หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) เป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลามว่าด้วยเนื้อหาแห่งความเหนือจริง “ต้องอ่านให้ได้ในชีวิตนี้” และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ Bangkok Screening Room (MRT Lumpini) สถานเอกอัครราชทูตโคลอมเบียประจำประเทศไทยได้ชวนให้ผู้คนเข้ามาทำความรู้จักกับหนังสือและเจ้าของผลงานชิ้นนี้ให้มากขึ้นด้วยการจัดฉายภาพยนตร์สารคดี Gabo: The Magic of Reality ว่าด้วยประวัติชีวิตของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักเขียนรางวัลโนเบลที่สร้างชื่อให้กับชาวละตินอเมริกาอย่างยิ่ง พร้อมด้วยงานเสวนาสั้นๆ จากรองศาสตราจารย์ ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์และ ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ ผู้แปลนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ที่จะพาให้เรารู้จักงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ Magical Realism ให้มากขึ้น

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว บอกเล่าถึง หมู่บ้านสมมติที่ชื่อว่า ‘มาคอนโด’ หมู่บ้านชาวละตินอเมริกาที่ตัดขาดจากโลกภายนอก และเล่าถึงเรื่องราว 7 ชั่วอายุคน ตลอดช่วงเวลา 134 ปีของคนในครอบครัวบูเอนดิยา ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาคอนโด ความน่าสนใจอยู่ที่เราจะได้เห็นมิติชีวิตของมนุษย์อันหลากหลาย เจาะลึกเรื่องราวของพวกเขาในหนึ่งร้อยปี และจะเห็นความเป็นละตินอเมริกาที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ตำนานและเรื่องลี้ลับผ่านหมู่บ้านสมมติที่มีความเป็นไปโดยไม่ข้องเกี่ยวกับโลกภายนอก ภายในเรื่องสร้างเนื้อหาเหนือจริงที่หลายครั้งเกินจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นเสื่อบินได้ นิคมกล้วย ตึกและบ้านที่มีรูปทรงแปลกประหลาด แต่อีกขณะหนึ่งก็สร้างความสมจริงให้กับผู้อ่านได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งนวนิยายที่ทำให้ผู้อ่านแยกความฝันและความจริงที่ปะปนกันอยู่ได้ยากนี้คืองานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์หรือ Magical Realism นั่นเอง

   รศ. ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ กล่าวว่า สัจนิยมมหัศจรรย์คืองานเขียนที่มีเรื่องราวตั้งอยู่บนความเป็นจริงของสรรพสิ่งบนโลกแต่กลับมีการผสมผสานองค์ประกอบมหัศจรรย์เหนือจริงไปกับความจริงอันเป็นธรรมดาสามัญนั้น ซึ่ง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว กลายเป็นผลงานต้นแบบของวรรณกรรมแนวนี้และเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่นวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสิ่งมหัศจรรย์บนความธรรมดา แต่การ์เซีย มาร์เกซกลับซ่อนการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมของชาวละตินอเมริกาไว้ด้วย

สัจนิยมมหัศจรรย์ที่ปรากฏในหนังสือของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซสั่นสะเทือนวงการวรรณกรรมอย่างมาก หลายคนสงสัยว่าเขาสร้างจินตภาพฟุ้งฝันเหนือธรรมชาติบนความสมจริงภายในเรื่องได้อย่างไร คำตอบของสิ่งเหล่านั้นได้อยู่ในประสบการณ์ตลอดช่วงระยะเวลาที่เขามีชีวิตซึ่งถูกเล่าผ่านภาพยนตร์สารคดีประวัติชีวิตที่ฉายภายในงาน Gabo: The Magic of Reality เป็นที่เรียบร้อย

สารคดีเริ่มด้วยการเล่าชีวิตวัยเด็กของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เติบโตขึ้นในเมืองอารากาตากา (Aracataca) ประเทศโคลอมเบีย เมืองริมแม่น้ำที่รายล้อมด้วยบ้านเรือนหลายหลังที่ผู้คนรู้จักกันทั้งหมดราวกับเป็นเครือญาติ ชีวิตวัยเด็กของเขาถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อม ความเป็นมิตรของผู้คนภายในเมือง และด้วยสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับสร้างฉากสุดตื่นตาตื่นใจให้กับหมู่บ้านมาคอนโดในนวนิยายที่มีลักษณะบ้าน ผังเมือง และผู้คนไม่ต่างกับอารากาตากา นอกจากนี้ อีกหนึ่งวัตถุดิบสำหรับสร้างความมหัศจรรย์ฟุ้งฝันให้กับเนื้อเรื่องก็คือ การ์เซีย มาร์เกซนั้นใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่กับปู่และย่าผู้เชื่อเรื่องเร้นลับเป็นอย่างยิ่ง ปู่ของเขาเป็นนายพันเอกที่มีทักษะการต่อสู้ พบเจอความตายบ่อยครั้งในสนามรบและมักจะเล่าเรื่องวิญญาณ ตั้งคำถามกับความตายและเรื่องเหนือธรรมชาติให้การ์เซีย มาร์เกซฟังบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า วิญญาณมีน้ำหนักเท่าไร หรือ คนเราสามารถตายแล้วฟื้นได้หรือไม่

สำหรับย่าของเขานั้นเคยเล่าว่าเห็นวิญญาณ และเล่าเรื่องราว ตำนานความเชื่อของชาวละตินอเมริกาที่ผสมผสานไปด้วยเรื่องราวเหนือจริงให้เขาฟังราวกับเป็นความจริง และเขาเองยังยอมรับว่าเรื่องเล่าที่ได้ยินได้ฟังจากปู่และย่ากลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นวัตถุดิบที่สร้างความเหลือเชื่อเกินจริงให้กับหมู่บ้านมาคอนโดใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
นอกจากนี้ เมื่อครั้งปลายทศวรรษที่ 1940s ในประเทศโคลอมเบียที่การ์เซีย มาร์เกซอาศัยอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 300,000 คน ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้การ์เซีย มาร์เกซต้องไปอยู่ชายฝั่งที่เมืองการ์ตาเกนา เด อินดิอาส  (Cartagena de Indias) ซึ่งความไม่สงบที่การ์เซีย มาร์เกซได้เข้าไปเผชิญนั้นทำให้เขาเห็นความตายของผู้คนมากกว่าปกติ กลิ่นเลือดและศพทำให้เขานึกถึงวิญญาณที่ปู่และย่าเคยเล่า รวมทั้งเขายังจินตนาการถึงวิญญาณ ความโหดร้ายทารุณเกินจริงที่เกิดขึ้นกับผู้คน จนทำให้เรื่องลี้ลับเกี่ยวกับผู้คนและศพที่เขาพบนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเรื่องอย่าง ‘นิคมกล้วย’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในโคลอมเบีย การ์เซีย มาร์เกซเรียนต่อด้านวารสารและจบการศึกษาด้านวารสาร เขาทำงานเป็นนักหนักสือพิมพ์ จนกระทั่งปี ค.ศ.1960 การ์เซีย มาร์เกซได้ย้ายไปอยู่ประเทศเม็กซิโกและรวบรวมความลี้ลับ เรื่องเหนือธรรมชาติที่เขาได้พบเจอมาผสมผสานไว้กับความพิศวงของดินแดนละตินอเมริกาอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อแปลกๆ และถ่ายทอดออกมาเป็น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ภายหลังงานเขียนชิ้นนี้ได้กลายเป็นผลงานสำคัญในการศึกษางานเขียนประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ และทำให้การ์เซีย มาร์เกซได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1967 อีกทั้งยังมีผลงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก ก่อนที่เขาจะปิดฉากชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 เมษายน ปีค.ศ. 2014 ที่บ้านในเมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

จะเห็นว่าส่วนผสมที่ลงตัวภายในงานเขียนเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ของการ์เซีย มาร์เกซเอง ที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนละตินอเมริกาซึ่งเป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยตำนาน อบอวลด้วยความเชื่อทั้งเรื่องลี้ลับและเหนือธรรมชาติ ผู้คนที่เขาคลุกคลีไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือในชุมชนมักเกิดเรื่องประหลาดที่อธิบายไม่ได้ ทุกสิ่งกลายเป็นวัตถุดิบให้การ์เซีย มาร์เกซสรรค์สร้างงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ขึ้น ใช้ความฟุ้งฝันประสานกับความเป็นจริงของโลกและทำให้เส้นแบ่งของความจริงและความเหนือจริงพร่าเลือนลงไป

ไม่เพียงแต่การ์เซีย มาร์เกซจะใส่ความมหัศจรรย์ลงไปในความธรรมดาสามัญของเนื้อเรื่อง แต่เขายังแฝงฝังไว้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมละตินอเมริกาที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการก้าวล้ำเข้ามาของวิทยาศาสตร์ หลักการและเหตุผลซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคสมัยนี้ และทำให้ความเชื่อ ตำนานและความเร้นลับเหนือธรรมชาติของดินแดนละตินอเมริกาค่อยๆ สั่นคลอน สัจนิยมมหัศจรรย์ในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นภาพแทนชีวิตของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่ยังคงอยู่ในดินแดนแห่งความเหนือจริงเร้นลับของละตินอเมริกาแต่ก็ต้องยอมรับกับโลกแห่งวิทยาศาสตร์ที่เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือความสมจริง (realistic) ที่ซ้อนทับอยู่กับความมหัศจรรย์ (magical) และกลายเป็นเรื่องราวแนวสัจนิยมมหัศจรรย์นั่นเอง