มังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น น่าจะเป็นสื่อ (Simulation) แบบหนึ่งที่คุณผู้อ่านน่าจะรู้จักกันดีนะครับ สังคมไทยรู้จักและหลายๆ คนถึงขั้นเสพติดมังงะมาหลายทศวรรษแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณคนอ่านอาจจะลดลงบ้าง หรือย้ายพื้นที่ในการอ่านจากหนังสือไปอ่านในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โลกของมังงะเองก็มีอะไรใหม่ๆ โผล่มาให้เห็นเรื่อยๆ ทั้งยังมีความหลากหลายมากมายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้มังงะจะอยู่คู่กับสังคมไทยมานานและมีความสำคัญในฐานะศิลปะ วรรณกรรม และสื่อ ไม่ได้น้อยกว่าหนัง ละคร ซีรี่ส์ นิยาย เพลง กวี หรืออื่นๆ เลย แต่มังงะกลับเป็นสื่อที่ถูกนำมาอภิปรายถึงอย่างจริงจังในเชิงวิชาการน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณและระดับความสำคัญของมัน โดยเฉพาะการอภิปรายในด้านปรัชญาและการเมืองดังที่เราจะเห็นได้ตลอดเวลาจากการรีวิวหนัง นิยาย หรือซีรี่ส์ดังๆ
ผมมองว่าลักษณะการ “งดเว้น หรือกระโดดข้าม” การอภิปรายมังงะในบริบทเชิงสังคม การเมืองและปรัชญาในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลก เพราะเนื้อหาของมังงะนั้นมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับวิธีคิดในทางปรัชญาและสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมือง ไม่นับว่าการ์ตูนนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองมาโดยตลอดทั้งในโลกตะวันตก ในญี่ปุ่น และในประเทศไทยเอง กระนั้นการอภิปรายในประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังกับมังงะกลับเกิดขึ้นน้อยมาก และนั่นแหละครับคือเหตุผลที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่แปลก อีกทั้งในต่างประเทศการเปิดวิชา หรือคณะว่าด้วย Manga Studies หรือ Manga and Politics ก็มีขึ้นมากมายแล้ว อย่างวิชา Manga Studies ที่ Stockholm University วิชา Japanese Popular Culture: Manga, Anime, Film, and Visual Arts ที่ Australian National University หรือระดับ Manga Department ที่ Tokyo Polytechnic University เป็นต้น (ในไทยผมเข้าใจว่ามีการสอนปรัชญากับมังงะที่มหาวิทยาลัยศิลปกร แต่หากวัดความแพร่หลายเทียบกับภาพยนตร์หรือวรรณกรรมแล้วก็ยังนับว่าแพ้อยู่มาก)
ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าเป็นการสมควรที่จะลองเปิดพื้นที่การอภิปรายเรื่องมังงะในทางสาธารณะแบบจริงจังหน่อยขึ้นมาบ้าง โดยในตอนแรกนี้ ผมอยากพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับความเป็นมาของมังงะก่อนสักนิดนะครับ ก่อนที่จะได้เริ่มอภิปรายถึงแนวคิดทางปรัชญาและการเมืองในตัวมังงะในตอนต่อๆ ไป แบบเต็มๆ ได้
ผมขอเริ่มต้นจากจุดกำเนิดของ ‘คำเรียก’ สื่อชนิดนี้ว่ามังงะ คำว่ามังงะ (Manga) นี้เริ่มใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 คำๆ นี้ ประกอบด้วยตัวอักษรคันจิ (อักษรจีน) 2 ตัวคือ 漫 (Man) ที่แปลว่ากะทันหัน (Impromptu) หรือ ความตามใจคิดที่มีเซ้นส์ของความแปลกประหลาดวิตถารนิดๆ (Whimsical) กับคันจิอีกตัวคือ 画 (Ga) ที่แปลว่ารูปภาพ โดยช่วงเวลาดังกล่าวมีการออกหนังสือที่รวมรูปภาพที่มักจะคำบรรยายประกอบอยู่ด้วยออกมาค่อนข้างมาก ที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ Shiji no Yukikai (1798) ของซานโตะ เกียวเดน (Santo Gyoden) และหลังจากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มังงะในลักษณะนี้ก็ถูกผลิตออกมาอีกมาก เช่น งานของไอกาวะ มินวะ (Aikawa Minwa) ที่ชื่อ Hyakujo (1814) หรือซีรี่ส์มังงะเพื่อเฉลิมฉลองผลงานของฮกขุไซ ศิลปินชื่อก้องโลกของญี่ปุ่น ที่ชื่อ Hokkusai Manga (1814 – 1834) เป็นต้น
ในแง่จุดกำเนิดของคำ จะพอเห็นได้ว่ามังงะในช่วงระยะเริ่มแรกนั้น มีแนวโน้มที่จะหมายถึงภาพวาดแปลกๆ ของจิตรกร หรือภาพที่วาดขึ้นแบบเร็วๆ ไม่ได้ตั้งหลักตั้งตัวก่อน และบางครั้งก็มีคำบรรยายหรือโน้ตประกอบ แต่คำๆ นี้ก็เช่นเดียวกับคำทางสังคม-การเมืองทั่วๆ ไปครับ เมื่อเวลาผ่านไปความหมายก็ถูกเปลี่ยน กร่อน และเพิ่มเติมไปเรื่อย
ในปัจจุบันคำว่ามังงะในภาษาญี่ปุ่นนั้น แทบจะเรียกได้ว่ากินความหมายที่กว้างกว่ารากศัพท์ของมันมาก ด้วยว่ามันแทบจะกินความถึงการ์ตูน (Cartooning) หนังสือการ์ตูน (Comics) หรือกระทั่งการ์ตูนเคลื่อนไหวอย่างอนิเมะได้ด้วยในบางกรณี (แต่ปัจจุบันการแยกประเภทอย่างเด็ดขาดค่อนข้างจะชัดมากขึ้นเยอะแล้ว) ซึ่งความหมายของมังงะแบบสมัยใหม่นี้โดยทั่วไปแล้วเริ่มนับจากลักษณะงานเขียน ภาพของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังของยุคนั้นอย่างคิตาซาวะ ยาสุจิ (Kitazawa Yasuji) หรือเป็นที่รู้จักกว้างขวางกว่าจากนามปากกาคิตาซาวะ ระกุเตน (Kitazawa Rakuten)
งานของยาสุจิ (1876 – 1955) นั้นจะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่แตกต่างออกมาจากของยุคฮกขุไซเป็นอย่างมาก และยังบอกได้เลยในทันทีที่เห็นเลยว่านี่คือมังงะแบบที่เราคุ้นชินตากันในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองโดยทั่วไปจึงถือว่าผลงานของ ยาสุจิเป็นปฐมบทของวงการมังงะยุคใหม่ และตัวยาสุจิเองก็ได้รับการยอมรับในฐานะบิดาของมังงะสมัยใหม่ (Founding Father of Modern Manga) ไปเลย
ทีนี้เราขยับจากประวัติศาสตร์ของคำและความคิดที่มีต่อมังงะในเชิงคอนเซปต์ของแบบ มาที่ต้นกำเนิดของตัวมังงะสมัยใหม่ดูบ้าง
คำอธิบายเรื่องจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มังงะ ในเซ้นส์ของมังงะแบบสมัยใหม่นั้น มีดราม่าในวงการอยู่บ้าง เมื่อมีคำอธิบายหลักอยู่สองฝ่าย คือ ฝ่ายที่เชื่อในความต่อเนื่องสืบทอดกันมาภายในประเทศญี่ปุ่นเอง กับอีกฝั่งที่ให้คำอธิบายว่ามังงะในเซนส์นี้มันเริ่มลงหลักปักฐานหลังจากที่ฝั่งสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และสหรัฐอเมริกาเข้าควบคุมดูแลญี่ปุ่นต่างหาก (1945 – 1952)
ฝั่งที่เชื่อในความสืบเนื่องว่านี่คือวัฒนธรรมการวาดและสื่อสารของญี่ปุ่นที่พัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคสงคราม ยุคเมย์จิ และหลังเมย์จิ อย่างเฟร็ดเดอลิก แอล. สโคด์ (Frederik L. Schodt) คินโกะ อิโต้ (Kinko Ito) หรืออดัม แอล. เคิร์น (Adam L. Kern) นั้น ก็อธิบายแบบที่ผมพูดไปในตอนแรกนั่นแหละครับ คือ ใช้จุดกำเนิดของคำ/คอนเซปต์มาอธิบาย แล้วก็อธิบายว่ามันมีมาตั้งแต่ยุคฮกขุไซแล้ว
จุดแข็งของคำอธิบายนี้เอง ส่วนหนึ่งดูจะอยู่ที่ตัวตนของคิตาซาวะ ยาสุจิเองด้วย เพราะงานของพี่แกออกมาก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาที่ญี่ปุ่นเสียอีก (ยาสุจิเริ่มทำงานเขียนการ์ตูนในปี 1895 แต่อย่างไรก็ดีควรจะหมายเหตุไว้ด้วยว่าคนที่ยาสุจิไปทำงานด้วย และมีอิทธิพลกับเขาไม่น้อยก็คือแฟรงค์ อาเธอร์ นันคีฟเวลล์ (Frank Arthur Nankivell) นักเขียนการ์ตูนชาวออสเตรเลีย ที่ในเวลาต่อมาย้ายไปเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับ Puck Magazine ที่สหรัฐอเมริกาจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว – ฉะนั้นไม่ว่าจะอิงในแง่ไหน ก็ปฏิเสธอิทธิพลการวาดแบบตะวันตกในมังงะญี่ปุ่นได้ยากลำบากอยู่)
ในขณะที่ฝั่งซึ่งมองการเข้ามาปกครองและปรับเปลี่ยนประเทศโดยสหรัฐอเมริกาในฐานะจุดพลิกผันและกลายเป็นต้นตอของวัฒนธรรมมังงะ ก็ให้คำอธิบายว่าทั้งลักษณะของลายเส้นและแนวทางการเล่าเรื่องนั้นดูจะเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งทางกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ “นำเข้า” เข้าสู่ญี่ปุ่นด้วยในช่วงสงครามโลก อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องยอมรับกันด้วย ไม่ว่าจะยืนอยู่ฟากฝั่งไหนของมุมมองต่อประวัติศาสตร์กำเนิดมังงะสมัยใหม่นี้ว่า ปริมาณของมังงะขยายตัวขึ้นอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะหลังสหรัฐอเมริกาเข้ามาดูแลญี่ปุ่นแล้ว นักเขียนมังงะชื่อดังมากมายก็เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างเทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ปรมจารย์ผู้บุกเบิกมังงะญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่มีผลงานโด่งดังมากมาย อย่าง Astro Boys, Hi no Tori (Bird of Fire/Phoenix), Black Jack ฯลฯ หรือมาจิโกะ ฮาเซงาวะ (Machiko Hasegawa) เจ้าของผลงานดังอย่าง Sazae-san เป็นต้น
กระนั้น ผมควรจะหมายเหตุเพิ่มอีกเช่นเดียวกันว่าคิตาซาวะ ยาสุจิที่ถือกันว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งมังงะสมัยใหม่และมีผลงานมังงะก่อนการเข้ามาของสหรัฐอเมริกานานพอสมควรนั้น ก็เป็นที่รู้กันด้วย ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นถัดมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเฮโกเตน ชิโมกาวะ (Hekoten Shimokawa) ผู้บุกเบิกอนิเมะคนแรกของญี่ปุ่น หรือกระทั่งตัวของ โอซามุเอง ก็เป็นแฟนตัวยงของยาสุจิมาตั้งแต่ยังเด็ก ฉะนั้นจะเคลมว่าการขยายตัวของมังงะสมัยใหม่ยุคแรกมาจากวอลต์ ดิสนีย์แต่เพียงอย่างเดียวก็ดูจะไม่ครบถ้วนนัก
เอาจริงๆ แล้ว ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าจะตีกันเรื่องคำอธิบายว่าแบบไหนคือผู้ให้กำเนิดมังงะยุคใหม่ที่ถูกต้องถ่องแท้กันไปทำไม เพราะการรับรู้และปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมันไม่เคยจะมาจากวิถีแบบใดแบบหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว คือ หากไม่มีรากวัฒนธรรมเป็นฐานไว้ก่อน การจะรับวัฒนธรรมแบบใหม่ (ลายเส้นใหม่, วัฒนธรรมการเล่าเรื่องใหม่ๆ) ในเวลาอันรวดเร็วก็ย่อมเกิดได้ยากเป็นธรรมดา แต่การมีแต่วัฒนธรรมแบบใหม่เลย โดยที่ไม่มีรากเดิมแม้แต่น้อย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ก่อร่างวัฒนธรรมใหม่เข้าไปในสังคมเก่าในเวลาอันสั้น อย่างการนำเข้าของการ์ตูนดิสนีย์เอง ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่นที่เดียว แต่พื้นที่อื่นๆ ของโลกที่เคยได้รับวัฒนธรรมจากสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากก็ไม่ได้เกิดผลลัพธ์ทางวัฒนธรรมเรื่องนี้อย่างที่เกิดกับญี่ปุ่น อย่างกรณีประเทศไทยเอง ที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากในช่วงยุคสงครามเย็นนั้น ก็ไม่ได้เกิดกระแสการวาดการ์ตูนหรือมังงะแบบที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นนัก
ไม่ต้องนับอีกว่าเวลาที่เราพูดถึงเงื่อนไขหรือจุดกำเนิดทางประวัติศาสตร์แบบนี้ เราต้องคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า “เงื่อนไขที่นำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเกิดสิ่งนั้นๆ” หรือ Condition of Possibilities ด้วย ว่าเงื่อนไขเฉพาะตัวบางอย่างมันเอื้อให้ผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ “เป็นไปได้” ขึ้นมาได้อย่างไร อย่างคำอธิบายหนึ่งที่มีการพูดถึงกันบ้างก็คือ เพราะสภาวะหลังสงครามของญี่ปุ่น ทำให้สังคมอยู่ในสภาวะเหงาหงอยเศร้าสร้อย ฉะนั้นการต้องการสิ่งใหม่ๆ ต้องการอารมณ์ขัน ต้องการสื่อที่จะฟื้นฟูจิตใจและสังคมตนเองก็กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มังงะเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเวลานั้น ฉะนั้นหากมองจากจุดยืนนี้ก็พูดได้ด้วยเช่นกันว่ามังงะคือดอกผลของสังคมหลังสงครามที่แสนจะอึมครึมและสิ้นหวัง
ในช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่การกำเนิดใหม่ การเริ่มต้นใหม่กลายเป็นสิ่งที่สังคมโหยหาและต้องการ นอกจากปริมาณของมังงะจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว ลายเส้นจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความคิดสร้างสรรค์และเส้นเรื่องแบบใหม่ๆ ก็โผล่ตามมาอีกมากมาย อย่างเรื่อง Astro Boy เองที่พูดถึงโลกในอนาคต หุ่นยนต์ที่มีจิตสำนึก และแทบจะไม่มีความต่างกับมนุษย์ (หากพูดแล้วก็เรียกได้ว่าอุดมไปด้วยแนวคิดแบบ Posthumanism มากๆ)
หรือ Black Jack ที่พูดถึงหมอเถื่อนอัจฉริยะที่เบื้องหน้าดูจะทำทุกอย่างเพื่อเงินแต่ในหลายๆ ฉากก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ ความเอื้ออาธร (แบบปากแข็ง) อย่างถึงแก่น ความสู้ชีวิต การเผชิญหน้ากับความยากลำบากอย่างไม่อาจจินตนาการได้มาก่อนจนผ่านมันไปได้ อย่างเช่นผ่าตัดตัวเอง หรือกระทั่งผ่าตัดมนุษย์ต่างดาว อีหมอนี่ก็ทำมาหมดแล้ว ซึ่งในแง่หนึ่งมันสะท้อนการเมืองและความคาดหวังของยุคสมัยมากมาย ทั้งการผ่านวันคืนอันโหดร้ายของสังคมหลังสงคราม ทั้งการแอบเชียร์ทุนนิยมเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาที่ภายนอกอาจจะดูอำมหิตเยือกเย็น แต่มันก็มีมนุษยธรรมซ่อนอยู่ เป็นต้น กล่าวอีกอย่างก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมังงะ มันก็ถูกใช้ในฐานะกลไกที่สะท้อนภาพของสังคมกลับไปกลับมาเสมอ มันตอบสนองและซึมซับความคาดหวัง ความเป็นอยู่ของสังคมมาไว้กับตัว และก็ถ่ายทอดสิ่งที่ก่อร่างเป็นตัวมันกลับคืนสู่สังคมในรูปลักษณ์ใหม่เช่นนี้เรื่อยมา
ปัจจุบัน มังงะมีการขยายตัวออกไปเยอะมากครับ มีการทำธุรกิจจากมังงะขึ้นมาอย่างจริงจัง มีการแตกยอดประเภทและชนิดของมังงะออกมามากมาย ตั้งแต่ประเภทเริ่มต้นอย่างโชเน็น (Shonen) หรือมังงะที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่เด็กผู้ชาย กับ โชโจ (Shojo) มังงะที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่เด็กผู้หญิง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการบังคับว่าเด็กผู้ชายห้ามอ่านโชโจมังงะ และทำนองเดียวกันเด็กผู้หญิงก็อย่าได้อ่านโชเน็นมังงะอะไรแบบนั้น แต่การแบ่งประเภทที่เกิดขึ้นนี้เอง ก็นำมาสู่การศึกษากลุ่มตลาดของมังหงะที่จะผลิตขึ้นอย่างชัดเจน กลายเป็นลักษณะพิเศษของมังหงะประเภทนั้นๆ และพร้อมๆ กันไปมันก็เข้าไปกำหนดค่านิยมร่วมให้กับผู้เสพหลักของมังหงะประเภทนั้นๆ ไปด้วยเช่นกัน
และในตอนนี้ประเภทของมังหงะก็หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นเยอะ จนพรรณาไม่หมด ทั้งเซย์เน็น (Seinen) บิโชโจ (Bishojo) ยาโอย (Yaoi) ยูริ (Yuri) โฟร์-โกมะ (4-Koma) ฯลฯ แต่ละชนิดก็มีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจน และพัฒนาลักษณะพิเศษของประเภทของตนเองขึ้นมา แน่นอนว่าบ่อยครั้ง จนกล่าวได้ว่าทุกครั้งการ “ข้ามหมวด” ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย ในดีกรีที่มากน้อยต่างกันไป และสุดท้ายการข้ามหมวดคร่อมกันไปมานี้เองที่ทำให้มังหงะไม่ว่าจะในหมวดไหนก็ดูเป็นมิตรพอที่จะให้อ่านได้โดยใครก็ตามไปพร้อมๆ กันได้ โดยไม่ถึงกับเคอะเขินนัก ฉะนั้นผมก็อยากจะลองเชิญชวนให้มาลองอ่านมังหงะหลายๆ ประเภทกันดูนะครับ แล้วลองหาสเน่ห์เฉพาะและจุดร่วมของพวกเค้าดู
ขอให้มีความสุขจากมังหงะครับ
อ้างอิงเพิ่มเติม
A Short History of Japanese Manga โปรดดู http://www.widewalls.ch/japanese-manga-comics-history/
Manga! Manga! The World of Japanese Comics (1983) โดย Frederik L. Schodt
Understanding Manga and Anime (1977) โดย Robin E. Brenner
Tags: มังงะ, manga