เคยสงสัยไหมว่าทำไมการเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) มันถึงยากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าความสัมพันธ์นี้คือสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข แต่ว่าพอตัดสินใจเดินจากไปทีไร ก็ทำไม่ได้เสียที ถ้าหากคุณลองได้สัมผัสกับภาพยนต์เรื่อง Malcolm & Marie นี้แล้วก็อาจจะพอเข้าใจคนเหล่านั้นขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
Malcolm & Marie คือหนังที่ว่าด้วย มัลคอล์ม (จอห์น เดวิด วอชิงตัน) ผู้กำกับภาพยนต์หนุ่มที่เพิ่งกลับมาจากงานปฐมทัศน์ภาพยนต์ของตัวเองราวกับที่ฝันไว้เพราะว่าหนังของเขาได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากเหล่านักวิจารณ์ แต่ว่าแฟนสาวของเขา มารี (เซนดายา) นั้นกลับไม่ได้เฉลิมฉลองค่ำคืนแห่งความสำเร็จร่วมกับเขาอย่างที่หวังไว้ หากแต่กลายเป็นการทะเลาะสุดมโหฬาร เปิดโปงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษของทั้งคู่ออกมาจนเปลือยปล่าว
หนังประเภท Two Hander (หนังที่ดำเนินเรื่องโดยตัวละครหลักแค่ 2 ตัว) ต้องพึ่งความสามารถทางการแสดงของนักแสดงเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้ง เซนดายา และ จอห์น เดวิด วอชิงตัน ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่เพียงการสื่อสารบทพูดที่ยาวเป็นร้อยๆ หน้าเท่านั้น แต่เป็นสีหน้าแววตาความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกกดทับเพื่อรอวันปะทุมาเป็นปีๆ ที่ทำให้เราเหมือนเพื่อนบ้านที่กำลังปีนรั้วแอบมองคู่ผัวเมียที่กำลังทะเลาะกันวุ่นวาย หาใช่การต่อบทของ The Protagonist จาก Tenet และ MJ จาก Spiderman: Homecoming เลยไม่
(คำเตือน: อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
ประเด็นขัดแย้งที่ถูกตั้งคำถามภายในเรื่องมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยที่แทรกซึมอยู่ในกัน และกันได้อย่างอร่อยกลมกล่อมเหมือนมักกะโรนีแอนด์ชีสชามโต โดยประเด็นแรกที่หนังพูดถึงก็คือ “ความถูกต้องทางการเมือง(Politically Correctness)” ที่ถูกหยิบยกมาเชื่อมโยงกับเหล่าภาพยนต์ต่างๆ ที่เคยเป็นแค่สื่อกลางของความจรรโลงใจให้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่กลุ่มคนเป็นใหญ่ใช้กดทับคนกลุ่มน้อย หรือการที่คนกลุ่มน้อยใช้เป็นเครื่องมือตีแผ่ความน่ารังเกียจของชนกลุ่มใหญ่
The Lego Movie นั้นเป็นแค่หนังเลโก้เพื่อความสนุกสำหรับเด็กๆ จริงๆ หรือว่ามันกำลังตีแผ่ความชั่วร้ายของทาสในยุคอุตสาหกรรม? ทำไมเวลากลุ่มคนผิวสีทำจะสร้างภาพยนต์แต่ละเรื่องนั้นจะต้องเกี่ยวกับการถูกกดทับ และความชั่วร้ายของการเหยียดสีผิวอยู่เสมอ ? ทั้งๆ ผู้สร้างนั้นอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านั้นเลยก็ได้ตั้งแต่แรก พื้นที่แห่งการสาดเสเทเสียของศิลปินยังมีอยู่หรือไม่ ? หรือว่าเป็นสัจธรรมของโลกยุคใหม่ไปแล้วที่ทุกการกระทำของพวกเราทุกคนนั้นล้วนเป็นตัวแทนของสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าปัจเจกบุคคล
ประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นฐานของหนังก็คือความสัมพันธ์อันสุดแสนที่จะแหลมคมของตัวมัลอคอล์ม และมารี ที่มองดูดีภาพรวมแล้ว มันเรียบง่าย แถมไม่ซับซ้อนอย่างที่หนังพยายามทำขยี้ จุดเริ่มต้นยืนพื้นของความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นมาได้เพราะว่าคน 2 คนรักกัน แต่เมื่ออยู่ด้วยกันไปนานเข้า ก็อาจจะหลงลืมไปว่าเราเริ่มต้นรักคนคนนี้เพราะอะไร จนกลายมาเป็นสถานะของเจ้าของ และผู้ให้ทาน “ก็ฉันทำแบบนี้ให้เธอตั้งขนาดนี้ ทำไมเธอถึงยังไม่เห็นค่าฉัน” “ฉันสามารถทำร้ายเธอได้มากกว่านี้อีก แต่ว่าฉันจะไม่ทำหรอก เพราะเธอคงรับไม่ได้” จากคนที่เคยรักกันอย่างไม่ต้องการเหตุผล กลับคงเหลือไว้เคียงแค่ความสงสาร และความต้องการเป็นผู้ชนะเพียงเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของการทะเลาะของมัลคอล์ม และมารีนั้นเรียบง่ายมาก มารีน้อยใจมัลคอล์มเพราะว่ามัลคอล์มลืมขอบคุณตัวเธอในสุนทรพจน์รับรางวัลของเขา ทั้งๆ ที่เธอคอยสนับสนุนเขามาโดยตลอด และจากนั้นมารีก็ได้ใจจนพยายามทำให้มับคอล์มรู้สึกผิดไปเรื่อยๆ แบบเกรี้ยวกราดฉาบน้ำตาล จนมัลคอล์มตอบโต้ด้วยคำพูดที่เสียดแทงจิตใจมารีจนเกินไปอีก เป็นการโต้เถียงที่ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามเหยียบย่ำอีกฝ่ายให้จมดิน ด้วยการหยิบยกความผิดพลาดอับอายของอีกฝ่ายมาเป็นอาวุธแหลมที่แทงเข้าไปกลางใจเพียงเพราะ “อยากชนะ” เท่านั้น
ถ้าให้สรุปแบบง่ายๆ ก็คือเป็นการดูคู่ผัวเมียเครื่องด่าที่มีความเป็นนักปรัชญาทะเลาะกันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 46 นาทีแบบไม่มีเวลาให้หยุดหายใจ คำพูดที่คำมันตีแผ่ปัญหาของความสัมพันธ์ในเชิงลึกเอามากๆ โดยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บริบทของความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเพียงเท่านั้น มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาทั้งหมดว่าทุกการกระทำที่เราลงไปนั้นมันมีความจุดประสงค์เบื้องลึกอะไรซ่อนอยู่รึปล่าว เหมือนกับความถูกต้องทางการเมืองในโลกภาพยนต์ในยุคปัจุบัน ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการตีแผ่สิ่งเน่าเฟะของสังคมออกมาตลอดเวลาหรือปล่า?
ฉากลองเทคต่างๆ ที่สอดแทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับการดูละครเวที ที่ใช้ท่าทางอารมณ์ที่เกินจริงของนักแสดงเป็นเสาหลักในการดำเนินเรื่อง จึงไม่แปลกใจที่จะมีกระแสในแง่ลบว่าเป็นหนังที่ใช้บทอัดแน่นไปด้วยคำยากๆ และไม่เหมือนคนกำลังทะเลาะกันอยู่จริงๆ
องค์รวมของหนังเรื่องนี้ถือว่างดงาม ถ้าดูแบบหัวโล่งๆ ก็เหมือนดูผัวเมียข้างบ้านทะเลาะกันอย่างออกรสออกชาติบนเวทีที่จัดแสงได้อย่างงดงาม การทำหนังแบบนี้ออกมาเป็นหนังขาว-ดำนั้นยิ่งทำให้การแสดงของ จอห์น เดวิด วอชิงตัน และ เซนดายา นั้นโดดเด่นขึ้นไปอีก เหมือนกับว่าทั้งคู่นั้นเป็นสายรุ้งท่ามกลางห้องที่ไร้สีสัน ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่สามารถละสายตาไปจากการแสดงของทั้งคู่ได้จริงๆ
Malcolm & Marie, 2021, Sam Levinson, Zendaya, John David Washington
สามารถรับชมได้ทาง Netflix
Tags: Films, Malcolm & Marie