[บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของละคร]
หนึ่งในงานภาพยนตร์หรือละครเวทีของไทยที่ผู้เขียนกลัว (หรือจริงๆ ต้องใช้คำว่า ‘แหยง’) คือหนังหรือละครแนว ‘ความสัมพันธ์’
สาเหตุคืองานประเภทนี้มักมีแนวทางอยู่สองอย่างใหญ่ๆ แบบแรกคือแนวตัวละครพูดคุยเรื่อยเจื้อยไปทั้งเรื่อง ประหนึ่งว่าทุกคนอยากทำงานมาสเตอร์พีซแบบหนังเรื่อง Before Sunrise (1995) แต่ทว่าน้อยชิ้นเหลือเกินที่จะน่าสนใจจนทลายความอุเบกขาไปได้ หลายชิ้นกลายเป็นงานที่น่าเบื่อ หมกมุ่นกับตัวเอง หรือง้องแง้งน่ารำคาญ
ส่วนอีกประเภทหนึ่งไม่ได้คุยกันแบบหน่อมแน้ม แต่เป็นบทสนทนาเชือดเฉือน ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน อารมณ์แบบหนังวูดดี้ อัลเลน แต่งานแนวนี้มักตกม้าตายด้วยการพยายามยัดสิ่งที่ต้องการจะสื่อมาในบทสนทนาจนเกินพอดี บางทีก็ยกมาหมดทั้งแนวคิดของมาร์กซ์, ซาร์ต, โบวัวร์ ฯลฯ กลายเป็นงานที่แห้งแล้ง อวดฉลาด ขาดความเป็นธรรมชาติหรืออารมณ์ร่วม
ทันทีที่เห็นคำโปรยของละคร Make Love, Not War (รักและ/หรือรบ) ที่เขียนว่า “เธอเป็นพวกวัตถุนิยม ส่วนเขาเป็นพวกศิลปนิยม เวลาสองชั่วโมงก่อนนัดสำคัญ แอมมาหาวินที่แกลลอรี่ พวกเขาจะรักและ/หรือรบ” ก็เลยแอบรู้สึกว่าหวาดกลัวไปล่วงหน้า ชัดเลยว่าต้องเป็นละครแนวความสัมพันธ์แน่ๆ แถมน่าจะมีแนวโน้มเป็นประเภทสองที่เป็นเรื่องของการโต้เถียงกันอย่างคมคาย
แต่ผู้เขียนก็ตัดสินใจไปดูด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเป็นแฟนคลับของดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักแสดงนำหญิงของเรื่อง โดยปกติแล้วผู้ชมมักคุ้นเธอจากงานประเภทเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ที่จริงแล้วดุจดาวก็เล่นละครพูดด้วย (เรื่องล่าสุดที่นึกออกคือ The Maids (2014)) ส่วนฝ่ายชายคือ กฤษณะ พันธุ์เพ็ง นักแสดงฝีมือดีที่มีผลงานมากมาย ทว่าในส่วนของผู้กำกับ นัทธมน เปรมสำราญ ตอนแรกก็งงเหมือนกันว่าใคร กูเกิลไปมาจึงพบว่าเธอคือ ปอ เปรมสำราญ เจ้าของหนังสือ Abstract Bar นั่นเอง (นัทธมนเรียนจบด้านการละครจาก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ)
Make Love, Not War จัดแสดงที่ห้องสตูดิโอชั้นสี่ของหอศิลปกรุงเทพฯ มีความเก๋ตรงที่ช่วงกลางวันถึงเย็นเปิดเป็นนิทรรศการศิลปะให้เข้าชม ชื่องาน I am a feminine protagonist: I look at you (ฉันเป็นตัวนำหญิง: ฉันมองคุณ) โดยกมลรส วงศ์อุทุม ส่วนตอนกลางคืนถึงจะเป็นละครเวที เหตุเพราะเรื่องราวของละครว่าด้วยชายหญิงที่นัดกันในแกลเลอรี่ศิลปะ นิทรรศการเป็นงานขนาดเล็กประกอบด้วยงานจัดวางหนึ่งชิ้นและภาพคอลลาจอีกห้ารูป
ละครเวทีเริ่มด้วยการเจอกันของชายหญิงนาม วิน และ แอม ที่ชั้นสองของแกลเลอรี่แห่งหนึ่ง มันเป็นวันเปิดนิทรรศการที่วินทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ แม้จะได้รับทราบข้อมูลมาล่วงหน้าว่าทั้งคู่เป็นคนรักกัน แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าบทสนทนาในช่วงแรกไม่ทำให้เชื่อนักว่าวินกับแอมเป็นแฟนที่คบหากันมาระยะหนึ่ง มันเต็มไปด้วยระยะห่าง การวางท่า และน้ำเสียงประชดประชัน แต่หากมองอีกแง่ก็อาจเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการบอกใบ้ว่าความสัมพันธ์ของคนคู่นี้มีปัญหาบางประการ
ไม่ต้องใช้เวลามากนักละครก็พุ่งเข้าประเด็นหลักของเรื่อง แอมบอกกับวินว่าเธอกำลังท้องและวางแผนจะไปทำแท้ง จากนั้นเนื้อหาของละครก็เป็นการถกเถียงระหว่างตัวละคร ฝั่งวินบอกว่าแอมช่างเห็นแก่ตัว จะทำลายชีวิตหนึ่งลงคอได้อย่างไร เชื่อเถอะว่านี่คือสิ่งมีค่าสำหรับเธอ ดังนั้นอย่าทำแท้งเลย ส่วนแอมโต้กลับว่าเธอไม่นับก้อนเนื้อในท้องตอนนี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรอก และใช่…ที่เธอตัดสินใจแบบนั้นก็เพราะเธอรักตัวเอง แต่คนเราควรจะรักตัวเองมิใช่หรือ อีกทั้งเธอยังเชื่อว่านี่คือการตัดสินที่ดีที่สุดแล้ว
ระหว่างดูนักแสดงแลกเปลี่ยนบทสนทนากันไปมา ผู้เขียนอดขำเป็นระยะไม่ได้ เนื้อหาทั้งหมดมันช่างคุ้นเคยประหนึ่งกำลังอ่านกระทู้พันทิปเรื่องทำแท้ง หรือไม่ก็คอมเมนต์ในเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพ’ ที่สัมภาษณ์คนเคยทำแท้ง เช่นนั้นแล้วสาระที่ละครหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอาจจะไม่ได้มีอะไรใหม่ล้ำ แต่ผู้เขียนชอบที่ละครไม่ได้พยายามเล่นใหญ่เล่นโตทำตัวปัญญาชนจ๋า (แบบที่เคยกลัว) บทสนทนาทั้งหมดผสมได้ดีระหว่างความชาญฉลาดและความบ้านๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองได้ เพราะหลายคนคงเคยผ่านการโต้วาทีทำนองนี้มาแล้วทั้งกับแฟน เพื่อน ครอบครัว หรือกระทั่งชาวเน็ต
เป็นที่ชัดเจนว่า Make Love, Not War ไม่ได้ต้องการตั้งคำถามเรื่องการทำแท้งที่เกี่ยวพันกับศีลธรรม แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงควาคาดหวังทางสังคมที่ผูกติด ‘ความเป็นแม่’ ไว้กับเพศหญิง เมื่อนั้นเองที่ผู้เขียนเริ่มมองเห็นนัยสำคัญของตัวนิทรรศการ I am a feminine protagonist ที่หากดูตัวงานแบบแยกเดี่ยวอาจรู้สึกเฉยๆ แต่ช่วงต้นของละครบอกไว้ว่านิทรรศการนี้จัดอยู่ที่ชั้นสองที่ไม่มีใครสนใจจะขึ้นมาดูนัก มันอาจสื่อถึงปัญหา/ความรู้สึกของผู้หญิง (แอม) ที่ผู้ชาย (วิน) ไม่คิดจะใส่ใจก็เป็นได้
แม้ผู้เขียนจะรู้สึกเข้าข้างและเห็นด้วยกับแนวคิดของแอม แต่เมื่อดูละครไปสักพักก็อดสงสารวินไม่ได้ เหตุน่าจะมาจากผู้กำกับเขียนบทให้ทั้งสองมีลักษณะอยู่คนละขั้วอย่างชัดเจน อาจจำแนกอย่างหยาบๆ ว่าแอมเป็นพวกหัวก้าวหน้า ส่วนวินเป็นพวกโลกสวย ดังนั้นการเถียงของทั้งสองจึงเหมือนมวยคนละรุ่น และนั่นยังส่งผลต่อการแสดงที่ตัวละครของดุจดาวดูมีเสน่ห์และน่าหลงใหล แต่ฝั่งตัวละครของกฤษณะนั้นดูน่ารำคาญและไม่ค่อยมีมิตินัก
ทว่าในช่วงท้ายของละคร ผู้กำกับก็เพิ่มระดับสมดุลให้กับตัวละครได้ ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าแม้วินจะเป็นผู้ชายโลกสวยแต่เขาอาจจะหวังดีกับแฟนสาวอย่างแท้จริง ส่วนแอมเริ่มเปิดเผยความร้ายกาจในตัวเองออกมา ผู้เขียนรู้สึกสงสัยตลอดการแสดงว่าแล้วแอมจะบอกวินว่าท้องทำไม (วะ) ในเมื่อเธอมุ่งมั่นจะทำแท้งอยู่แล้ว และเมื่อวินถามเธอก็ตอบว่าเธอบอกเพราะ ‘รัก’ วิน
นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนถกกับเพื่อนอยู่นานพอดู แอมอาจจะหมายความตามนั้นจริงๆ หรือเธออาจบอกแฟนหนุ่มเพื่อไม่ต้องรู้สึกไม่สบายใจในภายหลัง ถือว่าฉันไม่ได้แอบทำแท้ง ฉันมาบอกคุณก่อนแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าแอมกำลังเอาความรักมาเป็น ‘ตัวประกัน’ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการแจ้งข่าวเรื่องการทำแท้งกับวิน ดังนั้นแล้ว Make Love, Not War จึงไม่ใช่แค่สงครามทางความคิดหรือทัศนคติ แต่มันยังเป็นสงครามความรักที่ไม่ใช่เรื่องโรแมนติก แต่ความรักกลายเป็นเครื่องมือก่อสงครามชนิดหนึ่ง
น่าเสียดายว่าละครค่อนข้างสั้นมาก ความยาวไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงเต็มด้วยซ้ำ เชื่อว่าหลายคนเกิดอาการทำนองเดียวกันว่า “อ้าว จบแล้วหรือ” ผู้เขียนรู้สึกว่าเพิ่งจะได้ดูองก์ 1 ของละครไปเท่านั้นเอง แต่ก็คงเป็นความต้องการของผู้กำกับที่อยากนำเสนอช่วงเวลาเพียงเสี้ยวหนึ่งของคู่รักและปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการส่วนที่เหลือเอาเอง แต่อย่างน้อยที่สุดงานชิ้นนี้ก็ทำให้ผู้เขียนอยากดูผลงานเรื่องต่อไปนัทธมน เช่นเดียวกับที่อยากดูองก์ที่ 2 และ 3 ของวินและแอม
** ละครเวที Make Love, Not War (รักและ/หรือรบ) แสดงถึงวันที่ 9 กันยายน 2561 ณ สตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1967026816652763
Tags: ดุจดาว วัฒนปกรณ์, ปอ เปรมสำราญ, Abortion, Make Love, Not War, กฤษณะ พันธุ์เพ็ง, ทำแท้ง, ละครเวที