไม่ได้มีกฎหมายลูกมารองรับ ในระหว่างทางเลยทำให้รูปแบบของเมล์เดย์ยังไม่ชัดเจนและยังไม่สามารถเป็นคู่ค้าของทางเทศบาล รัฐ หรืออะไรได้ อีกทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้อำนวยให้กับคนมาใหม่เท่าไร ผมเลยรู้สึกว่าตรงนี้แหละที่เรามองว่าถ้าจะให้มันดีขึ้นได้ ควรจะเปิดให้กับคนที่ให้ความสำคัญกับด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรา เพราะว่าการที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยังยาก นั่นหมายความว่าคุณกำลังจำกัดให้คนมาทำงานร่วมกับรัฐได้น้อย พอมีคนทำงานร่วมกับรัฐน้อย ความคิดสร้างสรรค์ก็จะไม่เกิด เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นทีมเดียวที่ทำเรื่องนี้ได้ เราอยากให้กระบวนการนี้มันเปิด เพื่อที่จะเปิดให้คนที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานแบบนี้ได้มากขึ้น
ซึ่งถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้…
ศานนท์ : เราจะเห็นกลุ่มคนที่ทำงานแบบนี้อีกมหาศาล คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เก่งมาก และเป็นเดือดเป็นร้อนกับปัญหาสังคมมาก เราเห็นกันอยู่ว่ามีหลายๆ อย่างที่เรารู้สึกอึดอัด แล้วทุกคนก็อยากจะทำให้มันดี
ในการใช้ชื่อเมล์เดย์ เป็นความตั้งใจที่จะทำเรื่องรถเมล์อย่างเดียวหรือรวมถึงขนส่งสาธารณะอื่นๆ ด้วย
กรวิชญ์ : คำว่า ‘เมล์’ ถ้าย้อนกับกลับไปมันเริ่มจากเรือเมล์ เป็นเรือที่ใช้ขนส่งเมลที่หมายถึงไปรษณีย์ หลังจากนั้นเรือประเภทนี้ก็ใช้เป็นเรือรับส่งสาธารณะ คนก็ยังเรียกว่าเรือเมล์อยู่ พอระบบขึ้นมาอยู่บนถนนก็เป็นรถเมล์ เมล์เดย์เองก็ไม่ได้มองว่าคำว่าเมล์หมายถึงแค่รถเมล์ แต่หมายถึงขนส่งสาธารณะที่เราใช้งานร่วมกัน มีเป้าหมายว่าเราจะทำเรื่องนี้ทั้งระบบราง ระบบล้อ ระบบเรือ อันนี้คือเป้าหมายหลักของเมล์เดย์
สามปีในการทำงานที่ผ่านมาของเมล์เดย์ คุณมองเห็นโอกาสอะไรบ้าง
ศานนท์ : ถ้ามองเรื่องประชาชน ผมมองว่าศักยภาพของคนมีเยอะมาก เราเห็นผ่านเวิร์กชอปที่เราทำ เราเห็นโอกาส แต่ติดแค่พื้นที่เท่านั้นเองที่มันไม่มีให้คนมาร่วมคิดร่วมทำกัน ซึ่งถ้ารัฐบาลเปิดช่องนี้ ผมว่ามีอีกเยอะแยะมากมายที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกันเราก็มองเห็นโอกาสการปรับปรุงระบบของราชการ ก็คิดว่าจะผลักดันเรื่องนี้ได้
แต่ถ้าพูดในเชิงขนส่งสาธารณะ เราคิดว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเองในการแก้ไขเรื่องนี้ในบ้านเรา ป้ายรถเมล์ที่เราไม่เคยใส่ใจว่ามันสำคัญเพราะเราคงรู้อยู่แล้วว่าสายไหนไปไหนจอดไหน แต่พอมีป้ายรถเมล์ขึ้นมาผมคิดว่ามันเพิ่มจำนวนคนโดยสารรถเมล์ให้เยอะขึ้นได้อย่างเป็นนัยสำคัญ เราไม่ควรมีการส่งเสริมแค่เรื่องสตาร์ทอัปหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การสนับสนุนอะไรที่เป็น offline on ground ก็สำคัญ บนฟุตปาธเราเห็นสตรีทเฟอร์นิเจอร์ของเมืองเต็มไปหมดเลย ตู้โทรศัพท์ที่ไม่มีโทรศัพท์แล้ว เสาไฟเสากล้องวงจร ถังขยะที่เอาโครงมาวางไว้บนฟุตปาธอีก เขาไม่ได้มองฟุตปาธเป็นฟุตปาธอีกต่อไป แต่มองเป็นสถานที่วางสิ่งต่างๆ เพราะเขาให้ความสำคัญกับรถหรืออะไรก็ว่าไป หากมีการเปิดพื้นที่ให้คนมาร่วมคิด และคนเห็นโอกาสในการพัฒนาอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้
Fact Box
- เมล์เดย์ หรือ Mayday เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ต้องการผลักดันให้ขนส่งสาธารณะพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของประชาสังคม โครงการแรกของพวกเขาเป็นที่รู้จักจากการออกแบบป้ายรถเมล์ที่ให้ข้อมูลเข้าใจง่าย เอื้อประโยชน์ต่อการเดินทางของผู้ใช้บริการรถเมล์โดยสารประจำทาง ด้วยความร่วมมือทางด้านความคิดและพัฒนาจากผู้คนในวงการออกแบบและประชาชนผู้ต้องการมีส่วนร่วมผลักดันและเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่สำคัญต่อการเดินทางอย่างป้ายรถเมล์
- สมาชิกหลักของกลุ่มเมล์เดย์ประกอบด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ ซึ่งเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับภาครัฐและองค์กรต่างๆ, วิภาวี กิตติเธียร เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบด้านงานวิจัย ดูแลจัดการโครงการ และประสานงานกับภาครัฐ, กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ เรียนจบสาขาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับผิดชอบงานออกแบบ และวริทธิ์ธร สุขสบาย จากสาขาการออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกลุ่มเมล์เดย์ จัดการข้อมูลและร่วมกันออกแบบป้ายบอกเส้นทางรถโดยสารประจำทางขึ้นมา