หลังจากสูญเสียลูก มาร์ลีนาก็สูญเสียสามี เขาตาย เธอทำมัมมี่ของเขาไว้ในบ้าน สายวันหนึ่งมีมอเตอร์ไซค์ควบขับตรงมายังกระท่อมห่างไกลบนเนินเขาของเธอ เจ้าของรถลงมาถามหาสามีที่นั่งเป็นศพอยู่ในบ้าน  นั่งลงกับพื้นเรือนแล้วเริ่มเล่นดนตรี จากนั้นกระกาศถ้อยแถลงว่า สามีของเธอก่อนตายติดหนี้พวกเขา วันนี้พวกเขาจะมาหาเธอที่บ้านเพื่อเก็บหนี้ โดยการขนเอาทรัพย์สมบัติของเธอทุกอย่างทั้งวัวควายไก่หมูที่เลี้ยงไว้ จากนั้นพวกเขาทั้งเจ็ดจะร่วมหลับนอนกับเธอ เธอจะเป็นผู้หญิงที่มีโชคเพราะได้สามีเจ็ดคนในคืนเดียว

มาร์ลีนาหมดปัญญาจะดิ้นรน เธอรอคอยพวกมันเงียบๆ และเธอมีความลับในลิ้นชักของเธอ มาร์ลีนาสังหารทุกคนที่มาในคืนเดียว ตัดเอาหัวของมาร์คัส นายใหญ่ เจ้าของรถมอเตอร์ไซค์อันชั่วร้าย แล้วออกเดินทางเข้าเมือง เพื่อเอาหัวของเขาไปส่ง ไปยืนยันการแจ้งความว่าเธอถูกข่มขืนและต้องป้องกันตัว แต่การเดินทางนั้นยากลำบากในโลกที่อำนาจของเพศชายแผ่ขยายไปในทุกมิติ

แม่ม่ายหิ้วหัวคน หญิงท้องแก่ และย่ายายที่จะพาหลานไปแต่งงานบนรถบรรทุกเข้าเมืองต้องเผชิญชะตากรรมอันบ้าคลั่งเดือดดาลในเมืองชนบทที่ห่างไกลในระยะทางจากบ้านเข้าเมือง

โดยเนื้อหานี่คือหนังที่อาจจะเป็น feminism 101 ว่าด้วยการถูกกดขี่ภายในครอบครัวของผู้หญิงไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสามี การลุกขึ้นสู้เพือทวงแค้นโดยผู้หญิงที่ถูกปฏิบัติเยี่ยงสิ่งของ การล้างแค้นและต้องหลบหนีในโลกชายเป็นใหญ่ หนังไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่านอกจากสไตล์ที่ฉูดฉาด และการใช้ลีลาเนิบช้าลงมานิดหน่อยแบบหนังอาร์ตร่วมสมัย หนังไม่ได้พูดอะไรใหม่ในเรื่องของผู้หญิง หรือในแง่ของการหักมุมของตัวเรื่อง อย่างไรก็ดี กล่าวเช่นนั้นก็อาจจะเป็นการตีขลุมมากเกินไป เพราะนี่คือหนังที่ ‘สไตล์’ ไม่ใช่เครื่องทรง แต่คือประเด็นหลักของหนัง

หนังประกาศตัวเองด้วยความเป็น ‘Satay Western’(สะเต๊ะ เวสเทิร์น) อันหมายถึงหนังคาวบอยแบบอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการล้อกับคำว่า ‘Spaghetti Western’ อันหมายถึงหนังคาวบอยแบบอิตาเลียนซึ่งมีอาหารอย่างสปาเกตตี้เป็นภาพแทน (ในอินโดนีเซียจึงใช้อาหารกึ่งประจำชาติอย่างสะเต๊ะมาพ้องเสียงกัน) การเป็นหนังคาวบอยที่ไม่ได้ผลิตในอเมริกา (หนังคาวบอยนั้นผูกพันอยู่กับโลกเฉพาะของอเมริกาในแง่ของการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ โลกใหม่ แดนเถื่อนที่กฏหมายว่ากันด้วยปืน เป็นโลกที่มีบริบทเฉพาะในฟากตะวันตกของทวีปอเมริกา)  เมื่อหนังตระกูลย่อยอย่างสปาเกตตี้ เวสเทิร์นถูกผลิตโดยคนอิตาลี ในยุค 1960’s (ผู้บุกเบิกคือ Sergio Leone และหนังไตรภาค Dollars Trilogy สุดดังของเขา) มันจึงมีสุนทรียะแบบที่ต่างไปจากหนังคาวบอยฮอลลีวู้ด ซึ่งผู้คนอาจจะคุ้นชินกับหนังแบบที่ John Wayne นำแสดง หรือหนังเรื่องดังๆ อย่างShane (1953) หรือ High Noon(1952)

หนังคาวบอยสปาเกตตี้ ไม่ได้เป็นหนังคาวบอยแบบทำไร่อุดมสมบูรณ์ วีรบุรุษช่วยเหลือคนยากจน คนตกทุกข์ได้ยาก ไม่ใช่การต่อสู้กับพวกอินเดียนแดง แต่มักเป็นเรื่องคนชายขอบแอนตี้ฮีโร่ คนที่ดูไม่ออกว่าพระเอกหรือผู้ร้าย คนครึ่งดำครึ่งขาวในโลกของทะเลทรายร้อนแล้งที่ไว้ใจใครไม่ได้  เราอาจกล่าวได้ว่าหนังคาวบอยสปาเกตตี้ เป็นทั้งลูกหลานและการต่อต้านอุดมคติแบบฮีโร่อเมริกันของฝั่งยุโรป (หนังคาวบอยที่ผลิตจากฝั่งยุโรปไม่ได้มีแค่ในอิตาลี หากยังมีทั้งในเยอรมันและสเปน รวมๆ แล้วเราอาจจะเรียกตระกูลนี้ว่า Euro Western แต่ไม่มีตระกูลย่อยใดในตระกูลย่อยนี้ที่จะโดดเด่นไปกว่าหนังอิตาเลียน)

อย่างไรก็ดี โดยเสมอมาไม่ว่าจะเป็นคาวบอยฮอลลีวู้ด หรือคาวบอยจากที่ใดๆ ในโลก (แม้แต่เอเชียก็มีการผลิตหนังคาวบอยอย่างหนังในตระกูล ลูกสาวกำนัน ร้อยตำรวจตรีปลอมตัวมาหลายเรื่องก็เป็นลูกหลานของหนังคาวบอย)  ก็ล้วนเป็นอาณาเขตของเพศชายทั้งสิ้น ชายหนุ่มผู้รักอิสระเสรีและความยุติธรรม เร่ร่อนโดยลำพังบนหลังม้าคู่ใจกับปืนพก เหล้า มิตรสหาย ถ้านั่นคือภาพแทนของวีรบุรุษผู้ชายแมนๆ ในฮอลลีวู้ด คาวบอยสปาเกตตี้ ก็นำเสนอภาพของผู้ชายชายขอบ ที่อาจจะเป็นคนน่ารังเกียจ เป็นโจรกระจอก หรือเป็นคนหน่ายโลก แต่ก็ยังมีคุณธรรมน้ำมิตรแบบผู้ชาย

ขณะที่ Marlina the Murderer in Four Acts เดินเรื่องในชนบทห่างไกล ท่ามกลางเนินเขาสลับซับซ้อนที่มีแต่ทุ่งหญ้าถูกย้อมสีจนร้อนแล้งด้วยสีเหลืองเหลือบเขียว บรรยากาศคุกคามประสงค์ร้ายตัดบริบทโลกภายนอกออก จนเหลือเพียงการผเชิญหน้าของตัวละครไม่กี่ตัว อ้างอิงกันได้ดีกับรูปแบบของหนังคาวบอยสปาเกตตี้ มากกว่าหนังคาวบอยแบบฮอลลีวู้ด แต่ทั้งหมดทั้งมวลตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง การบุกเข้าไปยังขนบของผู้ชายแล้วท้าทายพื้นที่ของผู้ชาย ที่ในหนังคาวบอยผู้หญิงเป็นได้แค่ คนชงเหล้า เมีย หญิงสูงศักดิ์ที่รอการช่วยเหลือ ไม่ก็โสเภณี นั่นจึงทำให้เครื่องทรงของหนังกลายเป็นเนื้อหามากกว่าตัวเนื้อหาเอง 

แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพลิกกลับโลกของผู้ชายโดยทำหนังคาวบอยผู้หญิง ตระกูลหนังคาวบอยถูกรื้อสร้างไปจนแทบจะหมดมุกใหม่ๆ แล้ว แต่ใน Marlina คาวบอยสาวจำเป็นในโลกมุสลิมแดนเถื่อนก็ยังคงเป็นการท้าทายขนบของหนังที่เคยเป็นอาณาเขตเฉพาะของเพศชายได้อย่างน่าสนใจมากๆ อยู่ดี

หากรูปแบบของหนังคือการกำหนดอำนาจของหนัง การทำตัวเป็นหนังคาวบอยของหนังคือการบอกเป็นนัยกลายๆ ว่านี่คือการต่อสู้ของผู้หญิงในโลกของผู้ชายเป็นชายกว่าโลกไหนๆ นี่คือโลกที่ผู้ชายเห็นว่าผู้หญิงเป็นสิ่งของ  มาร์ลีนาถูกมองเป็นเพียงทรัพย์สินของสามีที่ตายไป การรุมข่มขืนเธอจึงเป็นเรื่องกระทำได้ เพราะเธอถูกให้ค่าต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับหยิงสาวท้องแก่เพื่อนบ้าน ที่แม้จะทำหน้าที่เมียและแม่ แต่อันที่จริงแล้วเธอเป็นเพียง เครื่องจักรผลิตลูกที่ทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่ใช่คนรัก เป็นเพียงหญิงสำส่อน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศ  

ไม่ว่าในฐานะผู้หญิงตัวคนเดียว หรือผู้หญิงที่มีสามี พวกเธอเป็นเพียงสิ่งของที่มีเจ้าของ เจ้าของก็ทารุณ และเมื่อไม่มีเจ้าของแล้ว ก็กลายเป็นของใครก็ได้ แนวคิดนี้อาจดูสุดโต่ง แต่มันปรากฏอยู่ในทุกหนแห่ง ในสังคมเคร่งศาสนา ในเพลงลุกทุ่งที่เราร้องเล่นกันเมื่อเห็นผู้หญิงบ้านนอกเข้ากรุงเทพ พวกผู้ชายบ้านนอกก็จะแต่เพลงทำนายว่าเธอจะถูกหลอกไปขาย หรือไม่ก็อุ้มท้องกลับบ้าน ไปจนถึงในแนวคิดด้านกลับของพวกฆาตกรสังหารหมู่เพราะไม่มีผู้หญิงสนใจพวกเขา อย่างกลุ่ม Mysogynist Terrorism ที่เป็นข่าวในขณะนี้ ทุกสิ่งอย่างสมาทานแนวคิดเดียวกัน นั่นคือ ผู้หญิงกลายเป็นทรัพย์สินของผู้ชายตั้งแต่เกิดเป็นผู้หญิง ผู้หญิงถูกทำให้เป็นผู้หญิง และพวกเธอไม่มีวันเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับผู้ชาย

การต่อสู้ของมาร์ลีน่าจึงเป็นการทำเพื่อยืนยันว่าเธอเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งของ เมื่อยืนยันในฐานะมนุษย์ การข่มขืนจึงเกิดขึ้นจริง ที่เธอต้องการคือการไปหาตำรวจเพื่อยืนยันฐานะคนเหมือนกันของเธอ แต่ถึงอย่างนั้นตำรวจก็เป็นผู้ชาย

ตลอดทั้งเรื่องจึงมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะช่วยเหลือกัน ทั้งยายที่พาหลานไปแต่งเมีย หรือเด็กหญิงในร้านขายของชำ เพื่อนหญิงพลังหญิงเกื้อกูลกันในสังคมที่ไม่ใช่แค่ชายเป็นใหญ่ แต่ชายเท่านั้นที่เป็นคน

ผู้ชายที่ดีจึงมีเพียงผู้ชายที่ตายแล้ว และผู้ชายที่ยังไม่เป็นผู้ชาย ดังเช่นหลานของยายเฒ่าที่ยังไม่ได้แต่งเมีย หรือมัมมี่สามีของมาร์ลีน่า แต่แม้แต่ผู้ชายที่ตายแล้วก็อาจเป็นผีหัวขาดตามหลอกหลอนเธอก็ได้

แม้ว่าหนังจะไม่ได้ให้ทางออกที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการจบลงอย่างสวยงามในฐานะเรื่องเล่าผ่านการกำเนิด และการละทิ้งความเป็นหนังคาวบอยไปสู่การขี่มอเตอร์ไซค์ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเธอไม่สามารถไปเสียจากโลกที่กุมอำนาจโดยผู้ชาย หนังไม่มีคำตอบให้กับผู้ชม ซึ่งนั่นแปลได้ว่าเรายังคงต้องเรียนรู้ที่จะต่อรอง ไปจนถึงท้าทาย และทำลายบั่นทอนโลกแบบนี้ลงไปด้วยตัวเราเอง

Fact Box

  • Marlina the Murderer in Four Acts เป็นหนังอินโดนีเซีย โดยผู้กำกับ -Mouly Surya หนังเข้าฉายในสาย Directors' Fortnight ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2017 และเข้าฉายในเทศกาลหนังอีกหลายแห่งทั่วโลกซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก
Tags: , , ,