ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โดมิโน่ตัวแรกที่ล้มแล้วลามพังพาบลงไปทันทีเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 คือภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมที่พักเดินหน้าต่อไม่ได้ในวันที่ผู้คนยุติการเดินทาง โดยเฉพาะที่พักแบบโฮสเทล ที่ผู้เข้าพักจะต้องมีการแชร์พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนห้องพัก ห้องน้ำ ที่ต้องทำการ ‘ปิดบริการ’ ทันที เพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ

ภัททกร ธนสารอักษร หนึ่งในหุ้นส่วน Luk Hostel เล่าให้เราฟังในวันที่กรุงเทพฯ ยังไม่คลายล็อกดาวน์ บนพื้นที่ส่วนกลางที่ชั้น 5 สัญลักษณ์การใช้พื้นที่ถูกหมายลงบนพื้น บนโต๊ะ บนเก้าอี้ ในลิฟต์ ในห้องน้ำ เพื่อกำหนดจุดให้รักษาระยะห่าง แขกบางส่วนยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เพราะผลจากการปิดพรมแดนทั้งของไทยและประเทศปลายทาง และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือนอกจากแขกที่ตกค้าง Luk Hostel ยังมีแขกใหม่เข้าพัก ซึ่งแขกกลุ่มนี้เกิดจากโอกาสที่เผยช่องให้เขาเห็นในวิกฤตนี้เอง 

เพื่อทำความรู้จักกับ Luk Hostel และ ‘ราก’ การทำธุรกิจของเจ้าของโฮสเทลแห่งนี้ เราขอพาคุณย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเดือนที่ Luk Hostel เปิดให้บริการ 

โฮสเทลนี้ตั้งอยู่ใจกลางสำเพ็ง ย่านการค้าที่เคยเป็นดินแดนแห่งโอกาส หนาแน่นและพลุกพล่านไปด้วยร้านค้าและผู้คน อาคารซึ่งเป็นโฮสเทลแต่เดิมคือตึกสำเพ็งพลาซ่า ที่ผู้เช่าค่อยๆ ทยอยปิดตัวเองหลังตลาดการค้าออนไลน์เข้ามาแชร์ส่วนแบ่ง หุ้นส่วนของโรงแรมคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ใน ทีม ‘สาธารณะ’ (SATARANA) ที่หัวใจในการก่อตั้งทุกธุรกิจเป็นไปเพื่อขับเคลื่อนชุมชนและพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘May Day’ กับการออกแบบระบบการขนส่งสาธารณะ ‘Trawell’ กับการผลักดันการท่องเที่ยวในย่านเก่า ‘Locall’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างวิกฤตโควิด-19 ที่บริการเดลิเวอรี่ร้านค้าในชุมชน และ ‘Rise Café’ ร้านอาหารที่สนับสนุนสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตโดยตรงกับเมนูผูกปิ่นโตเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ นอกจากโครงการเหล่านี้ พวกเขามีธุรกิจโฮสเทลอยู่ 2 แห่ง คือ Once Again Hostel ในย่านประตูผี ซึ่งติดอันดับ Top 3 ของโฮสเทลในไทย จากการจัดอันดับของ Hostel World และ Luk Hostel ที่เพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน ก็ขึ้นอยู่ใน Top 5 ของการจัดอันดับตามกันมา

“เปิดได้แปดเก้าเดือนครับ โควิดมา” ภัททกรเล่าพลางไม่รู้จะทำอะไรได้มากกว่าหัวเราะให้กับมัน “ที่ Once Again เราทำเรื่องการพัฒนาชุมชนเก่าที่อยู่รอบๆ โฮสเทล ส่วนที่ Luk เราตั้งใจพัฒนาเรื่องสตรีตฟู้ด เพราะตอนนั้นมีประเด็นรัฐบาลกำลังจะไล่รื้อสตรีตฟู้ดออก ซึ่งเรามองว่าเป็นของที่ชุมชนมีดีอยู่ แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรมากนอกจากใช้ที่นี่เป็นที่นั่งคุยหาทางออกเรื่องสำเพ็งกับกลุ่มชาวสำเพ็งเข้มแข็ง เราก็ต้องปิด” 

เมื่อต้อง ‘ลุก’ ในวันล้ม

แขกที่เข้าพักทั้งสองโฮสเทล 80-90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวตะวันตก การหายไปของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงต้นจึงยังไม่ส่งผลกระทบถึงโฮสเทลของภัททกรนัก กระทั่งการระบาดลามไปถึงยุโรป อเมริกา ก็เป็นอันว่าความหวังถูกปิดตายในวันนั้น

“ปัญหาคือเราไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ทำให้เราไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ แต่ความตั้งใจของเราทั้งสองที่ก็คือ เราปิดก็จริง แต่เราต้องการรักษาทรัพยากรมนุษย์ของเราไว้ เพราะเรามองว่าที่เรามีทุกวันได้เพราะว่าน้องๆ ในทีม โฮสเทลหนึ่งที่เรามีทีมราว 14-15 คน รวมแม่บ้านที่ที่หนึ่งจะมีประมาณ 4 คน ที่ทีมเราค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับการเป็นโฮสเทลเพราะว่าเรามีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมชุมชนรอบๆ เช่น พาไปกินสตรีตฟู้ด พาไปขี่จักรยานเที่ยวเมืองเก่า 

“พอที่พักเปิดไม่ได้ เราคุยกับแม่บ้านเพราะพี่ๆ เขาจะไม่ได้มีงานให้ทำมาก เพื่อให้เขาพักก่อน ไม่ได้ไล่ออก เมื่อเปิดใหม่เขากลับมาได้เลย แต่ก็จะมีบางส่วนที่ยังต้องทำอยู่เพราะเรามีลูกค้าที่ตกค้าง กลับประเทศไม่ได้ แม่บ้านก็จะมาทำงานกับเราวันละ 2-3 ชั่วโมง ได้ค่าแรงไม่เต็ม แต่เราช่วยเรื่องค่าเช่าบ้านเขา เราพยายามที่จะรอดไปด้วยกัน

“เรามีลูกค้าทั้งสองโฮสเทลรวมกันสักสิบกว่าคน แต่เรามีสตาฟฟ์อยู่เกือบสามสิบ เลยทำให้เกิดธุรกิจขึ้นมาจากการปรับตัวเป็นสามส่วน หนึ่งคือ Locall แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อาหารในชุมชน Rise Café ร้านอาหารที่ทำเมนูผูกปิ่นโต กับ Luk Home ที่เราเปลี่ยนโฮสเทลให้เป็นบ้าน”

‘บ้าน’ หลังนี้จึงเกิดจาก ‘โฮสเทล’ ซึ่งมีความหมายสำหรับการนอนชั่วคราว กลายเป็น ‘โฮม’ ที่ทุกคนอยู่ในระยะยาว ด้วยบริการแบบโรงแรม และปรับค่าที่พักจากรายวันเป็นรายเดือน ซึ่งนอกจากลูกค้าที่เป็นแขกเดิมและยังกลับบ้านไม่ได้ Luk Home มีลูกค้าเข้าใหม่เป็นคนไทย ที่ห้องพักแบบนี้เหมาะกับการเก็บตัวเพื่อ work from home หรือทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่บางคนอาจไม่สะดวกในการทำที่บ้าน 

“เรามีที่นอน มีที่ทำงาน มีอาหารสามมื้อ มีทุกอย่าง คุณแทบไม่ต้องไปไหนเลย อยากได้อะไรมีเดลิเวอรี่แมนไปซื้อมาให้ มีคนที่มานอนที่นี่แล้วสอนออนไลน์ให้กับนักเรียน มันมีกิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้น เหมือนว่าเรากำลังทดลองอะไรบางอย่างซึ่งจะนำไปต่อยอดอะไรต่างๆ ในอนาคตได้”

อย่างน้อยจนกว่าการทดลองวัคซีนจะสำเร็จและนำมาใช้อย่างสมบูรณ์ ที่โฮสเทลจะต้องเปลี่ยนตัวเอง 

“ตอนนี้ไม่มีการแชร์ห้องรวม ส่วนห้องเดี่ยวเรามีอยู่แล้ว แต่ถ้าในอนาคตผมว่าถึงจุดหนึ่งเราเริ่มเข้าใจพฤติกรรม เริ่มเข้าใจว่าแค่ไหนเราจะไม่ติดกันแล้ว เราจะมีการเว้นระยะที่เพียงพอ สมมติอย่างเมื่อก่อนห้องหนึ่งนอนแปดคน เราจะเหลือห้องหนึ่งนอนสี่ โดยอีกล็อกหนึ่งเว้นไปเลยห้ามอยู่ห้ามนอน โชคดีอย่างหนึ่งของเราคือแต่ละชั้นเรามีห้องไม่เยอะ ทำให้เราสามารถกระจายการอยู่อาศัยได้ค่อนข้างเยอะ 

“จนถึงขั้นที่มีวัคซีน ผมว่ามันจะกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตอาจจะมีโควิด-20 โควิด-21 เกิดขึ้น ดังนั้นเราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นเหมือนโปรโตคอลใหม่ของเราในการรับมือพวกโรคระบาดหรือเรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นแบบนี้ได้”

มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ทำให้จำนวนผู้เข้าพักต้องถูกจำกัด แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงรายได้ในอนาคต ที่อย่างน้อยก็ต้องยืนระยะเช่นนี้ไปอีกหลายเดือน หรืออาจจะมากกว่าหนึ่งปี สถานะของตัวเลขทางบัญชีจึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิด

 “ตอนนี้เลยจากที่เคยรับได้ร้อยยี่สิบคน เราเปิดรับคนเข้าพักไม่เกินสามสิบคน เหลือแค่หนึ่งในสี่ ตอนเกิดวิกฤต เราคุยกับทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าของพื้นที่ว่าขอไม่เก็บค่าเช่าก่อนได้ไหม เราขอแค่เงินมาจ่ายน้องๆ กับเลี้ยงค่าไฟและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งจะพอให้เราอยู่ได้ ไม่มีกำไร แต่อย่างน้อยไม่ต้องไล่ใครออก และที่นี่ยังเปิดดูแลตัวเองต่อได้ แต่ในระยะยาวเราอยู่แบบนี้ไม่ได้

“เรามองสเต็ปหลังจากนี้ไปสองแบบ คือแบบยังไม่มีวัคซีน กับแบบมีวัคซีน ในแบบแรกที่ยังไม่มีวัคซีน เราอาจต้องคิดโมเดลคล้ายๆ ปัจจุบัน แต่ทำยังไงให้เราหารายได้ได้มากขึ้นอีกสักนิดก็ยังดี อาจจะเป็นการใช้ facility ส่วนกลางแบบใหม่ที่เป็นมากกว่าของโฮสเทล ที่เปิดให้คนเข้ามาใช้งานโดยมีการเก็บค่าใช้จ่าย เช่น ใช้เป็นห้องประชุม หรือมานั่ง work from home และปรับเปลี่ยนโมเดลเป็น Luk Home พักเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน แต่เราก็ต้องคิดว่าทำยังไงให้เราแข่งกับอพาร์ตเมนต์ได้ เพราะมันมีที่พักรายเดือนอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงต้องมานอนกับเรา

“ข้อได้เปรียบที่เรามีคือเรื่องกายภาพ เรามี facility ส่วนกลางที่อพาร์ตเมนต์อาจจะไม่มี เรามีดาดฟ้าที่นั่งเล่นได้ ได้แสงธรรมชาติ แฮงก์เอาต์ได้ ตอนนี้เรามีกายภาพที่ดีแล้ว เปรียบเทียบคือเป็นฮาร์ดแวร์ ในส่วนซอฟต์แวร์เราก็ต้องมีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอด้วย ซึ่งซอฟต์แวร์จะเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าเราจะเอาชนะที่พักที่เป็นรูปแบบเดิมได้

“เรามีการทำรีเสิร์ชอยู่ด้วย และทำสัมภาษณ์เชิงลึกกับคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักว่าถ้าเราทำแบบนี้ มีตัวเลือกอยู่หนึ่งสองสามสี่ คุณยินดีจ่ายเท่าไร จะได้เอาข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ เหมือนเรากำลังทำโฮสเทลใหม่อีกรอบ จากการที่รีเสิร์ชตลาดมา มีบางโมเดลที่เราสามารถสร้างคอมมูนิตี้ของกรุ๊ปที่จะมาอยู่ด้วยกันได้ เป็นคนประเภทใกล้ๆ กันมาอยู่ด้วยกัน แล้วเราสามารถแทรกกิจกรรมบางอย่างลงไปได้ ซึ่งในรูปแบบนี้จะเป็นที่พักแบบใหม่ที่ในไทยยังไม่มี แต่ในหลายประเทศมีแล้ว บางประเทศเรียกว่า co-living space ที่เป็นมากกว่าที่พัก แต่เราก็ยังรอตกผลึกอยู่ และยังทำรีเสิร์ชเชิงลึกเพื่อหาข้อมูลที่ลึกลงไปอีก เผื่อมันมีหนทางที่น่าสนใจกว่านั้น”

แม้จะรีบหรี่ ก็ต้องมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤต 

ด้วยพื้นฐานหลักซึ่งเป็นรากของการทำธุรกิจที่คำนึงถึงคนอื่น การคิดโมเดลใหม่จึงยังยึดโยงเอาแก่นนั้นมาต่อยอด ภัททกรเล่าว่า ในเวลานั้น ทุกคนย่อมคิดถึงตัวเองก่อนแน่นอน พวกเขาก็มีต่างกัน แต่เมื่อเริ่มตั้งสติได้ วิธีคิดของทีมจึงไม่ได้อยู่ที่การวิ่งหนีซอมบี้เพื่อเอาตัวรอด แต่จะทำยังไงจะพาคนอื่นให้รอดไปด้วย 

“ตอนนั้นหลายบริษัทมีการปรับตัว ต้องเลย์ออฟพนักงาน หรือแม้แต่คนที่ทำงานเป็นรายวันก็ตกงาน บางทีเขาไม่มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จะกลับบ้านก็ไม่ได้ ฉุกเฉินปรับตัวไม่ทัน เราก็มองว่าให้ที่นี่เป็นบ้านหลังหนึ่งที่เขาจะพักผ่อนหย่อนใจได้สบายๆ เพื่อให้เขาได้อยู่นิ่งๆ ตั้งตัวก่อน เราปรับเป็นรายเดือนจริง แต่เรามีเรตแบบรายสัปดาห์ ไม่ต้องมัดจำอะไรเลย คุณจ่ายธรรมดา อยากอยู่ต่อก็จ่ายเพิ่ม แล้วบริการแบบโรงแรม เรามีสถานที่ มีทีมงานอยู่แล้ว เราก็ช่วยประคับประคองในระยะที่เขาหนักจริงๆ ให้ผ่านไปได้ก่อน

“ผมคิดว่าวิกฤตนี้จะเป็นโอกาสของคนที่ตั้งสติได้เร็ว แล้วถ้าปรับตัวได้เร็ว เขาจะได้ธุรกิจใหม่ที่นำหน้าคนอื่นทันที ซึ่งเราพยายามเป็นคนคนนั้นอยู่ จริงๆ เราไม่ได้ทำเพื่อชนะใคร เราทำเพื่อชนะตัวเอง แล้วมองว่าเรามีเป้าหมายที่ไปไกลกว่าการทำที่พักอาศัยอยู่แล้ว เราอยากช่วยเหลือคนรอบๆ ชุมชนเรา ซึ่งโมเดลที่เราคิดมาตรงนี้อาจจะช่วยเหลือคนรอบๆ ไว้ด้วยกัน เราจะเราทำยังไงให้ดึงคนที่อยู่ชุมชนรอบๆ เรามาร่วมคิดร่วมทำกับเราแล้วกลายเป็นธุรกิจใหม่ ที่จะช่วยเหลือทั้งตัวเราและคนรอบข้างไปด้วย”

เมื่อถามถึงมาตรการเยียวยาในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ภัททกรเล่าว่า การปิดตัวของธุรกิจโรงแรม แม้ที่ผ่านมารัฐไม่ได้สั่งผิด แต่ด้วยความรับผิดชอบของเจ้าของธุรกิจที่มองว่าโรงแรมเป็นแหล่งการแพร่ระบาดได้ โรงแรมจึงเลือกปิดตัวเอง แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อรัฐบาลไม่มีคำสั่งปิด มาตรการช่วยเหลือจึงไม่มี 

“ถ้าเรามองรายได้ของประเทศ ก้อนใหญ่มากคือมาจากการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการรองรับเลย ผู้ประกอบการต้องช่วยตัวเองมาก ผมว่าอันดับหนึ่งของอาชีพที่ตกงานคืออาชีพบริการ พนักงานของเราถือเป็นอาชีพบริการ ถ้ารัฐสั่งว่าโรงแรมต้องปิด น้องๆ จะสามารถได้รับการคุ้มครอง คือพนักงานไม่ได้ก็ส่วนหนึ่ง ผู้ประกอบการไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ได้เลย ล่าสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ มีประกาศขายโรงแรมเป็นร้อยโรงแรม สิบล้าน ยี่สิบล้าน เจ็ดสิบล้าน มีหมด ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ก็รู้สึกเห็นใจคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ด้วยกัน หลายๆ คนที่อาจจะเช่าที่เหมือนเรา แต่ไม่ได้เจอเจ้าของที่ใจดีที่จะพักค่าเช่าให้ หรือคุยแบบจ่ายย้อนหลังได้ ผมเชื่อว่าตอนนี้เจ้าของที่ก็อาจเดือดร้อนเหมือนกัน ทุกคนเดือดร้อนเหมือนกันหมด ของเราโชคดีที่เจ้าของที่เห็นใจ เราเลยสามารถมีสติ แล้วค่อยๆ คิดว่าจะเอายังไงกันต่อไป”

ในมุมของภัททกร เขามองว่าภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตยังหลังมีวัคซีน จะกลับมาได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิมจะส่งให้ภาพการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนไป

“ทุกคนจะใส่ใจเรื่องความสะอาด ใส่ใจเรื่องการมีระยะห่าง เพื่อให้เราระมัดระวังกัน ผมเชื่อว่าพฤติกรรมของคนในโลกจะเปลี่ยนใหม่ เขาจะมีระยะกันเองโดยอัตโนมัติ เขาจะไม่ชอบการท่องเที่ยวแบบแออัด เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้มีวัคซีนก็ไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมคนทั้งโลกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เต็มที่ก็เก้าสิบถึงเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นต้องมีระยะห่างกันอยู่บ้าง แต่ที่พูดมาก็เกิดจากความคาดเดา เพราะนี่เป็นเรื่องที่เราไม่มีใครเคยเจอมาก่อน” 

Tags: , ,