แม่กำลังมองโตเกียวทาวเวอร์ผ่านกระจกด้วยรอยยิ้ม พ่อกำลังมองของจริงผ่านทางหน้าต่าง และผมกำลังมองคนทั้งสองคนและโตเกียวทาวเวอร์อยู่ในเวลาเดียวกัน

เหตุใดพวกเราจึงมาอยู่ที่นี่ในตอนนี้ เราสามคนที่เคยอยู่อย่างกระจัดกระจายกลับมาอยู่รวมกัน ราวกับถูกโตเกียวทาวเวอร์ดึงดูดเข้ามา (หน้า 243)

หากลองหลับตาจินตนาการถึงสิ่งที่เรียกว่า เมืองหลวง ความศิวิไลซ์ แสงไฟยามค่ำคืน และการแสวงโชคตามหาความฝันของหนุ่มสาว ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดนิยามและนึกถึงออกมาเป็นอันดับแรกๆ

เช่นเดียวกับ โตเกียวเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น สถานที่อันสวยงาม มี โตเกียวทาวเวอร์หอคอยขนาดยักษ์ความสูง 333 ม. ตั้งตระหง่านเป็นแลนด์มาร์กเสมือนเข็มวงวงเวียนบอกจุดศูนย์กลาง ซึ่งโตเกียวทาวเวอร์ที่ว่า คือจุดเชื่อมโยงเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้

โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว ผลงานนิยายจากบทประพันธ์ของ นาคางาวะ มาซายะ หรือที่รู้จักในนามปากกา ลิลี่ แฟรงกี้ศิลปินชื่อดัง กลั่นกรองออกมาจากเรื่องจริงเกือบครึ่งค่อนชีวิต ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์อันทุลักทุเลของครอบครัว ค่อยๆ เติบโตเรียนรู้จนกร้านโลก ก่อนเดินทางผจญเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อค้นหาตัวตน โดยทุกช่วงเวลาของเขา มีบุคคลสำคัญเพียงหนึ่งเดียวคอยอุ้มชูให้ยังรู้สึกว่าตนยังมีความหมายที่จะใช้ชีวิต คนคนนั้นคือ เอโกะผู้เป็นแม่

ย้อนกลับไปช่วงปลายปีโชวะที่ 30 (1955) ณ เมืองโคะคุระ ทางตอนเหนือของจังหวัดฟุกุโอกะ ในยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มฟิ้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางฝุ่นควันจากอุตสหกรรมเหมืองถ่านหิน และสภาพแวดล้อมรายล้อมด้วยป่าเขาตามแบบชนบท เด็กชาย นาคางาวะ มาซายะ ถือกำเนิดลืมตาดูโลก เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าใจได้ว่าพ่อและแม่ของเขาดูช่างไม่ลงรอยกันเสียเลย พ่อของเขาเหมือนคนแปลกหน้าที่พร้อมสร้างความหวาดหวั่นให้แก่คนในบ้าน ทุบตีคนในบ้านบ้าง ทำร้ายข้าวของบ้าง จนกระทั่งถึงวันที่ เอโกะ ผู้เป็นแม่อดรนทนไม่ไหว ตัดสินใจพามาซายะออกจากบ้านหลังนั้น ตระเวนไปเรื่อยจากโคะคุระสู่เมืองชิคุโฮบ้านยาย บทพรรณากลิ่นอายวิถีชีวิตชาวชนบทถูกถ่ายทอดออกมาเป็นระยะอย่างเพลิดเพลิน ตระเวนไปเรื่อยห้องเช่ารูหนูซอมซ่ออัตคัดขัดสนบ้าง แต่อย่างน้อยก็เพื่ออนาคตของลูกชาย ขณะเดียวกันผู้เป็นพ่อก็แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนบ้าง ให้รู้ว่ายังมีตัวตนอยู่…

นกสีฟ้าอยู่ในบ้าน

แม้กรงที่บ้านจะมีนกสีฟ้าอยู่ก็ใช่ว่าบ้านนั้นจะเปี่ยมด้วยความสุข หากทุกคนในครอบครัวร่วมใจกันตามหานกสีฟ้า ความสุขก็คงมาเยือน แต่หากมีชายคนหนึ่งพยายามตามหานกไฟอยู่ละก็ เรื่องคงไม่เป็นไปตามนั้น” (หน้า77)

นกสีฟ้า ตัวแทนของความสุขในบ้าน จากบทละคร L’Oiseau Bleu ของ Maurice Maeterlinck กับ นกไฟจากนิทานพื้นบ้านของชาวรัสเซียอย่าง L’Oiseau de Feu ซึ่งเปรียบเสมือนโชคและความสุขจากนอกบ้านที่ออกต้องไปไร่ตาม นิทานทั้งสองเรื่องถูกนำมาเปรียบเปรยในช่วงวัยหนุ่มของมาซายะ ถึงเวลาแล้วที่เขาต้องออกจากอ้อมอกแม่ แม้รู้ดีว่าความสุขอยู่ในบ้าน แต่มันถึงเวลาแล้วที่เขาต้องออกไปเผชิญโลก ก้าวขึ้นรถไฟสู่โออิตะ ตามด้วยมหาลัยที่โตเกียว มาซายะตระหนักรู้ดีว่าทุกอย่างก้าวขณะนั้นแม่คอยส่งเสียทุกอย่าง ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนเดียวกัดฟันทำงานอาบเหงื่อต่างหน้าวันแล้ววันเล่า เพื่อให้ลูกชายไม่ต้องพบกับคำว่ายากลำบาก

มนุษย์ย่อมเข้าใจชีวิตได้จากตัวมาซายะเองก็เช่นกัน กว่าจะเรียนจบมีงานมีการทำก็ล้มลุกคลุกคลาน เหลวเป๋วไม่เป็นท่าอยู่หลายปี รู้ตัวอีกทีก็อายุ 28 ส่วนแม่อายุย่างเข้า 60 ผมจากสีขลับดำเงา ก็เริ่มผลัดเป็นสีขาวหงอกบ่งบอกให้รู้ว่าเวลาบั้นปลายใกล้มาถึงแล้ว

หลังร่อนเร่ห่างไกลกันนานสองนาน ในที่สุด มาซายะตัดสินใจชวนแม่ผู้แก่ชราเดินทางเข้าสู่เมืองหลวง ห้องเช่าเล็กๆ ปูด้วยเสื่อทาทามิ ย่านซาซาสึกะ มองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นหอคอยโตเกียวทาวเวอร์ท่ามกลางแสงไฟระยิบระยับยามค่ำคืน ตอนนี้เขาเป็นนักวาดและนักเขียน ถึงอย่างนั้นก็เริ่มตั้งตัวได้ ไม่ใช่แค่แม่ พ่อที่เหมือนจะมีบทบาทในชีวิตเพียงเศษเสี้ยว ทว่าพ่อก็คือพ่อ เขาชวนผู้ให้กำเนิดอีกคนมาอยู่ที่นี่ด้วย แต่ก็เป็นบางคราว พ่อของมาซายะยังคงไปกลับระหว่างโคะคุระและโตเกียว ความสัมพันธ์ของสองสามีภรรยาไม่ถึงกับเลิก และมองไปในดวงตาทั้งคู่ยังมีกันและกันอยู่ ถึงกระนั้น ชีวิตคู่ช่างยากลำบากเกินจะเข้าใจถ้าไม่ประสบเอง อย่างน้อยตอนนี้สายสัมพันธ์ทั้ง 3 ก็เริ่มถูกยึดเหนี่ยวอีกครั้งด้วยสถานที่ที่ชื่อว่า โตเกียวทาวเวอร์

“มาคุง

ขอบคุณมากสำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา

ชีวิตในโตเกียวสนุกมาก

ถึงแม้ชีวิตการแต่งงานของแม่จะล้มเหลว

แต่แม่ก็ภูมิใจที่มีลูกชายแสนใจดี

และแม่ก็ลาจากโลกนี้ไปได้อย่างสบายใจ” (หน้า 348)

เรื่องราวหลังจากการได้กลับมาอยู่พร้อมกันสามคน พ่อ แม่ และลูกชาย ตามที่หลายคนว่าความสุขอยู่กับเราได้ไม่นาน แม่ของมาซายะป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ กราฟชีวิตเริ่มกลับมาลุ่มๆ ดอนๆ อีกครั้ง นับจากเหตุการณ์ตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ไปลองหาหนังสือเล่มนี้มาตามเรื่องราวต่อ ด้วยอรรถรสก็ส่วนหนึ่ง แต่จุดสำคัญอยู่ที่บทพรรณนาสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ซึ่งซึ้งกินใจ พร้อมบีบคั้นอารมณ์ไปในเวลาเดียวกัน

และหากได้อ่านจบจบ อยากให้หันกลับไปหาคนที่เรารัก ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่อย่างเดียวก็ได้ ลองมองเขาแล้วถามตัวเองว่าได้ให้ความสุขแก่เขา หรือเราใช้เวลาร่วมกันมากพอแล้วหรือยัง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป แล้วเหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำสีจางเท่านั้น

Fact Box

  • โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว, ผู้เขียน ลิลี่ แฟรงกี้ (นาคางาวะ มาซายะ), ผู้แปล ทิพย์วัลย์ ยามาโมโตะ, สำนักพิมพ์ Piccolo, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤษภาคม 2564 ราคา 315 บาท
  • หนังสือนิยายเรื่อง โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว เป็นผลงานการเขียนเรื่องแรกของ ลิลี่ แฟรงกี้ ที่เขียนจากเค้าโครงเหตุการณ์ในชีวิตจริงระหว่างเขาและแม่ ออกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2005 ก่อนจะได้รับรางวัล ฮอนยะไทโชซึ่งมอบให้กับหนังสือที่ร้านหนังสือทั่วประเทศญี่ปุ่นอยากนำมาวางจำหน่ายมากที่สุด
  • หนังสือนิยายเรื่อง โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว ถูกนำมาดัดแปลงเป็นฉบับคนแสดงถึง 2 ครั้ง เมื่อปี 2007 ฉบับแรกในรูปแบบซีรีย์ใช้ชื่อเรื่องว่า Tokyo Tower แม่ครับผมรักแม่ และฉบับภาพยนตร์ ในชื่อ Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad รักยิ่งใหญ่ หัวใจให้เธอ นำแสดงโดยดาราชายชาวญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง โจ โอดางิริ ซึ่งได้รับความชื่นชมถึงขั้นคว้ารางวัล Japan Academy Award ในปี 2008
Tags: ,