“วันนี้เงียบเนอะ” ฉันเอ่ยปากคุยกับป้าเล็ก แม่ค้าขายส้มตำที่รู้จักกันมาช้านาน
จะใช้คำว่าช้านานก็คงไม่ถูกนัก เพราะฉันเพิ่งจะซื้อและย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ยังไม่ถึง 5 ปีเลย ซึ่งก่อนที่จะซื้อบ้านหลังนี้ที่อาจเรียกได้ว่าอยู่ใจกลางเมืองก็ได้ ฉันได้รับคำทัดทานต่างๆ มากมาย เพราะแม้ว่ามันจะอยู่ใจกลางเมืองก็จริง แต่กลับแวดล้อมไปด้วยอาบอบนวด
“ดีออก…ฮวงจุ้ยดี น้ำท่าจะได้อุดมสมบูรณ์” ฉันมักตอบใครไปอย่างนั้น
ร้านส้มตำเล็กๆ ของป้าเล็กที่ขนาบข้างไปด้วยร้านขายก๋วยเตี๋ยวและร้านอาหารตามสั่ง เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ที่น้อยครั้งจะมีลูกค้าหน้าใหม่ๆ เข้ามานั่งรับประทาน ส่วนมากก็จะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ทั้งนั้น สาวๆ ที่ทำงานในอาบอบนวด แม่บ้าน ลูกจ้างตามบ้านหลังใหญ่ในซอย คนงานก่อสร้างที่เปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ตามแต่โครงการคอนโดมิเนียมที่แล้วเสร็จและขึ้นใหม่ อ้อ…ดาราก็มีนะ ในซอยนี้มีบ้านดาราอยู่ ฉันเคยเห็นครั้งหนึ่ง แต่ส่วนมากเขามักจะซื้อกลับเข้าไปกินที่บ้านมากกว่า ส่วนพวกที่ชอบนั่งที่ร้านก็มักจะเป็นสาวๆ อ่าง และฉันที่วันๆ ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหน จึงมักจะฝากท้องที่ร้านป้าเล็กแทบทุกวัน
แต่วันนี้มีฉันยืนสั่งส้มตำปูปลาร้าอยู่คนเดียว
พี่วิน…ไม่ว่าเขาจะชื่ออะไรเราก็จะเรียกว่า ‘วิน’
หลังจากกรุงเทพมหานครประกาศปิดห้างร้านและสถานบันเทิงต่างๆทั้งศูนย์การค้าโรงภาพยนตร์รวมไปถึงอาบอบนวดด้วยไม่ใช่สาวอ่างเท่านั้นที่หายไปจากซีนในชีวิตประจำวันในแถบบ้านฉันแต่ยังรวมไปถึงวินมอเตอร์ไซค์อีกด้วย
ถึงแม้บ้านฉันจะอยู่ใจกลางเมืองแต่วินประจำซอยที่ฉันใช้ประจำนั้นไม่ได้อยู่หน้าปากซอยที่มีคนพลุกพล่านเท่าไรนัก กลับเป็นซอยถัดไปต่างหากที่มีผู้คนจากคอนโดฯ อพาร์ทเมนต์ออฟฟิศต่างๆ ที่ทำให้วินมอเตอร์ไซค์มีความถี่ในการรับ–ส่งผู้คน
ฉันใช้บริการพี่วินคนนี้มาหลายปีก่อนที่จะขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์เอาไว้เผื่อเวลาต้องการอะไรฉุกเฉินแต่ขี้เกียจเดินออกจากบ้านไปเรียกวิน ส่วนในมือถือฉันก็เมมเบอร์และชื่อไลน์ไว้ง่ายๆ ว่า ‘พี่วินหน้าปากซอย’ โดยที่ไม่เคยรู้ว่าพี่เขาชื่ออะไร แม้เราจะเห็นหน้าค่าตากันเกือบทุกวัน นอกจากฉันจะใช้บริการให้เขาไปส่งสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ห้างฯ ในระแวกนั้นซึ่งอยู่ไม่ไกลแล้ว บางครั้งเวลาฉันอยากได้อะไร ตั้งแต่ผักหญ้าเวลาทำอาหารไปจนถึงรีโมทแอร์ ฉันก็มักจะไลน์ไปบอกหรือส่งรูปในไลน์ให้แกไปซื้อให้ แล้วแกก็จะนำมาส่งให้ที่บ้าน
“พี่คะ ฝากซื้อบุหรี่หน่อย เหมือนเดิม สองซอง” ฉันส่งไลน์ไปหาพี่วินเหมือนเคยแต่ไร้การตอบกลับและข้อความก็ไม่ขึ้นว่าอ่านแล้ว ฉันคิดว่าแกคงขับรถอยู่สักพักเสียงโทรศัพท์แบบโทรผ่านไลน์ก็ดังขึ้น
“ฮัลโหล ไม่ได้อยู่วินแล้วครับ กลับมาบ้านแล้วครับ” แกโทรกลับมา
ทีแรกฉันก็นึกว่า ‘กลับบ้าน’ ของแกหมายถึงบ้านที่อยู่กรุงเทพฯ แต่คุยไปคุยมาบ้านที่แกว่าคือ ‘สกลนคร’
พี่วินอยู่หน้าปากซอยนี้ก่อนที่ฉันจะย้ายมาอยู่ในซอยนี้เสียอีก ส่วนตัวแกเช่าห้องอยู่แถวรามคำแหงด้วยค่าเช่าที่ถูกกว่าแถบนี้แต่หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้สถานบริการต่างๆ รวมไปถึงอาบอบนวดต้องปิดชั่วคราว ผู้คนก็ไม่ออกไปไหน จึงทำให้แกตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’ ที่สกลนคร
“กลัวจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง เลยกลับมาก่อน ค่อยว่ากัน” แกเล่าให้ฟังทางโทรศัพท์
และสิ่งที่ฉันเพิ่งจะรู้ก็คือนอกจากการรับส่งฉันและคนในซอยที่มีไม่มากนักในแต่ละวันนั้น รายได้หลักของแกคือการไป ‘ซื้ออาหาร’ ให้เหล่าสาวๆ ในอาบอบนวดทั้งหลายซึ่งในละแวกนั้นก็ไม่มีที่เดียว สาวๆ เหล่านี้จะโทรหาแกสั่งให้ไปซื้อนั่นซื้อนี่แล้วนำไปส่งให้ บางครั้งก็ส่งให้ที่ที่พักหรือบางครั้งก็ในอาบอบนวดนั่นแหละและพอฉันมานึกย้อนดูอีกทีก็จะพบว่า
นอกจากแกจะสามารถเสาะแสวงหาร้านอร่อยๆ มาให้ได้แกยังเป็นคนที่มีความพยายามในการเลือกสิ่งที่ดี (ที่แกคิดว่าอร่อย) มาให้อีกด้วย มีครั้งหนึ่งฉันสั่งข้าวมันไก่และก๋วยเตี๋ยวไก่ แกไปซื้อนานพอสมควรจนฉันหงุดหงิด ก่อนจะกลับมาบอกว่า แกซื้อข้าวมันไก่ร้านหนึ่ง แต่แยกไปซื้อก๋วยเตี๋ยวไก่อีกร้านหนึ่งที่ (แกคิดว่า หรือประมวลผลมาจากการซื้ออาหารให้สาวอ่างบ่อยๆ) อร่อยกว่า แล้วร้านนั้นปิด แกจึงต้องไปหาซื้ออีกร้านที่อร่อยไม่แพ้กัน
“แล้วจะกลับมาไหม” ฉันถาม
“ก็ต้องดูก่อนครับ”
“แล้วทำไมไม่ไปขับแกร็บ ขับอะไรที่เขาทำกันล่ะ”
“ก็ไม่รู้จะทำยังไง” แกตอบ
หลายวันต่อมา ฉันเริ่มเห็นวินมอเตอร์ไซค์คนอื่นๆ ค่อยๆ หายหน้าไปบ้างเหมือนกัน ทั้งคุณลุงที่ฉันเคยทะเลาะด้วยและแบนแกไปพักหนึ่ง เพราะแกขับรถหวาดเสียว ซึ่งงานหลักอีกอย่างของแกคือรับส่งเอกสารให้บริษัทในแถบนั้น หรือพี่อีกคนที่เคยมายกเปียโนช่วยฉันที่บ้านก็ไม่อยู่วินแล้วเช่นกัน จนสุดท้ายฉันสังเกตว่าเหลือวินมอเตอร์ไซค์เพียงสองสามคน วันหนึ่งฉันต้องไปบิ๊กซี จึงเรียกวินมอเตอร์ไซค์คนที่เหลือ ถามแกว่า คนอื่นๆ ไปไหนหมดแล้วทำไมแกยังอยู่ แกตอบเรียบๆ ว่า
“ก็ยังพอได้อยู่ ดีกว่าอยู่กับบ้าน”
แต่หลังจากวันนั้น ฉันก็ไม่เห็นแกอีกเลย
ปฏิกิริยาลูกโซ่
การหายไปของสาวอ่าง ไม่ใช่แค่อาบอบนวดเท่านั้นที่ร้างกลายเป็นตึกที่ว่างเปล่า ยังทำให้อีกหลายๆ คน หลายๆ ส่วน หายไปด้วย หนึ่งในนั้นก็คือพนักงานโบกรถของอาบอบนวด
“มันได้เงินเดือนซะที่ไหน มันได้จากทิปส์ลูกค้าน่ะ” ป้าเล็กร้านขายส้มตำเล่าให้ฉันฟัง
ความรู้ใหม่อีกหนึ่งเรื่องสำหรับฉันก็คือ อาบอบนวดทุกที่ใช่ว่าจะใช้การบริหารจัดการเหมือนกัน มีสองอาบอบนวดที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แห่งหนึ่งใช้ระบบพนักงานกับคนโบกรถเพราะนอกจากโบกรถแล้ว เขายังต้องเป็นยาม ดูแลตึก นั่นหมายความว่าเขาจะยังมีเงินเดือนอยู่ ในขณะที่อีกแห่งหนึ่งคนโบกรถคือฟรีแลนซ์ประจำที่จะได้เงินจากทิปส์ลูกค้าเท่านั้น อาบอบนวดไม่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้
พี่ยามอาบอบนวดแห่งหนึ่งบอกกับฉันว่า บางที่เจ้าของอาบอบนวดก็ใจดี อนุญาตให้เด็กโบกรถมีอาชีพเสริมด้วย เช่น ล้างรถของลูกค้าอาบอบนวดในยามที่มาใช้บริการ ก็จะได้เงินเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรอก เพราะสถานที่ น้ำ ไฟ ก็ยังเป็นของอาบอบนวดอยู่ ก็หักเปอร์เซ็นต์กันไป บางคนก็มาทำตอนเย็นๆ เพราะลูกค้าจะมาเย็นๆ กลางวันก็มีงานอย่างอื่น โบกรถก็ถือเป็นอาชีพเสริม
“บางคนมาตั้งแต่เที่ยงไม่ได้ทำงานอย่างอื่นเลยในตอนกลางวัน ตอนนี้ก็ลำบากหน่อย” พี่ยามบอก
ไม่ใช่เพียงแค่พนักงานโบกรถเท่านั้น ที่ใช้ระบบ ‘ไม่มีเงินเดือน’ แต่แม่บ้านทำความสะอาดในอาบอบนวดแต่ละที่ก็ใช้ระบบไม่เหมือนกัน บางที่เป็นแม่บ้านมีเงินเดือน บางที่เป็นแม่บ้านไม่มีเงินเดือนแต่ได้เงินจากทิปส์ลูกค้าหรือทิปส์จากสาวนวดเอง เป็นเงินค่าทำงาน ค่าเตรียมของ
“เขายังใจดี ยังให้เงินเดือนอยู่ และให้เข้ามาทำความสะอาดรอวันอาบอบนวดเปิด อาทิตย์ละครั้ง” ป้าจุ๋มบอกฉัน ในวันที่เผอิญเจอกันที่ร้านป้าเล็ก ซึ่งฉันมักจะไปถามซอกแซกป้าเล็ก จนแกบอกว่า นี่ไง ถามมันดูสิ มันเป็นแม่บ้าน
ป้าจุ๋มเล่าด้วยเสียงเรียบๆ เศร้าๆ ว่า แม้ว่าจะยังได้เงินเดือนอยู่ เข้ามาทำความสะอาดสัปดาห์ละครั้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าอาบอบนวดจะปิดไปถึงเมื่อไร แล้วถ้าปิดนาน จะมีผลกับแกไหม เจ้าของเขาจะไล่แกออกหรือไม่จ่ายเงินเดือนไหม
“ป้ายังดี แต่พวกโน้นน่ะ ไม่ได้เงินเลย ไม่มีงานทำด้วย” แกหมายถึงอาบอบนวดอีกแห่งใกล้ๆ กัน ที่แม่บ้านไม่ได้เป็นพนักงานประจำของอาบอบนวด แต่ได้เงินจากค่าทิปส์ของลูกค้าหรือของสาวนวดเป็นหลัก
ป้าจุ๋มบอกว่าเพื่อนร่วมอาชีพแกส่วนมากที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดเหมือนกัน แต่ไม่มีเงินเดือนก็อยู่บ้าน บางคนโชคดีหน่อยก็ยังพอมีลูกหาเลี้ยง มีเงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ พยายามหาอะไรทำเพื่อจะได้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ส่วนที่แย่หน่อยก็คือพวกที่ต้องเช่าห้องอยู่ นอกจากจะไม่มีรายได้แล้ว ต้องจ่ายค่ากินรายวัน ค่าห้องอีกด้วย
“แต่เขาลดค่าห้องให้พวกมันนะ” ป้าจุ๋มบอก
แต่สิ่งที่ทั้งสองกลุ่มเหมือนกัน ทั้งกลุ่มแม่บ้านที่มีเงินเดือน และไม่มีเงินเดือนประจำก็คือ การเฝ้ารอให้อาบอบนวดกลับมาเปิดเร็วๆ เพราะด้วยช่วงอายุบางคนก็ห้าสิบกว่าแล้ว ทำให้ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และหากอาบอบนวดต้องปิดไปจริงๆ แกก็ยังไม่รู้ว่าแกจะทำอะไร
“ไม่รู้มันเป็นโรคอะไรกันเนอะ เมื่อไหร่มันจะหาย” แกพูดเศร้าๆ พลางเลือกอาหารจากร้านป้าเล็กซื้อใส่ถุงกลับบ้าน
ด้วยความที่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจสีเทา การอุ้มพนักงานไว้ให้น้อยที่สุด มีพนักงานที่ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมแรงงานน้อยที่สุด จึงถือเป็นหนทางที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารพนักงาน หรือหนทางข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ในวันที่เธอไม่ต้องอาบน้ำให้ใคร
นานหลายปีแล้ว ก่อนที่กรุงเทพฯ จะร้อนเป็นไฟแตะอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียลเหมือนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายส้มตำของป้าเล็ก ร้ายขายก๋วยเตี๋ยว หรือร้านขายอาหารตามสั่ง ยังเคยเป็นที่ชุมนุมของสาวอ่างก่อนที่พวกเธอจะเข้างาน เพื่อมาฝากท้องเมื่อเที่ยงหรือมื้อบ่ายที่นี่ เราเคยเจอะหน้าค่าตากันเป็นประจำ เคยร่วมโต๊ะก๋วยเตี๋ยวเดียวกัน แม้จะไม่มีคำพูด คำทักทาย หรือการทำความรู้จักกัน แต่เมื่อเห็นหน้ากัน เราจะรู้ได้ว่านี่คือคนแถวๆ นี้ แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่าสาวๆ เหล่านี้จะหลบแดดและความร้อนและใช้บริการพี่วินมอเตอร์ไซค์ในการซื้ออาหารให้มากกว่า
ฉันพบ ‘นก’ อีกครั้ง ไม่ว่าเธอจะชื่อจริงว่าอะไรก็ตาม ที่ร้านพี่วัน ร้านอาหารตามสั่งข้างๆ ร้านป้าเล็กนั่นแหละ สองสามวันเจอเธอที ไม่ได้เจอบ่อยๆ แต่เราต่างก็รู้กันว่าเราล้วนเป็นคนแถวนี้ และยังอยู่แถวนี้
นกอยู่ห้องเช่ากับเพื่อนร่วมงานอีกสองคน คนหนึ่งทำงานที่เดียวกัน อีกคนทำงานคนละที่ เธอไม่มีแฟน เพื่อนของเธอก็ยังไม่มีแฟน การเช่าห้องอยู่ด้วยกันจึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากอยู่
“ก็ยังพอมีเงินอยู่” นกบอกฉันด้วยสำเนียงการพูดแบบคนพูดภาษาไทยกลางไม่ชัด เธอเป็นไทใหญ่ มาจากเชียงราย
นกกับเพื่อนๆ อีกหลายคนเมื่ออาบอบนวดต้องปิดชั่วคราว นั่นหมายถึงการขาดรายได้ เพราะรายได้ของพวกเธอมาจากเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากแขกแบ่งกันกับอาบอบนวด และรายได้หลักอีกทางก็คือทิปส์จากแขกนั่นเอง
เธอบอกว่าบางคนก็โชคดีหน่อยพอมีเงินเก็บ ไม่ได้ใช้จ่ายมากมายนัก ค่าห้องเช่าก็หารกันกับเพื่อน อย่างเช่นเธอ ส่วนบางคนที่อยู่กับแฟน แล้วแฟนตกงานด้วยก็อาจจะหนักหน่อย แต่เธอก็ไม่ได้คุยกันกับเพื่อนๆ มากนัก และทุกคนก็ไม่ได้ไปหางานใหม่ ไม่ได้รับงานอะไรที่ไหน เพราะต่างก็รอวันที่อาบอบนวดกลับมาเปิดอีกครั้ง
“สิ้นเดือนนี้ไม่ใช่เหรอพี่” นกพูด ซึ่งฉันก็ไม่รู้จะตอบว่าอะไร
เราไม่ได้พูดคุยกันเยอะมาก ฉันเองก็ไม่กล้าละลาบละล้วงถามอะไรเธอมากเช่นกัน เธอบอกว่าก็ลำบากกันทุกคน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้ลำบากกันหมด แต่ก็ไม่รู้จะช่วยกันอย่างไรเหมือนกัน ก็รอแต่อาบอบนวดกลับมาเปิดเท่านั้น
เธอได้ข้าวผัดกับยำอะไรสักอย่างจากร้านพี่วันแล้วเดินกลับเข้าไปในซอย สำหรับพี่วัน วันนี้อาจจะเป็นเมนูอาหารจานที่ไม่ถึงสิบของแกที่ทำขายลูกค้า ในขณะที่ปกติช่วงก่อนเที่ยงถึงบ่ายอย่างนี้ มือจะเป็นระวิงแบบไม่ได้พัก แกมาเช่าที่หน้าร้านขายของชำเพื่อตั้งร้านขายอาหารตามสั่งเล็กๆ
“ปกติซื้อของที่คลองเตยวันละ 4 พัน เดี๋ยวนี้ซื้อ 2 พัน ก็เหลือต้องแช่ฟรีซไว้แล้ว” พี่วันบอก
ทุกวันนี้ป้าเล็ก ที่ยังพอขายได้ แม้จะลดน้อยลงไปอย่างมากก็ตาม เพราะลูกค้าหลักก็ไม่ใช่ใครที่ไหน สาวนวด หรือคนในแถบนี้นั่นเอง ป้าเล็กให้พี่วันติดรถไปตลาดคลองเตยด้วยทุกวัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ปกติแกจะไปกันตอนตีสอง แต่เนื่องด้วยเคอร์ฟิว แกก็ไปตอนเช้าตรู่แทน
“ได้วันละร้อยก็ยังดี เก็บไว้จ่ายค่าห้อง” พี่วันบอก
ทั้งป้าเล็กและพี่วัน ยังขายหาอาหารอยู่ทุกวัน เพราะอย่างน้อย นอกจากคนในซอยแถวนั้นอย่างฉันที่ยังมาซื้ออยู่ แต่ก็ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ต้องการหาซื้อหาอาหารราคาไม่แพงนักในทุกๆ วัน อย่างสองพี่น้องพนักงานกวาดถนนที่ฉันเจอทุกเที่ยงเวลาออกไปซื้อส้มตำร้านป้าเล็ก หรือคนงานก่อสร้างแถวนั้นที่จะมารุมซื้ออาหารเย็นหลังจากเลิกงาน หิ้วกันไปคนละถุงสองถุง ที่ยังพอให้ป้าเล็กขายได้อยู่
“แล้วนี่ไม่ไปทำงานเหรอ เห็นเกือบทุกวัน หรือว่าเขาไล่ออกแล้ว” ป้าเล็กถามฉันซื่อๆ ซึ่งฉันได้แต่ยิ้มและยื่นจานที่ถือมาจากบ้านให้แกตักตำซั่วใส่เพื่อจะได้ลดการใช้ถุงพลาสติก ไก่ทอดเนื้อสะโพกอีกชิ้น รวม 60 บาท เดินกลับเข้าไปในซอยบ้าน ในวันที่ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ หรือลูกค้าคนอื่นๆ ในร้านป้าเล็ก ร้านพี่วัน เลย
Tags: กรุงเทพฯ, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, อาบอบนวด