มาเลเซียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันอาทิตย์หลังจากมหาเธร์ โมฮัมหมัดลาออกเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว คาดกันว่า มูห์ยิดดิน ยัสซิน อาจปกครองไม่ราบรื่น เพราะประชาชนไม่พอใจที่เขาดึงพรรคอัมโน ซึ่งเปื้อนมลทินกรณีกองทุนวันเอ็มดีบี เข้าร่วมรัฐบาล

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกมการเมืองในมาเลเซียพลิกกลับไปกลับมาหลายตลบ ตัวละครที่เราคุ้นชื่อกันดี คือ มหาเธร์ โมฮัมหมัด กับอันวาร์ อิบราฮิม เล่นบทตาอินกะตานา เดินเกมช่วงชิงเก้าอี้นายกฯ กันพัลวัน เมื่อต่างฝ่ายต่างรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ทั้งสองจึงหันมาจับมือเพื่อกีดกันฝ่ายที่สาม แต่นั่นก็สายเกินไปเสียแล้ว

นักการเมืองที่คนนอกแทบไม่รู้จัก อย่าง มูห์ยิดดิน ยัสซิน จึงกลายเป็นตาอยู่ คว้าพุงเพียวๆ ไปกิน

อย่างไรก็ตาม มูห์ยิดดินอาจเผชิญกระแสท้าทายความชอบธรรม เพราะรัฐบาลผสมของเขามีพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เคยแสดงเจตจำนงที่จะโค่นอำนาจผ่านการเลือกตั้งเข้าร่วมด้วย นั่นคือ พรรคอัมโน

ชาวมาเลเซียเริ่มจับตาว่า ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ การดำเนินคดีอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ของรัฐบาลพรรคอัมโน จะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือเปล่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมส่อแววบิดเบี้ยว ท้องถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์อาจอึงอลด้วยคลื่นผู้ประท้วงอีกระลอก

นั่นเป็นฉากสถานการณ์ที่ต้องจับตาในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในระยะเฉพาะหน้า ต้องคอยดูว่า ประชาชนที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลผสมชุดก่อนหน้าของมหาเธร์ จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเกิดจากการเข้าแทรกแซงของกษัตริย์ หรือไม่

‘พันธมิตรแห่งความหวัง’ ล่มสลาย

รัฐบาลผสมในชื่อเรียก ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ หรือ ‘พันธมิตรแห่งความหวัง’ ซึ่งได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 มีอันต้องล่มสลายลงเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (24 ก.พ.) หลังจากมหาเธร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ชัยชนะของพรรคพันธมิตร ซึ่งเกิดจากการจับมือกันระหว่างมหาเธร์กับอันวาร์ คู่ปรับเก่า เป็นผลจากความไม่พอใจของประชาชนต่อนายกฯ นาจิบ ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 1MDB

มหาเธร์เคยให้สัญญาว่า ถ้าได้รับชัยชนะ เขาจะไม่ครองตำแหน่งผู้นำจนครบวาระ แต่จะส่งไม้ต่อให้แก่อันวาร์ ถึงแม้มหาเธร์ไม่เคยพูดชัดเจนว่าจะลุกให้อันวาร์ผลัดเข้านั่งเก้าอี้นายกฯ เมื่อไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านมาใกล้ครึ่งเทอม เริ่มเกิดกระแสทักถาม มหาเธร์จึงเปรยว่า อันวาร์จะสมความปรารถนาหลังจากประเทศเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2020

เมื่อส่อสัญญาณว่าอันวาร์จะได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดากลุ่มการเมืองในปีกที่ไม่ชอบอันวาร์ ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน พากันเคลื่อนไหวต่อต้านในทันที

ภายในพรรคเบอร์ซาตูของมหาเธร์ คนที่เป็นแกนนำต่อต้านอันวาร์ คือ ประธานพรรค มูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อัสมิน อาลี ขณะเดียวกัน ภายในพรรคความยุติธรรมของประชาชนของอันวาร์เอง มี ส.ส.ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล 11 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กอีกพรรค คือ Malaysian United Indigenous Party ก็ถอนตัวเช่นกัน

นักการเมืองปีกรัฐบาลกลุ่มนี้รวบรวม ส.ส.ได้ 37 เสียง จากนั้นได้จับมือกับปีกฝ่ายค้าน คือ พรรคอัมโนกับพรรคปาส ซึ่งชูนโยบายอิสลามนิยม พรรคทั้งสองมีเสียงในสภารวมกัน 57 เสียง รวมทั้งมีข่าวว่าพรรคอื่นๆ อีก 2 พรรคจากเกาะบอร์เนียวก็สนับสนุนกลุ่มใหม่นี้ด้วย

เมื่อลูกพรรคและสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนแปรพักตร์ มหาเธร์จึงตัดสินใจลาออกหลังจากนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ 22 เดือน อันวาร์ออกมาอธิบายว่า มหาเธร์ลาออกเพราะไม่อยากถูกบีบคั้นให้กลับไปจับมือกับพรรคอัมโนเพื่อกีดกันตัวเขา

ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร

สมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซีย สุลต่านอับดุลเลาะห์ ทรงยอมรับการลาออก พร้อมกับแต่งตั้งมหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และทรงเรียก ส.ส.เข้าไปสอบถามเป็นรายคนว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าไม่มีแคนดิเดตคนไหนมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ นั่นคือ อย่างน้อย 112 เสียง

ในตอนแรก มหาเธร์เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยตัวเองเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ทุกฝ่าย รวมทั้งองค์สุลต่าน ไม่เห็นด้วย เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อวันพฤหัสฯ มหาเธร์เข้าพบสมเด็จพระราชาธิบดี เสนอให้เปิดสภาโหวตเลือกตัวนายกฯ คนใหม่ในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม ถ้าสภาไม่สามารถตกลงกันได้ก็ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ มหาเธร์บอกในวันนั้น ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีเห็นด้วยกับความคิดนี้ ในวันนั้น มหาเธร์กับอันวาร์ต่างพยายามช่วงชิงเสียงสนับสนุน แต่ไม่สำเร็จทั้งคู่

อย่างไรก็ดี ในวันศุกร์ สำนักพระราชวังแถลงว่า สมเด็จพระราชาธิบดีได้หารือกับบรรดาสุลต่านของรัฐต่างๆ แล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการเปิดสภา วันเดียวกันนั้น พรรคของมหาเธร์เสนอชื่อมูห์ยิดดิน ยัสซิน โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอัมโน

ในวันเสาร์ มหาเธร์กับอันวาร์หันกลับมาจับมือกัน โดยเสนอชื่อมหาเธร์เป็นนายกฯ แต่นั่นสายเกินการณ์แล้ว

คำถามถึงความชอบธรรม

เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (1 มี.ค.) มูห์ยิดดิน ยัสซิน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่พระราชวัง หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศแต่งตั้งเขาเมื่อวันเสาร์

นักสังเกตการณ์บอกว่า การขึ้นครองอำนาจของมูห์ยิดดินอาจจุดชนวนวิกฤตรอบใหม่ในมาเลเซีย เพราะประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่พรรคอัมโนจะได้กลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาล

มหาเธร์พูดหลังจากทราบประกาศข่าวเมื่อวันเสาร์ว่า “เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ฝ่ายแพ้จะได้จัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายชนะกลายเป็นฝ่ายค้าน ไม่หลงเหลือนิติรัฐอีกต่อไป”

ขณะเดียวกัน กระแสไม่ยอมรับมูห์ยิดดินปรากฏขึ้นในทันที แฮชแท็ก #NotMyPM ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ ประชาชนกว่า 100,000 คนเข้าชื่อกันประท้วงว่า การตั้งมูห์ยิดดินเป็นนายกฯ เป็นการ “ทรยศ” ต่อสิทธิเสียงของประชาชน

ทันทีที่มูห์ยิดดินเข้ารับตำแหน่ง เกิดคำถามใหญ่ตามมา 3 ข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมของประเทศ และความสมานฉันท์ของสังคม

ในข้อแรก ด้วยความที่ไม่ปรากฏชัดเจนว่า เขามีเสียงสนับสนุนในสภามากพอหรือไม่ รัฐบาลของเขาจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน

ในข้อที่สอง ด้วยความที่เขาเคยเป็นแกนนำพรรคอัมโนก่อนที่จะถูกนาจิบขับออกจากพรรคเมื่อปี 2015 เพราะวิจารณ์กรณีกองทุนวันเอ็มดีบี ตำแหน่งผู้นำของเขาจะส่งผลต่อการเอาผิดนาจิบหรือไม่

ในข้อสุดท้าย ด้วยความที่เขาเป็นพวกชาตินิยมมลายู เคยลั่นวาจาว่า “ก่อนอื่น ผมเป็นมลายู รองลงไป ผมเป็นชาวมาเลเซีย” ท่าทีจุดยืนแบบนี้จะสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งประกอบด้วยคนเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียจำนวนมาก หรือไม่

 

ที่มา :

AP, 26 February 2020

Bloomberg, 29 February 2020

Reuters, 1 March 2020

AFP via Asia Times, 1 March 2020

 

ภาพ: Lim Huey Teng/ Reuters

 

Tags: , ,