มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) หนึ่งในนักข่าวที่มีชื่อเสียงที่สุดของฟิลิปปินส์ อดีตนักข่าวของซีเอ็นเอ็น และซีอีโอสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างแรปป์เลอร์ (Rappler) ถูกศาลพิจารณาตัดสินแล้วว่าให้มีความผิดจริงตามข้อหา ‘กลั่นแกล้งทางไซเบอร์’ ร่วมกับนายเรย์นัลโด ซานโตส จูเนียร์ (Reynaldo Santos Jr.) อดีตคอลัมนิสต์ของแรปป์เลอร์ ซึ่งมีโทษจำคุก 6 ปี
คดีความของเรสซานั้น เริ่มต้นเมื่อแรปป์เลอร์เผยแพร่บทความเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้ายาเสพติดและค้ามนุษย์ของนักธุรกิจฟิลิปปินส์นามว่า นายวิลเฟรโด เก็ง (Wilfredo Keng) ซึ่งต่อมาเก็งได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับแรปป์เลอร์ในข้อหาบิดเบือนข้อมูล อย่างไรก็ตาม แรปป์เลอร์ยืนยันว่า บทความของตนได้เผยแพร่เป็นเวลา 4 เดือน ก่อนกฎหมายป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์จะถูกบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2012
โดยเบื้องต้น ศาลพิจารณาสั่งให้เรสซาและซานโตส จูเนียร์ จ่ายค่าเสียหายด้วยรวมทั้งหมด 400,000 เปโซ หรือราว 240,000 บาท
ในงานแถลงข่าวเมื่อเช้านี้ เรสซากล่าวว่า เธอจะยืนหยัดสู้ต่อไป และเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘เสรีภาพสื่อ’ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน นอกจากนี้ ทนายความของเรสซาก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคดีในวันนี้ เป็น ‘รอยด่างพร้อยอันน่ารังเกียจ’ ของฟิลิปปินส์ และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันประณามการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของเรสซาจึงถูกมองว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการจำกัดเสรีภาพของสื่อ โดยเฉพาะการมุ่งกำจัดนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หลังแรปป์เลอร์กลายเป็น ‘หัวหอก’ ที่สำคัญในการวิจารณ์การบริหารงานและนโยบายสงครามยาเสพติดอันโหดร้ายของประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต (President Rodrigo Duterte)
การคุกคามเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องของรัฐบาลโรดริโก ดูแตร์เต ส่งผลให้อันดับของฟิลิปินส์ในการจัดอันดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดโลก ร่วงลงจนปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ
เมื่อเดือนที่ผ่านมา สื่อยักษ์ใหญ่อีกแห่งของฟิลิปปินส์อย่าง ABS-CBN โดนสั่งให้ยุติออกอากาศ หลังรายงานข่าวโจมตีนโยบายสงครามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรปกป้องผู้สื่อข่าว (The Committee to Protect Journalists) ได้ออกมาประณามการกระทำของรัฐบาล นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวก็ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่เพิ่งได้รับการรับรอง เนื่องจากกฎหมายนี้จะเปิดทางให้รัฐบาลสามารถจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีหมายจับได้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลดูเตอร์เต้จะใช้กฎหมายนี้ในการเล่นงานผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในอนาคตต่อไป
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/world-asia-53046052
https://edition.cnn.com/2020/06/14/asia/maria-ressa-philippines-cyber-libel-intl-hnk/index.html
Reuters /ELOISA LOPEZ
Tags: ฟิลิปปินส์, มาเรีย เรสซา