ความรักคืออะไร คำถามง่าย ๆ ที่คำตอบที่ได้มานั้นล้วนแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากคนที่สมหวังในความรัก คนที่ผิดหวัง เด็กน้อยที่เริ่มได้สัมผัสรักครั้งแรก คนเฒ่าคนแก่ผู้ผ่านโลกมามากมาย รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์จากนานาแขนงความเชี่ยวชาญ ที่กำลังพยายามทำความเข้าใจในวิทยาศาสตร์เบื้องหลังความรักเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็นอาการหัวใจเต้นรัว ๆ เมื่อพบเจอคนที่ดึงดูดความสนใจของเราไป หรืออาการเจ็บปวดหัวใจดั่งใจสลาย เมื่อความรักที่เราวาดฝันเอาไว้ ได้พังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา เรื่องราวเหล่านี้สามารถหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้โดยส่วนใหญ่ ซึ่งคำตอบที่ได้มานั้นมันฟังดูทั้งง่ายดายและซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
แล้วความรักจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ ทำไมเวลารักถึงหวานชื่นดั่งดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ และเวลาเลิกถึงเจ็บปวดที่หัวใจประหนึ่งราวกับว่ามันมีความรู้สึก และถ้าในเมื่อถ้าความรักสามารถอธิบายได้ด้วยหลักเคมี เรามีสูตรที่ใช่สำหรับความรักหรือเปล่า ถ้ามีแล้วสูตรมันเป็นอย่างไร นำไปใช้งานได้อย่างไร วันนี้เรามาตามหาคำตอบกัน
ความรักมีแบบไหนบ้าง?
เมื่อไรก็ตามที่มีความรัก เรามักรู้สึกได้ว่าหัวใจนั้นจะทำงานไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการหัวใจเต้นรัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง จนทำให้ผู้คนในสมัยก่อนเคยเข้าใจว่าหัวใจนั้นเป็นบ่อเกิดของความรู้สึกต่าง ๆ รวมถึงความรักด้วย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วเป็นสมองของเราต่างหาก ที่อยู่เบื้องหลังของการทำให้หัวใจและส่วนอื่นของร่างกายเราเปลี่ยนไปเมื่อมีความรัก
และประเภทของความรักแบบโรแมนติกนั้นสามารถถูกแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน โดยอาศัยการหลั่งสารเคมีที่แตกต่างกันของสมอง และความต้องการที่แตกต่างกันของมนุษย์เป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก อันได้แก่ความปรารถนาในการสืบพันธุ์ ความโหยหาและดึงดูด และความผูกพัน
ความปรารถนาในการสืบพันธุ์ เป็นความสัมพันธ์ที่มีแรงขับดันมาจากพื้นฐานในการดำรงอยู่ต่อไปของสิ่งมีชีวิต ซึ่งในความสัมพันธ์รูปแบบนี้ สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับระบบประสาทของมนุษย์ จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญมาก ๆ โดยในส่วนบริเวณพรีออปติก (Preoptic area) ของไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของโกนาโดโทรฟิน รีลิสซิงฮอร์โมน (GnRH) ที่จะไปกระตุ้นการผลิตของฟอลลิเคิล สติมิวเลติงฮอร์โมน (FSH) และลูทิไนซิงฮอร์โมน (LH) ที่จะสร้างฮอรโมนเทสโตสเตอร์โรนและเอสโตรเจน ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เทสโตสเตอร์โรนนั้นได้เพิ่มความต้องการทางเพศให้กับทั้งสองเพศ เช่นกันกับเอสโตรเจน
ต่อมาที่ความสัมพันธ์แบบโหยหาและดึงดูดเข้าหากันละกัน นี่เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เป็นเอกเทศจากรูปแบบอื่น ๆ แม้จะมีความใกล้เคียงกันมากก็ตาม กล่าวคือเราสามารถมีความปรารถนาในการสืบพันธุ์กับใครสักคนที่เขาดึงดูดเราได้ แต่เราก็สามารถมีความปรารถนาในการสืบพันธุ์กับคนที่ไม่ได้ดึงดูดเรา หรือเราไม่ได้ต้องการจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องใด ๆ เลยก็ได้ และเช่นกันที่เราก็สามารถมีความสัมพันธ์กับคนที่ดึงดูดเรา โดยไม่จำเป็นต้องมีความต้องการที่จะสืบพันธุ์ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ความสัมพันธ์แบบดึงดูด จะมีความเกี่ยวข้องการหลั่งโดปามีน (Dopamine) จากไฮโปทาลามัส ซึ่งโดปามีนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมพฤติกรรมการ ‘ได้รางวัล’ ในสมองของเรา ซึ่งสามารถอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมเราถึงมีช่วงโปรโมชั่นของความรัก ที่เส้นทางชีวิตคู่ของคนสองคนนั้นค่อนข้างราบรื่นและสวยงามเหลือเกิน
การหลั่งโดปามีนมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรากระทำสิ่งที่รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ใช้กับคนที่เรารัก หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม และในช่วงเวลาเดียวกันก็จะมีการหลังฮอร์โมนอร์เอพีเนฟรีน (NE) ซึ่งทำให้ร่างกายของเราเกิดการตื่นตัว เคลิบเคลิ้ม และมีความสุข โดยในเวลาเดียวกันนั้น ร่างกายของเราก็จะสูญเสียฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์และความอยากอาหาร ซึ่งนำไปสู่อาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว การเพิ่มปริมาณของโดปามีนในสมองยังช่วยให้เรามีสมาธิ มีแรงบันดาลใจ และมีการตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจนได้ด้วยเช่นกัน แต่นั่นก็มาพร้อมกับอาการกังวล หวาดกลัว และตื่นตระหนก ซึ่งอาการจากทั้งสองฟากนี้ต่างเป็นผลของการมีความสัมพันธ์ที่ดึงดูดกันนี้นั่นเอง
ต่อมาที่ความสัมพันธ์ประเภทสุดท้าย นั่นก็คือความผูกพันกันนั่นเอง ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนรักในเชิงโรแมนติกเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสนิท มิตรสหาย และแม่กับทารกแรกเกิดด้วยเช่นกัน โดยสองฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ประเภทนี้คือออกซิโตซิน (Oxytocin) และวาโซเพรสซิน (Vasopressin)
ฮอร์โมนทั้งสองนั้นมักถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากได้จากหลายปัจจัย แต่สำหรับในบริบทนี้ นอกจากระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว ออกซิโตซินและวาโซเพรสซินยังถูกผลิตมาได้ในขณะที่กำลังให้กำเนิดลูก หรือขณะให้นมลูกได้ด้วยเช่นกัน โดยเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเราเกิดความผูกพันกันขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่น ๆ ในบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งนี่ก็คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมความสัมพันธ์ทั้งสามรูปแบบนั้นถึงค่อนข้างเป็นเอกเทศจากกันและกัน และมีเพียงบางความสัมพันธ์เท่านั้นที่สามารถมีพื้นที่ทับซ้อนกันได้
เมื่อรักคือดาบสองคม
นอกจากบรรดาฮอร์โมนข้างต้นจะทำให้เรามีความสุขเวลาที่มีความรักแล้ว ฮอร์โมนชนิดเดียวกันเหล่านี้ยังรับผิดชอบต่ออาการด้านลบที่เกิดขึ้นขณะมีความรักด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการหึงหวง การกระทำแบบไร้เหตุผล และไม่เป็นตัวของตัวเอง และการพบฮอร์โมนอย่างโดปามีนเป็นปริมาณมากภายในร่างกายนั้น ก็เกิดขึ้นกับที่คนติดสารเสพติดอย่างโคเคนเช่นกัน และมีการพบว่าสมองส่วนที่มีปฏิกิริยาอย่างหนักเวลาที่เราหลงรักใครนั้น ก็เป็นจุดที่มีปฏิกิริยาขึ้นมาเหมือนกันกับที่คนเสพโคเคน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการเสพติดยา แทบจะไม่แตกต่างไปจากการคลั่งไคล้และเสพติดคนรักเลย
ในเวลาเดียวกันกับที่เรากำลังมีความรัก สมองส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ที่คอยควบคุมการรับรู้ที่ซับซ้อน บุคลิก การตัดสินใจของเราจะถูกผลกระทบในด้านการทำงานไปบางส่วน นั่นอาจนำพาให้เราได้ทำสิ่งที่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง หรือตัดสินใจทำอะไรที่ดูไม่ดีไปได้ ประหนึ่งราวความรักทำให้คนตาบอดอย่างไรอย่างนั้นเลย
ส่วนช่วงที่ความรักกลับกลายเป็นอื่นไปแล้วนั้น ผลกระทบของมันก็สามารถทำให้คนเราเป็นอาการหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome ไปได้เลย นั่นก็เพราะเมื่อเวลาที่อกหักขึ้นมา ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จากต่อมหมวกไต พร้อมกับอะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่ทั้งคู่นั้นมักจะถูกหลั่งออกมาขณะที่เกิดตกอยู่ในสภาวะอันตรายหรือตึงเครียด เพราะทั้งคู่จะช่วยในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และกระตุ้นให้กล้ามเนื้อสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาคับขัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อฮอร์โมนทั้งสองนั้นมีจำนวนมากในร่างกาย โดยที่ร่างกายของเราไม่ได้จำเป็นต้องใช้งานขนาดนั้น ก็ทำให้เกิดอาการเครียด ตื่นเต้น หวาดกลัว วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ขี้ลืม ไปจนถึงปวดหัว ปวดหลัง ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา และที่สำคัญคือเมื่อหัวใจต้องทำงานหนักโดยที่ร่างกายเราไม่ได้จำเป็นต้องใช้งานขนาดนั้น ก็จะทำให้เรามีอาการเจ็บปวดที่หัวใจขึ้นมาได้ ซึ่งนี่ไม่ได้เกิดจากที่หัวใจเราเจ็บเพราะมันคือจุดที่ควบคุมความรู้สึก แต่มันกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสูบฉีดเลือดมากเกินความจำเป็นต่างหาก
บทสรุป
แม้จริงอยู่ว่าเราสามารถอธิบายความรักแบบคร่าว ๆ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาเติมเต็มในสูตรแห่งความรักได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลากหลายข้อสงสัยที่เรายังตามหาคำตอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคำตอบแบบจริงจัง โดยอ้างอิงงานวิจัยและการทดลอง หรือจะเป็นคำตอบจากบทเรียนชีวิต ที่ใครหลายคนกำลังเสาะหาและเรียนรู้อยู่
ความรักสามารถทำให้คนเรามีความสุขที่หวานชื่นได้จากการหลั่งฮอร์โมน ซึ่งหากมีการหลั่งในปริมาณที่มากเกินไป ก็สามารถเป็นดาบสองคมที่ย้อนทำลายเราให้จมลงไปถึงขั้นตายได้เช่นกัน แน่นอนว่าเรื่องราวความรักของคนที่เผชิญเรื่องยาก ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นง่ายได้เพียงแค่การอ่านบทความนี้ในคราวเดียว แต่อย่างน้อยบทเรียนที่ผ่านมานั้นก็เต็มไปด้วยรสชาติ และเปี่ยมไปด้วยความรู้ความเข้าใจในตัวเองเพิ่มเติมได้ในเวลาเดียวกัน
และสักวัน เราจะได้พบเจอกับคนที่มีเคมีเข้ากันแบบจริง ๆ อย่างแน่นอน!
อ้างอิง:
http://sitn.hms.harvard.edu/flash/2017/love-actually-science-behind-lust-attraction-companionship/
http://www.helenfisher.com/downloads/articles/10lustattraction.pdf
https://febs.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1016/j.febslet.2007.03.094
https://www.nhealth-asia.com/en/news/detail/198
https://www.honestdocs.co/serotonin-substances-affect-emotions
Tags: ความรัก