“วันนี้โดนเขาตบมา”

“เมื่อไหร่มึงจะเลิกกับเขาวะ! จะทนไปทำไม”

“ยังเลิกตอนนี้ไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่มีใครเลี้ยงลูก”

“ที่ทนอยู่ตอนนี้ก็เพราะลูก อยากกลับไปเรียนต่อแต่ก็ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา”

ฯลฯ

บทสนทนาข้างต้นเป็นการพูดคุยของผู้เขียนกับบรรดาเพื่อนพ้องที่ประสบปัญหาชีวิตคู่ที่ดูจะขมขื่นมากกว่าหอมหวาน แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับเซ็กซ์เร่าร้อน และหนังสือร้อนแรงเล่มนี้?

รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม (Why Women Have Better Sex Under Socialism : And Other Arguments for Economic Independence) เขียนโดย คริสเทน อาร์. กอดซี (Kristen R . Ghodsee) ที่ได้กลับหัวมายาคติและสะท้อนให้เราเห็นภาพของเสรีภาพ อิสรภาพ การเคารพสตรีในโลกของสังคมนิยม ที่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสังคมนิยมต่างๆ ที่มาเพิ่มโอกาสในหน้าที่การงานและความเป็นผู้นำของผู้หญิง เช่น การประกันการจ้างงาน ภาครัฐให้สิทธิลาคลอด อุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร มีสิทธิรักษาพยาบาลถ้วนหน้า การให้โอกาสทางการศึกษา การพยายามทำให้งานบ้านและการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องของสังคมผ่านการสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กของรัฐ อนุบาลของรัฐ สถานซักผ้าหรือโรงอาหารของรัฐ

เมื่อการกดขี่ทางเพศที่ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง ถูกแทนด้วยการที่ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และรัฐสามารถสนับสนุนปัจจัยขั้นพื้นฐาน นโยบายเหล่านี้จะช่วยแยกความสัมพันธ์ออกจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้หญิงมีรายได้เป็นของตัวเอง รัฐช่วยประกันความมั่นคงทางสังคม เมื่อป่วยได้รับการรักษา มีเงินเกษียณ เช่นนี้แล้วผู้หญิงก็สามารถเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ไม่ต้องทนกับชีวิตรักอันขมขื่นอีกต่อไป

ใช่ – เมื่อผู้หญิงปลดแอกตัวเองจากโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจได้ ก็จะทำให้ผู้ชายและผู้หญิงสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงและร้อนแรงได้มากกว่าเดิม

ดักมาร์ แฮร์โซก (Dagmar Herzog) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้เล่าบทสนทนาของเธอกับชายเยอรมนีตะวันออกหลายคน (ก่อนหน้านี้เยอรมนีถูกแบ่งด้วยกำแพงเบอร์ลินออกเป็น 2 ฝั่ง ระหว่างเยอรมนีตะวันออก ที่เคยเป็นเขตปกครองด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์ ภายใต้การควบคุมดูแลของโซเวียต และเยอรมนีตะวันตกปกครองด้วยแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส) พวกเขาเล่าว่า 

“มันน่ารำคาญมากเลย ตอนที่ผู้หญิงเยอรมนีตะวันออกมีความมั่นใจทางเพศสูงและมีอิสระทางเศรษฐกิจมาก เงินใช้ทำอะไรไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง หมอและคนขายตั๋วแทบไม่มีความแตกต่างกันเลยเวลาจีบผู้หญิง ไม่เหมือนกับฝั่งตะวันตกที่หมอจีบผู้หญิงติดเพราะเงินเดือนสูงกว่า ในเยอรมนีตะวันออก คุณต้องมีคารมด้วยนะ เขาถึงจะสนใจ แต่ตอนนี้ผมมีอำนาจมากในฐานะผู้ชายภายใต้เยอรมนีรวมชาติ ไม่เหมือนตอนคอมมิวนิสต์เลย”

ทุนนิยมแปลงความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้กลายเป็นสินค้า และลดทอนผู้หญิงให้กลายเป็นทรัพย์สิน

หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การทุบทำลายแค่ ‘ปิตาธิปไตย’ นั้นไม่เพียงพอ การกดขี่และความเหลื่อมล้ำจะยังคงอยู่ต่อไป ตราบใดที่ชนชั้นนำของประเทศและทุนนิยมเสรีที่เข้ากันได้ดีกับปิตาธิปไตยยังไม่ถูกทำลาย

ในโลกเสรีนี้ เราถูกวาดฝันด้วยคำพูดสวยหรู เสรีภาพ อิสรภาพ ทุกคนสามารถทำอะไรได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่เสรีภาพที่พูดถึงนั้นใช่เสรีภาพจริงๆ หรือ? ประชาธิปไตยทุนนิยมดูเหมือนจะกรุยทางให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเทียบเท่าผู้ชาย รวมไปถึงการแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์ ความเป็นตัวเอง ความรัก และเซ็กซ์

โอเค – แม้ว่าตอนนี้ผู้หญิงจะมีอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น ไม่ได้ถูกกีดกันกดขี่เรื่องเพศเฉกเช่นเมื่อก่อน แต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า มันยังมีก้อนความคาดหวังขนาดมหึมาที่ติดตัวมาพร้อมกับคำว่า ‘เพศหญิง’ นั่นคือความคาดหวังของการเป็น ‘แม่’ เป็น ‘ภรรยา’ ที่ดี หรือแม้แต่เป็นกุลสตรีในแบบไทยๆ

นอกจากการทำงานนอกบ้านแล้ว ผู้หญิงต้องทำงานในบ้านด้วย นั่นหมายความว่าพวกเธอต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า แต่ผู้ชายกลับไม่ถูกคาดหวังให้ต้องเป็นพ่อบ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลภรรยาเฉกเช่นผู้หญิง และที่สำคัญไปกว่านั้น งานเหล่านี้กลับไม่ได้ค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว!

เมื่อผู้ชายไม่ได้ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานบ้าน ก็สามารถเต็มที่กับงานนอกบ้านได้มากกว่า หรือบางคู่ ผู้ชายกลายเป็นเสาหลักในการหาเงินนอกบ้าน ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านเต็มตัว เมื่อผู้ชายเป็นฝ่ายหาเงิน จึงสวมบทบาทเป็นผู้นำ มีบุญคุณเลี้ยงดู เป็นผู้ตัดสินใจหลักของครอบครัว

เมื่อความมั่นคงของผู้หญิงต้องยึดโยงพึ่งพิงผู้ชาย แล้วเราจะมีสิทธิ์มีเสียงอะไรได้อีกล่ะ ผู้เขียนขอยกบทสนทนาหนึ่งของหนังสือ คิมจียองเกิดปี 82 เขียนโดย โชนัมจู ที่สามีพูดกับคิมจียองผู้เป็นภรรยา ทำนองว่า  

“มีลูกกันเถอะ ทำไมต้องคิดเยอะด้วย เดี๋ยวพี่ช่วยเลี้ยง”

“ก็ต้องคิดเยอะสิ แล้วพี่เสียสละอะไรบ้าง”

“พี่ก็จะไม่ได้ออกไปดื่มกับเพื่อน กลับบ้านไว แล้วก็จะช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย” 

ในขณะที่ผู้ชายมีเวลาดื่มกับเพื่อนน้อยลง ทำงานกลับบ้านเร็ว แล้วสิ่งที่ผู้หญิงต้องเสียละคืออะไรบ้าง? ถ้าถามความเห็นของผู้เขียนแล้ว คงเรียกได้ว่าเราเสียสละทั้งตัวตน เสียสละทั้งจิตวิญญาณของเราคนเดิมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียการเข้าสังคม สูญเสียการงาน สูญเสียความมั่นคงแทบทุกด้าน สุดท้ายก็ต้องกลับมาพึ่งพิงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้ชาย

วังวนเหล่านี้ตีกรอบให้ผู้หญิงต้องนำตัวเองไปแลกกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั่งเรื่องประกันสุขภาพ ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงจะได้รับประกันสุขภาพจากที่ทำงานของสามี และสิ่งที่ผู้หญิงนำมาแลกคือเซ็กซ์

“งานบ้านงานเรือนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นกิจการสังคม การเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะ เมื่อนั้นเอง ผู้หญิงจึงจะสามารถปลดแอกตัวเองจากข้อจำกัดทั้งทางสังคม ศีลธรรม และเศรษฐกิจ และสามารถโยนตัวเองลงไปในหลุมแห่งความ ‘รัก’ ที่แท้จริงได้เสียที” (ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ The Origin of Family, Private Property and the State

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เซ็กซ์ (Sexual economics theory)

หนังสือเล่มนี้พูดถึงทฤษฎีและแนวคิดเรื่องเซ็กซ์อย่างหลากหลาย ผู้เขียนขอยกของตัวอย่างงานวิจัยของ รอย บาวไมสเตอร์ (Roy Baumeister) กับ เคธลีน วอห์ส (Kathleen Vohs) ที่นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า สินค้ามีหลากหลายประเภทที่ผู้ชายสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับเซ็กซ์ได้ อาจเป็นความรัก ความเคารพ ข้อผูกมัด ผลการเรียน ตำแหน่ง เงิน สิ่งของ รวมไปถึงการแต่งงาน เป็นการแลกเปลี่ยนขั้นพื้นฐานค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพื่อผูกขาดการเข้าถึงเซ็กซ์ของผู้หญิงเพียงผู้เดียว

การแต่งงานอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงปิตาธิปไตยอย่างชัดเจน ดังเช่นประเทศไทยจะมีเงินค่าสินสอดที่คอยตีราคาค่างวดของผู้หญิงว่าจะได้มากน้อยมากแค่ไหน ทฤษฎีเซ็กซ์ยังชี้ให้เห็นต่ออีกว่า สถานะทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกลไกพื้นฐานของตลาดเซ็กซ์ เช่น การที่ผู้หญิงมีหน้าที่การงานที่ดี ได้รับการศึกษา ส่งผลให้มีราคาเซ็กซ์ที่สูงขึ้น นอกจากนี้เขายังได้ยกผลสำรวจเกี่ยวกับเซ็กซ์ที่ทำร่วมกับ ฮวน ปาโบล เมนโดซา (Juan Pablo Mendoza) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่ชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน สังคมก็จะมีเซ็กที่ไม่ผูกมัดมากกว่า  

ราคาของเซ็กซ์ที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นการซื้อขายทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในสถานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แฟน ภรรยา เด็กเสี่ย ที่ต้องมีค่าสินสอดหรือค่าดูแล สิ่งที่น่าสนใจคือ คริสเตน อาร์. กอดซี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้เสนอความเห็นที่ค่อนข้างล่อแหลมไว้ว่า เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องดีเลย หากเราต้องถูกบังคับขายเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้าน ผู้ชายจะรู้สึกว่าตัวเองจ่ายเงินเพื่อได้ร่างกายผู้หญิง อย่างนั้นแล้วคุณคิดว่าเขาจะสนใจไยดีผู้หญิงหรือ เพราะเขามองว่าได้รับการตอบแทนแล้ว หรือความรักของคนสองคนที่มัวแต่มาคิดคำนวณกำไรแลกเปลี่ยนว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

หากทฤษฎีนี้เป็นจริงอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าทุนนิยมทำลายความรัก แปลงความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้กลายเป็นสินค้า และลดทอนผู้หญิงให้กลายเป็นทรัพย์สิน ดังนั้น การผลักดันรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐาน การออกไปกู่ก้องเรียกร้องความมั่นคงทางสังคมต่อรัฐ อาจจะเป็นการตัดโซ่ตรวนแห่งความกดขี่ผู้หญิงออกจากสังคมนี้ได้

ยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศ = สังคมนิยม

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงข้อดีของสังคมนิยมไว้อย่างมากมาย แต่ คริสเตน อาร์. กอดซี ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าสังคมนิยมก็มีข้อเสียของมันเช่นกัน ทำไมเราจึงไม่เรียนรู้ข้อดีบางอย่างของสังคมนิยมแล้วนำมาปรับใช้ในดินแทนประชาธิปไตยจอมปลอม และการครอบงำของทุนนิยมสามานย์บ้างล่ะ

งานวิจัยปี 1984 ของ เคิร์ต สตาร์ก (Kurt Starke) และ อุลริช คลีเมนต์ (Ulrich Clement)  ได้ทำการวิจัยเปรียบเทียบชีวิตเซ็กซ์ของนักเรียนหญิงเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ตัวอย่างผลสำรวจหนึ่งที่ถามว่า “พึงพอใจเซ็กซ์ครั้งล่าสุดไหม?” ผู้หญิงเยอรมนีตะวันออกตอบว่าพึงพอใจ 75% และผู้ชายตะวันออกพึงพอใจ 74% ในขณะที่ผู้ชายเยอรมนีตะวันตกตอบว่าพึงพอใจ 84% แต่ผู้หญิงเยอรมนีตะวันตกตอบว่าพึงพอใจเพียง 46% 

และเมื่อถามว่า “มีความสุขหลังเซ็กซ์หรือไม่? ผู้หญิงเยอรมนีตะวันออกตอบว่ามีความสุขถึง 82% ในขณะที่ผู้หญิงเยอรมนีตะวันตกตอบว่ามีความสุขเพียง 52% และในทางกลับกัน เมื่อถามว่า “ไม่มีความสุขหลังเซ็กซ์หรือไม่?” ผู้หญิงตะวันออกตอบว่าไม่มีเพียง 18% แต่ผู้หญิงตะวันตกกลับตอบว่าไม่มีความสุขมากกว่าครึ่ง 

ไม่ว่าเราจะปลุกเร้าเซ็กซ์ผู้หญิงมากแค่ไหน แต่หากพวกเธอยังต้องทนต่อความเครียด การทำงานหนัก ความกังวลต่ออนาคต การเรียน ตลอดจนเสถียรภาพทางการเงินแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ทางออกหรือการเพิ่มดีกรีร้อนแรงของชีวิตรักบนเตียงอาจไม่ใช่ไวอากร้าหรือยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศใดๆ แต่อาจเป็นรัฐสวัสดิการ ความมั่นคงต่างๆ ที่มาจากรัฐ หรือยาที่เรียกว่า ‘สังคมนิยม’ ต่างหาก

Fact Box

รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม (Why Women Have Better Sex Under Socialism : And Other Arguments for Economic Independence), ผู้เขียน คริสเทน ก็อดซี, ผู้แปล เกศกนก วงษาภักดี, สำนักพิมพ์ สำนักนิสิตสามย่าน, จำนวนหน้า 96 หน้า, ราคา 180 บาท

 

Tags: , ,