วันสุดท้ายของการเข้าให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันพุธที่ 11 เม.ย. 2018 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการหลายครั้ง ประเด็นสำคัญของวันที่ 2 อยู่ที่อำนาจของผู้ใช้ในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตนเองในโซเชียลมีเดีย  โดยเฉพาะการตอบคำถามเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการของเฟซบุ๊กด้วย

เมื่อนับจำนวนครั้งที่เขาตอบวุฒิสมาชิกว่า เขาไม่มีคำตอบให้ในตอนนี้ แต่จะกลับไปหาคำตอบต่อ นับได้ราว 40 ครั้ง คิดเป็น 1 ใน 3 ของคำถามทั้งหมด

คำตอบแบบนี้หลายครั้ง ทำให้เด็บบี ดิงเจลล์ (Debbie Dingell) วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตแสดงความตระหนก “ในฐานะซีอีโอ คุณไม่รู้เรื่องสำคัญพวกนี้” ซัคเคอร์เบิร์กยังบอกด้วยว่า เขาก็เป็นหนึ่งใน 87 ล้านคนที่ข้อมูลส่วนตัวถูกบริษัทเคมบริดจ์แอนะไลติกานำไปใช้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด

วุฒิสมาชิกแฟรงค์ พัลโลน (Frank Pallone)  จากพรรคเดโมแครต จึงถามต่อทันทีว่า แม้แต่เจ้าของบริษัทไอทีขนาดใหญ่ยังไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้เลย แล้วผู้ใช้จะควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้อย่างไร

ซัคเคอร์เบิร์กชี้แจงว่าต้องใช้เวลา “หลายเดือน” ในการตรวจสอบแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ที่อาจจะนำข้อมูลของผู้ใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม

เรื่องที่ว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง และเลือกได้ว่า ข้อมูลจะถูกนำไปใช้แค่ไหน เป็นความที่ที่ซัคเคอร์เบิร์กย้ำอยู่บ่อยๆ

“ผมเชื่อว่า ทุกคนเป็นเจ้าของเนื้อหาที่ออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งระบุไว้ในบรรทัดแรกของเงื่อนไขการให้บริการ ถ้าคุณอ่าน” ซัคเคอร์เบิร์กตอบคำถามวุฒิสมาชิกมาร์ชา แบล็คเบิร์น (Marsha Blackburn)

อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิก ดอริส มัสซุย (Doris Matsui) เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับเธอแล้ว มองว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของอะไร เราควรจะสามารถควบคุมได้ว่ามันจะถูกใช้อย่างไร

“ผมเชื่อว่าคนเป็นเจ้าของเนื้อหาของตัวเอง” ซัคเคอร์เบิร์กตอบ

จากนั้นมัสซุยถามต่อว่า “ถ้าฉันถ่ายรูปคุณและแชร์กับคุณ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล”

“ผมจะถือว่ามันเป็นรูปของ ‘พวกเรา’”

“แล้วสำหรับคนขายข้อมูล (data broker) ล่ะ เราอาจจะเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง แต่เมื่อมันถูกใช้เพื่อการโฆษณาเราเสียการควบคุมมัน ถูกไหม”

“ผมไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้ขายข้อมูล” ซัคเคอร์เบิร์กตอบ

นอกจากนี้ วุฒิสมาชิกเบน ลูจัน (Ben Lujan) พรรคเดโมแครต ซักว่า “เฟซบุ๊กมีประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดของคนที่ไม่เคยสมัครใช้เฟซบุ๊กเลยใช่ไหม” ซึ่งขัดกับสิ่งที่ซัคเคอร์เบิร์กมักอ้างถึง

จากนั้นก็ถามอีกครั้งว่า “เฟซบุ๊กยอมรับว่าได้เก็บข้อมูลของคนที่ไม่ใช่ผู้ใช้ของตัวเองด้วย คำถามก็คือ คนที่ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊กจะเลือกออกจากข้อตกลง (opt out) ในการเก็บข้อมูลของเฟซบุ๊กที่ตนเองไม่สมัครใจได้ยังไง”

ซัคเคอร์เบิร์กไม่ตอบคำถามนี้

“ทุกคนสามารถปิดฟังก์ชั่นนี้ และเลือกไม่ให้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อไปใช้ในการโฆษณาได้ ไม่ว่าเขาใช้บริการของเราหรือไม่ ระบบค้นหาของเราแสดงเฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้ เช่น ชื่อ ข้อมูลต่างๆ ที่คุณตั้งค่าสาธารณะไว้” อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องการให้มีคนมารวบรวมข้อมูลที่เปิดสาธารณะเหล่านี้ด้วย ดังนั้น เราต้องรู้ว่าเวลาที่มีใครพยายามเข้าถึงบริการของเรา”

ลูจันกล่าวต่อว่า ถ้าผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของเฟซบุ๊กอยากรู้ว่า บริษัทเก็บข้อมูลอะไรของตนเองบ้าง เขาจะต้องสมัครใช้บริการก่อน

“เราจะแก้ไขจุดนี้ครับ” ซัคเคอร์เบิร์กตอบ

วุฒิสมาชิกอีกคนหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน จอห์น ชิมกัส (John Shimkus) ถามว่า ทำไมเฟซบุ๊กจึงติดตามคนที่ปิด (log off) เฟซบุ๊กไปแล้ว ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ซัคเคอร์เบิร์กให้เหตุผลด้านความปลอดภัยและโฆษณา

ในด้านความปลอดภัย เฟซบุ๊กต้องการรู้ว่ามีเพจสาธารณะมากแค่ไหนที่คนนั้นติดตามอยู่ แม้ในเวลาที่พวกเขาไม่ได้ล็อกอิน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีประโยชน์ต่อการป้องกันการรวบรวมข้อมูลสาธารณะของผู้ใช้ สำหรับการโฆษณา การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ที่ปิดเฟซบุ๊กแล้ว เป็นวิธีที่ทำให้เครือข่ายโฆษณากำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวว่า ผู้ใช้สามารถเลือกออกจากข้อตกลงนี้ได้เมื่อลงชื่อเข้าใช้

ซัคเคอร์เบิร์กปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่ว่า เขาสัญญาที่จะสนับสนุนการออกกฎหมายใหม่ หรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจโซเชียลมีเดียหรือไม่

“มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการกำกับดูแลบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง” เขาตอบ แต่ไม่ระบุอย่างเจาะจง

เกรก วอลเดน (Greg Walde) ประธานคณะกรรมาธิการการค้าและพลังงานให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เขาจะพูดคุยกับสมาชิกกรรมาธิการอื่นๆ ว่าจะจัดให้มีการไต่สวนแบบเดียวกันอีกกับผู้บริหารของบริษัทไอทีอื่นๆ อีก

 

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Aaron P. Bernstein

ที่มา:

Tags: , , , , , ,