เชฟ ลูค โทมัส (Luke Thomas) เป็นหัวหน้าเชฟที่อายุน้อยที่สุดในสหราชอาณาจักร เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาในเมืองไทย ถ้าไม่ใช่เหล่าฟู้ดดี้ที่คุ้นเคยกับอาหารแบบบริติช หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าเขาคือใคร แต่ในวงการอาหารระดับโลก เขาถูกจับตามองในฐานะ The Next Jamie Oliver เชฟรุ่นใหญ่ที่ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

เมื่อได้โอกาสสัมภาษณ์เชฟ ลูค โทมัส ในเวลาแสนจำกัด เราอดใจไม่ไหวที่จะอยากรู้ว่า หลังจากที่ตระเวนกินสตรีทฟู้ดทั่วกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา เชฟหนุ่มจากอังกฤษคนนี้คิดอย่างไรกับอาหารไทย 

“ชอบมากครับ อาจจะค่อนข้างเผ็ดสำหรับลิ้นชาวอังกฤษอย่างผม แต่มันเป็นความเผ็ดจากกลิ่นของเครื่องเทศ ไม่ใช่เผ็ดแบบร้อนแรง ผมก็เลยยังพอกินได้

“ผมว่าอาหารไทยน่าสนใจตรงเรื่องของกลิ่นและรสชาติที่มันหลากหลายมากๆ จากพวกสมุนไพร เช่น พริก มะกรูด ตะไคร้ มะนาว ถ้าเปรียบเทียบกับอาหารที่ผมทำอยู่ก็คนละรสชาติครับ แต่ผมก็ใช้ผักและสมุนไพรเยอะเหมือนกันในเมนูอาหารที่ผมทำ โดยเฉพาะสลัดต่างๆ ตอนนี้กำลังคิดว่า ถ้ากลับไปจะลองใช้สมุนไพรให้เยอะขึ้น อย่างกระเทียม ตะไคร้ เติมรสชาติให้เข้มขึ้นอีกนิดหนึ่งครับ”

เราได้ยินมาว่า เจมี่ โอลิเวอร์ เป็นแรงบันดาลใจในการทำอาหารของเชฟลูค ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับเลยว่าเขาปลื้มเชฟเจมี่มาก เหตุผลไม่ใช่เพียงเพราะเขาทำอาหารเก่งและเป็นเจ้าของร้านอาหารที่มาสาขาอยู่ทั่วโลก

“สำหรับผม เขาเป็นผู้ชายที่ทำอาหารจริงๆ ให้กับทุกคนบนโลกนี้ เขาไม่เคยแบ่งแยกว่าอาหารของเขาเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง เขาทำให้การทำอาหารดูง่ายมาก แล้วเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อวัตถุดิบต่างๆ

“สมัยเรียนมัธยม ผมรู้สึกว่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนไม่มีประโยชน์เลย มีแต่แป้ง น้ำตาล มันไม่ควรเป็นแบบนั้น เราควรได้กินอาหารหลากหลาย ซึ่งเจมี่เขาห่วงใยอนาคตของโลกใบนี้ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งการใช้ชีวิตและการทำอาหาร

“เขาผลักดันให้คนบนโลกนี้ทำอาหาร  และเขาไม่ได้แค่ทำอาหารแต่เขาให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารด้วย”

แล้วเขารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับเชฟที่เขาชื่นชอบ ถึงขนาดที่ว่าเขาคือเจมี่ โอลิเวอร์คนต่อไป

“ก็รู้สึกแปลกๆ นะครับ แต่คิดว่าเป็นเพราะตัวผมเองมีความเชื่อและทัศนคติที่ใกล้เคียงกับเจมี่ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบในทำนองนั้นขึ้นมา คือผมเองก็คิดมาเสมอว่า สมัยเรียน เรามักได้รับการสอนให้ทำให้ดี แต่ไม่เคยมีใครผลักดันให้เรากล้าทำอะไรที่มันแตกต่างหรือนอกกฎเกณฑ์ คือโรงเรียนบอกว่าชีวิตเรามีทางเลือก แต่ไม่เคยสอนเราจริงๆ ว่าโลกตอนนี้มันไปถึงไหนแล้ว โอกาสต่างๆ มันมีอยู่ที่ไหนบ้าง

เชฟลูคบอกว่า แต่ก่อน คนเคยคิดว่าการเป็นเชฟหรือจะทำอาหารให้ดีต้องออกมาดูหรูหรา แต่เจมี่ทำให้ช่องว่างเหล่านั้นหายไป

“คือผมเข้าใจว่า บางทีโอกาสเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นได้กับคนที่มีพื้นเพหรือพื้นฐานครอบครัวที่ดี อาจจะต้องมีครอบครัวที่ส่งเสริมในเรื่องการเงินได้ แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยอะไร”

“อาหารเป็นเรื่องที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นเพราะบ้านผมไม่ได้มีเงินที่จะซื้อเครื่องเล่นวิดีโอเกมเยอะแยะมากมาย เลยทำให้ผมได้ใช้เวลาทำนู่นทำนี่กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะการได้คลุกคลีกับคุณยายทำอาหารอยู่ในครัว แล้ววันหนึ่งเจมี่ โอลิเวอร์ก็ปรากฏกายขึ้นมาในโทรทัศน์ ตอนนั้นสำหรับผมเขาก็เหมือนดาราเท่ๆ คนหนึ่งเลย เพื่อนๆ อาจจะชอบดูแข่งฟุตบอล แต่ผมก็แค่ชอบดูรายการทำอาหาร”

จุดสำคัญที่เชฟลูคมองเห็นในตัวเชฟเจมี่ โอลิเวอร์ ผู้โด่งดังก็คือ การเลือกใช้วัตถุดิบที่เราสามารถหาได้ใกล้ตัว ซึ่งเป็นมิติที่ช่วยเปิดโลกของการทำอาหารให้แก่เขา มาวันนี้หลังจากบ่มเพาะประสบการณ์มาระยะหนึ่ง เป้าหมายของเชฟลูคไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเอง แต่คือการแบ่งปันสิ่งที่เขารู้ไปให้คนอื่นๆ บ้าง

“ผมเชื่อในเรื่องความรู้เกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสีสัน สูตรอาหาร วิธีการเสิร์ฟ ก่อนที่ใครสักคนจะก้าวไปเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารหรือไปเป็นเชฟ ผมอยากให้เขาได้เรียนรู้ก่อน ผมเคยเปิดร้านอาหารมาก่อน มันก็มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ผมเชื่อว่าเราเรียนรู้จากความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ดังนั้น นอกเหนือไปจากการทำอาหาร ผมก็จะคอยให้คำปรึกษาเชฟรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการเปิดร้าน เขามีไอเดียตั้งต้นกันอยู่แล้ว ผมคอยช่วยแนะนำว่า ถ้าทำแบบนี้น่าจะเวิร์ก หรือทำแบบนี้ไม่เวิร์ก ส่วนเป้าหมายสำหรับตัวเองก็คงเป็นการที่ผมจะยังสนุกแล้วก็มีความสุขกับการทำอาหารต่อไปเรื่อยๆ”

เมื่อเราถามเชฟลูคว่า จริงหรือเปล่าที่ต้องทำตัวให้ดูเป็นดาราหน่อยๆ ถึงจะได้กลายเป็นเชฟดังมีคนมาชอบเยอะๆ 

“นิยามของเซเลบริตีเชฟมันเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเป็นเชฟประจำร้านอาหารหรูชื่อดัง หรือคุณเป็นแม่ค้าที่ขายสตรีตฟูดมานานกว่า 30 ปี คุณก็มีแฟนคลับจำนวนที่เท่าๆ กันได้ สาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณเคยออกรายการโทรทัศน์หรือเปล่า แต่มันอยู่ที่ว่าคุณคือของแท้หรือเปล่า”

เขาเคยทำงานร่วมกับเชฟมิชลินสตาร์มาหลายคน แต่ดูเหมือนว่าอาหารของเขาค่อนข้างเรียบง่าย ไม่หรูหรา ทำไมเขาจึงเลือกสื่อสารแบบนั้น

“ผมคิดว่า การได้ทำงานกับมิชลินสตาร์ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการทำอาหาร หรือว่ารสชาติอาหารที่อร่อยเท่านั้น แต่คือการได้ซึมซับแนวคิดและปรัชญาในการทำอาหาร หรือแม้แต่การใช้ชีวิตของเชฟเหล่านั้นด้วย ว่าอะไรคือที่มาของความคิด อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูเหล่านั้น

“ผมได้เรียนรู้เทคนิควิธีแพรวพราว แต่สุดท้ายผมก็เลือกที่จะกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจการทำอาหาร นั่นก็คือ อาหารที่เรียบง่าย ปรุงอย่างดี และมีประโยชน์”

แล้วถ้ามีคนไม่ชอบอาหารที่คุณทำล่ะ เราถามเล่นๆ แต่เขาตอบจริงจังมากว่า “มีเยอะแยะเลยครับ เพราะลิ้นคนเรามันไม่เหมือนกัน ผมอาจจะชอบกาแฟแก้วนี้ แต่คุณอาจจะไม่ชอบ”

“แต่ผมมองว่ามันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเลยที่จะทำให้ผมต้องหาสูตร หารสชาติ หาวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะทำให้คนที่ไม่ชอบเปลี่ยนใจมาชอบให้ได้”

เขาทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่อยากเป็นเชฟ เขาบอกว่า โอกาสมีอยู่ทุกที่ สำหรับงานเชฟ ไม่ว่าจะอายุ 50 หรืออายุ 15 ก็มีโอกาสไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญคือต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาหาร ต้องเข้าใจวัตถุดิบ สมดุลของรสชาติต่างๆ

ที่เมื่อรู้แล้ว จึงค่อยผสมผสานทฤษฎีความเชื่อส่วนตัวลงไป แล้วสร้างสรรค์เมนูที่เป็นของตัวเองขึ้นมา

Tags: , , ,